เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 24 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- เชื้อไวรัสคืออะไร?
- ไวรัสแบ่งเป็นกี่ชนิด?
- ไวรัสทำให้เกิดโรคได้อย่างไร?
- ไวรัสติดต่อได้อย่างไร? เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
- ไวรัสอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าใด?
- โรคอะไรบ้างที่เกิดจากเชื้อไวรัส?
- กำจัดหรือฆ่าไวรัสให้ตายได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อไวรัสมีอาการอย่างไร? ต่างจากติดเชื้อแบคทีเรียอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัส?
- รักษาโรคไวรัสได้อย่างไร?
- โรคจากติดเชื้อไวรัสรุนแรงไหม?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อไวรัส? ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- ทำอย่างไรจึงป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสสมองอักเสบ (Viral encephalitis)
- ตาแดงจากไวรัส (Viral conjunctivitis)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)
- โรคหวัด (Common cold)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
เชื้อไวรัสคืออะไร?
เชื้อไวรัส หรือ ไวรัส (Virus) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก เล็กกว่าแบคทีเรียหลายเท่า ขนาดของไวรัสประมาณ 20 ถึง 300 นาโนเมตร (Nanometre) และสามารถทำให้เกิดโรค ในคนได้หลายโรค
ไวรัสมีลักษณะพิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ: เช่น
- ไวรัส ไม่สามารถอยู่เป็นอิสระด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสัตว์อื่นๆเสมอ เช่น ไวรัสตับอักเสบ ต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ตับและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นภายในเซลล์, ถ้าไวรัสออกมาอยู่นอกเซลล์จะไม่สามารถมีชีวิตและเพิ่มจำนวนได้
- เราไม่สามารถมองเห็นเชื้อไวรัสด้วยตาเปล่าได้ และไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา, เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เรามองเห็นตัวไวรัสได้ คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron microscope) ซึ่งต้องใช้กำลังขยายนับแสนเท่า จึงจะมองเห็นตัวไวรัสได้
ไวรัสแบ่งเป็นกี่ชนิด?
การแบ่งชนิดของไวรัสสามารถทำได้หลายวิธี: เช่น
- แบ่งตามชนิดของสารพันธุกรรมนิวคลีอิคแอซิด (Nucleic acid)ที่ศูนย์กลางของตัวไวรัสเป็นดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA)
- แบ่งตามรูปร่างของเปลือกโปรตีน (Capsid) ที่หุ้มอยู่รอบตัวไวรัส เช่น อาจมีรูปร่างหลายเหลี่ยม หรือเป็นเกลียว
- แบ่งตามชนิดของเปลือกไขมันรอบตัวไวรัส (Lipid envelope)
- แบ่งตามลักษณะการแบ่งตัวของไวรัส
- แบ่งตามอวัยวะที่ไวรัสเข้าไปอยู่และทำให้เกิดโรค เช่น
- ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis virus) จะเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์ตับ
- ไวรัสสมองอักเสบ (Encephalitis virus) จะเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์สมอง
- แบ่งตามพยาธิสภาพ (Pathology) ที่เกิดในร่างกายมนุษย์ เช่น
- การทำลายเซลล์โดยตัวไวรัสเองโดยตรง (Direct cytopathic effect)
- การทำลายเซลล์ที่มีไวรัสโดยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเอ
- การทำให้เซลล์ที่ไวรัสเข้าไปอยู่กลายเป็นเซลล์มะเร็ง (Oncogenic virus)
ไวรัสทำให้เกิดโรคได้อย่างไร?
