เอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H2 antagonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ไซเมทิดีน (Cimetidine)
- แรนิทิดีน (Ranitidine)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H2 antagonist หรือ H2 receptor antagonist หรือ H2 blocker หรือ Histamine 2 receptor antagonist) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ต้านสารฮีสตามีน (Histamine) โดยจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับของเซลล์ในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า เอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (H2 receptor antagonist) ซึ่งพบมากในกระเพาะอาหาร ทำให้ช่วยลดการหลั่งกรดและแก้ปัญหาเรื่องอาหารไม่ย่อยด้วยภาวะการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารไม่สมดุล ตัวอย่างของยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเช่น Cimetidine และติดตามมาด้วย Ranitidine ปัจจุบันในวงการเภสัชกรรมได้มีการพัฒนายากลุ่มนี้ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนพอสมควร อาทิเช่น Burimamide, Ebrotidine, Famoti dine, Fanetizole, Lafutidine, Loxtidine, Lupitidine, Metiamide, Niperotidine, Nizatidine, Pepcid complete, Oxmetidine Roxatidine, Zolantidine
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ Ranitidine ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดของยาอันตราย การเลือกใช้ยาในกลุ่มนี้ควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วยประสิทธิ ภาพของยาแต่ละรายการต้องสอดคล้องกับอาการโรคและเงื่อนไขทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค)
- รักษาอาการโรคกรดไหลย้อน (GERD)
- รักษาอาการอาหารไม่ย่อย อันมีสาเหตุจากกรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากเกินไป
- ใช้ป้องกันการเกิดแผลในช่องทางเดินอาหาร อันเนื่องจากการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ลดการระคายเคืองของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงของแผลภายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ และทำให้สภาวะการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารมีสมดุลมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 20, 40, 150, 200, 300 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูล ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขอยกตัวอย่างของยาในกลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ที่มีการใช้บ่อย 4 รายการ ดังนี้
1. Cimetidine:
ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น
- รักษาแผลในลำไส้: รับประทาน 800 มิลลิกรัมก่อนนอน
- รักษาอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ขนาดรับประทานอาจให้ซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- บำบัดอาการกรดหลั่งมาก: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน
- รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 800 – 1,600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นเวลา 12 สัปดาห์
ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
2. Famotidine:
ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น
- รักษาแผลในลำไส้: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งเป็น 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- ป้องกันการเกิดแผลในลำไส้: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
- รักษาอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 10 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ ขนาดรับประทานอาจให้ซ้ำ อีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- บำบัดอาการกรดหลั่งมาก: รับประทาน 20 มิลลิกรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง
- รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง อาจต้องให้ยาถึง 6 สัปดาห์
ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
3. Nizatidine:
ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น
- รักษาแผลในกระเพาะและ/หรือลำไส้: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน หรือแบ่งเป็น 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน
- ป้องกันภาวะอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 75 มิลลิกรัมก่อนอาหาร 30 - 60 นาที เมื่อมีอาการอาจให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
4. Ranidine:
ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน
- ป้องกันและบำบัดอาการอาหารไม่ย่อย: รับประทาน 75 มิลลิกรัมเมื่อมีอาการ อาจให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
- รักษาภาวะกรดหลั่งมาก: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- รักษาอาการกรดไหลย้อน: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นถ้าจำเป็น
ข. สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำขนาดยานี้ชัดเจน การใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- การใช้ยาไม่ว่าจะเป็นรายการใดในยากลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาเอง
- ยาในกลุ่มนี้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา เอช 2 แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาในกลุ่มเฮช 2 แอนตาโกนิสต์ อาจทำให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปัสสาวะขัด
*อนึ่ง จะเห็นว่ายากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย หรือในผู้ป่วยหลายคนก็ไม่พบผลข้างเคียงแต่อย่างใด แต่หากพบอาการผิดปกตินอกเหนือไปจากนี้ เช่น ใบหน้าบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบากหลังใช้ยาต่างๆรวมถึงยาในกลุ่มนี้ ให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- การใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ สามารถผ่านไปกับน้ำนมของมารดาได้ ดังนั้น ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ควรเว้นการให้นมมารดากับบุตร เพื่อป้องกันมิให้ทารกได้รับผลกระทบ/ผล ข้างเคียงจากยา
