มะเร็งต่อมทอนซิล มะเร็งทอนซิล (Tonsil cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งต่อมทอนซิล หรือมะเร็งทอนซิล(Tonsil cancer)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมทอนซิลเกิดการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ รวมถึงร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จึงส่งผลให้เกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกรานในต่อมทอนซิล จนต่อมทอนซิลสูญเสียการทำงาน และยังลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงต่อมทอนซิล เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ต่อมทอนซิล คือต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง ซ้ายและขวา จนก่ออาการผิดปกติต่างๆ ที่พบบ่อย คือ ต่อมทอนซิลโตและอาจเป็นแผลเรื้อรัง อาจเกิดข้างเดียวหรือสองข้าง ซ้าย ขวา และ เจ็บคอ เจ็บเวลากลืน มี่กลิ่นปาก และมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คลำได้ อาจข้างเดียว หรือทั้งสองข้างซ้ายขวา และในที่สุดจะแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตสู่อวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อย คือแพร่กระจายสู่ปอด

โรคมะเร็งต่อมทอนซิล หรือโรคมะเร็งทอนซิล เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป (แต่สามารถพบในอายุต่ำกว่านี้ได้บ้างประ ปราย) โดยผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงประมาณ 3 - 4 เท่า

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลพบได้ไม่บ่อยนักเพียงประมาณ 0.5% ของโรคมะเร็งที่พบได้ทั้ง หมด มักเกิดกับต่อมทอนซิลเพียงข้างเดียว โอกาสที่เกิดทั้ง 2 ข้างพร้อมๆกันพบได้น้อย ทั้งนี้โอกาสเกิดข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วข้างใดข้างหนึ่ง โรคมักลุกลามไปยังทอนซิลอีกข้างได้สูง ดังนั้นการรักษาจึงมักรักษาทอนซิลทั้งสองข้างไปพร้อมๆกัน

ในประเทศอังกฤษพบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมทอนซิลค่อยๆสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง พ.ศ. 2530 - 2544 กล่าวคือจาก 0.6 รายเป็น 1.45 ราย (ทั้ง 2 เพศ) ต่อประชากรทั้ง 2 เพศ 100,000 คนต่อปี ส่วนในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2553-2555 พบโรคนี้ได้ในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนและในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลมีกี่ชนิด?

มะเร็งต่อมทอนซิล

โรคมะเร็งของต่อมทอนซิลมีหลากหลายชนิดทั้งในกลุ่มของคาร์ซิโนมา และกลุ่มซาร์โค มา แต่เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งในกลุ่มคาร์ซิโนมา(Tonsillar carcinoma) โดย

  • ชนิดพบบ่อยที่สุดคือชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma ย่อว่าSCC) ซึ่งพบได้ประมาณ 80% ของมะเร็งต่อมทอนซิลทั้งหมด
  • รองลงไปพบได้ประมาณ 5 - 10% คือ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอ็นเอชแอล)ทั้งนี้เพราะต่อมทอนซิลจัดเป็นเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองกลุ่มหนึ่งในส่วนของลำคอ แต่อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมทอนซิลจะจัดอยู่ในมะเร็งระบบโรคเลือด (โลหิตวิทยา) ซึ่งธรรมชาติของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมทอนซิล เช่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษา การพยากรณ์โรค จะเช่นเดียวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมนำเหลืองทุกจุดของร่างกาย แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งต่อมน้ำเหลือง’

ดังนั้นโดยทั่วไป รวมทั้งในบทความนี้ เมื่อกล่าวถึง ’โรคมะเร็งต่อมทอนซิล’ จึงหมายถึงโรค’มะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมา/Carcinoma ’ เท่านั้นซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดกับเยื่อเมือกที่บุปกคลุมต่อมทอนซิล

อนึ่ง โดยทั่วไป จากธรรมชาติของโรคและชนิดมะเร็งที่คล้ายกัน ทางการแพทย์มะเร็งจึงจัดมะเร็งต่อมทอนซิลรวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ และนอกจากนั้นยังจัดรวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งคอหอยส่วนปากอีกด้วย

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรคมะเร็งต่อมทอนซิลที่แน่นอน แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่

  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เมื่อทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุราปัจจัยเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นมาก
  • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV, Human papillomavirus, ไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ) ของช่องปากจากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex)
  • อาจจากขาดสารอาหารต่างๆ จากขาดการกินผักและผลไม้
  • อาจจากสัมผัสสารก่อมะเร็งบางชนิดเช่น การกินหมาก

