โดพามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 มกราคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร ?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- สะอึก (Hiccup)
- ไมเกรน (Migraine)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาโดพามีน/โดปามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonists หรือ Antidopaminergic drug หรือ Dopamine receptor antagonist) เป็นกลุ่มยา/สารเคมีที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Dopamine receptors ทางคลินิกพบว่า Dopamine receptors มี 5 ประเภทคือ D1 D2 D3 D4 และ D5 ซึ่งมีอยู่ตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเช่น สมอง ปลายประสาท เส้นเลือด/หลอดเลือด อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร และไต ประโยชน์ทางการแพทย์ของสารเคมี/ยาในกลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์ได้ถูกนำมารักษาและบำบัดอาการโรค ต่างๆได้ดังนี้เช่น
- กลุ่มที่ใช้บำบัดรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียน: เช่น Droperidol, Metoclopramide และ Domperidone ยากลุ่มนี้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เด่นๆคือ กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเกร็งตัว และง่วงนอน
- กลุ่มที่ใช้รักษาอาการทางจิตประสาทอย่างโรคจิตเภทไบโพล่าเช่น Risperidone, Clozapine, Olanzapine, Ziprasidone และ Quetiapine อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากกลุ่มยานี้เช่น มีการ ทรงตัวผิดปกติ มีภาวะทางหัวใจผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะเบาหวาน มีการจับตัวของเกล็ดเลือดมากขึ้น (เกิดลิ่มเลือดที่ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน) รวมถึงเกิดภาวะ Neuroleptic malignant syndrome (กลุ่มอาการที่เกิดจากการแพ้ยากลุ่มยารักษาทางจิตเวชที่รุนแรง อาจทำให้เสียเสียชีวิตได้เช่น ไข้สูง กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง และมีความผิดปกติ ในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ)
- กลุ่มที่ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า อาการโรคสมาธิสั้น เช่น Clomipramine และ Amoxapine อาการข้างเคียงของยาที่อาจพบได้เช่น ความจำเสื่อม โรควิตกกังวล ง่วงนอน สมรรถภาพทางเพศถดถอย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
อนึ่ง ยังมีตัวอย่างของยากลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์อีกหลายรายการและถือเป็นกลุ่มยาที่มีจำนวนมากพอสมควรอาทิเช่น Acepromazine, Amisulpride, Azaperone, Benperidol, Bromo pride, Butaclamol, Chlorpromazine, Chlorprothixene, Clopenthixol, Eticlopride, Flupenthi xol, Fluphenazine, Fluspirilene, Haloperidol, Hydroxyzine, Iodobenzamide, Loxapine, Mesoridazine , Levomepromazine, Nafadotride, Nemonapride, Paliperidone, Penfluridol, Perazine, Perphenazine, Pimozide, Prochlorperazine, Promazine,, Raclopride, Remoxipride, Spiperone, Spiroxatrine, Stepholidine, Sulpiride, Sultopride, Tetrahydropalmatine, Thiethyl perazine, Thioridazine, Thiothixene, Tiapride, Trifluoperazine, Trifluperidol, Trifluproma zine
ทั้งนี้ยาหลายตัวดังข้างต้นไม่เพียงแต่จะออกฤทธิ์ที่ Dopamine receptor เท่านั้นแต่ยังอาจออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) อื่นๆของร่างกายได้ด้วยเช่น Alpha-receptor H1/Histamine1 receptor, Serotonin receptor, Muscarinic acetylchloline receptor จึงเป็นเหตุให้การใช้ยาต่างๆเหล่านี้มีอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมาได้มาก
ทางคลินิกมีการทดลองใช้ยากลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์ในการรักษาอาการโรคอื่นเช่น นำ ไปรักษาไมเกรน เป็นต้น
ดังนั้นการเลือกใช้ยารายการใดเพื่อบำบัดอาการป่วยนั้นต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์เท่านั้น ด้วยจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการรักษาและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร ?
ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการทางจิตเภทไบโพล่า/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) อาการซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น กลุ่มอาการ Tourett’s syndrome บำบัดอาการของผู้ติดยาเสพติด สารเสพติด หรือติดสุรา รวมถึงอาการปวดเรื้อรังจากโรคต่างๆเช่น โรคมะเร็ง
- รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียน อาการกรดไหลย้อน ใช้เป็นยาเตรียมเพื่อทำหัตถการส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน (Endoscopy) และช่วยบำบัดอาการสะอึก
- รักษาอาการแพ้ เช่น ผื่นคันตามผิวหนัง
- ใช้ต้านพิษยาเสพติดประเภท Codeine, Amphetamines
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Dopamine receptor ก่อให้เกิดการยับยั้งและปิดกั้นการทำงานและการตอบสนองของตัว รับดังกล่าว จากนั้นจะเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกายใหม่และส่งผลต่ออาการป่วย โดยทำให้อาการทุเลาเบาบางลง
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ด้วยเป็นกลุ่มยาที่มียาหลากหลายรายการทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีทั้ง
- ยาเม็ด
- ยาแคปซูล
- ยาน้ำชนิดรับประทาน และ
- ยาฉีด
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์จะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ ให้ตรงเวลา
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ อาจก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยสัมพันธ์กับระยะเวลาของการใช้ยาเป็นเวลานานรวมถึงขนาดยาที่รับประทาน ยิ่งขนาดยาสูง โอกาสเกิดผลข้างเคียงก็จะสูงขึ้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้มีผลข้างเคียง เช่น
- วิตกกังวล
- มีภาวะซึมเศร้า
- เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกาย (Extrapyramidal symtoms)
- มีอาการน้ำนมไหล
- หิวอาหารบ่อย
- รู้สึกก้าวร้าว
- ความต้องการทางเพศลดน้อยลง
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- การเผาผลาญอาหารในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนอาจเสี่ยงกับการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- เกิดอาการคล้ายสมาธิสั้น
- อาจมีอาการคล้ายเป็นโรคลมหลับ
*ทั้งนี้ กรณีที่มีอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาหรือปรับแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้หลังการรับประทานเช่น ตัวบวม, มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว, อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ,และควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ด้วยอาจเกิดอาการถอนยาหรือทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
- หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น ประมาณ 1 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควร พาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่มีภาวะโล หิตจาง ผู้ที่ไขกระดูกทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ติดสุรา ผู้ป่วยโรคต้อหิน
- ระหว่างการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียนควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- มาพบแพทย์/โรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัว เช่น
- ห้ามใช้ยา Clozapine ร่วมกับยาต้านไวรัส Zidovudine ด้วย Clozapine สามารถทำให้เม็ด เลือดขาวลดน้อยลงโดยมีการกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดน้อยลงและเสี่ยงกับการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- การใช้ยา Domperidone ร่วมกับยาต้านเชื้อราบางตัวสามารถทำให้ระดับยา Domperidone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น ยาต้านเชื้อราดังกล่าว เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole
- การใช้ยา Pimozide ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหว ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหรือที่เรียกว่า Extrapyramidal side effects หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Risperidone ร่วมกับยากลุ่ม Dopamine และ Levodopa ด้วยมีฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกัน
ควรเก็บรักษาโดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์:
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา /ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ama (เอมา) | Atlantic Lab |
Ammipam (แอมมิแพม) | MacroPhar |
Chlopazine (คลอปาซีน) | Condrugs |
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) | GPO |
Chlorpromed (คลอโพรเมด) | Medifive |
Matcine (แมทซีน) | Atlantic Lab |
Plegomazine (พลีโกมาซีน) | Chew Brothers |
Pogetol (โพจีทอล) | Cental Poly Trading |
Prozine (โพรซีน) | Utopian |
Clopaze (โคลแพซ) | Pharminar |
Cloril (โคลริล) | Atlantic Lab |
Clozamed (โคลซาเมด) | Medifive |
Clozaril (โคลซาริล) | Novartis |
Clozapin (โคลซาปิน) | Central Poly Trading |
Auto (ออโต้) | Patar Lab |
Avomit-M (เอโวมิท-เอ็ม) | V S Pharma |
Dany (แดนี) | The Forty-Two |
Dolium (โดเลี่ยม) | Utopian |
Domerdon (โดเมอร์ดอน) | Asian Pharm |
Dominox (โดมิน็อก) | T. Man Pharma |
Domp (ดอมพ์) | Community Pharm PCL |
Domperdone (ดอมเพอร์โดน) | Polipharm |
Domper-M (ดอมเพอร์-เอ็ม) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Domp-M (ดอมพ์-เอ็ม) | Community Pharm PCL |
Emex (อีเม็ก) | Thai Nakorn Patana |
Meridone (เมอริโดน) | GPO |
Mirax-M (ไมแร็ก-เอ็ม) | Berlin Pharm |
Mocydone M (โมไซโดน เอ็ม) | Pharmasant Lab |
Modomed (โมโดเมด) | Medifive |
Molax (โมแล็ก) | Siam Bheasach |
Molax-M (โมแล็ก-เอ็ม) | Siam Bheasach |
Moticon (โมทิคอน) | Condrugs |
Motidom (โมทิดอม) | T.O. Chemicals |
Motidom-M (โมทิดอม-เอ็ม) | T.O. Chemicals |
Motilar (โมทิลาร์) | Inpac Pharma |
Motilin (โมทิลิน) | Inpac Pharma |
Motilium/Motilium-M (โมทิเลี่ยม/โมทิเลี่ยม เอ็ม) | Janssen-Cilag |
Zyprexa (ไซเพรคซา) | Eli Lilly |
Olapin-10 (โอราปิน) | Unison |
LARAP (ลาแรพ) | La Pharma |
MOZEP (โมเซพ) | Intas |
NEURAP (นูแรพ) | Torrent |
NOTIC (โนติค) | Sunrise |
ORAP (โอแรพ) | J & J (Ethnor) |
PIMOZ (พิมอซ) | Swiss Biotech |
R-ZEP (อาร์-เซพ) | Reliance |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_antagonist [2021,Jan23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_antagonist [2021,Jan23]
- http://alcoholrehab.com/drug-addiction/dopamine-antagonists/ [2021,Jan23]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22012659/ [2021,Jan23]
- https://healthfully.com/what-is-a-dopamine-antagonist-5734909.html [2021,Jan23]
- http://emedicine.medscape.com/article/1151826-overview [2021,Jan23]