ภาวะน้ำคร่ำมาก (Hydramnios)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะน้ำคร่ำมากหมายถึงอะไร?

ภาวะน้ำคร่ำมาก (Hydramnios หรือ Polyhydramnios) หมายถึง การที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หากตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) แล้ววัดค่า Amniotic fluid in dex: AFI (ค่าการคำนวณความลึกของถุงน้ำคร่ำ ที่ได้จากการตรวจถุงน้ำคร่ำ 4 ตำแหน่งด้วย อัลตราซาวด์ โดยค่าที่ปกติคือ AFI ประมาณ 5-25 ซม./เซนติเมตร) ได้มากกว่า 25 ซม หรือวัดระดับน้ำคร่ำตำแหน่งเดียวได้ค่าที่ลึกที่สุด (Single deepest pocket) เกิน 8 ซม. ทั้งนี้ปริ มาณน้ำคร่ำในการตั้งครรภ์ปกติ เมื่อใกล้คลอดจะมีปริมาณประมาณ 500-1,000 มล.(มิลลิลิตร) การที่มีปริมาณน้ำคร่ำมาก อาจเกิดจาก

  • มีการสร้างมากกว่าปกติ
  • หรือจากการถ่ายเท/การกำจัดออกของน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ
  • หรือจากไม่มีความสมดุลระหว่างการสร้างและการกำจัดออกของน้ำคร่ำ

สาเหตุที่ทำให้มีน้ำคร่ำมากคืออะไร?

ภาวะน้ำคร่ำมาก

สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ ได้แก่

  • ทารกในครรภ์มีความพิการ เช่น มีการตีบของหลอดอาหาร หรือมีลำไส้อุดตัน ทำให้ไม่สามารถกลืนน้ำคร่ำได้ นอกจากนั้น มักพบในทารกที่ไม่มีกะโหลกศีรษะ และ/หรือ ทารกที่กระดูกสันหลังไม่ปิด
  • ทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติ
  • ครรภ์แฝด ที่มีการเชื่อมต่อกันของเส้นเลือด (Twin-twin transfusion syndrome) โดยทารกที่ได้รับเลือดมาก จะมีการปัสสาวะมาก จึงทำให้ปริมาณน้ำคร่ำมากขึ้น
  • โรคของมารดา ได้แก่ โรคเบาหวาน
  • การติดเชื้อของทารกในครรภ์
  • ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้มากถึง 50 %

ภาวะน้ำคร่ำมากมีผลต่อมารดาและทารกอย่างไร?

ความรุนแรงของภาวะน้ำคร่ำมากแบ่งออกได้เป็น

  • ภาวะน้ำคร่ำมากแบบเล็กน้อย
  • ภาวะน้ำคร่ำมากปานกลาง
  • ภาวะน้ำคร่ำมากอย่างรุนแรง

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของปริมาณผิดปกติของน้ำคร่ำ

ก. ผลต่อมารดา: ที่พบได้ คือ

  • ทำให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายท้อง หายใจไม่สะดวก
  • ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เนื่องจากมีการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป
  • รกลอกตัวก่อนทารกคลอด (รกลอกตัวก่อนกำหนด) เนื่องจากเมื่อมีการแตกของถุงน้ำ คร่ำ ทำให้ขนาดมดลูกหดรัดตัวลงอย่างรวดเร็ว
  • เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (การคลอดก่อนกำหนด) เนื่องจากมีการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป
  • ทารกอยู่ท่าผิดปกติและไม่คงที่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำคร่ำมาก ทารกจึงหมุนเปลี่ยนท่าไปมาได้ง่าย
  • มีโอกาสได้รับการทำสูติศาสตร์หัตถการ เช่น การผ่าท้องคลอดฉุกเฉิน เพื่อช่วยชีวิตทา รกในครรภ์
  • ตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี

ข. ผลต่อทารก: ที่พบได้ คือ

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • มีโอกาสได้รับการทำสูติศาสตร์หัตถการ เช่น การผ่าท้องคลอดฉุกเฉิน หรือทำคลอดท่าก้น

สังเกตได้อย่างไรว่ามีภาวะน้ำคร่ำมาก?

ในกรณีที่ปริมาณน้ำคร่ำเพิ่มเล็กน้อยไม่มาก สตรีตั้งครรภ์มักไม่สามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติ ยกเว้นหากมีปริมาณน้ำคร่ำมากอาจสังเกตได้ว่า ครรภ์โตเร็วผิดปกติ มีอาการอึดอัดแน่นท้อง ในรายที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากๆ ทำให้หายใจลำบากเนื่องจากกระบังลมถูกดันขึ้นมาดันปอดมาก

แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำมากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำมาก ได้จาก

  • ประวัติอาการและการตั้งครรภ์: แพทย์จะสอบถามประวัติเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์, โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน
  • การตรวจร่างกาย: ตรวจร่างกายสตรีเหล่านี้ จะพบมีมดลูกขนาดใหญ่กว่าอายุครรภ์ แพทย์อาจคลำได้ทารกหรือรูปร่างทารกไม่ชัดเจน ในอายุครรภ์ที่ควรจะตรวจได้ชัดเจน หรือ อาจฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้เบากว่ากว่าปกติ
  • การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยภาวะนี้ จะมีการวัดความลึกของแอ่งน้ำคร่ำต่างๆ ทั้ง แบบวัด 4 แอ่ง (Amniotic fluid index: AFI) หรือวัดระดับน้ำคร่ำในแอ่งที่ลึกที่สุดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้การตรวจอัลตราซาวด์ยังใช้วินิจฉัยความผิดปกติ หรือความพิการของทารก และวินิจฉัยว่าเป็นครรภ์แฝดหรือไม่
  • การตรวจเลือดมารดา เพื่อวินิจฉัยภาวะเบาหวาน และ/หรือการติดเชื้อของทารกในครรภ์

