ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นเชื้อชนิดสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (Group A streptococcus) ที่มักเกิดในเด็ก, เป็นโรคติดต่อโดยตรงจากคนสู่คนจากสัมผัสเชื้อฯที่อยู่ใน น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงจากละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลายจากการไอ จาม, อาการหลัก คือ มีไข้ เจ็บคอ รวมกับขึ้นผื่นแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกายหลังมีไข้ 1-2 วัน อาจคันได้

ไข้อีดำอีแดง พบทั่วโลก แต่พบไม่บ่อย มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่เป็นคออักเสบจากเชื้อชนิดสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอประมาณ 10% ของประชากร และในกลุ่มนี้ประมาณ10%ที่เกิดเป็นโรคไข้อีดำอีแดง, โรคนี้พบทุกวัย แต่ส่วนใหญ่เกิดในเด็ก ช่วงอายุ 5-15 ปี, เพศชาย และเพศหญิงพบใกล้เคียงกัน

โรคไข้อีดำอีแดงมีสาเหตุจากอะไร?

 

ส่วนใหญ่ ไข้อีดำอีแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (Group A streptococcus) หรือ Streptococcus pyogenes,   ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส (Staphylococcus)ที่มักพบมีการติดเชื้อที่ผิวหนังนำมาก่อน, ส่วนเชื้อสเตรปโตคอคคัสมักมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย

มนุษย์เป็นที่พักพิงหรือรังโรค(Reservoir)ของ’สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ’ แบคทีเรียชนิดนี้มีการติดต่อได้สูง และสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ  แต่ในเด็กแรกเกิด จะพบโรคได้น้อย เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ได้จากแม่หลงเหลืออยู่ในร่างกายของเด็ก

เชื้อสเตรปโตคอกคัสกรุ๊ปเอ เป็นเชื้อที่ชอบทำให้อวัยวะในระบบทางเดินหายใจตอนบนและลำคอคอ อักเสบ (Upper respiratory tract infection และ pharyngitis) ซึ่งพบบ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน

การติดต่อของเชื้อเสตรปฯเกิดจากเด็กป่วยแพร่กระจายเชื้อนี้ทาง น้ำลาย น้ำมูก ที่ไอ จาม ออกไป  ดังนั้นจึงติดต่อไปยังผู้ที่อยู่ใกล้ๆในบ้าน ในโรงเรียน หรือในค่ายทหาร โดยระยะฟักตัวของเชื้อนี้ประมาณ 2-5 วัน

อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเสตรปฯนี้ สามารถทำให้เกิดการระบาดของการอักเสบในลำคอ และของต่อมทอนซิลได้ (โรคต่อมทอนซิลอักเสบ)

ในผู้ที่มีการติดเชื้อสเตร็ปฯนี้  การได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม รักษาเพียงวันเดียว ก็จะหยุดแพร่เชื้อฯนี้ได้

เชื้อสเตร็ปฯ นี้ นอกจากจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน และคออักเสบแล้ว  ยังอาจทำให้ผิวหนังอักเสบและอาจมีการติดเชื้อรุกรานอย่างรุนแรง (Severe invasive group A streptococcal infection)

เชื้อสเตรปนี้ฯ มีการสร้างสารชีวพิษ (Toxin) ได้แก่ อีริโธรเจนิก ทอกซิน (Erythrogenic toxin) หรืออีกชื่อ คือไพโรเจนิกเอกโซทอกซิน (Pyrogenic exotoxin ชนิด A, B และ C) ซึ่งเป็นตัว 'ทำให้เกิดผื่นในไข้อีดำอีแดง'

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้อีดำอีแดง?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้อีดำอีแดง ทั่วไป คือ

  • เด็กช่วงอายุ 5-15 ปี
  • ผู้คนที่มีถิ่นพำนักอย่างแออัด
  • ผู้ที่คลุกคลี ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดงมีอาการอย่างไร?

ไข้อีดำอีแดง เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจตอนบน ร่วมกับการออกผื่นของผิวหนังโดยเกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ ที่มักเกิดในในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อชนิดนี้

ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงน้อยกว่าในอดีต ซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การแพร่ของเชื้อที่สร้างพิษนี้น้อยลง และ/หรือภาวะภูมิคุ้มกันฯของประชากรดีขึ้น

ผื่นที่เกิดจากโรคนี้จะเกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีไข้ แต่อาจพบผื่นเป็นอาการแรกก็ได้  ผื่นชอบขึ้นบริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วตัวและแขนขา, ลักษณะของผื่นเป็นเม็ดหยาบๆคล้ายกับกระดาษทราย, ลักษณะของผื่นเป็นตุ่มเล็กๆมองคล้ายหนังห่าน (Goose-pimple appearance), ผื่นมัก 'ไม่ขึ้น' ที่ใบหน้า, แต่อาจพบลักษณะแก้มแดง และรอบปากซีด, และที่ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อศอก รักแร้ หรือขาหนีบตรงรอยข้อพับ จะดูมีสีเข้มมากขึ้นกว่าสีผิวในบริเวณอื่นๆ

