หลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children)
- โดย รองศาสตราจารย์(พิเศษ) นายแพทย์ ทวี โชติพิทยสุนนท์
- 17 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคหลอดลมอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร?
- รักษาโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร? ดูแลเด็กอย่างไร?
- เมื่อไรควรพาเด็กที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบพบแพทย์?
- โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรุนแรงไหม? ใครเสี่ยงต่อโรครุนแรง?
- โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีผลข้างเคียงจากโรคอย่างไรบ้าง?
- โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรักษาหายไหม?
- ป้องกันโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เด็กโรคหืด (Childhood asthma)
- ปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia) / ปอดอักเสบในเด็ก (Childhood pneumonitis)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
บทนำ
โรคหลอดลมอักเสบในเด็ก (Bronchitis in children) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณหลอดลมซึ่งอยู่ลึกลงไปจากกล่องเสียงไปยังปอดส่วนล่าง ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนอยู่ตรงกลางระหว่างทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก ลำคอ และท่อลม) และทางเดินหายใจส่วนล่าง (เนื้อปอด)
โรคหลอดลมอักเสบเป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่งของเด็ก และมักเป็นอาการที่นำเด็กมาพบแพทย์ ทั้งนี้ในยุโรป รายงานพบเกิดโรคนี้ได้ประมาณ 20-30% ของเด็กนักเรียน
โรคหลอดลมอักเสบพบได้ในเด็กทุกอายุ แต่พบได้สูงสุดในช่วงอายุ 9-15 ปี และพบเกิดในเด็กหญิงและเด็กชายใกล้เคียงกัน
โรคหลอดลมอักเสบในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เกือบทั้งหมดของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มีสาเหตุจากเชื้อโรคทั้งสิ้น โดยพบดังนี้
1 เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด ไวรัสอาร์เอสวี (RSV, Respiratory syncytial virus) ฯลฯ ซึ่งสาเหตุจากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด
2 เชื้อแบคทีเรีย เช่น นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) เชื้อฮีโมฟิ ลุสอินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) เชื้อมัยโค พลาสมา (Mycoplasma) เชื้อโรคไอกรน ฯลฯ ซึ่งพบได้น้อยกว่าจากเชื้อไวรัสมาก
โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีอาการอย่างไร?
อาการส่วนใหญ่ของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก เริ่มจากอาการคล้ายไข้หวัด (โรคหวัด หรือ โรคไข้หวัดใหญ่) น้ำมูกไหล ไอเล็กน้อย และเมื่อ 2-3 วันผ่านไป เชื้อโรคจะลุกลามไปยังหลอดลม ทำให้มีอาการไอมากขึ้น ไอแห้งๆ ไม่ค่อยมีเสมหะ หลังจากนั้นอาจลุกลามเป็นโรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวมได้ (โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวมในเด็ก) อาการส่วนใหญ่ของหลอดลมอักเสบจะหายเป็นปกติดี ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการ
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร?
แพทย์มักวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบในเด็กจากอาการป่วย โดยทั่วไปเหมือนโรคหวัด แต่มีอาการไอมากกว่า และมักไม่มีอาการหอบเหนื่อย การถ่ายเอ็กซเรย์ปอดมักปกติไม่สามารถช่วยวินิจฉัยได้
รักษาโรคหลอดลมอักเสบในเด็กอย่างไร? ดูแลเด็กอย่างไร?
แนวทางการรักษาและการดูแลเด็กโรคหลอดลมอักเสบ คือ
1. การรักษา: เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสเกือบทั้งหมด จึงไม่มียารักษาจำเพาะ ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่รักษาได้ ส่วนยาปฏิชีวนะสำหรับเชื้อแบคทีเรียนั้น มักไม่ค่อยมีประโยชน์เมื่อเป็นการติดเชื้อไวรัส เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้
2. การดูแลเด็ก: โดยผู้ดูแลควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไป คือ ให้เด็กดื่มน้ำอุ่นมากๆ อย่าอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ปิดปากจมูกเวลาไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ พักผ่อนมากๆ เมื่อมีไข้ หรือไอมากควรหยุดโรงเรียน เพื่อการพักผ่อน และลดโอกาสเกิดโรคแพร่กระจายสู่เด็กคนอื่นๆ
เมื่อไรควรพาเด็กโรคหลอดลมอักเสบพบแพทย์?
ควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ถ้า
- ไข้สูง ที่ไข้ไม่ลดลงใน 48 ชั่งโมงหลังกินยาลดไข้
- ไอมาก
- ซึม
- อ่อนเพลีย
- อาเจียน
- หรือมีอาการอื่นๆ ที่ผู้ปกครองคิดว่า อาการรุนแรง
- หรือผู้ปกครองกังวลใจ
โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรุนแรงไหม? ใครเสี่ยงต่อโรครุนแรง?
โดยทั่วไปโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มักไม่รุนแรง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ แต่อาจลุกลามเป็นปอดอักเสบซึ่งรุนแรงได้ (โรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก)
เด็กที่เสียงต่อโรคหลอดลมอักเสบรุนแรง มักเป็นเด็กที่ขาดอาหาร หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุใดๆก็ตาม ฯลฯ
โรคหลอดลมอักเสบในเด็กรักษาหายไหม?
โดยทั่วไป โรคหลอดลมอักเสบในเด็กสามารถรักษาหายเป็นปกติได้โดยทำตามคำแนะนำแพทย์ แต่โรคจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนกลายเป็น โรคปอดอักเสบ /ปอดบวม (โรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก)
โรคหลอดลมอักเสบในเด็กมีผลข้างเคียงจากโรคอย่างไรบ้าง?
ส่วนใหญ่ในเด็กมักไม่มีผลข้างเคียงจากโรคหลอดลมอักเสบ แต่อาจลุกลามเป็นปอดอักเสบ (โรคปอดอักเสบ ปอดบวมในเด็ก) ซึ่งรุนแรงมากขึ้นได้ เมื่อเด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ
การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบในเด็กทำได้อย่างไร?
การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก มีหลายวิธี เช่น โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางโรคที่มีวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด, วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่, วัคซีนโรคไอกรน
สอนเด็กให้รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) โดยเฉพาะ หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และไม่เล่นคลุกคลีกับเด็กป่วย
นอกจากนั้น ผู้ป่วยเด็กโรคหวัด หรือ เมื่อมีไข้ ต้องนอนพักผ่อน และปิดปากปิดจมูกเวลาไอจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น