การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
- 27 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
- ข้อห้ามในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
- ประโยชน์และความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
- เตรียมตัวก่อนผ่าตัดคลอดฯอย่างไร?
- ใช้วิธีอะไรระงับความเจ็บปวดขณะผ่าตัดคลอดฯ?
- วิธีผ่าตัดคลอดฯเป็นอย่างไร?
- มีการดูแลหลังผ่าตัดคลอดฯอย่างไร?
- การดูแลตนเองที่บ้านทำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ครรภ์แฝด (Multiple pregnancy)
- รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)
- ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal distress)
- หูดหงอนไก่อวัยวะเพศ
- การเจ็บครรภ์คลอด
- การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด(Labor induction)
บทนำ
ผู้เขียนคิดว่าหลายๆท่านรู้จักการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง หรือ การผ่าท้องคลอดบุตร (Caesarean section หรือ Cesarean section หรือ C–section) ดีทีเดียว ในขณะที่หลายๆท่านอาจมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่เรามีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยขึ้น ทำให้สามารถวินิจฉัยภาวะผิดปกติของทารกในครรภ์ที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกได้เร็ว และนำไปสู่การผ่า ตัดคลอดเพื่อช่วยทารกที่อยู่ในครรภ์ให้รีบคลอดออกมาโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้แพทย์ยังนิยมที่จะผ่าคลอดในผู้ตั้งครรภ์ที่ทารกมีส่วนนำ/ท่านำเป็นท่าก้น และในผู้ที่ตั้งครรภ์แฝดอีกด้วย
ขอขยายความ “ส่วนนำ/ท่านำ” ดังนี้ คือ ส่วนนำของทารกในครรภ์คือส่วนของทารกที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด และจะเป็นส่วนที่คลอดออกมาก่อน
อนึ่งในบทความนี้ ขอเรียกการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องว่า “การผ่าตัดคลอดฯ”
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดฯมีดังนี้
1. ทารกในครรภ์ มีส่วนนำที่ไม่ใช่ศีรษะ เช่น ท่าก้น เป็นต้น
2. มีการตั้งครรภ์แฝด
3. มีรกเกาะต่ำ นั่นคือเกาะที่ด้านล่างของมดลูกใกล้กับหรือชิดหรือปิดปากมดลูก
4. แพทย์ได้มีการชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดแล้ว แต่ล้มเหลว มารดาคลอดเองไม่ได้
5. มีประวัติการตั้งครรภ์ที่เคยผ่านการผ่าตัดคลอดมาก่อน
6. มีเนื้องอกในอุ้งเชิงกรานที่ขัดขวางการคลอดทางช่องคลอด เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ เป็นต้น
7. การติดเชื้อที่ช่องทางคลอดของมารดา เช่น โรคเริมที่อวัยวะเพศ หรือ โรคหูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ เป็นต้น
8. ข้อบ่งชี้ที่เกิดจากทารก เช่น ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ (ภาวะที่ทารกในครรภ์มีอาการผิดปกติ, Fetal distress) เป็นต้น
9. ภาวะที่ศีรษะทารกมีขนาดใหญ่กว่าอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะวินิจฉัยได้ในช่วงที่มีการเจ็บครรภ์คลอดแล้ว
ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์ต้องการผ่าตัดคลอดโดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน สูติแพทย์จะทำการสอบ ถามถึงเหตุผลและอธิบายถึงข้อดี-ข้อเสียของการคลอดบุตรตามธรรมชาติกับการผ่าตัดคลอด เพื่อ ให้ผู้ตั้งครรภ์ทราบและเข้าใจอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามสูติแพทย์บางท่านอาจจะไม่สะดวกใจที่จะทำการผ่าตัดคลอดให้โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ในขณะที่การเลือกวิธีการคลอดบุตรก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ตั้งครรภ์ ในกรณีดังกล่าวสูติแพทย์จะทำการส่งผู้ตั้งครรภ์ดังกล่าวให้กับสูติแพทย์อีกท่านหนึ่งเพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ถึงแม้ว่าผู้ตั้งครรภ์ตัดสินใจที่จะคลอดบุตรเองทางช่องคลอด แต่ในบางครั้งการคลอดอาจสิ้นสุดด้วยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบฉุกเฉิน
ข้อบ่งชี้กรณีที่จะ “ผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉิน” มีดังต่อไปนี้
1. สายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse) คือ สายสะดือยื่นออกมานำ ส่วนนำ หรือ อยู่ต่ำกว่าส่วนนำ จึงเป็นสาเหตุให้ถูกกดจากทารก ส่งผลให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ขาดเลือด/ขาดออกซิเจน ทารกอาจเสียชีวิตได้
