โรคอาร์เอสวี หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial virus infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- โรคอาร์เอสวีเกิดและติดต่อได้อย่างไร?
- โรคอาร์เอสวีมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอาร์เอสวีที่รุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
- รักษาโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
- โรคอาร์เอสวีมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคอาร์เอสวีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลผู้ป่วย ดูแลตนเอง อย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหวัด (Common cold)
- หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
โรคอาร์เอสวี หรือ โรคไวรัสอาร์เอสวี หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี(Respiratory syncytial virus infection ย่อว่า RSV infection) คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสชื่อ Respiratory syncytial virus ย่อว่า อาร์เอสวี/RSV ซึ่งเป็นไวรัสสกุล Pneumovirus และวงศ์ Paramyxoviridae โดยเป็นไวรัสในคน มีคนเป็นโฮสต์/Host มักพบอยู่ในโพรงหลังจมูก และจากการศึกษาพบว่าไวรัสนี้สามารถก่อโรคได้ในสัตว์หลายประเภท เช่น หนูชนิดต่างๆ ตัวFerret และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น แกะ, ฯลฯ
ไวรัสอาร์เอสวี แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย(Subtype) คือ ชนิด เอ/A และชนิดบี/B โดยชนิดย่อย A, มักมีความรุนแรงสูงกว่าชนิดย่อย B
ไวรัสอาร์เอสวี เป็นไวรัสที่มีชีวิตอยู่ในคน และขณะอยู่ในคน/ผู้ป่วย ไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นานประมาณ 3-8 วันนับจากวันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ แต่สามารถอยู่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกัน)ต่ำและแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นานถึงประมาณ 4 สัปดาห์รวมถึงในระยะไม่มีอาการ ทั้งนี้ไวรัสนี้เมื่ออยู่นอกร่างกายคนจะชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-7 วันขึ้นกับอุณภูมิและความชื้นของสถานที่นั้นๆ
โดยทั่วไป ไวรัสอาร์เอสวีตายได้ง่ายใน สภาวะที่แห้ง, สภาวะที่มีอุณหภูมิสูง, โดยสามารถฆ่าไวรัสนี้ได้จากความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 55 องศาเซลเซียส(Celsius) นานตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป, หรือจากน้ำยาฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆ เช่น Formalin, Sodium hypochlorite, 1% Iodine, และในสภาวะที่มีความเป็นกรด(pH น้อยกว่า 7)
โรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี พบได้ตลอดปี แต่พบสูง/เกิดชุกขึ้น หรือมีการระบาดได้ตามฤดูกาล โดยในเขตร้อนที่รวมถึงประเทศไทย โรคพบสูงขึ้นในฤดูฝน แต่ในประเทศเขตหนาว มักพบโรคสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงตลอดฤดูหนาว
โรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี พบทั่วโลก ทุกอายุ ทุกเพศ ไม่ต่างกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย รวมถึงทุกเชื้อชาติ แต่พบสูงในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2ปี ซึ่งโรคมักรุนแรงในเด็กวัยต่ำกว่า6เดือน โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด , อยู่อาศัยในที่แออัด เช่น ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก, คนในบ้านรวมถึงผู้ดูแลสูบบุหรี่
โรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี เป็นโรคพบบ่อย แต่สถิติการเกิดที่แน่นอนยังไม่แน่ชัด เพราะอาการโรคจะคล้ายโรคหวัด และโดยทั่วไปโรคจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยปกติทั่วไปจะหายได้เองเหมือนโรคหวัด แพทย์จึงมักวินิจฉัยรวมอยู่ในโรคหวัด
โรคอาร์เอสวีเกิดและติดต่อได้อย่างไร?
โรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี เป็นโรคติดต่อได้ง่าย โดยเกิดจากระบบทางเดินหายใจติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ซึ่งเบื้องต้น เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตอนบน/ส่วนบน(โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน)ก่อน ต่อเมื่อโรครุนแรงจึงลุกลามเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตอนล่าง(ปอดอักเสบ/ปอดบวม)ร่วมด้วย
ทั้งนี้การติดเชื้อนี้ เกิดจากการคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสกับเชื้อ(ที่อยู่ในสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจผู้ป่วย) คือส่วนใหญ่ เกิดจากมือที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งเหล่านั้น ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ป่วย, หรือที่ติดอยู่ตามตัวผู้ป่วย ตามสิ่งของ/เครื่องใช้ต่างๆ(Fomites) เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได ของใช้ต่างๆ(เช่น ของเล่น) โทรศัพท์ แก้วน้ำ ช้อน ชาม แล้วเชื้อจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทาง ช่องปาก เยื่อจมูก และเยื่อตา แต่เชื้อฯมักไม่แพร่กระจายผ่านทางอากาศ(Air borne transmision)
นอกจากนั้นเกือบทุกราย ยังเกิดจากได้รับเชื้อจาก การไอ จามของผู้ป่วยจากเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยของสารสารคัดหลั่งที่ปนมาในการไอ จาม(Droplet)
ดังนั้น วิธีป้องกันโรคนี้ได้ดีที่สุด คือ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย, รู้จักใช้หน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, ล้างมือทุกครั้งก่อนการบริโภค, ร่วมกับการแยกของใช้ต่างๆ โดยเฉพาะ แก้วน้ำ ช้อน เสื้อผ้า โทรศัพท์ ราวบันได โต๊ะ ของใช้/เครื่องใช้ร่วมกัน เพราะละอองฝอยของสารคัดหลังจากทางเดินหายใจผู้ป่วยจะติดสะสมอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เมื่อมือสัมผัส และไปสัมผัสปาก จมูก ตา เชื่อไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายได้
โรคอาร์เอสวีมีอาการอย่างไร?
โรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี จะเริ่มมีอาการหลังร่างกายได้รับเชื้อ(ระยะฝักตัวของโรค)ในช่วงประมาณ 2-8 วัน
โดยทั่วไปในคนปกติที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันปกติ โรคนี้จะไม่รุนแรง และอาการจะคล้ายโรคหวัด โดยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งโรคจะหายได้เองจากการดูแลตนเองตามอาการภายในระยะเวลาเช่นเดียวกับโรคหวัด คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
แต่ในกลุ่มที่อาการรุนแรง โรคจะลุกลามเป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตอนล่าง คือในหลอดลมขนาดเล็กในปอดที่เรียกว่า “หลอดลมฝอย” เกิดเป็นการอักเสบในหลอดลมฝอย(Bronchiolitis) และลุกลามรุนแรงเป็นปอดอักเสบ/ปอดบวมได้
อาการของโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี ที่เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและที่อาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอบ้างโดยเป็นไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ น้ำตาไหล จากนั้นในคน/ในเด็กที่ภูมิคุ้มกันปกติ หลังการพักผ่อนเต็มที่ และ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ร่วมกับกินยาลดไข้ อาการต่างๆจะดีขึ้น ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์
แต่ในคน/เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาการจะค่อยๆรุนแรงมากขึ้นๆ ไอมากขึ้น เสียงแหบจากกล่องเสียงอักเสบ/บวม ไข้สูงขึ้น อ่อนเพลียมาก กินได้น้อย ดื่มน้ำได้น้อย เสมหะมากขึ้น หายใจเร็วขึ้น หายใจเสียงหวีด หอบเหนื่อย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจหยุดหายใจ และอาจตายได้จากภาวะหายใจล้มเหลวโดยเฉพาะในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 35 สัปดาห์
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอาร์เอสวีที่รุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอาร์เอสวีที่รุนแรง ได้แก่
- มีโรคปอดเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีการเจริญเติบโตของปอดผิดปกติแต่กำเนิด
- เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 5 กิโลกรัม
- มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะชนิดที่มีความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดที่เรียกว่า Cyanotic heart disease
- มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำมาก
- เด็กที่เกิดจากมารดาขณะตั้งครรภ์สูบบุหรี่จัด
- เด็กที่มีโรคกล้ามเนื้อที่เกิดจากระบบประสาทผิดปกติ
