การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การติดเชื้อทริโคโมแนสคืออะไร?

การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)ซึ่งเมื่อติดเชื้อในผู้หญิงเรียกได้อีกชื่อว่า ‘โรคพยาธิในช่องคลอด’ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งที่พบค่อนข้างบ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย เป็นโรคติดเชื้อในช่องคลอดจากพยาธิที่ชื่อ‘ทริโคโมแนส วาไจนอลลิส (Trichomonas vaginalis, สัตว์เซลล์เดียวชนิดหนึ่ง)’ อาการที่พบ เช่น ผู้หญิงที่ติดโรคจะมีตกขาวผิดปกติ, ส่วนในผู้ชายมักมีอาการระคายเคืองที่บริเวณอวัยวะเพศหรือปัสสาวะขัดแสบได้

การติดเชื้อทริโคโมแนส ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายถึงตาย แต่ก่อให้เกิดความรำคาญอันเนื่องมาจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเหตุนำที่ทำให้เกิดการติดต่อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆตามมาได้ง่าย

การติดเชื้อทริโคโมแนสพบได้มากน้อยเพียงใด?

การติดเชื้อทริโคโมแนส

โรคติดเชื้อทริโคโมแนส  พบได้ค่อนข้างบ่อย และพบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย ในผู้หญิงที่มีอายุมากจะติดพยาธิในช่องคลอดได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อย ทั่วไปจะพบว่ามีเพียงประมาณ 30%ของผู้ป่วยโรคนี้เท่านั้นที่จะมีอาการผิดปกติ, ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแพร่กระจายเชื้อฯเกิดได้ง่าย เพราะผู้ที่ติดเชื้อฯส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองมีการติดเชื้อ เนื่องจาก’ไม่มี’อาการผิดปกติ จึงทำให้ขาดการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น, ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานการศึกษาในคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบโรคติดเชื้อทริโคโมแนสได้ประมาณ 26%

การติดเชื้อทริโคโมแนสเกิดขึ้นได้อย่างไร?

การติดเชื้อ ทริโคโมแนส มักมีการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

  • การติดโรคในผู้หญิง: มักจะเป็นที่ตำแหน่งอวัยวะเพศภายนอก, ช่องคลอด, และ ท่อปัสสาวะ
  • ส่วนในผู้ชาย: มักมีการติดโรคที่ท่อปัสสาวะ
  • การติดเชื้อ ทริโคโมแนส ที่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย: เช่น มือ ปาก หรือทวารหนัก มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้น

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า การติดเชื้อทริโคโมแนส ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในผู้ที่ติดเชื้อทุกราย อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจนว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการแสดงหรือไม่แสดงอาการของการติดเชื้อ อาจจะเกี่ยวข้องกับ อายุ หรือสุขภาวะของผู้ที่ติดเชื้อก็เป็นได้

 อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดเชื้อนี้ ทั้งที่’แสดง’และ’ไม่แสดง’อาการก็สามารถแพร่กระจายเชื้อฯไปสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน

อาการของการติดเชื้อทริโคโมแนสเป็นอย่างไร?

ในผู้ที่ติดโรคนี้ ประมาณ 70% มักจะไม่มีอาการที่ผิดปกติ นั่นคือมีเพียงประมาณ 30% ของผู้ที่ติดเชื้อที่จะปรากฏอาการ  

 อาการที่พบ อาจเป็นแค่เพียงความรู้สึกระคายเคืองเล็กน้อยที่อวัยวะเพศ, หรือมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด, อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นๆหายๆ,  และทั่วไป การแสดงอาการของโรคอาจพบหลังมีการติดโรคแล้วประมาณ 5 วันจนถึง 1 เดือน    

ก. ผู้ชายที่ติดเชื้อทริโคโมแนส: อาการที่พบ เช่น

  • คัน และ/หรือ รู้สึกระคายเคืองอวัยวะเพศ
  • ปัสสาวะแสบ
  • อาจมีสารคัดหลั่งไหลออกจากอวัยวะเพศ/จากปากท่อปัสสาวะ

ข. ผู้หญิงที่ติดเชื้อทริโคโมแนส: อาการที่พบ เช่น

  • คัน แสบ แดง และเจ็บที่อวัยวะเพศ
  • บางราย อาจมีอาการ
  • ปัสสาวะแสบขัด และ/หรือ
  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ(เช่น เหลือง เขียว), มีกลิ่น,อาจข้น,  เหลว,หรือ เป็นฟอง  

 ดังนั้น การมีเชื้อทริโคโมแนสในร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดความไม่พึงพอใจขณะที่มีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งสองฝ่าย  

ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากการติดเชื้อทริโคโมแนสมีอะไรบ้าง?

