คันช่องคลอด คันอวัยวะเพศหญิง (Pruritus vulvae)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง


บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

คันช่องคลอด(Pruritus vulvae) เป็นอาการไม่ใช่โรค คือ อาการคัน รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณอวัยวะเพศหญิง อาจมีอาการเพียงตำแหน่งเดียว หรือกระจายทั่วหลายตำแหน่ง เช่น โยนี ปุ่มกระสัน แคมใหญ่ แคมเล็ก ช่องคลอด, ทั่วไปมักมองไม่เห็นความผิดปกติในตำแหน่งที่คัน, เป็นอาการพบบ่อยของเพศหญิงอาการหนึ่ง  มีรายงานว่าในช่วงชีวิตของผู้หญิง 1 ใน 10 คนต้องเคยมีอาการคันช่องคลอดจนต้องพบแพทย์มาแล้ว, อาการนี้พบในทุกอายุตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ

คันช่องคลอด ชื่ออื่น เช่น คันบริเวณอวัยวะเพศหญิง, คันปากช่องคลอด, Itchy vulva, Vaginal itching, ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า คันช่องคลอด

คันช่องคลอดมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของอาการคันช่องคลอดมีหลากหลายสาเหตุ เช่น

1. สาเหตุพบบ่อย: เช่น
  • แพ้สารเคมีต่างๆที่สัมผัสกับช่องคลอด เช่น สเปรย์ดับกลิ่น น้ำยาฆ่าอสุจิที่ใช้ในการคุมกำเนิด น้ำยาล้างช่องคลอด สบู่ น้ำยาอนามัยสำหรับทำความสะอาดอวัยวะเพศหญิง น้ำยาที่ใช้ซักหรือน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้กับชุดชั้นใน
  • แพ้เนื้อผ้าของชุดชั้นใน
  • การเปียกชื้นบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ชุดชั้นในรัดมากเกินไปจนไม่ระบายอากาศ, ชุดชั้นในไม่สะอาดพ, มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี), หรือเหงื่อออกที่รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ในคนอ้วน หรือ โรคเบาหวาน
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ภาวะอุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่อยู๋
  • วัยหมดประจำเดือนเพราะจะส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางและแห้ง จึงเกิดการระคายเคืองและอักเสบติดเชื้อได้ง่ายที่อาการหลัก คือ คันช่องคลอด
  • มีโรคเชื้อราที่อวัยวะเพศ เช่น  เชื้อราในช่องคลอด หรือเสียสมดุลระหว่างเชื้อรากับแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย)จากภาวะหมดประจำเดือน หรือจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือมีโรคเรื้อรังบางโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลงเช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • มีโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีแผลฉีกของช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวจากการติดเชื้อของช่องคลอดหรือของมดลูก รวมทั้งจากการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจจากตกขาวที่เกิดจากมะเร็ง เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง, มะเร็งช่องคลอด, และที่พบบ่อยคือ มะเร็งปากมดลูก
  • มี เหา หรือ โลน ที่ขนอวัยวะเพศ
  • ความเครียด ความวิตกกังวล ปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ จะกระตุ้นให้เกิดอาการคันช่องคลอดในผู้หญิงบางคนได้
2. สาเหตุพบน้อยกว่า: เช่น
  • มีพยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุดจากในทวารหนักเข้ามาอยู่ที่ปากช่องคลอด
  • โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง
  • เป็นส่วนหนึ่งของโรคผิวหนังบางชนิดทั้งนี้เพราะอวัยวะเพศภายนอกและปากช่องคลอดเป็นเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน
  • แพ้อาหารเครื่องดื่มบางชนิด เช่น เครื่องดื่มที่มีาเฟอีน (ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด) ถั่วบางชนิด หรือมะเขือเทศ/ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ

มีอาการอื่นร่วมกับคันช่องคลอดไหม?

อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับการคันช่องคลอดขึ้นกับสาเหตุ เช่น ตกขาว ผื่นคัน แผลรอยเกาเหาที่ขนอวัยวะเพศ/โลน และ/หรือ คันทวารหนัก

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุคันช่องคลอดอย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยสาเหตุคันช่องคลอดได้จาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ ประวัติ ประจำเดือน การกินยา/ใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจบริเวณอวัยวะเพศ อาจมีการตรวจภายใน
  • อื่นๆ: เช่น
    • อาจมีการตรวจเลือดเมื่อแพทย์สงสัยโรคเบาหวาน หรื
    • ตรวจย้อมเชื้อจากตกขาว หรือ
    • ตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่อวัยวะเพศที่แพทย์ตรวจพบเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคโดยเฉพาะแยกจากโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง หรือจากโรคมะเร็งปากมดลูก (กรณี ผู้ป่วยมีตกขาวผิดปกติ) เป็นต้น

รักษาอาการคันช่องคลอดอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการคันช่องคลอด คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ

1. รักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น 
  • รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาเหาเมื่อสาเหตุมาจากเหาที่ขนอวัยวะเพศ
  • ทายาฮอร์โมนเพศหญิงที่อวัยวะเพศเมื่อสาเหตุเกิดช่องคลอดแห้งจากภาวะขาดฮอร์ โมนเพศหญิง เช่น ยา Premain/Conjugated estrogen cream 
  • การใช้ยาต้านเชื้อราทาอวัยวะเพศหรือเหน็บช่องคลอดเมื่อสาเหตุเกิดจากช่องคลอดติดเชื้อรา/เชื้อราช่องคลอด เช่น ยา Clotrimazole
  • ปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากการแพ้สารเคมีจากของใช้นั้นๆ  
  • ฝึกควบคุมอารมณ์/จิตใจเมื่อสาเหตุเกิดจากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ  
  • หลีกเลี่ยงอาหาร/เครื่องดื่มบางชนิดเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นสาเหตุ/ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น เครื่องดื่มาเฟอีน ต่างๆ  
2. รักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ: เช่น กินยาแก้คันโดยเฉพาะก่อนนอน เพื่อให้นอนหลับได้เต็มที่ เช่น ยา Cetirizine, ยา Hydroxyzine, และรวมถึงที่สำคัญ คือ รักษาความสะอาดและป้องกันการอับชื้นของอวัยวะเพศ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อคันช่องคลอด? ป้องกันการคันช่องคลออย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคันช่องคลอดที่รวมถึงการป้องกันอาการคันช่องคลอดได้แก่

  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้วยการใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว/สบู่เด็ก รวมถึงการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำพออุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำอุ่นจัด
  • หลีกเลี่ยงใช้สารเคมีต่างๆที่ก่อการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ/ช่องคลอดเช่น สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม น้ำยาปรับผ้านุม เป็นต้น
  • เลิกการสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้น้ำยาอนามัยต่างๆบริเวณอวัยวะเพศ
  • สวมใส่กางเกงในชนิดผ้าฝ้าย 100% ที่ไม่รัดแน่นเกินไป เปลี่ยนกางเกงใน/ผ้าอนามัยบ่อยๆเพื่อป้องกันการเปียกชื้น
  • รักษาบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเสียดสีบริเวณอวัยวะเพศเช่น การถีบจักรยาน การสวมใส่กางเกงที่รัดคับ แน่น
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันจะหาย
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินเพราะคนอ้วนบริเวณอวัยวะเพศ มักอับชื้นและมีเหงื่อออกมาก
  • พยายามไม่เการุนแรงที่อวัยวะเพศ ควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการเกา
  • ล้าง/เช็ด/ทำความสะอาดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอเพื่อป้องกันการปน เปื้อนอุจจาระ พยาธิ และสารคัดหลั่ง จากปากทวารหนัก
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆเมื่อใช้ผ้าอนามัย รวมถึงใช้ผ้าอนามัยแบบสอดให้ถูกวิธีและ เฉพาะเมื่อจำเป็น
  • รักษาดูแลควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเช่น โรคเบาหวาน โรคเหา หรือโรคผิว หนังอื่นๆ เป็นต้น
  • ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
  • หลีกเลี่ยงอาหาร/เครื่องดื่มที่อาจเป็นสาเหตุเช่น เครื่องดื่มกาเฟอีนต่างๆเช่น กาแฟ ชา โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง
  • รักษาสุขภาพจิต
  • ไม่ซื้อยาแก้คันกินเองหรือทายาแก้คันเองโดยควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขาย ยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
  • เมื่อคันในบริเวณผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก ไม่ล้วงทายาเข้าไปในช่องคลอดยก เว้นเป็นการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์
  • พบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลง

เมื่อคันชองคลอดควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อคันช่องคลอด ทั่วไปควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • มีตกขาวร่วมด้วยโดยเฉพาะเมื่อตกขาวมีเลือดปน, มีสีต่างๆที่ไม่ใช่ขาวใส, และ/หรือมีกลิ่นเหม็น และโดยเฉพาะเมื่อตกขาวเรื้อรัง
  • สงสัยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ สงสัยการติดเชื้อต่างๆที่อวัยวะเพศเช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีผิดปกติ เช่น เขียว น้ำตาล หรือขาวข้นเหมือนนม
  • มีผื่น แดง บวม หรือตุ่มหนอง หรือมีอาการเจ็บมากในบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะอาการไม่ดีขึ้น ใน 1-3 วันหลังดูแลตนเอง
  • มีแผลเรื้อรังหรือมีก้อนเนื้อบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดหรือจากผื่นหรือจากแผลในบริเวณอวัยวะเพศ
  • คันมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือต่อการนอน
  • อาการคันไม่ดีขึ้นในประมาณ 1 สัปดาห์หลังการดูแลตนเองหรืออาการคันแย่ลง/คันมากขึ้นเรื่อยๆ
  • กังวลในอาการ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ทั่วไป ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการคันหรืออาการต่างๆแย่ลงหลังใช้ยาที่แพทย์สั่ง
  • มีอาการผิดปกติต่างๆจากที่ไม่เคยมี เช่น ตกขาว , มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีการแพ้ยาที่แพทย์สั่ง เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ขึ้นผื่นทั้งตัวหรือที่อวัยวะเพศ, บวมริมฝีปาก ใบหน้า เป็นต้น
  • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม