ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 18 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
- น้ำคร่ำคืออะไร?
- น้ำคร่ำมีประโยชน์อย่างไร?
- ภาวะน้ำคร่ำน้อยหมายถึงอะไร?
- ภาวะน้ำคร่ำน้อยมีผลกระทบอย่างไรบ้าง?
- สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำคร่ำน้อยมีอะไรบ้าง?
- จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย?
- ดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำคร่ำน้อยอย่างไร?
- รักษาอย่างไรเมื่อมีภาวะน้ำคร่ำน้อย?
- สามารถป้องกันภาวะน้ำคร่ำน้อยได้หรือไม่?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?
- การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะมีภาวะน้ำคร่ำน้อยอีกหรือไม่?
- ทารกที่เกิดจากภาวะน้ำคร่ำน้อยมีอันตรายมากน้อยเพียงใด?
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
น้ำคร่ำคืออะไร?
น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) บางครั้งเรียก น้ำทูนหัวทารก เป็นของเหลวที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ/ถุงที่เป็นที่อยู่ของทารกในครรภ์ โดยน้ำคร่ำจะอยู่รอบๆตัวทารก ขณะอยู่ในครรภ์ในโพรงมดลูกของมารดา ทารกจะลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำในถุงน้ำคร่ำ โดยน้ำคร่ำนี้จะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการกระทบกระเทือนต่อทารก ทำให้ทารกเคลื่อนไหว น้ำคร่ำนี้
-บางส่วนมาจากของเหลวจากเลือดของมารดาที่ซึมผ่าน ถุงน้ำคร่ำ และ/หรือผิวหนังของทารก -แต่ส่วนใหญ่มาจากปัสสาวะของทารก โดยปริมาณน้ำคร่ำจะมากหรือน้อย ขึ้นกับความสมดุลของการกลืนน้ำคร่ำของทารก และการขับปัสสาวะของทารกที่อยู่ในครรภ์ หากทารกไม่มีไต จะไม่สามารถสร้างปัสสาวะได้ ทำให้ไม่มีน้ำคร่ำ หรือมีน้อยมาก (Oligohydramnios) แต่หากทา รกไม่สามารถกลืนน้ำคร่ำได้ จะทำให้น้ำคร่ำมากกว่าปกติ ( Hydramnios หรือ Polyhydram nios)
น้ำคร่ำมีประโยชน์อย่างไร?
น้ำคร่ำ จะทำหน้าที่
- เป็นเกราะป้องกันอันตรายต่อทารก
- ป้องกันแรงกระทบกระเทือนที่จะมีต่อทารก
- ช่วยรักษาอุณหภูมิของทารกให้คงที่และพอเหมาะ
- ช่วยให้ทารกเคลื่อนไปมาได้ขณะอยู่ในครรภ์
- และช่วยลดการกดทับสายสะดือจากตัวทารกเอง
ภาวะน้ำคร่ำน้อยหมายถึงอะไร?
