คันทวารหนัก (Pruritus ani)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- คันทวารหนักมีสาเหตุจากอะไร?
- มีอาการอื่นร่วมกับคันทวารหนักไหม?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการคันทวารหนักได้อย่างไร?
- รักษาอาการคันทวารหนักอย่างไร?
- คันทวารหนักรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันอาการคันทวารหนักอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- หูด (Warts)
- เหา และ โลน (Pediculosis)
- โรคหิด (Scabies)
บทนำ
คันทวารหนัก หรือ คันปากทวารหนัก (Pruritus ani) คือ อาการ คันที่เกิดในบริเวณรอบๆปากทวารหนัก อาจเป็นอาการเฉียบพลัน หรือเป็นอาการเรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
คันทวารหนัก เป็นอาการพบได้บ่อยอาการหนึ่ง พบได้ประมาณ 1-5% ของประชากรทั้ง หมด พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ โดย ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่ากัน
คันทวารหนักมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของการคันทวารหนักมีได้หลายสาเหตุ ได้แก่
- บริเวณรอบทวารหนัก เปียกชื้น อับ เช่น จากเหงื่อออกมาก อ้วน หลังเข้าห้องน้ำแล้วล้าง/เช็ด ไม่แห้ง
- มีโรคผิวหนัง เช่น จากโรคผื่นภูมิแพ้ต่างๆ เช่น โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคผื่นภูมิแพ้ผิว หนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า Seborrheic dermatitis
- มีอุจจาระไหลซึมออกมารอบๆปากทวารหนัก เช่น โรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก โรคฝีคัณฑสูตร ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ (เช่น ในผู้สูงอายุ) ท้องเสียเรื้อรัง ภาวะอุจจาระเหลวไม่เป็นก้อน (เช่น ในกรณีมีลำไส้อักเสบเรื้อรัง) โรคริดสีดวงทวาร และโรคเนื้องอก/ติ่งเนื้อที่เรียกว่า Skin tag
- การระคายเคืองจากอาหารบางชนิด ซึ่งพบได้ในบางคนที่เนื้อเยื่อรอบปากทวารหนักไวต่ออาหารประเภทนี้ เช่น อาหาร/เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เบียร์ นม อาหารรสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ด และมะเขือเทศ
- มีการติดเชื้อในผิวหนังรอบปากทวารหนัก เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นสิว หรือ หนองจากรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ ติดเชื้อรา เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หูดบางชนิด หรือมีพยาธิทวารหนัก เช่น พยาธิเส้นด้าย หรือเหา
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด หรือยารักษาตรงเป้า บางชนิด
- จากโรคเรื้อรังของร่างกายบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคดีซ่าน โรคของต่อมไทรอยด์ โรคไตเรื้อรัง หรือ ภาวะไตวาย
- ผิวหนังบริเวณรอบทวารหนักสัมผัสสาร/สิ่งก่อการระคายเคือง เช่น เสื้อผ้า แป้ง ยาทารักษาโรคบริเวณนั้น ผิวแห้ง กระดาษทิชชู สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารดับกลิ่น และ ยาเหน็บทวารหนักต่างๆ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิธีใช้ยาเหน็บทวารหนัก)
- อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- อื่นๆ เช่น ปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ โรคของเส้นประสาทในบริเวณนั้น และบาง ครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ
มีอาการอื่นร่วมกับคันทวารหนักไหม?