ไวรัสทำให้เกิดโรคกับร่างกายได้ด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ เช่น
- ไวรัสเกาะติดกับผนังเนื้อเยื่อหุ้มรอบเซลล์ (Cell membrane) โดยมากที่ผนังเนื้อเยื่อหุ้มรอบเซลล์จะมีตัวรับ (Receptor) ที่เหมาะกับโครงสร้างของไวรัสอยู่ด้วยจึงจะทำให้ไวรัสมาเกาะติดได้ง่าย
- ไวรัสรุกรานเข้าภายในเซลล์และเริ่มแบ่งตัวเพิ่มปริมาณไวรัส
- ไวรัสสร้างโปรตีนที่เหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ของไวรัสภายในเซลล์ ทำให้ไวรัสที่เพิ่มขึ้นมานั้นสามารถอยู่อาศัยภายในเซลล์ได้
- ไวรัสจะเข้าไปที่นิวเคลียสของเซลล์มนุษย์และบังคับให้ลดการสร้างโปรตีนปกติของเซลล์นั้นๆ แต่จะสร้างเฉพาะโปรตีนที่เป็นประโยชน์กับไวรัสเท่านั้น ทำให้การทำงานของเซลล์เพื่อประโยชน์ของร่างกายมนุษย์ลดลง เปรียบเสมือนการยึดครองศูนย์กลางการทำงานของเซลล์ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของไวรัสนั่นเอง
โดยผลที่ตามมา คือ ไวรัสจะใช้เซลล์มนุษย์เป็นโรงงานผลิตไวรัสออกมาจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันเซลล์นั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จึงเกิดอาการของโรคตามมา, ต่อมาเมื่อถึงระยะหนึ่ง เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสนั้นก็จะตายหรือถูกทำลายไป, ไวรัสที่อยู่ในเซลล์นั้นก็จะเคลื่อนย้ายเข้าไปยึดครองเซลล์อื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป, ถ้าเซลล์ของอวัยวะนั้นๆถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ก็จะเกิดอาการของโรคขึ้นมาอย่างชัดเจน เช่น
- ไวรัสตับอักเสบ ทำให้เกิดภาวะตับวาย (Liver failure)
- ไวรัสสมองอักเสบ ทำให้เกิดอาการ หมดสติ ไม่รู้ตัว ชัก โคม่า
- ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ทำลายเซลล์ประสาททำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หมดสติ และ
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสหลายชนิดโดยเฉพาะโรคหวัด (Common cold) โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคหัด (Measle) โรคอีสุกอีใส (Chicken pox), ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (Antibody)ต่อเชื้อไวรัสได้ทันท่วงที ทั่วไปจะไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย, ภูมิคุ้มกัน/สารภูมิต้านทานนี้สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ และทำให้หายจากโรคได้โดยไม่เกิดความเสียหายต่ออวัยวะนั้นๆ
ไวรัสติดต่อได้อย่างไร? เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
ไวรัส สามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้ตามช่องทางต่อไปนี้: เช่น
- ทางการหายใจ: เช่น ไวรัสโรคหวัดธรรมดา ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคไข้หวัดนก ไวรัสที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ/ปอดบวม ไวรัสโรคหัด, จะติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม รดกัน การจูบกับคนที่เป็นโรค, โดยไวรัสจะอยู่ในเซลล์ที่ปะปนออกมากับน้ำมูก น้ำลาย ที่ผู้ป่วยปล่อยออกมา
- ทางเลือด: เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด เช่น ได้รับการให้เลือดที่มีเชื้อ, ถูกเข็มฉีดยาที่เปื้อนเลือดผู้ป่วยแทงที่ผิวหนัง, เลือดที่มีเชื้อไวรัสเข้าปาก, เป็นต้น
- ทางการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะโรคของเชื้อไวรัส: เช่น โรคเอดส์ โรคหูดหงอนไก่(ซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัส เอชพีวี เช่น การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) โรคเริมอวัยวะเพศ (ซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ชนิดที่ 2)
- ทางการตั้งครรภ์: โดยเชื้อไวรัสแพร่จากแม่ไปสู่ลูก เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เชื้อโรคไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสซีเอมวี/CMV(โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส) โรคหัดเยอรมัน
- ทางการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง: เช่น ไวรัสโรคอีสุกอีใส (Chicken pox) โรคไข้ทรพิษ (Small pox)
- ทางการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด: เช่น ไวรัสโรคกลัวน้ำ/โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูก สุนัข แมว ค้างคาว ฯลฯ กัด เป็นต้น
- เข้าทางตา: เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดงจากไวรัส
- ทางยุงกัด เช่น ไวรัสสมองอักเสบ ไวรัสโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengue hemorrhagic fever) ที่พบอยู่เสมอในประเทศไทย เป็นต้น
- เข้าทางปาก: เช่น ไวรัสโรต้า/โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา ซึ่งทำให้เกิดโรคท้องร่วง/ท้องเสีย และไวรัสโปลิโอ (Polio virus)ที่ทำให้เกิดโรคแขนขาลีบ/โรคโปลิโอ เป็นต้น
ไวรัสอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าใด?
ไวรัสอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้โดยอาศัยอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ โดยเฉพาะเซลล์ที่ไวรัสแต่ละชนิดมีความสามารถเข้าไปอยู่โดยเฉพาะซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรค เช่น
- โรคไวรัสตับอักเสบ จะเข้าไปอยู่ในเซลล์ตับเท่านั้น
- ไวรัสสมองอักเสบ จะเข้าไปอยู่ในเซลล์ประสาทสมองส่วนกลาง
- ไวรัสเอดส์ อยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดทีลิ้มโฟซัยท์ (T-lymphocyte)
- ไวรัสโรคหวัด อยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของทางเดินหายใจ
อนึ่ง: เมื่อไวรัสอยู่ในเซลล์ อาจจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา (Light microscope) เรียกว่า อินคลูชั่นบอดี้ (Inclusion body) ซึ่งมักจะอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส
ระยะฟักตัวของไวรัส:
ระยะฟักตัว ได้แก่ เวลานับตั้งแต่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายจนถึงเวลาที่เกิดอาการของโรค จะแตกต่างกันไปในไวรัสแต่ละชนิด เช่น
- โรคหวัดธรรมดา จะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน
- โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ มีระยะฟักตัวประมาณ 7 วันถึง 2 ปี
โรคอะไรบ้างที่เกิดจากเชื้อไวรัส?
โรคติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อย: เช่น
- โรคหวัดธรรมดา, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคไข้เลือดออก
- โรคหัด, โรคคางทูม, โรคอีสุกอีใส, โรคโปลิโอ, โรคหัดเยอรมัน
- โรคพิษสุนัขบ้า, โรคไข้สมองอักเสบ, โรคไข้ทรพิษ/ฝีดาษ
- โรคเริม, โรคงูสวัด, โรคไวรัสตับอักเสบ, โรคตาแดงจากไวรัส
- โรคเอดส์
กำจัดหรือฆ่าไวรัสให้ตายได้อย่างไร?
การกำจัดเชื้อไวรัสจากร่างกาย มีวิธีการดังนี้ เช่น
ใช้ยาต้านไวรัส: ซึ่งปัจจุบันมีหลายชนิด เช่น ยาอะซัยโคลเวีย (Acyclovir) ใช้รักษาโรคเริม และโรคงูสวัด, โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)/ทามิฟลู (Tamiflu) ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่, โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ใช้รักษาโรคโควิด-19
- ให้เซรุ่ม/น้ำเหลืองของเลือด (Serum): ซึ่งผลิตในสัตว์ หรือ ด้วยเทคนิคทาง อิมมูโนวิทยา (Immunology, ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) และมีสารภูมิต้านทาน (Antibody) ในน้ำเหลืองนั้นๆ อยู่แล้ว ฉีดให้ผู้ป่วย, ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสทันทีที่ฉีด โดยไม่ต้องรอสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานเองเหมือนในการฉีดวัคซีน, ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยถูกสุนัขบ้ากัด แพทย์จะฉีดเซรุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าให้ทันทีในวันที่ถูกกัด ซึ่งสารภูมิต้านทานนี้/Antibody นี้ จะไปทำลายเชื้อไวรัสได้ทันที ทำให้ผู้ป่วยไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้
- วัคซีน: ปัจจุบันนี้มีวัคซีนที่ฉีดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานได้เองต่อเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (วัคซีนโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน), วัคซีน อีสุกอีใส, วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ, วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี, วัคซีนพิษสุนัขบ้า, วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก, ฯลฯ, แต่ก็มีไวรัสหลายชนิดที่ยังไม่มีวัคซีนฉีด เช่น โรคเอดส์ (แต่กำลังมีการศึกษาวิจัยอยู่) เป็นต้น
โรคติดเชื้อไวรัสมีอาการอย่างไร? ต่างจากติดเชื้อแบคทีเรียอย่างไร?