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งต่อมทอนซิลคือ

  • เจ็บคอบริเวณต่อมทอนซิลเรื้อรังและ/หรือมีแผลเรื้อรังในต่อมทอนซิล
  • ต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว อาจมีอาการเจ็บหรือไม่ก็ได้ อาจโต2ข้างได้แต่พบน้อย
  • อาจมีเลือดปนในน้ำลายและ/หรือในเสลด/ในเสมหะต่อเนื่องจากมีเลือดออกจากแผลมะเร็ง
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • เมื่อต่อมทอนซิลโตมากขึ้น อาจเจ็บเวลากลืนหรือเจ็บร้าวไปยังหู (อวัยวะทั้งสอง มีประสาทที่สัมพันธ์กัน) กลืนติด/กลืนลำบาก พูดเสียงคับปาก หายใจลำบาก
  • เมื่อโรคลุกลามมาก มักคลำได้ต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านหน้าตอนบนโต อาจโตด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมทอนซิลได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมทอนซิลได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจในลำคอ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะบริเวณลำคอ แต่ที่ให้ผลแน่นอนที่สุดคือ การตัดชิ้นเนื้อจากแผลหรือจากก้อนเนื้อ หรือบางครั้งแพทย์ใช้การตัดต่อมทอนซิลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นคือการตรวจเพื่อประเมินระยะโรคและสุขภาพผู้ป่วยเช่น ตรวจภาพศีรษะและลำคอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูการลุกลามของโรคเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงและเข้าต่อมน้ำเหลือง เอกซเรย์ภาพปอดเพื่อดูโรคปอด ดูโรคหัวใจ และดูโรคมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอด ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและไต และการตรวจปัสสาวะ

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และบางระยะอาจแบ่งย่อยเป็น A, B และ C ได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยบ่งชี้วิธีรักษาและในการศึกษาวิจัย

ทั้ง4 ระยะของมะเร็งทอนซิล ได้แก่

ก. กรณีผู้ป่วย ‘ ไม่มีการติดเชื้อเอชพีวีชนิด16ในช่องปาก’ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี):

  • ระยะที่1: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า หรือเท่ากับ 2 ซม. และโรคจำกัดอยู่เฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น
  • ระยะที่2: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 4 ซม. และโรคจำกัดอยู่เฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น
  • ระยะที่3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4 ซม และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเกิดโรคที่ลิ้น 1 ต่อม โดยต่อมฯมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
  • ระยะที่4: แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ 4A: ก้อนมะเร็งลุกลามมากเข้ากระดูกกราม และ/หรือกระดูกใบหน้า และ/หรือเข้าโพรงอากาศใบหน้า และ/หรือ เนื้อเยื่อลิ้นส่วนอยู่ลึกมาก และ/หรือผิวหนังที่ใบหน้า
    • ระยะ4B: คือ มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอโดยต่อมฯโตมากกว่า 6ซม. แต่ยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมน้ำเหลือง และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่มะเร็งลุกลามออกนอกต่อม ,และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองทั้ง2ข้างของลำคอ, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง1ต่อมแต่เป็นต่อมที่อยู่ด้านตรงข้ามก้อนมะเร็งที่ขนาดเล็กกว่า3ซม.แต่โรคลุกลามออกนอกต่อมน้ำเหลือง, และ/หรือโรคลุกลามถึงกระดูกฐานสมอง และ/หรือถึงหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ
    • ระยะ4C: คือ มะเร็งแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด กระดูก ตับ, และ/หรือแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกเหนือจากลำคอ เช่น ที่รักแร้ ที่ขาหนีบ เป็นต้น

ข. กรณีผู้ป่วย ‘มีการติดเชื้อเอชพีวี16ในช่องปาก’:

  • ระยะที่1: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน4ซม. และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะลำคอด้านเดียวกับรอยโรคและต่อมฯขนาดไม่เกิน 6 ซม.
  • ระยะที่2: ก้อนมะเร็งโต ไม่เกิน 4ซม. และ/หรือ มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านตรงข้าม1ต่อม, และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ด้าน ทั้งนี้ต่อมน้ำเหลืองทั้ง2กรณีขนาดต้องไม่เกิน6ซม., และ/หรือก้อนมะเร็งโตเกิน4ซม. และ/หรือลุกลามเข้า โคนลิ้น ฝากล่องเสียง กล่องเสียง ลิ้น เพดาน และ/หรือเหงือก โดยไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่3: ก้อนมะเร็งโตเกิน4ซม. และโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้านตรงข้ามรอยโรค หรือทั้ง2ข้างลำคอ แต่ต่อมน้ำเหลืองต้องโตไม่เกิน 6ซม.
  • ระยะที่4: โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตแล้ว โดยมักแพร่ไป ปอด และ/หรือ กระดูก

*อนึ่ง ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในผนังเยื่อเมือกเรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage 0)’ หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งทอนซิล ระยะนี้ พบได้น้อยมาก