- เด็กคลอดก่อนกำหนดโดยที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 35 สัปดาห์
- ผู้ที่มีฐานะยากจน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้ที่มีอาการโรคหวัดที่หลังได้รับการดูแลตามอาการแล้ว ถ้าอาการเลวลง ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะใน เด็กอ่อน เด็กเล็ก และในผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอาร์เอสวีรุนแรง ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ’
แพทย์วินิจฉัยโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี จากลักษณะทางคลินิก โดยไม่ต้องใช้การสืบค้นด้วยวิธีอื่น คือ วินิจฉัยจาก
- ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อายุผู้ป่วย ประวัติอาการโรค การระบาดในแหล่งที่พักอาศัย การระบาดในโรงเรียน เป็นต้น ร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจฟังเสียงหายใจจากปอดด้วยหูฟัง
แต่ในบางกรณี ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จึงจะมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมโดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย เช่น
- ตรวจสารก่อภูมิต้านทานจากสารคัดหลั่ง(Swab/สวอบในจมูกหรือลำคอหรือโพรงหลังจมูก,
- การตรวจเพาะเชื้อจากโพรงหลังจมูก, การตรวจเชื้อ/การเพาะเชื้อจากเสมหะ
- ตรวจเลือด
- ดูค่า ซีบีซี/CBC
- ดูสารภูมิต้านทานหรือสารก่อภูมิต้านทานต่อโรคที่แพทย์สงสัย
- เอกซเรย์ภาพปอด
รักษาโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
แนวทางหลักในการรักษาโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี คือ การรักษาตามอาการ ด้วยยังไม่มีตัวยาใดที่มีประสิทธิภาพเฉพาะเจาะจงสำหรับรักษาโรคนี้
นอกจากนั้น โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ดังนั้นแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
- กรณีโรคมีอาการคล้ายโรคหวัดที่อาการไม่รุนแรงที่เป็นอาการผู้ป่วยส่วนใหญ่: การรักษา คือ การดูแลตนเองที่บ้าน ทั่วไป ได้แก่
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างพอเพียง(ใช้จิบน้ำบ่อยๆ ไม่ใช่ดื่มครั้งละมากๆ)เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่มเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน
- กินอาหารปรุงสุกที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ไม่กินอาหารค้าง
- เคลื่อนไหวร่างกายตามควรกับสุขภาพ
- หยุดงาน/หยุดเรียนจนกว่าไข้จะลงเป็นปกติแล้ว 24 ชั่วโมง
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆและทุกครั้งก่อนกินอาหาร
- แยกเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ ช้อน เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ของเล่น
- สั่งน้ำมูกด้วยกระดาษทิชชู แล้ว ทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง
- กินยา Paracetamol เพื่อลดไข้ และแก้ปวดหัว
- ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้ไอ
- ในเด็กห้ามกินยา Aspirin ด้วยอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการราย’
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- ไม่คลุกคลีกับคนอื่น
อนึ่ง: โรคนี้จะมีอาการตามธรรมชาติของโรคอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- กรณีโรคมีอาการรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากมีการติดเชื้อในหลอดลมฝอยในปอดและ/หรือมีปอดบวมร่วมด้วย ผู้ป่วยมักต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการด้วยวิธีการเดียวกับดังกล่าวใน’ข้อ ก.’ และมักร่วมกับ
- ให้ออกซิเจนเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาทางการหายใจ
- ให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีผู้ป่วยดื่มน้ำ/กินอาหารได้น้อย(ภาวะขาดน้ำ)
- ดูดเสมหะออกจากจมูกด้วยลูกยางและ/หรือ ใช้เครื่องช่วยดูดเสมหะจากลำคอกรณีมี น้ำมูก เสมหะ มากหรือข้นเหนียวจนผู้ป่วยกำจัดออกเองไม่ได้
- นอกจากนั้น อาจมีการใช้ยาต่างๆซึ่งจะเป็นกรณีๆไปตามแต่ละอาการของผู้ป่วย และ ดุลพินิจของแพทย์เพราะยาเหล่านี้อาจได้ผลเฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น เช่น
- ยาละลายเสมหะ
- ยาขยายหลอดลม
- ยาแก้ไอ
- ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์
- ยาปฏิชีวนะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- ยาต้านไวรัสที่ชื่อ Ribavirin ที่มีรายงานใช้ได้ผลในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ
โรคอาร์เอสวีมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี นอกจากการเกิดหลอดลมฝอยอักเสบ และ ปอดบวมแล้ว ที่พบได้ คือ
- กล่องเสียงอักเสบ กล่องเสียงบวมที่ส่งผลให้หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย และ เสียงแหบ
