จีบีเอม มะเร็งสมองจีบีเอม (GBM: Glioblastoma Multiforme)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจีบีเอม?
- จีบีเอมมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยจีบีเอมได้อย่างไร?
- จีบีเอมมีกี่ระยะ?
- รักษาจีบีเอมอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
- จีบีเอมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองจีบีเอมไหม?
- ป้องกันจีบีเอมได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- เทโมโซโลไมด์ (Temozolomide)
- ไกลโอมา เนื้องอกไกลโอมา (Glioma)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ:คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งไกลโอบลาสโตมา มัลติฟอร์เม (Glioblastoma multiforme) หรือ Glioblastoma เรียกย่อว่า จีบีเอม/จีบีเอ็ม (GBM) เป็นมะเร็งเกิดจากเซลล์เกลีย (Glia cell) ของระบบประสาท พบเกิดได้ทุกตำแหน่งในสมองและในไขสันหลัง แต่ทั้งหมดของโรคมักพบเกิดในส่วนของ สมองใหญ่
มะเร็งสมองจีบีเอม/จีบีเอม พบทั่วโลกแต่ไม่บ่อยนัก รายงานในปี 2017 พบน้อยกว่า10รายต่อประชากร 1แสนคน พบเป็นประมาณ50%ของเนื้องอกและมะเร็งสมองชนิดไกลโอมา เป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถพบทุกอายุที่รวมถึงในเด็ก อายุที่พบบ่อยคือช่วง 50-60 ปี พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง
สำหรับประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2561 (ผู้ป่วยช่วง พ.ศ. 2556 - 2558) ซึ่งเป็นรายงานรวมเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งและที่เป็นมะเร็งของสมองและไขสันหลังทุกชนิด (รวมถึงจีบีเอมด้วย) พบในเพศชาย 2.8 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน และในเพศหญิง 2.9 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน ทั้งนี้ไม่มีรายงานแยกสถิติเกิดเฉพาะของจีบีเอม
อนึ่ง มะเร็งจีบีเอมที่เกิดในไขสันหลัง พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย และมักพบในผู้ใหญ่ แต่ก็พบได้น้อยมากเป็นเพียงการรายงานผู้ป่วยนานๆครั้ง โดยโรคมีธรรมชาติของโรค, การวินิจฉัย, และการรักษา เช่นเดียวกับโรคจีบีเอมที่เกิดในสมอง ดังนั้นบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะจีบีเอมที่เกิดกับสมองเท่านั้น/มะเร็งสมองจีบีเอม แต่ปรับใช้กับจีบีเอมที่เกิดในไขสันหลังได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคไขสันหลัง)
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจีบีเอม?
สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดจีบีเอมยังไม่ทราบ แต่พบว่า
- ผู้ที่ป่วยเป็นเนื้องอกสมองชนิดไกลโอมา (Glioma) เมื่อเกิดเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดและ/หรือการฉายรังสีรักษา โรคอาจกลายพันธุ์จากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งเป็นเนื้องอกมะเร็งหรือจีบีเอมได้
- นอกจากนั้น ผู้ป่วยจีบีเอมมักพบมีจีน/ยีน(Gene) ที่ผิดปกติหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น TP53, EGFR (Epidermal growth factor receptor) เป็นต้น
จีบีเอมมีอาการอย่างไร?
อาการของจีบีเอมเกิดจากก้อนเนื้อที่โตอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้เกิดการเพิ่มความดันใน กะโหลกศีรษะอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้เกิด
- ปวดหัวรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ซึม ชัก และ
- อาจโคม่าได้เมื่ออาการรุนแรง
นอกจากนั้นคือ:
- อาการจากการที่ก้อนเนื้อกดเบียดทับและลุกลามเข้าเนื้อสมองที่ตำแหน่งรอยโรคและที่เนื้อ สมองใกล้เคียง ส่งผลให้เกิด
- กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง
- พูดลำบาก
- ซึม
- ชัก
- อาการจากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่น้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง(Cerebrospinal fluid: CSF/ ซีเอสเอฟ) ซึ่งพบได้น้อยและเมื่อเกิดขึ้นจะจัดเป็นโรคในระยะสุดท้าย โดยผู้ป่วยจะมีอาการ
- ปวดต้นคอ, และ /หรือปวดหลัง, และ/หรือปวดขา โดยจะเป็นอาการปวดอย่างมาก
*อนึ่ง: ไม่มีอาการเฉพาะของจีบีเอม แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองทุกชนิด เพียงแต่อาการเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่า
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อปวดศีรษะเรื้อรังและปวดมากขึ้นๆตลอดเวลา หรือปวดหัวรุนแรง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยจีบีเอมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยจีบีเอมได้จาก
- ซักถามประวัติอาการของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- ตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- แต่การจะได้ผลแน่นอน ต้องได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในสมองหลังผ่าตัดหรือตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
และเนื่องจากจีบีเอมเป็นโรคที่ธรรมชาติของโรคจะไม่มีการลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นๆ (พบแพร่กระจายไปปอดและกระดูกได้แต่พบได้น้อยมากๆ) ดังนั้นทาง คลินิกจึงไม่มีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาการแพร่กระจายของโรค แต่เป็นเพียงการตรวจสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น
- ตรวจเลือดซีบีซี/CBC
- การตรวจเลือดดูเบาหวาน, ดูการทำงานของตับและของไต
- การตรวจปัสสาวะ
- และการเอกซเรย์ปอดดูโรคของปอดและหัวใจ
อย่างไรก็ตาม จีบีเอม สามารถแพร่กระจายทางน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (CSF)ได้ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’ แต่เป็นภาวะที่พบได้น้อย ดังนั้นทางคลินิกจึงไม่มีการตรวจเจาะหลังเพื่อตรวจ CSF โดยแพทย์จะเจาะหลังผู้ป่วยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีโรคแพร่กระจายสู่ CSF ที่อยู่ล้อมรอบไขสันหลัง โดยมักจะตรวจร่วมกับการตรวจภาพไขสันหลังด้วยเอมอาร์ไอ
จีบีเอมมีกี่ระยะ?
