มะเร็งอวัยวะเพศหญิง (Vulvar cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง(โยนี) หรือ Vulvar cancer เป็นโรคมะเร็งเกิดกับเนื้อเยื่อได้ทุกส่วนของอวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง คือ

  • บริเวณเนินหัวหน่าว/เนินที่มีขนอวัยวะเพศ (Mons pubis)
  • แคมใหญ่ (Labia majora)
  • แคมเล็ก (Labia minora)
  • ปุ่มกระสัน (Clitoros)
  • ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s gland, ต่อมที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด มีหน้าที่สร้างของ เหลวเพื่อความชุ่มชื้นบริเวณปากช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายนอกสตรี และเรื่อง โรคของต่อมบาร์โธลิน)

ทั้งนี้มะเร็งอวัยวะเพศหญิง เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อดังกล่าวที่ตำแหน่งใดก็ได้ เกิด กลายพันธ์ มีการเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง รุกราน/ทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรค และลุกลาม/ทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง(ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ) จนในที่สุดแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลอวัยวะเพศหญิงทั่วตัว เช่น ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือดไปทำลายอวัยวะต่างทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง เป็นมะเร็งชนิดเดียวกับมะเร็งผิวหนัง เพราะเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศหญิงเป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเดียวกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ทั้งนี้โอกาสเกิดโรคในตำแหน่งต่างๆของอวัยวะเพศดังกล่าวใกล้เคียงกัน

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง เป็นโรคพบน้อย เพียงประปราย ประมาณ 4% ของโรคมะเร็งอวัยวะระบบสืบพันธุ์ทุกชนิดของผู้หญิง และประมาณ 0.6% ของโรคมะเร็งของผู้หญิงทั้งหมด โดยสหราชอาณาจักร ในปีพ.ศ. 2551 พบโรคนี้ 2.5 ราย ต่อประชากรหญิง 100,000 คน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ในผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็งช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 พบโรคนี้ได้ 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงมีกี่ชนิด?

มะเร็งอวัยวะเพศหญิง

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงมีหลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มของมะเร็งคาร์ซิโนมา และมะเร็งซาร์โคมา แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมา (Vulva carcinoma) ของเยื่อบุผิว (Epithelium) และของเยื่อเมือก (Mucosa) ชนิดที่เรียกว่า ‘สะความัส (Squamous cell carcinoma)’ ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง จึงหมายถึงโรคมะเร็งชนิดนี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง ยังไม่ทราบ แต่มีปัจจัยเสี่ยง คือ

  • มีการติดเชื้อของอวัยวะเพศจากไวรัสชนิดเอชพีวี (HPV,human papilloma virus ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก) แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง
  • อาจจากอวัยวะเพศติดเชื้อเริม (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เริมที่อวัยวะเพศ)
  • การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์
  • เคยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งช่องคลอดมาก่อน
  • อาจจาก โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในหญิงที่มีโรคเหล่านี้
  • การสูบบุหรี่ จากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ รวมทั้งเซลล์อวัยวะเพศ
  • อาจจากติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาจจากได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเนื่อง เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงเช่นเดียวกับอาการของโรคมะเร็งผิวหนังเพราะดังกล่าวแล้วว่า เป็นเนื้อเยื่อชนิดเดียวกัน กล่าวคือ

  • ในบริเวณอวัยวะเพศ จะมีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือมีแผลเรื้อรัง (แผลไม่หายภายใน 2 สัปดาห์) และ/หรือ
  • มีไฝ หูด หรือ ปาน ที่โตเร็ว กินลึกลงไปในเนื้อเยื่อใต้รอยโรคนั้นๆ ขอบของรอยโรคนั้นๆจะไม่เรียบ กลายเป็นแผล และ/หรือมีเลือดออกง่าย
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น มักคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ อาจโตเพียงต่อมเดียว หรือ หลายต่อม อาจเกิดที่ขาหนีบเพียงด้านเดียว หรือ ทั้งสองด้าน

อนึ่ง:

  • บางครั้ง อาจพบเกิดเป็นฝ้าขาว (Leukoplakia, มีลักษณะเป็นฝ้า/ปื้นนูนสีขาว เป็นมัน มักไม่มีอาการเจ็บ) หรือ เป็นฝ้าแดง (Erythroplakia, มีลักษณะเป็นฝ้า/ปื้น นูน สีแดง มักไม่เจ็บ) เกิดนำก่อนในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศ ซึ่งเมื่อสังเกตพบฝ้าเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาก่อนกลายเป็นมะเร็ง

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอวัยวะเพศ ร่วมกับ การตรวจภายใน และการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผล เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ภายหลังผลชิ้นเนื้อระบุเป็นมะเร็ง การตรวจเพิ่มเติม คือ การตรวจเพื่อประเมินระยะโรค และเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปมักเป็น

  • การตรวจภาพช่องท้อง หรือช่องท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน) ด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องและในช่องท้องน้อย
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
  • การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาลในเลือด ดูการทำงานของตับและของไต
  • การตรวจปัสสาวะดูการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ และ
  • ตรวจเอกซเรย์ภาพปอด ดูโรคของปอด ของหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรค มะเร็งสู่ปอด