ผื่นจะขึ้นอยู่ 3-4 วัน หลังจากนั้นจึงเริ่มลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น เริ่มลอกจากใบหน้า ลำคอ ลงมาเรื่อยๆ, ต่อจากนั้น จึงเห็น มือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า และเล็บ ลอก

เมื่อตรวจในลำคอ จะพบว่ามีคออักเสบร่วมด้วย, ที่ลิ้นและต่อมรับรสบนลิ้นจะเห็นชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณปลายลิ้นจะนูนแดง, เมื่อผิวลอกแล้ว มักเห็นว่าที่ลิ้นตรงปลายเป็นลักษณะคล้ายผิวของผลสตรอเบอร์รี่ (Strawberry tongue)

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดงได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยไข้อีดำอีแดงจาก

  • อาการของผู้ป่วย
  • และจากการตรวจร่างกาย

ในผู้ป่วยที่อาการของโรคไข้อีดำอีแดงดังได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ อาการฯ' มักจะวินิจฉัยไม่ยาก และหากมีประวัติการอักเสบของคอจากเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ ร่วมกับการออกผื่นด้วย จะวินิจฉัยได้ง่ายยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีวิธีวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอของผู้ป่วย (Throat swab culture) และในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย โดยอาจเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน/Antigen)ต่อเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจะใช้เวลาหลายวัน  ดังนั้นส่วนใหญ่ หากอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะให้การรักษาไปก่อนได้รับทราบผลวินิจฉัยจากทางห้องปฏิบัติการ

การวินิจฉัยแยกโรค: ในไข้อีดำอีแดงในกลุ่มที่มีอาการน้อย แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการไม่ได้ชัดเจนว่าเป็น โรคไข้อีดำอีแดง จึงต้องแยกจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดที่ทำให้มีอาการออกผื่นที่ผิวหนังร่วมด้วย เช่น โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคมือ เท้า ปาก นอกจากนี้ต้องแยกจาก โรคคาวาซากิ, และผื่นที่เกิดจากการแพ้ยา

รักษาโรคไข้อีดำอีแดงอย่างไร?

การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ เป็นโรคที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้รูมาติกเฉียบพลัน, และเพื่อทำให้อาการของผู้ป่วยหายเร็วขึ้น, อีกทั้งป้องกันการติดเชื้อระบาดไปสู่ผู้อื่น

ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้อีดำอีแดงชัดเจน ควรให้ยาปฏิชีวนะทันที, สำหรับผู้ที่อาการไม่ชัดเจน อาจรอผลเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอ หรือผลการตรวจแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานสำหรับเชื้อสเตรปฯนี้ก่อน (การตรวจแอนติเจน ไม่มีในห้องปฏิบัติการทั่วไป),  ส่วนการหาสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) นั้นจะต้องใช้เวลานาน เพราะแอนติบอดีจะขึ้นในเลือดจนมีปริมาณเพียงพอให้ตรวจพบได้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อ และต้องตรวจ 2 ครั้งห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อให้แน่ใจว่า แอนติบอดีครั้งที่2 ขึ้นจากการติดเชื้อครั้งใหม่ เนื่องจากการติดเชื้อครั้งก่อนๆ อาจทำให้มีแอนติบอดีขึ้นได้ระดับหนึ่ง และยังคงระดับสูงกว่าปกติอยู่นาน

ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคไข้อีดำอีแดงได้ผลดี เช่น ยาเพนนิซิลิน วี (Penicillin V) ให้รับประทานเป็นเวลา 10 วัน แม้ว่าอาการอาจจะหายไปใน 3-4 วันแล้วก็ตาม, ต้องเน้นรับประทานยาให้ครบ

หากมีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลิน สามารถให้ยาอีริโธรมัยซิน (Erythromycin) แทนได้แต่ต้องให้หลังอาหารทันที เพราะ ยาอีริโธรมัยซิน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ และ/หรือปวดท้อง

โรคไข้อีดำอีแดงมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง คือ มีการอักเสบของ ต่อมน้ำเหลือง, ต่อมทอนซิล (ต่อมทอนซิลอักเสบ), หูชั้นกลาง, และของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดในระยะยาวประมาณ 1-3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อสเตรปฯ คือ โรคไข้รูมาติก ซึ่งจะทำให้มีโรคลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ/ลิ้นหัวใจติดเชื้อ, นอกจาก  นั้น คือ ภาวะแทรกซ้อนที่ไต คือ ไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute post-streptococcal glomerulonephritis)  ทั้งนี้ การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องดังกล่าว จะป้องกันการการเกิดโรคไข้รูมาติกได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันแน่ชัดว่า สามารถป้องกันการอักเสบที่ไตได้

ป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงอย่างไร?