2. ไม่มีความก้าวหน้าของการคลอด ได้แก่ มีการ เจ็บครรภ์คลอด แต่ไม่มีการเปิดของปากมด ลูก หรือไม่มีการเคลื่อนต่ำของทารกในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. ภาวะเครียดของทารกในครรภ์
4. ภาวะตกเลือดก่อนคลอดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในรายที่มีภาวะรกเกาะต่ำ
5. ท่าหรือส่วนนำของทารกผิดปกติจากที่วินิจฉัยได้ขณะกำลังเจ็บครรภ์คลอด
ข้อห้ามในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบัน ไม่มีข้อห้ามที่ชัดเจนสำหรับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดฯในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซม หรือมีความพิ การแต่กำเนิดที่ไม่สามารถมีชีวิตรอดภายหลังการคลอด เช่น ทารกที่ไม่มีกะโหลกศีรษะ เป็นต้น เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการผ่าตัดคลอดฯ และเป็นการเสี่ยงต่อความเสี่ยง/ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดอย่างไม่สมควร
นอกจากนี้ การผ่าตัดคลอดยังไม่ควรทำในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะผ่าตัดคลอด เช่น เป็นโรคปอดที่มีความรุนแรงมาก ในกรณีดังกล่าว สูติแพทย์ แพทย์ในสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุรแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ตลอดจนพยาบาลผู้ดูแลผู้ตั้งครรภ์ และญาติของผู้ตั้งครรภ์ จะต้องร่วมกันตัดสินใจในการให้การดูแลรักษาในขั้นตอนต่างๆของการตั้งครรภ์และในการคลอด
ประโยชน์และความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอดฯมีอะไรบ้าง?
การผ่าตัดเพื่อคลอดบุตรทางหน้าท้องที่มีการวางแผนไว้ก่อนนั้น จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่ต้องเผชิญกับอาการเจ็บครรภ์คลอด ทั้งจะไม่มีการฉีกขาดของช่องคลอดและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนไม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นที่ช่องคลอด, ที่เนื้อเยื่อรอบๆ และที่บริเวณทวารหนัก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นขณะที่คลอดบุตรทางช่องคลอดไปจนถึงประมาณสามวันหลังการคลอดบุตร
ส่วนความเสี่ยง/ผลข้างเคียงในการคลอดบุตรด้วยการผ่าตัดคลอดฯ คือ
- ทารกมีโอกาสที่จะมีภาวะหายใจเร็วชั่วคราวในทารกแรกเกิด นอกจากนี้
- ในผู้ที่คลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดฯนั้น จะมีโอกาสเสียเลือดขณะผ่าตัดมากกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอด
- เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการใช้ยาดมสลบ หรือการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง เช่น การสำลัก ก่อการติดเชื้อในปอด และ
- ต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 3 วันซึ่งนานกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอด นอกจากนี้
- ยังมีความเสี่ยงอื่นๆเหมือนเช่นการผ่าตัดทั่วๆไป เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ, การเกิดอัน ตรายฉีกขาดต่ออวัยวะข้างเคียง (เช่น ลำไส้) ขณะที่กำลังทำการผ่าตัด
อนึ่ง ผลของการผ่าตัดคลอดต่อการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป จะส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะแน่นที่ผนังมดลูกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรายที่มีภาวะรกเกาะต่ำร่วมด้วย มีผู้รายงานว่า หากมีภาวะรกเกาะต่ำในรายที่ไม่เคยผ่าตัดคลอด จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะแน่นที่ผนังมดลูก 4%, ในขณะที่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะรกเกาะแน่นจะเพิ่มเป็น 25% ในผู้ที่เคยผ่า ตัดคลอด 1 ครั้ง, และ 40% ในผู้ที่เคยผ่าตัดคลอด 2 ครั้ง ซึ่งการเกิดภาวะรกเกาะแน่นที่ผนังมด ลูกนี้ ทำให้ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการเสียเลือดอย่างรุนแรงมากขณะคลอดบุตร อาจจะทำให้แพทย์ต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาภาวะตกเลือดดังกล่าว
นอกจากนี้ การผ่าตัดคลอดยังอาจทำให้การตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปมีความเสี่ยงต่อการเกิดมด ลูกแตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น
แต่ผลในระยะยาวของการผ่าตัดคลอดต่อการมีเพศสัมพันธ์ และต่อการออกกำลังกายนั้น ไม่แตกต่างจากการคลอดบุตรทางช่องคลอด
เตรียมตัวก่อนผ่าตัดคลอดฯอย่างไร?
