มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายรักษาอย่างไร?
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายรุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile cancer หรือ Penile carcinoma) คือ มะเร็งที่เกิดกับ ผิวหนังที่ห่อหุ้มตัวอวัยวะเพศชาย (องคชาต) และ/หรือ เกิดที่เนื้อเยื่อเมือกของอวัยวะเพศชายในส่วนหัว (Glans)/ส่วนที่ผิวหนังห่อหุ้มอยู่และเมื่อดึงเปิดขึ้นจึงเห็นเนื้อเยื่อส่วนนี้ (กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย) ซึ่งเกือบทั้งหมดของมะเร็งอวัยวะเพศชายจะเกิดในเนื้อเยื่อเมือกส่วนนี้
มะเร็งอวัยวะเพศชาย เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบน้อยมากในอายุต่ำกว่า 30 ปี, มักพบในอายุ 40 ปีขึ้นไป, เป็นโรคพบน้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร)โดยมีรายงานในแต่ละปีพบประมาณ 0.3-1 รายต่อประชากร 1 แสนคน คิดเป็นประมาณ 0.4-0.6% ของมะเร็งเพศชายทั้งหมด, แต่ในประเทศกำลังพัฒนา พบมะเร็งนี้บ่อยขึ้น เช่นในอเมริกาใต้ อัฟริกาและเอเชีย มีรายงานมะเร็งนี้คิดเป็นประมาณ 10% ของมะเร็งเพศชายทั้งหมด
ส่วนในประเทศไทย รายงานในปีค.ศ. 2021 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุข พบ 1.1 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีกี่ชนิด?
เซลล์ของเนื้อเยื่ออวัยวะเพศชาย เป็นเซลล์อยู่ในกลุ่มเดียวกับเซลล์ผิวหนัง ดังนั้นโรคมะเร็งของอวัยวะเพศชายจึงเป็นชนิดเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง และที่พบเกิดมะเร็ง เกือบทั้งหมดจะเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อบุผิวและของเนื้อเยื่อเมือกซึ่งเป็นชนิด ‘มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)’ ชนิดย่อย ‘สะความัส (Squamous cell carcinoma)’ ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งของอวัยวะเพศชาย จึงหมายถึง มะเร็งชนิดนี้ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย
อนึ่ง: โรคมะเร็งชนิดอื่นที่พบได้น้อยมากที่เกิดกับอวัยวะเพศชาย เช่น มะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ(เช่น มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา/มะเร็งไฝ, และชนิด Basal cell carcinoma), มะเร็งชนิด Adenocarcinoma, และชนิดที่พบได้น้อยที่สุด คือชนิดมะเร็งซาร์โคมา
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน เช่น
- ไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (Circumcision): ซึ่งยังขึ้นกับอายุที่ขริบด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า เมื่อขริบตั้งแต่แรกเกิด มักไม่พบการเกิดมะเร็งนี้เลย, เมื่อขริบช่วงอายุ 3-12 ปี พบเป็นมะเร็งนี้ได้ 15%, แต่เมื่อขริบในอายุที่สูงกว่านี้ หรือไม่ได้ขริบ พบเกิดมะเร็งนี้ได้ 3.1%, ทั้งนี้ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไม, แต่มีผู้พยายามอธิบายว่า อาจเกี่ยวกับสารขี้เปียก (Smegma) ซึ่งสร้างจากผิวหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศซึ่งมีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นต่อส่วนหัวของอวัยวะเพศ อาจเกิดการสะสมก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ และ/หรือก่อการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศส่วนหัวนี้อย่างเรื้อรัง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง (เมื่อทำความสะอาดได้ไม่ดีพอจนเกิดการสะสมของสารนี้ใต้ผิวหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ), ดังนั้นเมื่อได้รับการขริบออกตั้งแต่แรก จึงลดการเกิดสารขี้เปียกลง, ลดการหมักหมมของเชื้อโรคจึงลดการอักเสบเรื้อรังของเซลล์ส่วนนี้
- มีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตีบ (Phimosis): ซึ่งสาเหตุที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งนี้ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่า เมื่อมีการตีบเกิดขึ้น การทำความสะอาดบริเวณส่วนหัวของอวัยวะเพศทำได้ยากจึงเกิดการสะสมของแบคทีเรียและสาร ขี้เปียก ดังกล่าวแล้ว
- การติดเชื้อไวรัส 'เอชพีวี' ของอวัยวะเพศ (HPV, Human papilloma virus, ไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดมะเร็งปากมดลูก)