อาการคันทวารหนัก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ผื่น น้ำเหลือง หนอง มีกลิ่นผิดปกติ เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ มีแผล มีแผลรอยแยก เมื่อเกิดจากโรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก แผล/ผื่นหรืออุจจาระเป็นเลือด อาการเจ็บ/ปวด และมีก้อนเนื้อ เช่น ในโรคริดสีดวงทวาร หรือ หูดต่างๆ
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการคันทวารหนักได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการคันทวารหนักได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา ประวัติเพศสัมพันธ์ การตรวจบริเวณทวารหนัก และการตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย สิ่งที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเชื้อจากแผล/หนอง การตรวจอุจจาระ การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) เพื่อดูการติดเชื้อ หรือ การส่องกล้องตรวจทวารหนัก หรือการตัดชิ้นเนื้อเมื่อพบก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น
รักษาอาการคันทวารหนักอย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการคันทวารหนัก คือ การรักษาอาการคัน การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาอาการคัน เช่น กิน/ทายาแก้คัน สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี
ข. การรักษาสาเหตุ คือ การรักษาสาเหตุต่างๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ เช่น
- รักษาควบคุม โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเบาหวาน โรคริดสีดวงทวาร และโรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก
- ปรับเปลี่ยนการใช้สบู่ ผงซักฟอก และ/หรือประเภทอาหาร/เครื่องดื่มต่างๆที่ก่อการระคายเคือง ตามแต่ละสาเหตุ เป็นต้น
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การทำความสะอาดเมื่อมีแผล หรือหนอง การกินยาแก้ปวด/เจ็บตามอาการ การตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาจนเกิดแผลที่เกาติดเชื้อ เป็นต้น
คันทวารหนักรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ตัวอาการคันทวารหนักเอง จะไม่รุนแรง แต่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต และการเข้าสังคม แต่ความรุนแรงจะขึ้นกับสาเหตุของอาการคัน เช่น ไม่รุนแรงเมื่อเกิดจากการแพ้สบู่ที่ใช้ทำความสะ อาดร่างกาย หรือเมื่อเกิดจากโรคริดสีดวงทวาร แต่จะรุนแรง เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากการคันทวารหนัก ที่สำคัญ คือ การเกาจนเกิดแผลติดเชื้อ หรือ แผลเลือดออก รวมทั้งการพักผ่อนไม่เพียงพอจากตื่นขึ้นมาเกา
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองและการพบแพทย์ เมื่อมีอาการคันทวารหนัก คือ
- ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันแผลเกาติดเชื้อจากการเกา
- รักษาความสะอาดบริเวณทวารหนัก ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าสะอาด อุณหภูมิน้ำปกติในทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ซับให้แห้งด้วยทิชชูที่อ่อนนุ่ม แพทย์ส่วนใหญ่แนะ นำให้ใช้เพียงน้ำเปล่า แต่บางท่านแนะนำว่า ถ้ามีหนอง หรือ น้ำเหลือง อาจใช้สบู่ได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่อ่อนโยนต่อผิว
- ทิชชูที่ใช้ในบริเวณทวารหนักต้องอ่อนนุ่ม
- รักษาบริเวณทวารหนักให้แห้งเสมอ
- ใส่ยาทาแก้คันได้ เช่น ยาคาลามาย (Calamine lotion)
- ซื้อยาแก้คันกินเองได้ เช่น ยาในกลุ่มแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) แต่ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
- สวมใส่เสื้อผ้า รวมทั้งชุดชั้นในที่ไม่รัดตึง เนื้อผ้าควรระบายอากาศได้ดี (ผ้าฝ้าย 100%) รักษาความสะอาดชุดชั้นใน ควรเปลี่ยนอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังอาบ น้ำเช้า และก่อนนอน
- สังเกตความสัมพันธ์ของอาการกับเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้อง แล้วปรับตัวตามนั้น เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
- สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับอาหารและเครื่องดื่ม แล้วปรับตัวตามนั้น เช่น กาแฟ อาหารเผ็ด เป็นต้น
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อลดการมีเหงื่อ
- ควรพบแพทย์เมื่อ บริเวณทวารหนักมีอาการดังนี้
- มีแผลเรื้อรัง
- มีก้อนเนื้อ
- แผลติดเชื้อ (บวม แดง ร้อน มีน้ำเหลือง/หนอง)
- เจ็บมากที่ทวารหนักร่วมด้วย
- มีเลือดออกในบริเวณที่คันต่อเนื่อง
- คันมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรวมทั้งต่อการนอน
- คลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโตข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
- อาการคันเรื้อรังนานเป็นหลายสัปดาห์โดยไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันอาการคันทวารหนักอย่างไร?
โดยทั่วไป สามารถป้องกันอาการคันทวารหนักได้ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้
การป้องกันอาการคันทวารหนัก เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการดูแลตนเอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) ซึ่งที่สำคัญ คือ
- การรักษาความสะอาด
- รักษาบริเวณปากทวารหนักให้แห้งเสมอ
- ลดการระคายเคืองบริเวณทวารหนักจากเครื่องนุ่งห่ม
- ใช้ทิชชูทำความสะอาดบริเวณทวารหนักชนิดอ่อนนุ่ม
- เลือกของใช้ในบริเวณทวารหนัก ชนิดที่อ่อนโยน และสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับของ/เครื่องใช้เสมอเพื่อการปรับเปลี่ยน
- สังเกตความสัมพันธ์ของอาหารและเครื่องดื่มกับอาการ เพื่อการปรับเปลี่ยน
- ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ป้องกันอาการท้องผูก ท้องเสีย
บรรณานุกรม
- Fargo, M., and Latimer, K. (2012). Evaluation and management of common anorectal conditions. Am Fam Physician. 85, 624-630.
- Moses, S. (2003). Pruritus. Am Fam Physicin. 68, 1135-1142.
- Siddiqi, S. et al. (2008). Prritus ani. Ann R Coll Surg Engl. 90, 457-463.
- http://en.wikipedia.org/wiki/Pruritus_ani [2017,April1]
Updated 2017,April1