กลุ่มอาการนิวโรเล็ปติกร้ายแรง หรือกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome : NMS)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ป่วยจิตเวชส่วนหนึ่งต้องใช้ยารักษาทางจิตเวช/ยาจิตเวช หรือยารักษาโรคจิตเพื่อควบคุมอาการของโรค และเมื่อทานยาเหล่านี้ไประยะหนึ่งอาจจะมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เกิดจากยาจิตเวชเหล่านั้น ที่พบบ่อย เช่น มีอาการซึม  สับสน  ระดับการรู้สึกตัวผิดปกติ ตัวแข็งเกร็ง ไข้สูง และอาจเสียชีวิต(ตาย)ได้ถ้ารักษาไม่ทันจากการมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตล้มเหลว/ไตวาย 

ทั้งนี้ แม้กระทั่งการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในบางครั้งก็เกิดอาการผิดปกติแบบนี้ได้ กลุ่มอาการผิดปกตินี้จึงไม่ใช่โรคที่ไกลตัว วันนี้เรามาทำความรู้จัก “กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (NMS: Neuroleptic malignant syndrome)” กันดีกว่าเพื่อไว้แนะนำคนรู้จักแม้กระทั่งตัวเราเอง ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาทางจิตเวชดังกล่าว

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสคืออะไร?

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส คือ กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาจิตเวช หรือยารักษาโรคจิต หรือยาแก้คลื่นไส้อาเจียนบางชนิด ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท และทางระบบประสาทอัตโนมัติ กลไกหลักที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้เข้าใจว่าเกิดจากร่างกายขาดสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดปามีน/ โดพามีน (Dopamine) เนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน/โดพามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonist) จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติดังกล่าว

กล่มอาการเอ็นเอ็มเอสมีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง?

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้พบในผู้ป่วยที่ทานยาจิตเวชกลุ่มดั้งเดิม (ยารุ่นที่1) เช่น ฟีโนธัยอะซีน (Phenothiazine), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), โคลซาปีน (Clozapine), ยาลิเทียม (Lithium),   เมโทโคลพราไมด์ (Metroclopamide),  ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาชนิดออกฤทธิ์ต้านสารโดพามีน (Dopamine antagonist) ส่งผลให้เกิดการขาดสารสื่อประสาทโดพามีนขึ้นในร่างกาย ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย (Constant fever),  ระดับการรู้สึกตัวลดลง, ซึม,  สับสน, ตัวแข็งเกร็ง, ตัวสั่น, เหงื่อออกมาก, ความดันโลหิตขึ้นสูงและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย, หัวใจเต้นเร็ว, หายใจเร็ว, มีการอักเสบของตับ/ตับอักเสบ,  ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาว สูง, 

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการได้รับยาต้านสารโดพามีนขนาดสูงทันทีที่เริ่มยา หรือเกิดได้ภายหลังเมื่อมีการสะสมของสารต้านโดพามีนที่มีขนาดสูงมากขึ้นๆ นอกจากนั้นการได้ยาโคลซาปีน  ร่วมกับยาลิเทียมก็อาจจะเสริมฤทธิ์กันก่อให้เกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้ได้

กลุ่มอาการเอ็นอ็มเอสเกิดขึ้นได้อย่างไร?

กลไกการเกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสมี 2 กลไกหลัก คือ

  1. มีการลดลงของสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดปามีน/ โดพามีน (Dopamine)อย่างรวดเร็ว พบในผู้ป่วยที่ได้ยาจิตเวช ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่พบได้บ่อย
  2. การขาดสารสื่อประสาทโดปามีนในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาต้านสารโดปามีน เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ได้รับยารักษาโรคทางจิตเวช และหยุดยารักษาโรคพาร์กินสันกระทันหัน ซึ่งพบโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ได้น้อยมากจากกลไกนี้

นอกจากนี้ บางครั้งอาจเกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสจากการใช้ยาต้านเศร้าได้บ้าง

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสพบได้บ่อยหรือไม่?