การติดเชื้อทริโคโมแนสนั้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเชื้อทริโคโมแนสทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะเพศ จึงทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อและต่อการแพร่เชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ เป็นต้น

ในกรณีที่ตั้งครรภ์: การติดเชื้อทริโคโมแนส เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีโอกาสในการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น, และมีแนวโน้มว่าทารกที่คลอดออกมามักจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรเป็นคือน้อยกว่า 2,500 กรัม

แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อทริโคโมแนสได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคการติดเชื้อทริโคโมแนสนั้น ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ซึ่ง ทั่วไปได้แก่

  • ซักถามประวัติอาการ และประวัติเพศสัมพันธ์
  • การตรวจภายใน  
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เพิ่มเติม เช่น นำตกขาวไปตรวจหาตัวพยาธินี้  

ซึ่งการวินิจฉัยจากอาการที่เป็นเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่อาจให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องได้ ต้องได้จากการตรวจพบพยาธินี้ร่วมด้วยเสมอ

วิธีรักษาการติดเชื้อทริโคโมแนสทำได้อย่างไร?

การติดเชื้อทริโคโมแนสนั้น สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยารับประทานเพียงครั้งเดียว เช่น ยา Metronidazole หรือ Tinidazole

และ *ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ขณะกินยา จนอย่างน้อยประมาณ 3 วันหลังกินยาครบ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์  เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดหัว และความดันโลหิตสูง  

 ในกรณีที่*ตั้งครรภ์และเกิดโรคนี้หรือกินยาโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะยาฯอาจก่อผลข้างเคียงรุนแรงต่อทารกในครรภ์ได้

*อนึ่ง: ผู้ที่ได้รับการรักษาแล้ว มีโอกาส’กลับมาติดเชื้อทริโคโมแนสซ้ำ’ได้อีก ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นอีกครั้งหลังครบรักษา ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล  โดยพบว่า

  • ประมาณ 1 ใน 5 คน จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งภายใน 3 เดือนหลังรักษาครบแล้ว ดังนั้นการรักษาคู่นอนของผู้ที่ติดโรคนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระทำร่วมด้วย
  • และควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังกินยาครบ

*หมายเหตุ: เมื่อติดเชื้อทริโคโมแนสแล้วและไม่ได้รักษา การติดเชื้อดังกล่าวอาจคงอยู่ในร่างกายได้’นานเป็นเดือนหรือเป็นปี’ โดยอาจก่ออาการหรือไม่ก่ออาการก็ได้

มีวิธีป้องกันการติดเชื้อทริโคโมแนสอย่างไร?

การใช้ถุงยางอนามัยชายชนิด’ลาเทก (Latex)’ อย่างถูกวิธีจะช่วยลดการแพร่ของเชื้อทริโคโมแนสได้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันได้100%,  การงดมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นการป้องกันที่ได้ผล100%   

 อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อกันนั้น/ไม่สำส่อนทางเพศ ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทริโคโมแนสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆลงได้อย่างมาก

การดูแลตนเองเมื่อสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อทริโคโมแนสทำได้อย่างไร?

ในผู้หญิงเมื่อมีตกขาวผิดปกติ หรือในผู้ชายเมื่อรู้สึกระคายเคืองที่อวัยวะเพศหรือรู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

 และเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อทริโคโมแนสแล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย เช่น การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์

*นอกจากนี้ควรนำคู่นอนมารับการตรวจรักษาที่เหมาะสม และงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายหรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังกินยาครบ

บรรณานุกรม

  1. Workowski KA, Berman S; Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2010. MMWR Recomm Rep. 2010 Dec 17;59(RR-12):1-110.
  2. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Disease Surveillance, 2009.
  3. Mylonas I, Bergauer F. Diagnosis of vaginal discharge by wet mount microscopy: a simple and underrated method. Obstet Gynecol Surv. 2011 Jun; 66(6):359-68. Review.
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470302/ [2022,June11]
  5. https://www.nhs.uk/conditions/trichomoniasis/ [2022,June11]