การป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงทั่วไป คือ

  • เมื่อมีผู้ติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ต้องรีบรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติก หรือมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย(Rheumatic heart disease) ต้องให้การป้องกันระยะยาวเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ สเตรปฯซ้ำอีก โดยให้ยาฉีดเพนนิซิลลิน ฉีดเดือนละครั้ง
  • ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อสเตรปฯนี้ แต่กำลังมีการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนอยู่

เมื่อไรจะไปพบแพทย์

ทั่วไป ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ

  • มีอาการไข้ เจ็บคอ โดยเฉพาะเมื่อมีผิวหนังขึ้นผื่นร่วมด้วย
  • เมื่อได้รับการรักษาแล้ว กลับเกิดอาการข้างเคียงแทรกซ้อนตามมา เช่น  ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอโตขึ้น เจ็บ และปวดหู หรือ กลับมามีไข้อีก ไอ หายใจเร็ว (ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคปอดบวม)
  • เมื่อมีอาการ เหนื่อยง่าย ปวดข้อ มีตุ่ม หรือก้อน ขึ้นใต้ผิวหนัง หรือมีลักษณะคล้ายลมพิษขึ้น (อาจเป็นอาการของโรคไข้รูมาติก)
  • มีอาการบวม ปัสสาวะมีสีแดง/สีเลือด (มีเลือดปน) ซึ่งเป็นอาการของไตอักเสบ

เมื่อเด็กมีไข้ควรดูแลเด็กอย่างไร? และดูแลอยู่นานกี่วันจึงควรพบแพทย์?

เมื่อเริ่มมีไข้ ยังไม่มีผื่นขึ้น ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นโรคใด การมีไข้ขึ้นในเด็กเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส รองลงมา คือ จากเชื้อแบคทีเรีย  

หลักการดูแลทั่วไป คือ เมื่อเด็กเริ่มไข้ขึ้น

  • ให้เช็ดตัว เริ่มต้นใช้น้ำอุ่นก่อน หากใช้น้ำเย็นความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเด็กกับน้ำถ้าเกิน 4 องศาเซลเซียส จะทำให้เด็กหนาวสั่น
  • ก่อนเช็ดตัว หรือขณะเช็ดตัว ให้รับประทาน ยาลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol) ด้วย โดยขนาดยา คิดตามน้ำหนักตัว เช่น ถ้าเด็กหนัก 10 –12 กก. (กิโลกรัม) ให้ยาพาราเซตามอลขนาด 125 มิลลิกรัม 1 ช้อนชา

อนึ่ง: แม่เด็ก

  • สามารถดูแลลูกอยู่ที่บ้านได้ตราบเท่าที่เด็กดูสบาย คือ เด็กมีไข้ต่ำ, เด็กไม่ซึม, กินได้ดี, เล่นได้, ปัสสาวะออกได้ดี, ไม่ไอมาก, ไม่หอบเหนื่อย, หรือหายใจเร็ว
  • หากเด็กไข้สูง กินไม่ได้ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ต้องระวังเรื่องโรคไข้เลือดออกต้องรีบนำเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ซึ่งในระยะแรก แพทย์อาจยังตรวจไม่พบสาเหตุ แต่แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว และนัดติดตามอาการ
  • หากเด็กมีไข้ ไอ หายใจเร็ว อย่านิ่งนอนใจ เด็กอาจเป็นโรคปอดบวมได้ควรรีบพยแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • หากเด็กมี ไข้สูง ตาแดง ปากแดง มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และมีผื่น ต้องนึกถึงโรคคาวาซากิ ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล, เมื่อแพทย์วินิจฉัยเป็นโรคนี้ แพทย์จะให้ยา เพื่อป้องกันการอักเสบและโป่งพองของหลอดเลือดแดงหัวใจโดยเร็ว
  • เด็กที่มีไข้นานกว่า 7 วัน แล้วไข้ไม่ลง ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุอื่นๆของไข้ต่อไป เพราะโดยปกติการติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไป ไข้จะลงภายใน 7 วัน

หมายเหตุ:

  • แพทย์จะแยกโรคต่างๆดังกล่าวในหัวข้อต่างๆออกจากโรคไข้อีดำอีแดงที่จะมีการอักเสบในลำคอ,  มีผื่นที่ผิวหนัง, และมีลิ้นมีลักษณะเหมือนผิวสตรอเบอร์รี่,  ซึ่งโรคไข้อีดำแดง ต้องรีบให้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินกินจนครบดังได้กล่าวแล้ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

หลังรักษาหายแล้วต้องมีการดูแลเด็กเป็นพิเศษต่อเนื่องไหม? ต้องกลับไปพบแพทย์อีกไหม?

ในผู้ป่วยเด็กโรคไข้อีดำอีแดงที่รักษาได้ยาปฏิชีวนะครบ 10 วัน และอาการต่างๆของเด็กกลับเป็นปกติดีแล้ว ไม่ต้องมีการติดตามผลรักษา  ยกเว้นเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนตามมา กล่าวคือ เด็กยังมีอาการผิดปกติต่อเนื่อง, หรือกลับมามีอาการผิดปกติอีก, ซึ่งควรต้องรีบนำเด็กกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

บรรณานุกรม

  1. Gerber MA. Group A Streptococcus. Kliegman Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed.  .   
  2. Scarlet fever. Mandell: Mandell, Douglas, and Bennett’s Principles and Practice of Infectious Disease, 7th ed.     
  3. Exanthems: Principle of Disease. Marx: Rosen’s Emergency Medicine, 7th ed.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1053253-overview#showall [2023,March4]