ในการตั้งครรภ์ปกติ จะมีน้ำคร่ำประมาณ 800-1,000 มิลลิลิตร ที่ขณะตั้งครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ และจะลดลงเรื่อยๆเมื่อครบกำหนดคลอด ความหมายของ “ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)” คือ ภาวะที่มีน้ำคร่ำน้อยกว่า 500 ซีซี (CC./Cubic centimeter) ขณะช่วงอายุครรภ์ที่ 32 – 36 สัปดาห์ หรือหากตรวจอัลตราซาวด์ดูค่า Amniotic fluid index (AFI, ค่าการคำนวณความลึกของถุงน้ำคร่ำ ที่ได้จากการตรวจถุงน้ำคร่ำ 4 ตำแหน่ง ด้วยอัลตราซาวด์ โดยระดับที่ปกติคือ AFI ประมาณ 5-25 ซม./เซนติเมตร) ถ้าน้อยกว่า 5 ซม. ถือว่ามีภาวะน้ำ คร่ำน้อย หรือหากวัดความลึกถุงน้ำคร่ำเพียงตำแหน่งเดียว (Single deepest pocket) ใช้ระดับถุงน้ำคร่ำที่ลึกสุด น้อยกว่า 2 ซม. ที่จะบ่งบอกว่ามีน้ำคร่ำน้อย และค่าที่วัดได้หากน้อยกว่า 1 ซม. เรียกว่า น้ำคร่ำน้อยอย่างรุนแรง
ภาวะน้ำคร่ำน้อยมีผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ผลกระทบจากภาวะน้ำคร่ำน้อย คือ
- หากมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ จะมีผลทำให้ทารกเคลื่อนไหวไม่สะดวก ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์)
- สายสะดือถูกกดทับได้ง่าย ทำให้ทารกขาดออกซิเจน ทารกอาจพิการแต่กำเนิด หรือเสีย ชีวิตในครรภ์ได้
- หากน้ำคร่ำมีปริมาณน้อยตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ จะทำให้ปอดทารกไม่ขยายเท่าที่ควร ส่ง ผลให้เสียชีวิตในครรภ์ หรือมีปัญหาหลังคลอดได้
- ทำให้ทารกในครรภ์เกิดการคลอดก่อนกำหนด
- มีความพิกลพิการของร่างกาย ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ และเยื่อหุ้มรกไปพันตามแขนขา หรือนิ้วของทารก ทำให้ทารกพิการได้
- แท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตแรกคลอดได้
- มีโอกาสได้รับการผ่าตัดคลอด หรือทำสูติศาสตร์หัตถการมากขึ้น เช่น การใช้คีมช่วยคลอด หรือ ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำคร่ำน้อยมีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย ได้แก่
- ถุงน้ำคร่ำรั่ว หรือถุงน้ำคร่ำแตก หรือการเจาะถุงน้ำเพื่อเร่งคลอดโดยแพทย์ ทำให้น้ำคร่ำในถุงลดลงซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่
- ความพิการของทารก จากมีโครโมโซมผิดปกติ เช่น การไม่มีไต ทำให้ไม่สามารถผลิตปัสสาวะออกมาได้ จึงไม่มีน้ำคร่ำ
- ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เนื่องจากภาวะที่รกทำงานไม่ดีจากโรคของมารดา ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ เช่น กรณีที่มารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรค เบาหวาน จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงไตทารกไม่ดี มีผลทำให้ทารกผลิตปัสสาวะ และขับออก มาเป็นน้ำคร่ำได้ลดลง
- การติดเชื้อของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การตั้งครรภ์เกินกำหนด รกจะเริ่มเสื่อม ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกน้อยลง
- การตั้งครรภ์แฝด ที่เกิดจากแฝดร่วมไข่ และมีการเชื่อมต่อกันผิดปกติของเส้นเลือด ทำให้เลือดถูกส่งไปเลี้ยงทารกคนหนึ่งมากผิดปกติ ส่วนทารกที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อยกว่าปกติก็จะมีน้ำคร่ำน้อย
- ยาแก้ปวดบางชนิดจะทำให้ไตทารกสร้างปัสสาวะลดลง เช่น ยา Indomethacin
- มารดาได้รับสารพิษขณะตั้งครรภ์ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด
- ไม่ทราบสาเหตุ
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย?
สตรีตั้งครรภ์มักไม่รู้ว่าตนเองมีน้ำคร่ำน้อยผิดปกติ แต่ในบางครั้งอาจสังเกตได้ว่าครรภ์ไม่ค่อยโตขึ้น ที่จะเห็นได้ชัดว่าผิดปกติคือ จากมีถุงน้ำคร่ำรั่ว/แตก เพราะจะมีน้ำไหลโชกออกมาจนเปียกหน้าขา
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำน้อย?
แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำน้อยได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ โดยแพทย์จะทำการสอบถามประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับปัจ จัยเสี่ยงต่างๆ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง) ที่จะทำให้การสร้างน้ำคร่ำลดลง จนนำไปสู่ภาวะน้ำคร่ำน้อย เช่น เรื่องสูบบุหรี่ โรคประจำตัว เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจขนาดของครรภ์ว่า สัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ ในกรณีที่น้ำคร่ำน้อยผิดปกติ จะทำให้ขนาดของครรภ์เล็กกว่าที่ควรจะเป็น
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่สำคัญ คือ การตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ จะบอกภาวะน้ำ คร่ำน้อยได้ค่อนข้างเม่นยำ โดยดูค่า Amniotic fluid index (AFI) ถ้าน้อยกว่า 5 ซม. ถือว่ามีภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือหากตรวจวัดที่ตำแหน่งเดียว ใช้ระดับน้ำคร่ำที่ลึกสุด น้อยกว่า 2 ซม. บ่งบอกว่ามีน้ำคร่ำน้อย หรือหากน้อยกว่า 1 ซม เรียกว่า น้ำคร่ำน้อยอย่างรุนแรง นอกจากนั้นการตรวจอัลตราซาวด์จะมีประโยชน์ในการใช้ดูความผิดปกติของอวัยวะต่างๆของทารกได้ เช่น มีไตหรือไม่, มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะหรือไม่
- การตรวจเทคนิคเฉพาะอย่างอื่น จะพิจารณาเป็นรายๆไป เช่น การตรวจเลือดทารกในครรภ์เพื่อตรวจโครโมโซม หากสงสัยว่าทารกเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการถ่ายปัสสาวะ
ดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำคร่ำน้อยอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อพบว่ามีภาวะน้ำคร่ำน้อย คือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และพยาบาล
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- สังเกตและนับการดิ้นของทารกในครรภ์ ว่ามีความผิดปกติอย่างไร ถ้าพบผิดปกติไปจากเดิม ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
- งดดื่มเหล้า และ งดสูบบุหรี่
- รักษา ควบคุมโรคประจำตัว ให้ได้อย่างดี
รักษาอย่างไรเมื่อมีภาวะน้ำคร่ำน้อย?
การรักษาภาวะน้ำคร่ำน้อยขึ้นกับ สาเหตุและอายุครรภ์ทารก บางสาเหตุรักษาได้ บางสาเหตุรักษาไม่ได้
หากเป็นความผิดทางโครโมโซมของทารกไม่สามารถแก้ไขได้ อาจต้องมารักษาหลังคลอด
หากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้น้ำคร่ำน้อย การหยุดปัจจัยเสี่ยง จะช่วยทำให้ปริมาณน้ำ คร่ำมากขึ้นได้
ในกรณีที่เกิดจาการรั่วของถุงน้ำคร่ำ ต้องรักษาโดย ให้นอนพัก, งดทำงานหนัก, ต้องระ วังภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ, การฉีดน้ำเกลือเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ (Amnio-infusion) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำคร่ำได้ ในกรณีที่อายุครรภ์ยังน้อย และแพทย์พิจารณาแล้วว่า ทารกอยู่ในครรภ์จะได้ รับประโยชน์มากกว่า, แต่หากอายุครรภ์มากพอที่ทารกจะมีชีวิตรอดภายนอกมดลูก หรืออยู่นอกมดลูกมีความเสี่ยงน้อยกว่า แพทย์ก็จะพิจารณาให้คลอด ซึ่งส่วนมากมักลงเอยด้วยการผ่าท้องคลอด เนื่องจากน้ำคร่ำน้อย ส่งผลให้ทารกมักจะขาดออกซิเจนจากการหดรัดตัวของมดลูก ระ หว่างดำเนินการคลอดทางช่องคลอด
สามารถป้องกันภาวะน้ำคร่ำน้อยได้หรือไม่?