การติดเชื้อโรค ทั้ง โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โรคเชื้อรา จะให้อาการได้คล้ายคลึงกัน ไม่มีอาการที่เป็นอาการจำเพาะ, ทั้งนี้เพราะอาการของโรคมักขึ้นกับอวัยวะที่ติดโรค เช่น
- การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ: อาการ เช่น มีไข้ ไอ อาจมีน้ำมูก และ/หรือเสมหะ
- การติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร: อาการ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
- การติดเชื้อที่สมอง: อาการ เช่น มีไข้ สับสน ปวดหัว อาจชัก และอาจโคม่า
สรุป: อาการโรคติดเชื้อไวรัสมีได้หลากหลายอาการ ขึ้นกับว่า เป็นการติดเชื้อของอวัยวะ/ระบบใด, และจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแยกได้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้ออะไร ไวรัส แบคทีเรีย หรือ เชื้อรา
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัส?
ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคจากการติดเชื้อทุกชนิด รวมทั้งจากเชื้อไวรัสจะเหมือนกัน คือ แพทย์จะวินิจฉัยจาก
- อาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติที่อยู่อาศัย การเดินทาง และประวัติการระบาดของโรคในขณะนั้น
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
- อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น การตรวจปัสสาวะ, การตรวจอุจจาร, และ ตรวจเลือด เช่น ซีบีซี/CBC, การตรวจเลือดดูการทำงานของ ตับ ไต และค่าสารเกลือแร่/แร่ธาตุ,
- การตรวจย้อมเชื้อ การตรวจเพาะเชื้อ
- ตรวจเลือด หรือ สารคัดหลั่งต่างๆ เพื่อดู สารภูมิต้านทาน/Antibody หรือ สารก่อภูมิต้านทาน(Antigen) ต่อเชื้อนั้นๆ
- อาจมีการตรวจภาพอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- บางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
อนึ่ง: การตรวจเพิ่มเติม/การสืบค้น จะด้วยวิธีใดขึ้นกับ อาการผู้ป่วย, ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์
รักษาโรคไวรัสได้อย่างไร?
การรักษาหลักของโรคติดเชื้อไวรัส คือการรักษาตามอาการเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเกิดขึ้นซึ่งจะกำจัดไวรัสได้เอง ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ไวรัสทำให้เกิดโรคได้อย่างไร’
ยาปฏิชีวนะ ฆ่าไวรัสไม่ได้, ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ดังนั้นจึงไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส, ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน เช่น เป็นโรคหวัด และมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ เป็นต้น
การรักษาตามอาการ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ, การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ, กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการดังกล่าว, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดเมื่อกินได้น้อย, การให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการทางการหายใจ
อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การกำจัดหรือฆ่าไวรัส’ ไวรัสบางชนิดที่มียาต้านไวรัส แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ดี ทั้งนี้เพราะไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้สูง จึงทำให้เกิดการดื้อยาได้ง่ายซึ่งจะส่งผลให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ดื้อยาที่จะแพร่กระจายติดต่อผู้อื่นได้ง่ายเมื่อใช้ยาพร่ำเพรื่อ
โรคจากติดเชื้อไวรัสรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป โรคติดเชื้อไวรัสมักรักษาได้หาย, แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสจะเช่นเดียวกับในการติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย หรือ โรคเชื้อรา, กล่าวคือจะขึ้นกับ ชนิด/สายพันธุ์ของไวรัส, ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ, สุขภาพเดิมของผู้ป่วย, และในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ที่โรคมักรุนแรง, เช่นใน
- เด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
- ผู้สูงอายุ
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน คนที่ขาดอาหาร/ภาวะทุพโภชนา
- ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด, และ/หรือ รังสีรักษา
ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อไวรัส? ควรพบแพทย์เมื่อใด?
การดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อไวรัสที่สำคัญ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น, รวมทั้งการไม่คลุกคลีกับผู้อื่น
นอกจากนั้น: เช่น
- ถ้าได้พบแพทย์ พยาบาล ก็ควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เมื่อมีไข้ ควรต้องหยุดงาน หยุดเรียนจนกว่าไข้จะลงอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เพราะช่วงมีไข้มักเป็นช่วงแพร่กระจายเชื้อได้สูง
- ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- กินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
- พบแพทย์เสมอ หรือพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดโดยพบแพทย์ภายใน 1-2 วันเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- อาการไม่ดีขึ้น
- กังวลในอาการ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อมีอาการทางสมอง เช่น ปวดหัวมาก, แขนขาอ่อนแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง, คอแข็ง สับสน ซึม ชัก และ/หรือ โคม่า หรือมีอาการทางการหายใจ เช่น หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
ทำอย่างไรจึงป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้?
การป้องกันการติดเชื้อไวรัส: เช่น
- ที่สำคัญที่สุด คือ ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากคนที่กำลังเป็นโรคโดยใช้วิธีการป้องกันและรักษาความสะอาดของตนเองเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เช่น
- ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อเข้าทางลมหายใจ
- รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกแล้ว
- ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- ล้างมือทุกครั้ง หลังถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
- ล้างมือทุกครั้ง ก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยด้วยมือเปล่า เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสเพราะอาจติดโรคได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหนาแน่น หรือไม่มีที่ระบายอากาศที่เพียงพอ
- มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และใช้ถุงยางอนามัชายเสมอ
- ไม่ใช้สาร/ยาเสพติดทุกชนิด
- ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วยการอดหลับอดนอน หรือเที่ยวกลางคืน
- ไม่ดื่มเหล้า
- ไม่สูบบุหรี่
- อย่าจูบปากกับคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่รู้ว่าเป็นพาหะของโรคหรือไม่
- อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
- นอนกางมุ้ง อย่าให้ยุงลายกัด
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน
- ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแยกผู้ป่วยในห้องส่วนตัวห่างจากคนอื่นๆเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ รวมถึงแยกเครื่องใช้ส่วนตัวที่รวมถึง แก้วน้ำ ช้อน ซ่อม จาน ชาม
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวทุกตัวในบ้าน
- อีกวิธีสำคัญ คือ ฉีดวัคซีนต่างๆเพื่อป้องกันโรคที่รวมถึงป้องกันความรุนแรงของโรคตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ วัคซีนอีสุกอีใส, วัคซีนตับอักเสบบี, วัคซีนโปลิโอ, และปลูกฝี/วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ, วัคซีนโควิด-19
*อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด แต่จะช่วยให้เมื่อติดเชื้อ, ความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง, แต่ก็ยังมีอีกหลายโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช่น โรคเอดส์, โรคไข้เลือดออก, นอกจากนั้นบางคนได้วัคซีนแล้วร่างกายไม่ยอมสร้างภูมิคุ้มกันฯก็มีอยู่บ่อยๆ, หรือบางทีได้วัคซีนแล้วแต่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านฯไม่ทัน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าในบางรายที่ระยะฟักตัวสั้นมาก ก็จะเกิดเป็นโรคก่อนที่จะป้องกันได้ เป็นต้น
บรรณานุกรม
- Pathologic Basis of Diseases, Robbins and Cotran ฉบับพิมพ์ปี 2010
- https://www.msdmanuals.com/home/infections/overview-of-viral-infections/overview-of-viral-infections [2022,Dec24]