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีน้ำคร่ำมาก?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำคร่ำมาก ได้แก่

  • พักผ่อนให้มาก งดทำงานหนัก
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้สม่ำเสมอ
  • หากเป็นเบาหวานต้องรักษาควบคุมระดับน้ำตาลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

รักษาภาวะน้ำคร่ำมากอย่างไร?

ในกรณีที่ปริมาณน้ำคร่ำไม่มาก และตรวจไม่พบความผิดปกติของทารก การรักษามักเป็นแบบรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้พักผ่อนให้มาก ให้ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร หากมีปริมาณน้ำคร่ำมากจนมีผลต่อการหายใจของมารดา สามารถให้การรักษาได้ดังนี้

  • ให้ยาลดการสร้างน้ำคร่ำ เช่น ยากลุ่ม Indomethacin
  • ให้ยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
  • รักษา ควบคุม โรคเบาหวาน
  • การดูดน้ำคร่ำออกเพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำ ซึ่งจะช่วยให้มารดาสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น
  • ในกรณีที่สงสัยทารกมีความผิดปกติ อาจต้องมีการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจโครโมโซมของทารกด้วย เพื่อช่วยเป็นแนวทางการรักษา

หลังคลอดดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังคลอด ได้แก่

  • หากมีภาวะน้ำคร่ำมากในขั้นไม่รุนแรง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด/ระยะหลังคลอด (เช่น การตกเลือดหลังคลอด)
  • แต่หากมีภาวะน้ำคร่ำมากระดับที่รุนแรง โอกาสเกิดภาวะ แทรกซ้อนหลังคลอดอาจสูงขึ้น ซึ่งต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างดี และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ ถ้าพบมีอาการผิดปกติ
  • อย่างไรก็ตาม การดูแลหลังคลอดเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป คือ
    • หากคลอดทางช่องคลอด การดูแลตนเอง คือ
      • การดูแลแผลฝีเย็บ
      • การสังเกตว่าน้ำคาวปลาปกติหรือไม่
      • สังเกตการหดรัดตัวของมดลูก (ดูการตกเลือดหลังคลอด)
    • ส่วนหากได้รับการผ่าตัดคลอด การดูแลตนเองก็ต้อง
      • ดูแลแผลผ่าตัด
      • สังเกตอาการติดเชื้อต่างๆ เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบ ขัด

อนึ่ง: สำหรับทารกซึ่งส่วนใหญ่จะปกติ ก็มีการดูแลทารกหลังคลอดตามปกติ แต่หากทารกมีความผิดปกติ ก็จะมีการดูแลเป็นพิเศษเฉพาะรายไปตามแต่ความผิดปกติของทารกแต่ละราย เช่น ปอดติดเชื้อ เป็นต้น

ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใด?

การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป:

  • หากทารกครรภ์แรกไม่มีความผิดปกติ การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเหมือนสตรีทั่วไป แต่เพื่อให้มารดาได้เลี้ยงดูบุตรเต็มที่ ควรเว้นระยะห่างไปประมาณ 2-3 ปี
  • แต่ถ้าทารกคนแรกมีความผิดปกติทางโครโมโซม ควรต้องปรึกษากับสูติแพทย์ถึงความเสี่ยงในครรภ์ต่อไป
  • หรือหากมารดาเป็นเบาหวาน ก็ควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลหรือรักษาให้ดีก่อนที่จะตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

หากครรภ์แรกมีภาวะน้ำคร่ำมาก ครรภ์ต่อไปจะเกิดอีกไหม?

ครรภ์ต่อไป อาจมีโอกาสเกิดภาวะน้ำคร่ำมากเป็นซ้ำได้ โดยมีรายงานพบได้ประมาณ 1 ต่อการตั้งครรภ์ทั้งหมด 1,720 การตั้งครรภ์ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้หรือไม่

ทารกที่เกิดจากภาวะน้ำคร่ำมากมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคหรือพัฒนาการหลังคลอดของทารกขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้น้ำคร่ำมากผิด ปกติ หากปริมาณน้ำคร่ำเพิ่มแบบไม่รุนแรงส่วนใหญ่ ทารกมักปกติ ยกเว้นทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด

ภาวะน้ำคร่ำมากสามารถป้องกันได้ไม่?

โดยทั่วไป สาเหตุที่ทำให้มีน้ำคร่ำมากมักไม่พบชัดเจน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่สามารถป้อง กันภาวะนี้ได้

แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงชัดเจนของการเกิดภาวะน้ำคร่ำมาก เช่น มารดาเป็นเบาหวาน การรักษา ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ก็จะสามารถป้องกันภาวะน้ำคร่ำมากได้

บรรณานุกรม

  1. http://www.uptodate.com/contents/polyhydramnios [2020,May23]
  2. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8498934 [2020,May23]