โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะในลำคอส่วนที่เรียกว่า ‘คอหอยส่วนปาก (Oropharynx)’ ซึ่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนี้ ประกอบด้วย ทอนซิล, โคนลิ้น, เพดานอ่อน ,ลิ้นไก่, และผนังด้านหลังของลำคอในส่วนที่มองเห็นได้จากช่องปาก (Posterior pharyngeal wall) โดยเซลล์ของเนื้อเยื่อเหล่านี้เกิดกลายพันธ์ เป็นเซลล์มะเร็งที่จุดใดก็ได้ คือ มีการเจริญแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ และเซลล์เหล่านี้ยังสามารถรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อตัวมันเอง เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง เข้าระบบน้ำเหลือง และลุกลามแพร่กระจายไปทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด กระดูก และตับ

อนึ่ง เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่รวมเรียกว่า ‘คอหอยส่วนปาก’ นั้น เนื่องจากเป็นอวัยวะที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องกัน ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และ มีปัจจัยเสี่ยง เกิดโรคต่างๆที่รวมถึงโรคมะเร็ง ธรรมชาติของโรค อาการ อาการแสดง การลุกลามแพร่กระจาย วิธีรักษา และการพยากรณ์โรค เหมือนๆกัน

คอหอยส่วนปาก มีหน้าที่หลัก ช่วยใน การกลืน การออกเสียง เป็นทางผ่านของอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร และเป็นทางผ่านของลมหายใจเข้าสู่กล่องเสียงและท่อลม

อนึ่ง เมื่อแพทย์สามารถแยกได้ชัดเจนว่า ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็ง เกิดจากเนื้อเยื่อ ส่วนใดของคอหอยส่วนปาก แพทย์มักให้การวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ เช่น มะเร็งต่อมทอนซิล หรือ มะเร็งโคนลิ้น เป็นต้น แต่ถ้าก้อนเนื้อ/แผลมีขนาดใหญ่ลุกลามเข้าหลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะ จนแพทย์ไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นโรคของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด แพทย์จะให้การวินิจฉัยรวมว่า เป็นโรค “มะเร็งคอหอยส่วนปาก”

มะเร็งคอหอยส่วนปาก จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (Head and Neck cancer) ดังนั้น สถิติ ปัจจัยเสี่ยง และการพยากรณ์โรคจึงมักรายงานรวมอยู่ใน ‘โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ’ ไม่ค่อยแยกเป็นแต่ละกลุ่มหรือแต่ละชนิดของมะเร็ง ทั้งนี้เพราะเป็นโรคมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรค ตลอดจนวิธีดูแลรักษา และการพยากรณ์โรคเหมือนกันดังได้กล่าวในตอนต้น

มะเร็งคอหอยส่วนปาก เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเกือบไม่มีรายงานพบในเด็กเลย และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ประมาณ 3-4 เท่า

มะเร็งคอหอยส่วนปากเป็นมะเร็งพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับพบบ่อย ทั่วโลกพบโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (รวมมะเร็งคอหอยส่วนปากด้วย) ประมาณครึ่งล้านคนต่อปี

ในสหรัฐอเมริกา พบโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอได้ประมาณ 3% ของโรคมะเร็งทุกระบบอวัยวะของร่างกาย

ประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งช่วงปี พ.ศ. 2553-2555(รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปีพ.ศ. 2558) รายงานพบโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (ไม่นับรวมมะเร็งต่อมทอนซิล)ในเพศชาย 0.3 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน, และในเพศหญิง 0.1 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน ส่วนมะเร็งต่อมทอนซิล พบในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนราย และในเพศหญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน

โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากมีกี่ชนิด?

โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก

มะเร็งคอหอยส่วนปาก มีหลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่ประมาณ 90-95% จะเป็นกลุ่ม ‘มะเร็งคาร์ซิโนมา’ ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) โดยพบชนิดอื่นๆได้บ้างประปรายรวมกันแล้วประมาณ 5-10% เช่น ชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลาย, หรือ จากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเซลล์ทั้ง 2 ชนิดเป็นเซลล์ที่มีอยู่กระจายทั่วไปในเยื่อเมือกที่บุภายในคอหอย /คอหอยส่วนปาก

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง “โรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก” จะหมายถึง โรคมะเร็งกลุ่ม คาร์ซิโนมา (Oropharyngeal carcinoma) ชนิด สะความัส ดังนั้นในบทความนี้ จึงกล่าวถึง “โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากชนิดสะความัส” เท่านั้น

โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุที่แน่นอนชัดเจนของการเกิดโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก ยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าคนไม่สูบประมาณ 20 เท่า) และการดื่มสุรา (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าคนไม่ดื่มประมาณ 5 เท่า) แต่ถ้าทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุรา ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเป็นประมาณ 50 เท่า