- ยากลุ่มเอช 2 แอนตาโกนิสต์ส่วนมาก จะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีและขับออกมากับปัสสาวะ ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาของไตและ/หรือตับทำงานผิดปกติ (โรคไต โรคตับ) แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Ranidine ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำให้ระดับของ Warfarin อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพื่อความเหมาะสมต่อร่างกายคนไข้
- การใช้ยา Nizatidine ร่วมกับยาแก้ปวด Aspirin อาจทำให้ระดับ Aspirin ในกระแสเลือดเพิ่มสูง ขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Aspirin ได้ จึงควรเลี่ยงในการรับประทานร่วมกัน
- การใช้ยา Nizatidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir จะทำให้การดูดซึมของยา Atazanavir ลดลง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีไป
- การใช้ยา Famotidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir หรือยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole จะส่งผลให้ยาต้านไวรัสและยาต้านเชื้อราถูกดูดซึมลดลงจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้อยลงไปด้วย แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของผู้ ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Cimetidine ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Atazanavir หรือยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole จะทำให้การดูดซึมของยาต้านไวรัสและยาต้านเชื้อราลดลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ควรเก็บรักษายาเอช 2 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
สามารถเก็บยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cidine (ซิดีน) | Medifive |
Citidine (ซิทิดีน) | Atlantic Lab |
Siamidine (ไซมิดีน) | Siam Bheasach |
Ulcemet (อัลซิเมท) | T. O. Chemicals |
Cigamet (ซิกาเมท) | General Drugs House |
Manomet (มาโนเมท) | March Pharma |
Stomedine (สโตเมดีน) | Osoth Interlab |
Alserine (แอลเซอรีน) | Union Drug |
Chintamet (จินตาเมท) | Chinta |
Cimet (ไซเมท) | Chinta |
Cimetidine Utopian (ไซเมทิดีน ยูโทเปียน) | Utopian |
Cimet-P (ไซเมท-พี) | P P Lab |
Clinimet (คลินิเมท) | Bangkok Lab & Cosmetic |
G.I. (จี.ไอ.) | T. Man Pharma |
Iwamet (อิวาเมท) | Masa Lab |
Lakamed (ลาคาเมด) | T. Man Pharma |
Peptidine (เปปทิดีน) | A N H Products |
Sertidine (เซอร์ทิดีน) | Chew Brothers |
Shintamet (ชินตาเมท) | YSP Industries |
Sincimet (ซินซิเมท) | SSP Laboratories |
Tacamac (ทาคาแม็ก) | Medicine Products |
Ulcacin (อัลเคซิน) | Utopian |
Ulcine (อัลซีน) | Pharmahof |
Vescidine (เวสซิดีน) | Vesco Pharma |
Cencamat (เซนเคแมท) | Pharmasant Lab |
Cimag (ซิแม็ก) | T P Drug |
Cimetidine GPO (ไซเมทิดีน จีพีโอ) | GPO |
Cimetin (ไซเมทิน) | T. Man Pharma |
Ciminpac (ไซมินแพค) | Inpac Pharma |
Duotric (ดูโอทริค) | Asian Pharm |
Gastasil (แก๊สตาซิล) | Heromycin Pharma |
K.B. Cymedin (เค.บี. ไซมิดิน) | K.B. Pharma |
Milamet (มิลาเมท) | Milano |
Promet (โปรเมท) | Millimed |
Setard (ซิทาร์ด) | Charoon Bhesaj |
Simaglen (ซิมาเกลน) | Unison |
Startidine (สตาร์ทิดีน) | Inpac Pharma |
Tagapro (ทากาโปร) | Medicine Products |
Ulcimet (อัลซิเมท) | Polipharm |
Ulsamet (อัลซาเมท) | Burapha |
Acicare (อะซิแคร์) | Unique |
Ranit-VC Injection (รานิท-วีซี อินเจ็คชั่น) | Vesco Pharma |
Xanidine (ซานิดีน) | Berlin Pharm |
Ranidine (รานิดีน) | Biolab |
Ratic (ราติค) | Atlantic Lab |
Zantac (แซนแท็ค) | GlaxoSmithKline |
Histac (ฮีสแท็ค) | Ranbaxy |
Ranicid (รานิซิด) | M & H Manufacturing |
Ranin-25 (รานิน-25) | Umeda |
Rantodine (แรนโทดีน) | Utopian |
R-Loc (อาร์-ล็อค) | Zydus Cadila |
Zanamet (ซานาเมท) | T. O. Chemicals |
Aciloc (อะซิล็อก) | Cadila |
Ramag (ราแม็ก) | T P Drug |
Ranid (รานิด) | T. Man Pharma |
Rantac 150 (แรนแท็ก 150) | Medicine Products |
Ratica (ราติกา) | L. B. S. |
Utac (ยูแท็ก) | Millimed |
Axid (เอซิด) | Eli Lilly |
Famosia (ฟาโมเซีย) | Asian Pharm |
Famotidine March Pharma (ฟาโมทิดีน มาร์ช ฟาร์มา) | March Pharma |
Pharmotidine (ฟาร์โมทิดีน) | Community Pharm PCL |
Vesmotidine (เวสโมทิดีน) | Vesco Pharma |
Famotab (ฟาโมแท็บ) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Pepfamin (เปปฟามิน) | Siam Bheasach |
Ulfamet (อัลฟาเมท) | T. O. Chemicals |
Agufam (อะกูฟาม) | ST Pharma |
Famoc (ฟาม็อก) | Berlin Pharm |
Famonox (ฟาโมน็อก) | Charoen Bhaesaj Lab |
Famopsin (ฟาม็อพซิน) | Remedica |
Pepcine (เปปซีน) | Masa Lab |
Peptoci (เปปโทซี) | Pharmasant Lab |
Fad (ฟาด) | T. Man Pharma |
Famocid (ฟาโมซิด) | Sun Pharma |
Famopac (ฟาโมแพ็ค) | Inpac Pharma |
Fasidine (ฟาซิดีน) | Siam Medicare |
Pepdenal (เปปดีนอล) | MacroPhar |
Ulceran (อัลซีแรน) | Medochemie |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/H2_antagonist [2020,Nov14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:H2_receptor_antagonists [2020,Nov14]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4091-7033/ranitidine-oral/ranitidine-tablet-oral/details [2020,Nov14]
- https://patient.info/digestive-health/indigestion-medication/h2-blockers [2020,Nov14]
- https://www.webmd.com/heartburn-gerd/h2-blockers-how-acid-reducers-can-help-treat-gerd-symptoms [2020,Nov14]
- https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/H-2+Blockers [2020,Nov14]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcimetidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2franitidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ffamotidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
- http://gerd.emedtv.com/famotidine/drug-interactions-with-famotidine.html [2020,Nov14]
- http://gerd.emedtv.com/cimetidine/drug-interactions-with-cimetidine-p2.html [2020,Nov14]
- https://www.drugs.com/cons/histamine-h2-antagonist-oral-injection-intravenous.html [2020,Nov14]