เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ :คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- ติดเชื้อเอชพีวีได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชพีวี?
- โรคติดเชื้อเอชพีวีรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคติดเชื้อเอชพีวีมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
- หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)
- โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer)
- มะเร็งโคนลิ้น (Base of tongue cancer)
- มะเร็งต่อมทอนซิล มะเร็งทอนซิล (Tonsil cancer)
- มะเร็งอวัยวะเพศหญิง (Vulvar cancer)
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile cancer)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
- มะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)
บทนำ :คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
โรคติดเชื้อเอชพีวี หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV infection หรือ Human papilloma virus infection) คือโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชนิด ‘ไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ Human papillomavirus)’ โดยเป็นไวรัสในตระกูล’Papillomavirus’ซึ่งมีมากกว่า100สายพันธุ์ย่อย แต่เอชพีวี ส่วนใหญ่ไม่ก่อการติดเชื้อในคน มีเพียงประมาณ 40 สายพันธุ์ย่อยเท่านั้นที่ก่อการติดเชื้อในคนและมีคนเป็นรังโรค
เอชพีวี ที่ก่อการติดเชื้อในคน จะก่อการติดเชื้อเฉพาะกับเซลล์ผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อเมือก (Mucosa, เซลล์บุผนังของอวัยวะ)เท่านั้น และจะเกิดการติดต่อได้เฉพาะจากการสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวหนัง/เนื้อเยื่อเมือกกับผิวหนัง/เนื้อเยื่อเมือกที่ติดเชื้อ(Skin to skin contact), ดังนั้นจึงเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่ เฉพาะบางอวัยวะที่สัมผัสกับเชื้อฯ เช่น อวัยวะเพศ (เช่น การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศสตรี), ไม่มีการแพร่กระจายทางโลหิต /เลือด, หรือทางระบบน้ำเหลือง
การติดเชื้อเอชพีวี พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทั่วโลกพบการติดเชื้อเอชพีวีใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีรายงานในปี 2021 ประมาณ2-45%, ขึ้นกับอายุที่มีเพศสัมพันธ์ และการสาธารณสุขของแต่ละประเทศ
ติดเชื้อเอชพีวีได้อย่างไร?
การติดเชื้อเอชพีวีพบได้เป็น 3 ลักษณะคือ
- การติดเชื้อของอวัยวะเพศ, รอบปากทวารหนัก, และในเซลล์เนื้อเยื่อเมือก
- การติดเชื้อกับผิวหนังที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ และ
- การติดเชื้อในโรค Epidermodysplasia verruciformis
ก. การติดเชื้อของอวัยวะเพศ รอบปากทวารหนัก และในเซลล์เยื่อเมือก (Anogenital or mucosal HPV): เป็นการติดเชื้อเอชพีวีที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งสามารถติดเชื้อได้จาก เพศสัมพันธ์, ทั้งทางอวัยวะเพศภายนอก, ช่องคลอด ปากมดลูก, ทางทวารหนัก, ทางปาก, การติดเชื้อผ่านทางมือ (มือสัมผัสกับเชื้ออาจที่อวัยวะเพศแล้วไปสัมผัสผิวหนังส่วนอื่นหรืออวัยวะเพศผู้อื่น), การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน(เชื้อติดอยู่กับของใช้ฯ), และการติดเชื้อจากการคลอดวิธีธรรมชาติ(จากทารกสัมผัสอวัยวะเพศมารดา)
อนึ่ง มีการศึกษาในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์แล้วพบเชื้อเอชพีวีที่ปลายนิ้วได้ประมาณ 25%, พบเชื้อเอชพีวีที่ปลายนิ้วในผู้หญิงที่เป็นคู่นอนได้ประมาณ15%, และประมาณ 10% เมื่อเป็นคู่ที่สัมผัสกันเพียงภายนอก, ส่วนในผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์พบเชื้อนี้ที่ปลายนิ้วได้ประมาณ 1%
การติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์พบว่า เอชพีวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้สูงที่สุด สูงกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้ออื่นๆ, พบว่าประมาณมากกว่า 50% ของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์จะเคยติดเชื้อนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต, ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มีโอกาสติดเชื้อได้น้อยมากๆจากทางมือ, หรือจากใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