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่

  • ภาวะขาดสารอาหารโดยเฉพาะ วิตามิน เกลือแร่ จากบริโภค ผัก ผลไม้ น้อย/ ไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ของคอหอยส่วนปาก เช่น จากการจูบ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • เพศ: เพราะพบโรคได้สูงกว่าในผู้ชาย แต่อาจจากผู้ชาย สูบบุหรี่และดื่มสุราสูงกว่าผู้หญิงก็ได้
  • อาจจากพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก แต่เป็นอาการเหมือน ‘คออักเสบ’จากสาเหตุทั่วไป ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เจ็บคอเรื้อรัง
  • มีน้ำลาย หรือ เสมหะ/เสลด ปนเลือดเรื้อรัง
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • มีแผลเรื้อรัง หรือมีก้อนเนื้อ ในส่วน โคนลิ้น ทอนซิล เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และ/หรือผนังด้านหลังสุดของลำคอ
  • เมื่อโรคเป็นมากขึ้น จะมีอาการ
    • เสียงพูดอาจเปลี่ยนไป เหมือนอมสิ่งใดอยู่
    • มีปัญหาในการกลืน หรือการหายใจ จากก้อนเนื้อที่โตขึ้น จึงเกิดการอุดกั้นช่องคอ
    • ต่อมน้ำเหลืองลำคอโต คลำพบได้ (ปกติคลำไม่พบ) อาจโตได้เป็นหลายๆเซนติเมตร อาจคลำพบเพียงที่ลำคอด้านเดียว หรือทั้ง 2 ด้าน และอาจคลำพบเพียงต่อมน้ำเหลืองต่อมเดียวหรือหลายต่อม
    • อาการจากโรคมะเร็งนี้แพร่กระจาย เช่น
      • ปวดกระดูกสันหลัง /ปวดหลังมาก จากโรคมะเร็งฯแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง
      • แน่นอึดอัดท้องโดยเฉพาะด้านขวาตอนบน จากโรคมะเร็งฯแพร่กระจายเข้าตับ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เพศสัมพันธ์ ประเภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจดูช่องปากและลำคอ, การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การตรวจภาพลำคอด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ เพื่อดูรอยโรคและการลุกลามของโรค รวมถึงการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • แต่ที่วินิจฉัยโรคได้แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผล เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ซึ่งภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งฯแล้ว จะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะโรค และสุขภาพผู้ป่วย เช่น

    • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
    • การตรวจปัสสาวะ
    • การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาล (โรคเบาหวาน), ดูการทำงานของ ตับ ไต และดูค่า เกลือแร่ในเลือด
    • ตรวจภาพลำคอด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ ดูการลุกลามของโรคเมื่อยังไม่ได้ตรวจในช่วงวินิจฉัยโรค
    • ตรวจเอกซเรย์ปอด ดูโรคของปอดและหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
    • อาจมีการตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ และการตรวจภาพกระดูกทั้งตัวที่เรียกว่า การสะแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่ตับ และเข้าสู่กระดูก ตามลำดับ ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมกรณีเหล่านี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค, อาการผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

    โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากมีกี่ระยะ?

    มะเร็งคอหอยส่วนปากมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ (ทั่วไปนิยมแบ่งระยะโรคตามคำแนะนำขององค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา/ American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) โดยแต่ละระยะ ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น A, B, C ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเป็นแนวทางในวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะ คือ

    • ระยะที่ 1: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร(ซม.)
    • ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร
    • ระยะที่ 3: ได้แก่
      • ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 ซม. และ/หรือลุกลาม/รุกรานเข้าฝาปิดกล่องเสียง
      • และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อมที่ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.และอยู่ข้างเดียวกับรอยโรค
    • ระยะที่ 4: แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
      • ระยะ4A: ได้แก่
        • ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า4ซม.
        • และ/หรือ ลุกลามเข้ากล่องเสียง และ/หรือ ลิ้น เพดานแข็ง เหงือก กระดูก
        • และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอคอ 1 ต่อมด้านเดียวกับรอยโรคแต่มีขนาดโตกว่า 3 แต่ไม่เกิน6ซม.
        • และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอหลายต่อม, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเฉพาะด้านตรงข้าม, แต่ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อมต้องโตไม่เกิน6ซม.
    • ระยะ4B: ได้แก่
      • ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้า โพรงหลังจมูก กระดูกฐานสมอง และ/หรือกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหาร และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
      • และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C: ได้แก่
      • โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่นที่ รักแร้ หรือ ช่องอก หรือ ขาหนีบ
      • และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต)ไปทำลายอวัยวะอื่นๆได้ทั่วตัว ที่พบได้บ่อยคือ ปอด กระดูก ตับ

    อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS เป็นระยะที่แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดให้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non invasive)ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว/ เยื่อเมือก เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ถ้าผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ90%ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เป็นโรคระยะที่พบน้อยมาก

    โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากรักษาอย่างไร?