ทั่วไป ยังไม่นิยมจัดระยะโรคของจีบีเอมเพราะธรรมชาติของโรคไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองและ/หรืออวัยวะอื่นๆ แต่แพทย์นิยมแบ่งระยะโรคผู้ป่วยตามลักษณะทางคลินิกเป็นระยะต่างๆดังนี้
- ระยะผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมด
- ระยะผ่าตัดก้อนเนื้อได้ไม่หมด
- ระยะผ่าตัดไม่ได้
- ระยะโรคกลับเป็นซ้ำ และ
- ระยะที่โรคลุกลามรุนแรงควบคุมไม่ได้หรือแพร่กระจาย ที่มักแพร่กระจายเข้าสู่น้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง/CSF/ซีเอสเอฟ ซึ่งแพทย์บางท่านจะเรียกว่าเป็นโรคระยะที่ 4
รักษาจีบีเอมอย่างไร?
การรักษาหลักของจีบีเอมมักเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างการผ่าตัดและการฉายรังสีรักษา ส่วนยาเคมีบำบัดแพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ทั้งนี้เพราะเป็นเซลล์มะเร็งชนิดตอบสนองได้ไม่ค่อยดีต่อยาเคมีบำบัดทั่วไป แต่ตอบสนองได้ปานกลางกับยาเคมีบำบัดบางตัว เช่น ยา Temozolomide ซึ่งยานี้ยังมีราคาแพงมาก และยานี้ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยในรายที่ตอบสนองดีต่อยานี้ ยาฯจะช่วยควบคุมโรคได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยทั่ว ไปประมาณ 10 - 12 เดือน
อนึ่ง ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาหาวิธีรักษาจีบีเอมวิธีใหม่ๆนอกเหนือจากวิธีมาตรฐานเดิมเพื่อ ให้ได้ผลการรักษาที่สูงขึ้น เช่น การใช้วัคซีนที่ได้จากตัวเซลล์มะเร็งชนิดนี้, การใช้ยาในกลุ่มยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงจีบีเอมขึ้นกับวิธีรักษาได้แก่
ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
ข. รังสีรักษา: คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อสมอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง)
ค. ยาเคมีบำบัด: คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงจีบีเอมจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ
- ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
- มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือด สูง
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ในผู้สูงอายุ
- ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)
จีบีเอมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของจีบีเอมขึ้นกับ ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่, อายุของผู้ป่วย (อายุน้อยกว่า 50 ปีการพยากรณ์โรคดีกว่า, อายุมากกว่า60ปี การพยากรณ์โรคแย่), และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
จีบีเอม เป็นโรคมีการพยากรณ์โรครุนแรง ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หาย ทั่วไปผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 12-15 เดือน, อัตรารอดที่ 2 ปีน้อยกว่า25%, และที่ 5 ปี ประมาณ 3-7%
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยจีบีเอมเช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ทุกชนิด แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ
- ในเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
มีวิธีตรวจคัดกรองจีบีเอมไหม?
ปัจจุบัน ไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบจีบีเอมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
ป้องกันจีบีเอมได้อย่างไร?
ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดจีบีเอมเพราะยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน
บรรณานุกรม
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- https://emedicine.medscape.com/article/283252-overview#showall [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glioblastoma [2022,April2]
- https://www.abta.org/tumor_types/glioblastoma-gbm/ [2022,April2]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5563115/ [2022,April2]