- การติดเชื้อไวรัส 'เอชไอวี (HIV)' หรือโรคเอดส์
- การสูบบุหรี่: จากการที่เซลล์ต่างๆ ได้รับสารพิษเรื้อรังจากควันบุหรี่
- จากอวัยวะเพศได้รับแสง และ/หรือ ยาบางชนิด เช่น ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน
- อายุ: โดยพบว่า 4 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งนี้ มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย คือการมีก้อนเนื้อ หรือ แผลเรื้อรังในบริเวณอวัยวะเพศ (แผลไม่หายภายใน 2 สัปดาห์หลังการรักษาแผลด้วยวิธีดูแลแผลทั่วไป) อาจร่วมกับมีอาการเจ็บแผลหรือไม่ก็ได้ แผลอาจมีลักษณะอักเสบ หรือคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ อาจเกิดหนองและ/หรือมีสารคัดหลั่ง, มีกลิ่น, มักมีเลือดออกได้ง่าย, อวัยวะเพศส่วนนั้นจะบวม แต่การแข็งตัวของอวัยวะเพศอาจยังคงเป็นปกติ
เมื่อโรคลุกลาม จะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต อาจเจ็บ, อาจคลำได้ ต่อมเดียว หรือ หลายต่อม, อาจคลำได้เพียงที่ขาหนีบข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ซ้ายและขวา, ซึ่งเมื่อต่อมน้ำ เหลืองโตอาจแตกเป็นแผลเปื่อยเน่า, และมักก่อให้เกิดถุงอัณฑะและขาทั้งสองข้างบวมโต
อนึ่ง: ในบางครั้ง อาจมีอาการนำมาก่อนเกิดแผลหรือก่อนเกิดก้อนเนื้อบริเวณหัวของอวัยวะเพศ คือ การเกิดฝ้าแดง (Erythroplakia, สีผิวที่เกิดเป็นสีแดงเป็นปื้น เป็นหย่อมๆ คล้ายกับฝ้าบนผิวหน้า แต่เป็นสีแดง ไม่เจ็บ ไม่คัน), หรือบางครั้ง (พบได้น้อยกว่า) อาจเป็นฝ้าขาว (Leucoplakia, ฝ้าลักษณะเดียวกับฝ้าแดง แต่มีสีขาว) ซึ่งเมื่อพบฝ้าเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เนื่องจากฝ้าเหล่านี้จะกลายเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะฝ้าแดง
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายได้อย่างไร?
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายได้จาก
- ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจอวัยวะเพศ และ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ
- แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
และภายหลังผลชิ้นเนื้อระบุเป็นมะเร็ง การตรวจเพิ่มเติม คือ การตรวจเพื่อประเมินระยะโรค และเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น
- ตรวจภาพอวัยวะเพศ, ช่องท้อง, หรือ ช่องท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน) ด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน เพื่อดูการลุกลามของมะเร็งที่อวัยวะเพศ, ดูการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ, ในช่องท้อง, และในช่องท้องน้อย, และดูโรคลุกลามเข้าตับ
- ตรวจเลือดซีบีซี (CBC), ค่าน้ำตาล, การทำงานของตับและไต,
- การตรวจปัสสาวะดู การทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ
- เอกซเรย์ภาพปอด ดูโรคปอด, โรคหัวใจ,และดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด, กระดูก
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ แต่ที่แตกต่าง คือ มีการจัดระยะโรคโดยนำการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งมาประกอบด้วย และบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีก(เช่น เป็น A,B) เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยในการพิจารณาวิธีรักษาและเพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่ง 4 ระยะหลักของโรค (AJCC ed. 8th) ได้แก่
- ระยะ 1: โรคมะเร็งลุกลามอยู่ในชั้นตื้นๆของเนื้อเยื่ออวัยวะเพศ และเซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวต่ำ, ยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 2: โรคมะเร็งลุกลามมากขึ้น ลุกลามเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆของอวัยวะเพศ และ/หรือเข้าท่อปัสสาวะส่วนที่อยู่ในอวัยวะเพศ (กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย), ยังไม่มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ 3: โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ อาจต่อมเดียว หลายต่อม และ/หรือทั้งสองข้างของขาหนีบ โดยต่อมฯขนาดไม่เกิน2ซม. และต่อมฯยังจับเคลื่อนที่ได้
- ระยะ 4: โรคมะเร็งลุกลามมาก
- ลุกลามเข้าอวัยวะนอกอวัยวะเพศที่ติดกับอวัยวะเพศ เช่น ต่อมลูกหมาก, ถุงอัณฑะ, กระดูกหัวหน่าว และ/หรือ
- ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบจนต่อมน้ำเหลืองยึดติดกับผิวหนัง และ/หรือยึดติดกับเนื้อเยื่อใต้ต่อมน้ำเหลือง
- และ/หรือแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน)
- และ/หรือแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
- และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไปจากอวัยวะเพศฯ ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ปอด รองลงมาคือ กระดูก
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย เช่น
- ในโรคระยะที่ 1: อาจเป็นการผ่าตัดอวัยวะเพศบางส่วนหรือทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรคและขนาดของก้อนมะเร็ง หรือใช้ รังสีรักษา
- บางกรณี อาจใช้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด
- บางกรณี อาจใช้ร่วมกันทั้ง ผ่าตัด+รังสีรักษา+ยาเคมีบำบัด
- ส่วนโรคในระยะอื่นๆ:
- กรณีแพทย์วางแผนรักษาเพื่อหายขาด, การรักษามักใช้ 3 วิธีการร่วมกัน คือ รังสีรักษา+ยาเคมีบำบัด, และ+ ผ่าตัด เมื่อแพทย์สามารถผ่าตัดรักษารอยโรคได้
- ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในการศึกษา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง)
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชายรุนแรงไหม?
โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย เป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง สามารถรักษาหายได้ ทั้งนี้ขึ้นกับระยะโรค, อายุ, และสุขภาพของผู้ป่วย
โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีภายหลังการรักษา:
- โรคระยะ 1 ประมาณ 80 -85%
- โรคระยะ 2 ประมาณ 70-80%
- โรคระยะ 3 ประมาณ 20-50%
- โรคระยะ 4 เมื่อโรคยังไม่แพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ประมาณ 0-20%
- โรคระยะ 4 เมื่อมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ/กระแสเลือดแล้ว ประมาณ 0-10%
อนึ่ง:
- ความสำคัญของโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายอยู่ที่คุณภาพชีวิต เพราะเมื่อพบความผิด ปกติ ผู้ป่วยมักอายที่จะพบแพทย์ กลัวการถูกตำหนิว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และกลัวการรักษาที่เป็นการผ่าตัดอวัยวะเพศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า หรือมักปฏิเสธการรักษา รอจนกระทั่งโรคลุกลามรุนแรงมากแล้ว ก่ออาการเจ็บปวด เลือดออกไม่หยุด หรือ ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบบวมโตจนก่อการบวมของถุงอัณฑะ และ/หรือของขาทั้งสองข้าง จึงยอมรักษาซึ่งมักสายไปแล้ว
- ในผู้ป่วยส่วนน้อยที่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มพบก้อนเนื้อ เซลล์มะเร็งอาจยังไม่รุกราน จะพบอยู่ในชั้นเยื่อบุผิวเท่านั้น เรียกว่า ‘มะเร็งระยะศูนย์(stage 0)’ หรือ Carcinoma in situ (CIS) ซึ่งการรักษาเพียงผ่าตัดรอยโรคออกวิธีเดียว โดยอัตรารอดที่ห้าปีมักสูงมากกว่า 90%, อย่างไรก็ตาม ดังเหตุผลดังกล่าว โรคระยะนี้พบน้อยมากๆ
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การสังเกตตนเอง เมื่อเกิดก้อนเนื้อ/แผล, ฝ้าแดง, หรือ ฝ้าขาว, หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติจากอวัยวะเพศ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย รวมทั้งยังไม่มีการแนะนำที่ชัดเจนเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/วัคซีนเอชพีวี), แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายจะเช่นเดียวกับในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ ทุกชนิด สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
- AJCC Cancer Staging Manual, 8th Ed.
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- Rojanamatin.J.et al.(2021). Cancer in Thailand Vol X, 2016-2018,Thailand
- https://en.wikipedia.org/wiki/Penile_cancer [2023,March25]
- https://www.cancer.org/cancer/penile-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2023,March25]
- https://emedicine.medscape.com/article/446554-overview#showall [2023,March25]