    คอหอยส่วนปาก เป็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ลึก และติดต่อกับลิ้นทางด้านหน้า ส่วนด้าน หลังจะติดต่อลงไปเป็นกล่องเสียง ดังนั้น การรักษาด้วยการผ่าตัด จึงมักยุ่งยากซับซ้อน และส่งผลถึงการทำงานของลิ้นและของกล่องเสียงได้ ประกอบกับการรักษาด้วย รังสีรักษา ร่วมกับ ยาเคมีบำบัด ให้ผลการรักษาได้ไม่แตกต่างจากการผ่าตัด ดังนั้นในบ้านเรา จึงไม่ค่อยนิยมรักษาโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากด้วยการผ่าตัด ยกเว้นเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก

    ดังนั้น ทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก ส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก และโรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง การรักษาอาจเป็นเพียงรังสีรักษาวิธีการเดียว หรือการผ่าตัด

    ทั้งนี้ การจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดจะขึ้นกับ ตำแหน่งที่เกิดโรค, ระยะโรค, ชนิดเซลล์มะเร็ง, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

    ส่วนการรักษาด้วย ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ใน การศึกษา และตัวยายังมีราคาแพงมากๆ นอกจากนั้น ยากลุ่มนี้มักได้ผลไม่ดีในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ และยังไม่ครอบคลุมในสิทธิ์การรักษาทุกระบบของไทย

    อนึ่ง ในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายอ่อนแอ หรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากวิธีรักษาต่างๆได้ แพทย์จึงอาจแนะนำเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด, การใส่ท่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้องกรณีกินได้น้อย, หรือใส่ท่อช่วยหายใจกรณีก้อนเนื้ออุดกั้นช่องคอ เป็นต้น

    มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากอย่างไร?

    ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

    ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ

    ข. รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริ เวณศีรษะและลำคอ)

    ค. ยาเคมีบำบัด: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจาก ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/ หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

    ง. ยารักษาตรงเป้า: เช่น เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย, แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล, และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

    อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก ขึ้นกับวิธีรักษา โดยโอกาสเกิดผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

    • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
    • เมื่อมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
    • ในผู้ที่สูบบุหรี่
    • ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
    • ในผู้สูงอายุ

    โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากรุนแรงไหม?

    โรคมะเร็งคอหอยส่วนปากมีการพยากรณ์โรค /มีความรุนแรงโรคปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, อายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

    อัตรารอดที่ห้าปี ของโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก พอจะประมาณได้ดังนี้ คือ

    • ในโรคระยะที่ 1: ประมาณ 60-70%,
    • ระยะที่ 2: ประมาณ 50-65%,
    • ระยะที่ 3: ประมาณ 30-50%,
    • ระยะที่ 4: ประมาณ 0-30%

    มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

    ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการ ฯ’ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่ในระยะต้นๆ ที่ให้ผลการรักษาได้ดีกว่า

    ป้องกันโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากอย่างไร?

    ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้ โดยเฉพาะการเลิกบุหรี่และเลิกสุราเมื่อบริโภคอยู่ หรือการไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด

    นอกจากนั้น คือ

    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน เพิ่มผักและผลไม้ให้มากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สามารถป้องกันได้
    • รวมทั้งการใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ก็จะช่วยลดโอกาส การติดเชื้อเอชพีวีของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั้งใน ช่องปาก คอหอยส่วนปาก และลำคอลงได้

    ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

    การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

    • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
    • กินยา ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
    • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

    อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง

    • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
    • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

    ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

    ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

    • อาการต่างๆมากขึ้น เช่น เจ็บก้อน/แผลมะเร็งมากขึ้นจนยาแก้ปวดที่แพทย์ให้ไว้ใช้ไม่ได้ผล
    • มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
    • สายให้อาหาร หลุด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมาก
    • กังวลในอาการ

    บรรณานุกรม

    1. AJCC cancer staging manual, 8th.ed
    2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
    3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
    4. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
    5. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
    6. http://en.wikipedia.org/wiki/Head_and_neck_cancer#Epidemiology [2019,May4]
    7. http://en.wikipedia.org/wiki/Oropharyngeal_cancer [2019,May4]
    8. https://www.cancer.net/cancer-types/oral-and-oropharyngeal-cancer/statistics [2019,May4]
    9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3292826/ [2019,May4]