เมื่อผู้ตั้งครรภ์ตัดสินใจที่จะผ่าตัดคลอด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ตั้งครรภ์ดังกล่าวงดน้ำและอา หารเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนทำการผ่าตัด และจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดคลอดจะได้รับการทำความสะอาด และโกนขนบริเวณหน้าท้องและ/หรือ หัวหน่าวแล้วแต่กรณี, สวนถ่ายอุจจาระ, และใส่สายสวนปัสสาวะก่อนจะทำการผ่าตัด
โดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดคลอดนั้นจะสูญเสียเลือดประมาณ 400 มิลลิลิตร คร่าวๆคือประ มาณน้ำดื่มหนึ่งขวดขนาดกลาง แต่ในบางครั้งอาจมีการสูญเสียเลือดมากกว่าหนึ่งลิตร ซึ่งพบได้ในผู้ที่รับการผ่าตัดคลอด 4-8 รายจากทั้งหมด 100 ราย ดังนั้นหากตัดสินใจที่จะผ่าตัดคลอด สูติแพทย์จะแนะนำให้คุณตรวจเลือดเพื่อประเมินว่าคุณมีภาวะซีดหรือไม่ เพื่อการแก้ไขรักษาก่อนการผ่าตัด และทำการส่งเลือดตัวอย่างของคุณไปวิเคราะห์ เพื่อจองเลือดสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็นที่จะต้องให้เลือดฉุกเฉิน
ใช้วิธีอะไรระงับความเจ็บปวดขณะผ่าตัดคลอดฯ?
ในปัจจุบัน การระงับความเจ็บปวดจากการผ่าตัดคลอดฯนั้น นิยมใช้การฉีดยาชาเข้าในช่องไขสันหลัง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดคลอดมีความรู้สึกชาที่ส่วนล่างของร่างกายและที่ขาทั้งสองข้าง ในขณะที่ยังคงรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด การระงับปวดด้วยวิธีดังกล่าว มีความปลอดภัยต่อผู้คลอดและต่อทารกมากกว่าการดมสลบ แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาดมสลบ ทั้งนี้วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการเลือกใช้วิธีระงับความเจ็บปวด โดยประเมินจาก สุขภาพของมารดา และของทารกในครรภ์
วิธีผ่าตัดคลอดฯเป็นอย่างไร?
วิธีผ่าตัดคลอดในภาพรวมทั่วไป คือ
- แพทย์จะทำความสะอาดหน้าท้องและบริเวณใกล้เคียงที่จะทำผ่าตัดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ปูผ้าปราศจากเชื้อ และลงมีดที่ชั้นผิวหนัง, ที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง, กล้ามเนื้อ, และเยื่อบุช่องท้อง
- เมื่อเข้าสู่ช่องท้อง แพทย์จะทำการใส่ผ้าสองผืนที่ช่องว่างด้านข้างของมดลูกเพื่อไว้ซับเลือด และกันไม่ให้ลำไส้มารบกวนขณะผ่าตัด ต่อจากนั้น จะผ่าตัดเปิดเยื่อบุช่องท้องส่วนที่ติดกับมดลูก ผ่าตัดเปิดมดลูก และทำการคลอดทารก ตามด้วยตัดสายสะดือ ทำการคลอดรก เช็ดทำความสะอาดโพรงมดลูก เย็บปิดมดลูกและชั้นต่างๆของผนังหน้าท้องตามลำดับ โดยจะดึงผ้าซับเลือดออกก่อนทำการเย็บปิดช่องท้องเสมอ
- ในระหว่างการผ่าตัดนี้ ผู้รับการผ่าตัดคลอดบุตรอาจจะรู้สึกอึดอัดที่หน้าอกหรือช่องท้องส่วน บนขณะที่กำลังทำการคลอดทารก ทั้งนี้เพราะแพทย์จะทำการดันที่ส่วนบนของมดลูกเพื่อช่วยดันทารกออกมา
- นอกจากนี้ภายหลังการตัดสายสะดือ แพทย์จะทำการฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าทางสายน้ำเกลือ ซึ่งจะทำให้ผู้รับการผ่าตัดรู้สึกแสบที่มือและแขนข้างที่ได้รับน้ำเกลือได้
มีการดูแลหลังผ่าตัดคลอดฯอย่างไร?