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสพบได้ไม่บ่อย ไม่มีการศึกษาความชุกที่แน่ชัดในคนไทย ในต่างประ เทศพบได้ประมาณ 0.1 - 2.4% ของประชากรที่ใช้ยาจิตเวช

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส พบในทุกอายุ แต่พบได้น้อยในเด็ก มักพบในผู้ใหญ่เฉลี่ยอายุประ มาณ 40 ปีหรือต่ำกว่า 40 ปี บางรายงานพบกลุ่มอาการนี้ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสได้บ่อย?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสได้บ่อย คือ ผู้ป่วยทางจิตเวช หรือผู้ป่วยโรคจิตที่มีการรักษาด้วยยารักษาทางจิตเวช หรือยาจิตเวชที่มีลักษณะ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาทางจิตเวชหรือยารักษาโรคจิตที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน(Dopamine antagonist) ในขนาดยาที่สูง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาจิตเวชกลุ่มดั้งเดิม (ยารุ่นที่1)
  • ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชหรือผู้ป่วยโรคจิตที่มีโรคสมองอยู่ก่อน เช่น โรคสมองเสื่อม, โรค พาร์กินสัน
  • ผู้ป่วยที่มีการเพิ่มขนาดยารักษาโรคทางจิตเวช หรือ ยารักษาโรคจิตอย่างรวดเร็ว
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชหรือยารักษาโรคจิตชนิดฉีดชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวนาน
  • ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชหรือผู้ป่วยโรคจิตที่มีภาวะขาดน้ำ

แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสอย่างไร?

 แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสได้จาก

  • อาการผิดปกติทางระบบประสาทและทางระบบประสาทอัตโนมัติดังที่กล่าวไปแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’
  • ร่วมกับที่สำคัญ คือ
    • ประวัติการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน(Dopamine antagonist)
    • การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และ
    • ที่สำคัญอีกประการ แพทย์ต้องแยกสาเหตุอื่นๆที่อาจมีอาการคล้ายกันกับกลุ่มอาการนี้ออกไปด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), ภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง, และกลุ่มอาการโรคทางจิตเวชเองที่มีลักษณะคล้ายกันกับกลุ่มอาการนี้ เช่น ภาวะ Malignant catatonia(โรคอาการรุนแรงเฉียบพลันทางร่างกายพร้อมกับระบบประสาท)

แพทย์ต้องส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอะไรหรือไม่?

ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส แพทย์จะอาศัยข้อมูลด้านการแพทย์ดังกล่าวข้างต้นใน’หัวข้อ การวินิจฉัยโรคฯ’ ร่วมกับการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจเลือดดูระดับของเอ็นไซม์กล้ามเนื้อที่เรียกว่า Creatine phosphokinase: CPK/ซีพีเค ซึ่งจะขึ้นสูงมากกว่าค่าปกติมาก โดยจะขึ้นสูงเป็นหลายๆพันของหน่วยวัดค่านี้
  • นอกจากนั้นคือ
    • การตรวจปัสสาวะ: ในกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสจะพบสารที่เกิดจากการแตกสลายของกล้ามเนื้อลายอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Myoglobin                                            
    • ตรวจเลือดดูค่าต่างๆ เช่น ค่าการทำงานตับจะพบการอักเสบของเซลล์ตับ (ตับอักเสบ) อย่างรุนแรง                                                                                     
    • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC จะพบเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น

ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยโรคสมอง แพทย์จะเจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะน้ำไขสันหลัง)ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีภาวะการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system)

เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลครบถ้วนในการวินิจฉัยแยกโรค ก็สามารถให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการเอ็น เอ็มเอสนี้ได้ โดยขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้คือ แพทย์ต้องคิดถึงกลุ่มอาการนี้ไว้เสมอในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาอาการทางโรคจิต/อาการทางจิตเวช และผู้ป่วยเกิดมีอาการผิด ปกติดังกล่าวข้างต้นตามมาหลังการได้รับยารักษา เพราะถ้าไม่คิดถึงก็อาจไม่สามารถให้การวินิจ ฉัยกลุ่มอาการนี้ได้

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสรักษาอย่างไร?

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส มีการรักษาที่สำคัญ คือ

  • การหยุดยาชนิดที่เป็นสาเหตุทันที
  • ร่วมกับ
    • การรักษาป้องกันและแก้ไขภาวะไตวาย
    • การให้ยาเพิ่มสารโดปามีน/ โดพามีน-อะโกนิสต์ (Dopamine agonist)
    • ให้ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดออกฤทธิ์แรงตามดุลพินิจของแพทย์
    • การให้สารน้ำที่เพียงพอก็เป็นการรักษาที่จำเป็น

ผลการรักษาดีหรือไม่?

