การรู้สึกตัว ระดับการรู้สึกตัว (Level of consciousness)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
การรู้สึกตัว หรือความรู้สึกตัว คือ ภาวะปกติในการรับรู้ เข้าใจ และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกร่างกาย เป็นการทำงานที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทโดยเฉพาะสมอง
แพทย์จะแบ่งระดับการรู้สึกตัว ตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งมีหลายระบบที่ใช้ในการจัดแบ่งระดับการรู้สึกตัวของผู้ป่วย ขึ้นกับแพทย์แต่ละท่านจะชำนาญในการใช้ระบบใด ทั้งนี้ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ได้จัดแบ่งระดับการรู้สึกตัวง่ายๆ โดยทั่วไป ที่แบ่งจากระดับความรุนแรงต่ำสุดไปจนถึงระดับความรุนแรงสุด ดังนี้
- ตื่น รู้ตัวปกติ (Alert) คือ การรู้ตัวในคนปกติ
- ง่วงซึมเล็กน้อย (Drowsiness) คือ ดูง่วงตลอดเวลา แต่เรียก หรือพูดคุยได้ใกล้เคียงปกติ มีสับสนบ้าง แต่โดยทั่วไปยังรู้ความจริง
- ซึมลึกต้องปลุกแรงๆ (Stuporous) หลับตลอดเวลา ไม่ตอบสนองต่อการพูดคุย มักรับ รู้เฉพาะความเจ็บปวด หรือความรู้สึกต่างๆ เช่น ร้อน เย็น โดยการแสดงท่าทาง เช่น จากการแสดงอาการทางใบหน้าว่าเจ็บ เป็นต้น
- ไม่รู้ตัว หรือ โคม่า (Coma) คือ ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆจากภายนอก แต่อวัยวะต่างๆในร่างกายจะยังทำงานได้โดยอัตโนมัติ
อนึ่ง ในการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ แพทย์จะประเมินระดับการรู้สึกตัวของผู้ป่วยเสมอ เพื่อใช้เป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค หรือของภาวะผิดปกตินั้นๆ เพื่อสามารถให้การรักษาดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม (เช่น จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล หรือต้องดูแลในหอผู้ ป่วยวิกฤติหรือไม่), เพื่อการพยากรณ์โรค, และเพื่อการติดตามผลการรักษา ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย และเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน2:การสืบค้น
บรรณานุกรม
- Altered level of consciousness http://en.wikipedia.org/wiki/Altered_level_of_consciousness [2013,Nov5].
- Level of consciousness http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK380/ [2013,Nov5].