- หูชั้นกลางอักเสบ/ หูชั้นกลางติดเชื้อ
โรคอาร์เอสวีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคอาร์เอสวี คือ
- กรณีโรคไม่รุนแรง: โรคจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์จากรักษาดูแลตนเองแบบการรักษาตามอาการคล้ายในโรคหวัด ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ’ แต่ผู้ป่วยอาจยังมีอาการไอและอ่อนเพลียอยู่ได้นานถึง3-4สัปดาห์
- กรณีโรครุนแรง: ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสเสียชีวิตได้จากภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีรายงานอัตราตายของผู้ป่วยโรคนี้ที่มีอาการรุนแรงอยู่ในช่วง 3%-5% โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ถึงตายจะเป็นผู้ป่วยที่ยังเป็นทารกและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยกรณีทั่วไปในเด็กที่รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด อัตราตายในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 1%
อนึ่ง: ผู้ป่วยโรคนี้ที่รักษาหายแล้ว สามาถกลับมาติดโรคนี้ซ้ำได้เสมอ นอกจากนั้น ยังมีบางรายงานพบว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการ ‘หายใจเสียงหวีด’โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็ก พบว่าเมื่อโตขึ้นมีโอกาสเป็นโรคหืดได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ แต่เชื่อว่า น่าจะเกิดจากเด็กกลุ่มนี้มีพันธุกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องระหว่างโรคนี้และโรคหืด
ดูแลผู้ป่วย ดูแลตนเอง อย่างไร?
การดูแลตนเอง หรือการดูแลผู้ป่วยโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี ในกรณีอาการโรคไม่รุนแรง หรือกรณีที่แพทย์อนุญาตให้ดูแลตนเองที่บ้าน จะเช่นเดียวกับในการดูแลผู้ป่วยโรคหวัด ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
- พักผ่อนให้เต็มที่
- หยุดงาน หยุดโรงเรียน จนกว่าไข้จะลงปกติแล้ว 48 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ
- ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- แยกเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ ช้อน เสื้อผ้า
- ไม่ไปในที่แออัด
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด Paracetamol หรือกรณีที่พบแพทย์แล้ว ก็กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน
- ถ้าอาการต่างๆแย่ลง ให้รีบไปโรงพยาบาล เช่น ไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เสมหะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆที่ไม่ใช่สีขาว(แสดงว่าน่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจร่วมด้วย) เช่น เขียว น้ำตาล เทา
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
เมื่อเป็นโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี และได้พบแพทย์ หรือแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน(กรณีมีการรักษาในโรงพยาบาล) ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น เสียงแหบมากขึ้น ไอมากขึ้น หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย อ่อนเพลียมาก
- กลับมามีอาการที่เคยรักษาหายไปแล้ว เช่น มีไข้ ไอมาก หายใจลำบาก
- เกิดอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ขึ้นผื่น บวมตามตัว เพราะอาจเกิดจากการแพ้ยาที่แพทย์สั่งได้
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคอาร์เอสวีอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคอาร์เอสวี/ไวรัสอาร์เอสวี/โรคติดเชื้ออาร์เอสวี แต่มีการผลิตวัคซีนแล้วซึ่งกำลังอยู่ในการศึกษาประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้
อนึ่ง: ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเด็กกลุ่มมีโอกาสติดเชื้อนี้สูงและจะมีอาการที่รุนแรงมากจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะมีการให้ยาซึ่งเป็นสารภูมิต้านทาน กลุ่ม โมโนโคลนอลแอนตีบอดี เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับเด็กเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ เช่นยา พาลิวิซูแมบ
บรรณานุกรม
- Dawson-Caswell,M., and Muncle, JR, H. Am Fam Physician.2011;83(2):141-146
- Falsey,A. et al. NEJM.2005;352(17): 1749-1762
- https://en.wikipedia.org/wiki/Respiratory_syncytial_virus [2021,Nov27]
- https://www.healthline.com/health/respiratory-syncytial-virus-rsv [2021,Nov27]
- https://emedicine.medscape.com/article/971488-overview#showall [2021,Nov27]
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/respiratory-syncytial-virus.html [2021,Nov27]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK442240/ [2021,Nov27]