ผลการรักษา/การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสส่วนใหญ่จะดี ถ้าแพทย์ให้การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและรีบหยุดยาที่เป็นสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะหายดีในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ผู้ป่วยก็มีโอกาสเสียชีวิต (ตาย) ได้สูงประมาณ 20 - 30% จากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดติดเชื้อ (ปอดบวม) ไตวาย  ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ

จะทำอย่างไรเมื่อต้องหยุดยาที่เป็นสาเหตุกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส?

 ในการรักษากลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสที่จำเป็นต้องหยุดยาที่เป็นสาเหตุ ปัจจุบันมียารักษาอาการทางจิตเวช/อาการทางโรคจิตกลุ่มใหม่ๆที่มีผลข้างเคียงเกิดกลุ่มอาการนี้ต่ำกว่ายาฯในรุ่นที่ 1  แพทย์ก็จะเลือกใช้ยารักษาอาการทางจิตเวชกลุ่มใหม่นั้นๆแทน แต่ถ้าอาการทางจิตเวชนั้นๆไม่มียาอื่นๆที่ใช้ทดแทนได้เลย จิตแพทย์ผู้รักษาอาจเลือกใช้ วิธีช็อกไฟฟ้ารักษาแทนการใช้ยาก็พบว่าได้ผลดี

ผู้ป่วยต้องรักษานานหรือไม่?

การรักษากลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนั้นใช้ระยะเวลารักษาไม่นาน ถ้าหยุดยาที่เป็นสาเหตุและแก้ไขปัญหาอาการแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้นได้หมด  การรักษาจะเพียงประมาณ 1 - 2 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญคือ การรักษาควบคุมกลุ่มอาการทางจิตที่เป็นเหตุให้ต้องใช้ยาต้านสารโดปามีนเป็นสำคัญ

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

 ผู้ป่วยกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสควรต้องดูแลตนเอง/ปฏิบัติตัวที่สำคัญ ดังนี้

  • ปฏิบัติตนตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่เป็นสาเหตุเพราะถ้าใช้ยาดังกล่าวอีกก็ก่อให้เกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสได้อีก
  • กินยา/ ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • ไม่ซื้อยาใช้เอง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจมากขึ้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน  สับสน
  • เมื่อกังวลในอาการ

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสป้องกันได้หรือไม่?

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก็ต้องใช้ยาขนาดต่ำๆ  ไม่เพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว และต้องรู้ด้วยว่าผลข้างเคียงที่รุนแรงของการใช้ยารักษาอาการทางจิตเวชที่สำคัญคือ กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ต้องรีบหยุดยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

อนึ่ง กรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต้องระมัดระวังการใช้ยารักษาอาการทางจิตเวชหรือรักษาภาวะสับสน,  กรณีการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสมอง ก็ควรต้องระวังการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ควรใช้ในระยะเวลานานหรือใช้ในลักษณะเป็นการฉีด คือ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ควรฉีดยาแก้อาเจียนโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาอาการทางจิตอยู่ก่อนแล้ว

ญาติและครอบครัวมีส่วนช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

ญาติและคนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส คือ การดูแลอาการทางจิตใจอารมณ์ของผู้ป่วยให้ดี อย่าให้อาการทางจิตกำเริบ พยายามลดการใช้ยาทางจิตเวชลงให้ได้ ไม่ซื้อยาทุกชนิดโดยเฉพาะยาทางจิตเวชให้ผู้ป่วยทานเอง หรือปรับขนาดยาทางจิตเวชเอง เช่น เมื่ออาการรุนแรงก็เพิ่มยา เป็นต้น เพราะการทำแบบนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส

กลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนั้นเป็นภาวะที่เกิดจากการใช้ยาจิตเวชหรือยาทางโรคจิต ดังนั้นแพทย์ผู้ใช้ยาจะทราบกลุ่มอาการนี้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยและญาติก็ต้องทราบในเรื่องผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอสนี้เนื่องจากอาจมีอันตรายต่อชีวิตได้