ทั่วไป การดูแลหลังผ่าตัดคลอดได้แก่
- ภายหลังการผ่าตัดทำคลอดฯเสร็จสิ้น
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยทีมผู้ดูแลจะทำการตรวจวัดสัญญาณชีพ อันได้แก่ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิของร่างกาย
- ร่วมกับสอบถามถึงอาการเจ็บปวด
- ตรวจสอบปริมาณเลือดที่ออกจากแผลผ่าตัดและจากช่องคลอด
- และตรวจสอบปริมาณปัสสาวะที่ออก ตลอดจนปริมาณสารน้ำที่เข้าสู่ร่างกายเป็นระยะๆอาจจะทุก 15-30 นาที ตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละราย
- หากมีอาการปวดมาก ผู้ป่วยก็สามารถขอยาแก้ปวดได้จากพยาบาล ซึ่งอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนในผู้ที่ได้รับยาฯบางราย นอกจากนี้ ยาแก้ปวดที่ฉีดเข้าช่องไขสันหลัง อาจก่อให้เกิดอาการคัน หากรู้สึกคันมาก ก็สามารถขอยาลดอาการคัน/ยาแก้แพ้ได้จากพยาบาลเช่นกัน
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดคลอดฯ มีความจำเป็นต้องงดอาหารจนกระทั่งลำไส้กลับมาทำงานได้ตาม ปกติ (มีการผายลม) หลังจากนั้น แพทย์จึงจะเริ่มให้จิบน้ำ ต่อด้วยอาหารเหลว อาหารอ่อนและอาหารปกติ ในมื้อถัดๆไปตามลำดับ(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาหารทางการแพทย์)
- แพทย์จะทำการถอดสายสวนปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งหลังการถอดสายสวนปัสสาวะ เพื่อลดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ /โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะควร
- ควรดื่มน้ำมากๆ
- และปัสสาวะทิ้งบ่อยๆ
- วันแรกหลังการผ่าตัด ควรรีบลุกนั่ง/ขยับตัว
- จริงอยู่ว่าการขยับตัวอาจกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่ถ้าเราไม่ฝืนตัวเองในวันแรกๆนี้ เราจะยังคงต้องเจ็บเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราลุกนั่งและเดินได้ในวันแรก วันต่อๆไป อาการปวดที่เกิดจากการขยับตัวก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
- นอกจากนี้การขยับตัวเร็ว ยังสามารถช่วยลดการติดเชื้อภายหลังจากการผ่าตัด ทั้งการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และ/หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- และลดการเกิดพังผืดในช่องท้องได้อีกด้วย
- สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือ การลุกนั่งหรือเดินในวันแรก จำเป็นต้องมีผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามีหลายรายที่เป็นลมไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากระบบการทำงานของร่างกายยังไม่กลับมาทำงานปกติดีนัก ประกอบกับผลของยาฉีดระงับปวดอาจทำให้เราเวียนศีรษะ และเป็นลมได้โดยง่าย
- การเริ่มต้นให้นมบุตรสำหรับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดฯในช่วงแรก อาจจะมีความยากลำ บาก อาจต้องมีผู้คอยช่วยเหลือในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเริ่มลุกนั่งลุกเดินได้ ก็จะสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติเหมือนผู้ที่คลอดบุตรเองทางช่องคลอด
- โดยทั่วไป ผู้ตั้งครรภ์ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดมีความจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อยประมาณ 3 วัน และหากสบายดีทั้งมารดาและทารกก็จะสามารถกลับไปพักต่อที่บ้านได้
การดูแลตนเองที่บ้านทำอย่างไร?