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ ช่วยเลือกวิธีรักษา บอกการพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะหลัก ได้แก่

  • ระยะที่ 1 แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ1A ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดโตน้อยกว่า 2 เซนติเมตร (ซม.) และโรคลุกลามกินลึกลงไปในเนื้อเยื่ออวัยวะเพศไม่เกิน 1มิลลิเมตร
    • ระยะ1B ก้อนเนื้อ หรือแผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร (ซม.) , และ/หรือ ขนาดใดก็ได้ แต่โรคลุกลามกินลึกลงไปในเนื้อเยื่ออวัยวะเพศเกินมากกว่า 1มิลลิเมตร
  • ระยะที่ 2 โรคมะเร็งลุกลามลงลึกถึง ท่อปัสสาวะส่วนต้น, ช่องคลอดส่วนต้น, และเนื้อเยื่ออื่นๆนอกอวัยวะเพศ
  • ระยะที่ 3 แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ3A โรคลุกลามเข้า ท่อปัสสาวะส่วนปลาย, ช่องคลอดส่วนปลาย, และ/หรือ ทวารหนัก, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบส่วนตื้นๆไม่เกิน2ต่อม
    • ระยะ3B โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบส่วนตื้นๆ กี่ต่อมก็ได้, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบส่วนลึกตั้งแต่2ต่อมขึ้นไป
    • ระยะ3C โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบจนทะลุออกนอกต่อมน้ำเหลืองจะกี่ต่อมก็ได้
  • ระยะที่ 4 แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ กินลึกเข้าสู่ผิวหนัง และ/หรือเนื้อเยื่อใต้ต่อมน้ำเหลือง จนต่อมน้ำเหลืองเคลื่อนไหวไม่ได้, และ/หรือแตกเป็นแผล, และ/หรือ โรคลุกลามเข้า ส่วนต้นของช่องคลอด, ส่วนต้นของท่อปัสสาวะ, เข้ากระเพาะปัสสาว, ลำไส้ตรง, และ/หรือ กระดูกหัวหน่าว
    • ระยะ 4B โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองที่ไกลอวัยวะเพศ เช่น ในอุ้งเชิงกราน, ในรอบหลอดแดงใหญ่ในช่องท้อง, และ/หรือที่เหนือกระดูกไหปลา, และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง คือ

  • การผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษา เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 1 วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีการเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับ ขนาดก้อนมะเร็ง ตำแหน่งที่เกิดโรค อายุ สุขภาพผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
  • ส่วนโรคในระยะลุกลามแล้ว ตั้งแต่ระยะที่2ขึ้นไป มักเป็นการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด
  • ส่วนยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงขึ้นกับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันใน เลือดสูง
  • เมื่อสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ในผู้สูงอายุ

อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงจากวิธีการรักษาแต่ละวิธี เช่น

  • การผ่าตัด: ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียอวัยวะ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด มีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยารักษาตรงเป้าบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง เป็นโรคมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคดีปานกลาง สามารถรักษาหายได้ ทั้งนี้ขึ้น กับ ระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีภายหลังการรักษา ประมาณ

  • ในโรคระยะที่ 1,2 ประมาณ 80-90%
  • โรคระยะที่ 3 ประมาณ 50-60%
  • โรคระยะที่ 4
    • เมื่อโรคยังไม่แพร่กระจาย :ประมาณ 0-20%
    • เมื่อมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว: ประมาณ 0-10%

อนึ่ง ความสำคัญของโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง อยู่ที่คุณภาพชีวิต เพราะเมื่อพบความผิดปกติ ผู้ป่วยมักอายที่จะพบแพทย์ กลัวการถูกตำหนิว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และกลัวการรักษาที่เป็นการผ่าตัดอวัยวะเพศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า หรือมักปฏิเสธการรักษา รอจนกระทั่งโรคลุกลามมากแล้ว ก่ออาการเจ็บปวด เลือดออกไม่หยุด หรือต่อมน้ำเหลืองโตมากจนก่อการบวมของอวัยวะเพศ และ/หรือของขาทั้งสองข้าง จึงยอมรักษา ซึ่งสายไปแล้ว

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ

  • การสังเกตตนเอง เมื่อเกิดก้อนเนื้อ หรือมีแผลเรื้อรัง (แผลที่ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์) หรือ มีฝ้าแดง ฝ้าขาว หรือมีสารคัดหลั่ง/ตกขาวผิดปกติจากอวัยวะเพศ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง รวมทั้งยังไม่มีรายงานแน่ชัดเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ว่า สามารถป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิงได้ชัดเจนหรือไม่ แต่มีการศึกษาบางการศึกษา ให้ผลว่า วัคซีนฯนี้อาจช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งอวัยวะเพศหญิงลงได้

ดังนั้น ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงมะเร็งอวัยวะเพศหญิง จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • และควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น พบต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต ปัสสาวะปวด แสบ ขัด และ/หรือเป็นเลือด
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer Staging Manual, 8th edition
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  5. https://emedicine.medscape.com/article/264898-overview#showall [2019, Feb9]
  6. https://www.cancer.org/cancer/vulvar-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019, Feb9]
  7. https://www.cancer.org/cancer/vulvar-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019, Feb9]