การติดเชื้อของอวัยวะเพศ, รอบปากทวารหนัก, และในเซลล์เนื้อเยื่อเมือก, พบมีการติดเชื้อได้ที่ อวัยวะเพศภายนอกส่วนผิวหนังทั้งของทั้งหญิงและชาย(หูดหงอนไก่), ที่เนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะเพศทั้งหญิง เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง จาก www.haamor.com), และผู้ชาย(ส่วนหัวของอวัยวะเพศชาย/หูดหงอนไก่), และที่ผิวหนังรอบปากทวารหนักและเนื้อเยื่อใกล้เคียงปากทวารหนัก(หูดหงอนไก่),
การติดเชื้อเอชพีวีของเนื้อเยื่อเมือก สามารถเกิดได้กับเนื้อเยื่อของช่องปากและช่องคอ(คอหอยส่วนปาก) เช่น เพดานอ่อน, ลิ้นไก่, โคนลิ้น, และทอนซิล/ต่อมทอนซิล, ทั้งนี้มักเกิดจากเพศสัมพันธ์ทางปาก
การติดเชื้อทางการคลอดพบได้น้อย จากลูกสัมผัสอวัยวะเพศแม่โดยตรงและ/หรือสารคัดหลั่งและ/หรือกลืนน้ำเมือกจากช่องคลอดแม่ช่วงการคลอดซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อนี้ในทางเดินหายใจและในกล่องเสียงของทารกได้(พบน้อย)
ส่วนการติดต่อทางมือเป็นสาเหตุติดเชื้อได้กับ ผิวหนังทุกส่วน, อวัยวะเพศ, และเนื้อเยื่อเมือก ,ที่สัมผัสนิ้วที่มีเชื้อฯ
อนึ่ง: ชนิดย่อยเชื้อเอชพีวีที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคในคน: เช่น
- หูดรอบปากทวารหนัก: เช่น HPV สายพันธุ์ 6, 11, 42, 44
- HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุโรคมะเร็งทวารหนัก: เช่น สายพันธุ์ 6, 16, 18, 31, 53, 58
- HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุโรคมะเร็งของอวัยวะเพศ: เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 45, 33, 335, 39, 51, 52, 56, 58, 59 และที่ยังไม่แน่ชัดเช่น สายพันธุ์ 26, 53, 66, 68, 73, 82
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก: เช่น สายพันธุ์ 16
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อในช่องปาก (Oral papilloma): เช่น 6, 7, 11, 16, 32 และ
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อในกล่องเสียง(Laryngeal papilloma): เช่น สายพันธุ์ 6, 11
ข. การติดเชื้อกับผิวหนังที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ (Non genital cutaneous HPV): คือการติดเชื้อที่ผิวหนังส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่ที่อวัยวะเพศ เช่น โรคหูดผิวหนัง โดยเอชพีวีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคหูดที่ผิวหนัง เช่นสายพันธ์ 1, 2, 3, 4, 6, 8, 10, 11, 42, 44, 68
ค. การติดเชื้อในโรค Epidermodysplasia verruciformis: โรคนี้เป็นโรคผิวหนังผิดปกติ ทางพันธุกรรมที่พบน้อยมาก โดยผิวหนังขึ้นตุ่มและผื่นเรื้อรัง และกลายเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่าย ซึ่งโรคนี้มักพบผิวหนังในส่วนที่เกิดโรคมีการติดเชื้อเอชพีวีเสมอ เนื่องจากเป็นโรคพบน้อยมากๆจึงยังไม่มีข้อมูลต่างๆที่ชัดเจน ดังนั้นในบทความนี้ จึง’ไม่กล่าวถึง’การติดเชื้อเอชพีวีในโรคนี้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชพีวี?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเอชพีวี: เช่น
- สูบบุหรี่
- หญิงตั้งครรภ์
- ขาดวิตามินบี 9 (Folic acid)
- ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำโดยเฉพาะกรณีติดเชื้อนี้ที่อวัยวะเพศและรอบปากทวารหนัก
- ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกิน 5 ปี, แต่ปัจจัยเสี่ยงนี้จะหมดไปเมื่อหยุดใช้ยา
โรคติดเชื้อเอชพีวีรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
การติดเชื้อเอชพีวีโดยเฉพาะการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ (เช่น การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศสตรี) และรอบปากทวารหนัก เป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานและกำจัดเชื้อได้เอง, โดยประมาณ 70% ของผู้ติดเชื้อ โรคจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี, และประมาณ 90 - 95% ของผู้ติดเชื้อ โรคจะหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี
แต่อย่างไรก็ตามประมาณ 5 - 10% ของโรค ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ได้ ผู้ป่วยยังคงติดเชื้ออยู่ต่อเนื่อง (Persisted disease) ซึ่งการที่ร่างกายกำจัดเชื้อไม่ได้ ซึ่งเชื้อจะสร้างสารโปรตีนบางชนิดต่อเนื่อง และสารเหล่านี้จะค่อยๆก่อให้เซลล์ปกติที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่เกิดเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์เป็นเซลล์ที่จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง (Precancerous lesion) จน กลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด, ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อฯจนกลายเป็นเซลล์ก่อนการเป็นมะเร็งและกลายเป็นเซลล์มะเร็งจะประมาณ 10 - 15 ปี ที่นานพอที่แพทย์จะตรวจพบและให้การรักษาได้ก่อนที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งถ้าผู้ติดเชื้อพบแพทย์ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งก็คือ ‘การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก’นั่นเอง
อีกประการหนึ่งก็คือ การเกิด’โรคหูด’ซึ่งมีโอกาสเซลล์เปลี่ยนเป็นมะเร็งได้แม้โอกาสเกิดจะน้อย แต่ตัวโรคหูดเองก็ส่งผลให้เกิดการลดคุณภาพชีวิตจากความรำคาญ, ภาพลักษณ์, และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้เรียกว่า ’High risk HPV หรือ Oncogenic HPV’: เช่น HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 53, 56, 58, 59, 68, 73 และ 82
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่ยังไม่มีรายงานว่าก่อให้เกิดมะเร็งได้เรียกว่า ‘Low risk HPV’: เช่น สายพันธุ์ 6, 11, 42, 43, 44, 54, 61, 70, 72 และ 81
- เอชพีวีที่พบเป็นสาเหตุของโรคหูด (90% ของโรคหูด): คือสายพันธุ์ 6 และ 11
- เอชพีวีสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่อวัยวะเพศสตรี: คือ สายพันธุ์ 16
- เอชพีวีที่เป็นสาเหตุของ’โรคมะเร็งปากมดลูก’: เกิดจากหลายสายพันธุ์ ที่พบบ่อย เช่น 16,18, 31, 45, 52, 53, เป็นต้น
อนึ่ง:
- ประมาณ 90% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุสัมพันธ์กับปากมดลูกติดเชื้อเอชพีวี
- และพบว่าการติดเชื้อเอชพีวีของอวัยวะอื่นๆสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งอวัยวะนั้นๆ ประมาณ
- 90% ของโรคมะเร็งทวารหนัก
- 40% ของโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง
- 40% ของโรคมะเร็งช่องคลอด
- 12% ของโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก เช่น มะเร็งต่อมทอนซิล, มะเร็งเพดานอ่อน, หรือ มะเร็งโคนลิ้น
- 3% ของโรคมะเร็งช่องปาก
โรคติดเชื้อเอชพีวีมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไปเมื่อติดเชื้อเอชพีวี ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยมักไม่มีอาการและแพทย์มักไม่สามารถตรวจพบเชื้อและ/หรือความผิดปกติของเซลล์/เนื้อเยื่อที่ติดเชื้อได้ ซึ่งระยะนี้โอกาสที่จะแพร่เชื้อซึ่งก่อให้เกิดการติดต่อมีน้อยเนื่องจากปริมาณเชื้อยังมีน้อยอยู่ เรียกการติดเชื้อระยะนี้ว่า ‘Latent period (ระยะตรวจไม่พบเชื้อ)’
เมื่อเชื้อแบ่งตัวมากขึ้นแต่ไม่มากพอที่จะปรากฏให้เห็นเป็นรอยโรคด้วยตาเปล่า ยังเป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ เป็นระยะที่ตรวจพบเชื้อได้รวมทั้งสามารถตรวจพบความผิดปกติของเซลล์และเนื้อเยื่อได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และเป็นระยะที่โรคสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัส เรียกการติดเชื้อระยะนี้ว่า ‘Subclinical HPV infection’
เมื่อเชื้อแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากขึ้นอีกและก่อให้เกิดความผิดปกติในเซลล์และในเนื้อเยื่อมากขึ้นจนปรากฏให้เห็นเป็นรอยโรคด้วยตาแปล่า เช่น ก้อนเนื้อหูดหรือก้อนเนื้อที่ปากมดลูก เรียกการติดเชื้อระยะนี้ว่า ‘Clinical HPV infection’
ระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนปรากฏเป็นรอยโรคให้เห็นด้วยตาเปล่า (ระยะฟักตัว) จะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ไหน เช่น
- สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูด: ระยะฟักตัวจะประมาณตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 6 - 8 เดือน
- ในสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก: อาจใช้เวลานานถึง 10 - 15 ปี
- ส่วนในสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ: เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ ก็เชื่อว่ามีระยะฟักตัวของโรคนานเป็นปีหรือหลายๆปี ขึ้นกับความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ย่อยที่เป็นสาเหตุ
ทั้งนี้เมื่อเกิดเป็นรอยโรคให้เห็นแล้ว อาการของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยก็จะแตกต่างกันขึ้นกับว่า ‘เกิดรอยโรคกับอวัยวะใด’ เช่น โรคหูดที่ผิวหนัง หรือโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวีได้จาก
- ประวัติ อาการ, ประวัติเพศสัมพันธ์
- การตรวจดูรอยโรค
- การตรวจย้อมเชื้อไวรัสเอชพีวีจากสารคัดหลั่ง
- และ/หรือ การตรวจชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเอชพีวี การรักษาคือ การจี้รอยโรคอาจด้วยยา, ด้วยความเย็น, เลเซอร์, หรือผ่าตัดรอยโรคด้วยวิธีทั่วไป(ตัดด้วยมีด)
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ, และโดยเฉพาะ ‘ไม่ส่ำส่อนทางเพศ’ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของการติดเชื้อเอชพีวี
นอกจากนั้น คือ ควรสำรวจตนเองเสมอ เมื่อพบมีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะใด ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ
และในผู้หญิงทุกรายที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอทุกปีในวัยเจริญพันธ์ ทั้งนี้เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคป้องกันได้ โดยเมื่อแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ระยะก่อนเป็นมะเร็งจากการตรวจคัดกรอง, แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดปากมดลูก(มีหลายวิธี)หรือการผ่าตัดมดลูก ซึ่งทั้งหมดเป็นการรักษาที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน และมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อย
ป้องกันโรคติดเชื้อเอชพีวีอย่างไร?
ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของยาฆ่าเชื้อเอชพีวี ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน เช่น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ และที่สำคัญคือการ’ไม่ส่ำส่อนทางเพศ’ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง สำคัญของการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ(ลดโอกาสติดเชื้อได้ประมาณ 70-80%)
- ฉีดวัคซีนเอชพีวี (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ตามคำแนะนำของแพทย์โรคมะเร็ง, สูตินรีแพทย์, และ/หรือ สาธารณสุข
บรรณานุกรม
- Giuiano, A. et al. (2011). Efficacy of quadrivant HPV vaccine against HPV infection and diease in males. N Engl J Med. 364, 401-411.
- Mammas, I. et al. (2009). Human papillomavirus infection in children and adolescents. Eur J Pediatr. 168, 267-273.
- http://telemedicine.org/warts/cutmanhpv.htm [2022,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Epidermodysplasia_verruciformis [2022,June11]
- https://emedicine.medscape.com/article/219110-overview#showall [2022,June11]
- https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-and-cancer [2022,June11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Human_papillomavirus_infection [2022,June11]
- https://www.mdedge.com/familymedicine/article/59521/womens-health/natural-history-hpv-infections [2022,June11]
- https://www.cdc.gov/std/hpv/stdfact-hpv.htm [2022,June11]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7855977/ [2022,June11]