โดยทั่วไปเมื่อกลับบ้าน ผู้ตั้งครรภ์ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดฯจะได้รับยาแก้ปวด ซึ่งอาจจะเป็นพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDs) เพื่อใช้ลดอาการปวดจากการผ่าตัด นอกจากนี้ยังจะได้รับยาที่มีเกลือแร่/แร่ธาตุเหล็กและไอโอดีนรับประทานอีกระยะหนึ่ง ซึ่งควรรับประทานสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง
แพทย์ส่วนใหญ่มักจะทำการนัดเพื่อดูแผลผ่าตัดในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด หากเย็บผิวหนังด้วยไหมละลาย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตัดไหม
ถ้าแผลผ่าตัดยังไม่ติด ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ แต่ถ้าแผลติดดี ก็สามารถที่จะอาบน้ำ/โดนน้ำได้ ซึ่งในเรื่องแผลถูกน้ำได้หรือไม่ ควรสอบถามแพทย์ก่อนเสมอ โดยเฉพาะก่อนออกจากโรงพยา บาล อย่างไรก็ตามแพทย์บางท่านปิดแผลผ่าตัดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ซึ่งทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถอาบน้ำได้ตั้งแต่วันแรกๆของการผ่าตัด
ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าหลวมที่ใส่สบาย ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆ (ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล ในเรื่องการทำความสะอาดแผลก่อนเสมอ โดยเฉพาะก่อนออกจากโรงพยาบาล)
นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือ อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ใน ทางการแพทย์แล้ว เราไม่ได้ห้ามรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดจัด อาหารเสริม หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น ยาสมุนไพรบางประเภท หรือยาดองเหล้า ควรกินผัก ผลไม้มากๆ และดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง (อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว) เพื่อป้องกัน ท้องผูก เพื่อลดการเบ่งอุจจาระ ที่ส่งผลถึงการเจ็บแผลและ เจ็บในช่องท้อง
ภายหลังการผ่าตัดคลอดบุตร ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การยกของหนัก การออกกำลังกาย และการมีเพศสัมพันธ์ เป็นการชั่วคราว แพทย์จะทำการนัดตรวจหลังคลอดบุตรประมาณ 6 สัปดาห์ และเมื่อผลการตรวจพบว่ามดลูกกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จึงจะสามารถเริ่มทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ รวมทั้งการออกกำลังกายและการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ควรที่จะค่อยๆเริ่มการทำงานและการออกกำลังกายทีละน้อย แล้วจึงค่อยๆเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในกรณีที่ร่างกายฟื้นตัวเร็ว และต้อง การมีเพศสัมพันธ์ก่อน 6 สัปดาห์/ก่อนพบแพทย์ ควรมีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมด้วย โดยเฉพาะในรายที่ไม่ได้ให้นมบุตร ทั้งนี้เมื่อพบแพทย์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการคุมกำเนิด หรือ การตั้ง ครรภ์ครั้งต่อไปด้วยเสมอ
อีกประการที่สำคัญ คือ อาการผิดปกติที่ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด มีดังนี้ คือ
- มีอาการเจ็บแผลผ่าตัดมากขึ้น มีรอยแดง บวม ที่แผลผ่าตัดจากเดิมที่ไม่เคยมี มีเลือดซึมจากแผลผ่าตัดเพิ่มขึ้น
- ปวดท้องมากขึ้น
- มีไข้
- มีปัสสาวะแสบขัด
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือมีสีแดงเข้มขึ้นจากที่เคย จางลงแล้ว
- มีอาการไอหรือหายใจลำบาก หรือมีอาการปวดบวมที่ขา
ในกรณีที่ผ่าตัดคลอดฯ การผ่าตัดคลอดในครั้งต่อไป ควรห่างกันอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุด การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปควรห่างจากการผ่าตัดคลอดครั้งแรกอย่างน้อย 1 ปี 3 เดือน ซึ่งเมื่อรวมกับระยะเวลาตั้งครรภ์ 9 เดือน การผ่าตัดคลอดในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปจะประ มาณ 2 ปีพอดี
ในผู้ที่ผ่าตัดคลอดฯ เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในครั้งถัดไป ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อที่สูติแพทย์จะได้สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดวันผ่าตัดคลอดที่เหมาะสม ส่วนการปฏิบัติตัวในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปนั้น จะคล้ายคลึงกับในการตั้งครรภ์ทั่วๆไป
บรรณานุกรม
- Caesarean section, NICE Clinical Guideline (November 2011)
- Clark SL, Koonings PP, Phelan JP. Placenta previa/accreta and prior cesarean section. Obstet Gynecol. Jul 1985;66(1):89-92.
- Landon MB. Vaginal birth after cesarean delivery. Clin Perinatol. Sep 2008;35(3):491-504.
- Prevention and treatment of surgical site infection, NICE Clinical Guideline (October 2008) Reducing the Risk of Thrombosis and Embolism during Pregnancy and the Puerperium, Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (November 2009)
- Fairley L, Dundas R, Leyland AH; The influence of both individual and area based socioeconomic status on temporal BMC Public Health. 2011 May 18;11:330.
- Guise JM, McDonagh MS, Osterweil P, et al; Systematic review of the incidence and consequences of uterine rupture in women with previous caesarean section.; BMJ. 2004 Jul 3;329(7456):19-25.
- Saving Mothers' Lives. Reviewing maternal deaths to make motherhood safer: 2006-2008; Centre for Maternal and Child Enquiries (CMACE), BJOG, Mar 2011