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคมะเร็งต่อมทอนซิลขึ้นกับระยะโรค

  • ในโรคระยะที่ 1 อาจผ่าตัดหรือฉายรังสีรักษา วิธีใดวิธีหนึ่ง
  • ในโรคระยะที่ 2 อาจเป็นการผ่าตัดร่วมกับฉายรังสีรักษา หรือฉายรังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว
  • ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ชนิดที่โรคยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ(ระยะ4A,4B) มักเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างฉายรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด
  • ส่วนโรคระยะที่ 4 ชนิดมีการแพร่กระจายของโรคแล้ว(ระยะ4C) การรักษาอาจเป็นยาเคมีบำบัดวิธีการเดียว หรือ การรักษาประคับประคองตามอาการ อาจโดยรังสีรักษาเฉพาะจุด เช่น มะเร็งกระจายเข้ากระดูก หรือการรักษาทางอายุรกรรม เช่น การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำ หรือ การผ่าตัดเล็กเพื่อช่วยการหายใจ เช่น การเจาะคอกรณีก้อนมะเร็งโตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ และ/หรือ การเจาะท้องใส่ท่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้องกรณีก้อนมะเร็งอุดตันช่องคอ/กลืนอาหารไม่ได้/กลืนลำบาก

อนึ่ง:

  • วิธีรักษานอกจากขึ้นกับระยะโรคแล้ว ยังขึ้นกับอายุและสุขภาพผู้ป่วยด้วย ดังนั้นวิธีรักษาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ และเป็นการใช้ร่วมกับรังสีรักษาและ/ หรือยาเคมีบำบัด ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมทอนซิลอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมทอนซิลขึ้นกับวิธีรักษา

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การผ่าตัดต่อมทอนซิล)
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และผลข้าง เคียงต่อเนื้อเยื่อในช่องปากและลำคอ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้าคือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวม ทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง)

*อนึ่ง: ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งต่อมทอนซิล นอก จากจะขึ้นกับวิธีรักษาแล้ว ผลข้างเคียงต่างๆจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อมีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ในผู้สูบบุหรี่
  • เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งต่อมทอนซิลเป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง โอกาสรักษาได้หายขึ้นกับระยะโรค อายุ สุขภาพผู้ป่วย และการตอบสนองของโรคต่อรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด

โดยทั่วไปอัตรารอดที่ 5 ปีประมาณได้ดังนี้

  • โรคระยะที่ 1: ประมาณ 77 - 80%
  • โรคระยะที่ 2: ประมาณ 70 - 75%
  • โรคระยะที่ 3: ประมาณ 50 - 60%
  • โรคระยะที่ 4 ชนิดยังไม่มีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ: ประมาณ 30 - 40% และ
  • โรคระยะที่ 4 ชนิดมีโรคแพร่กระจายแล้ว: ประมาณ 0 - 10%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมทอนซิลไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมทอนซิลให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การดูแลสังเกตตนเอง เมื่อมีความผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งต่อมทอนซิลอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งต่อมทอนซิล แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีก เลี่ยงได้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมทอนซิลลงได้โดยเฉพาะการเลิกและไม่สูบบุหรี่ การเลิกและไม่ดื่มสุรา และการใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

อนึ่ง การไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มสุรา ยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่างๆได้อีกหลายชนิดเช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งตับ และโดยเฉพาะโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในระบบศีรษะและลำคอทุกชนิด เช่น โรคมะเร็งกล่องเสียง นอกจากนั้นยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคมะเร็งเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และยังประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดโรคต่างๆต่อครอบครัวอันเป็นผลสืบเนื่องจากควันบุหรี่ เช่น โรคหืดในเด็กๆ รวมทั้งปัญหาครอบครัวจากการดื่มสุราก็จะลดลงด้วย

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิลและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมทอนซิล จะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ จึงสามารถนำมาปรับใช้ด้วยกันได้ โดยที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา ใช้ยา ต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ยาหยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ อย่าหยุดการรักษาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ แนะนำนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ ป่วยเคมีบำบัด

อนึ่ง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ไอมากขึ้น กินอาหารทางปากไม่ได้
  • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมากโดยเฉพาะทุกมื้อของอาหาร วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกต่อเนื่อง
  • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins
  3. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. O. Olaleye. Et al. (2011). A 20 year retrospective study of tonsil cancer incidence and survival trend in south east England 1987-2006. Clin Otolaryngol. 36, 325-335.
  5. Pulte,D. and Brenner, H. The Oncologist 2010; 15:994–1001
  6. http://emedicine.medscape.com/article/848034-overview#showall [2018, Sept29]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Tonsil_carcinoma [2018, Sept29]