การป้องกันภาวะน้ำคร่ำน้อย ขึ้นกับสาเหตุ บางสาเหตุป้องกันได้ โดย
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เสมอ
- พบแพทย์และฝากครรภ์ อย่างสม่ำเสมอ เริ่มตั้งแต่เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
- รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)
- หยุดการเสพสารพิษต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด
- ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคประจำตัวให้ได้ดี
ควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?
การดูแลตนเองหลังคลอดของมารดา ขึ้นกับสาเหตุของน้ำคร่ำน้อย เช่น เกิดจากถุงน้ำ คร่ำแตก และ/หรือเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก ต้องได้รับยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากไม่มีการติดเชื้อ การดูแลตนเองหลังคลอด จะไม่แตกต่างจากสตรีหลังคลอดทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด) นอกจากนี้สตรีหลังคลอด ควรรักษาสาเหตุ/ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย
การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะมีภาวะน้ำคร่ำน้อยอีกหรือไม่?
การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหลังจากมีภาวะน้ำคร่ำน้อย ไม่จำเป็นต้องเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุต่างๆตามที่กล่าวมาแล้ว หากสาเหตุในครรภ์แรกยังไม่ได้รับการแก้ ไข การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็สามารถเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยซ้ำได้ แต่หากสาเหตุได้รับการแก้ไข ก็จะไม่เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยซ้ำอีก
ทารกที่เกิดจากน้ำคร่ำน้อยมีอันตรายมากน้อยเพียงใด?
อันตรายต่อทารกจากภาวะน้ำคร่ำน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่
สาเหตุของน้ำคร่ำน้อย เป็นสาเหตุที่เกิดจากตัวทารกเอง ที่มักเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชี วิต เช่น การมีความผิดปกติของไต หรือสาเหตุจากภายนอก คือ จากมารดา อันตรายต่อทารกจะเกิดน้อยกว่า
ปริมาณของน้ำคร่ำน้อย ยิ่งระดับน้ำคร่ำน้อย จะมีผลต่อทารกมากขึ้น, และอายุครรภ์ของทารก หากอายุครรภ์ยิ่งน้อย จะมีผลต่อทารกมากขึ้น ทั้ง 2 กรณี จะมีผลต่อทารกเคลื่อนไหวไม่สะดวก อาจมีการกดทับบางส่วนของร่างกาย สามารถทำให้โครงสร้างร่างกายทารกเจริญไม่ปกติ หรือมีการผิดรูปได้ ปอดทารกไม่ขยาย จึงไม่สามารถขยายหลังคลอด อาจส่งผลให้ติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้
กรณีที่น้ำคร่ำน้อยมาก ทารกอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากสายสะดือถูกกดทับ หากไม่ถึงกับเสียชีวิตในครรภ์ ก็อาจมาเสียชีวิตหลังคลอดได้ ในกรณีที่ปริมาณน้ำคร่ำไม่น้อยมากนัก สายสะดือไม่ถูกกด ก็จะมีอันตรายต่อทารกน้อยลง
กรณีที่ทารกขาดออกซิเจนไม่มาก การเจริญเติบโตหรือการพัฒนาของร่างกาย และสมองของทารก ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป แต่หากในกรณีที่ทารกขาดออกซิเจนพอประมาณแต่ไม่มากถึงขนาดเสียชีวิต อาจมีผลต่อการพัฒนาของสมองหรือร่างกายของทารกได้
หากภาวะน้ำคร่ำน้อย เกิดจากการรั่วหรือแตกของถุงน้ำคร่ำ จะมีปัญหาเรื่องติดเชื้อในโพรงมดลูกตามมาเป็นปัญหาหลัก ทารกในครรภ์ก็จะมีการติดเชื้อได้สูงไปด้วย ซึ่งต้องรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทั้งมารดาและทารก ซึ่งการติดเชื้อของทารกแรกคลอด มักรุนแรง และอาจเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิตได้