โปรกัวนิล (Proguanil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- โปรกัวนิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โปรกัวนิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปรกัวนิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โปรกัวนิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โปรกัวนิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปรกัวนิลอย่างไร?
- โปรกัวนิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปรกัวนิลอย่างไร?
- โปรกัวนิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาลดกรด (Antacids)
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ (Thyphoid vaccine)
- เม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickel cell anemia)
บทนำ:คือยาอะไร?
โปรกัวนิล (Proguanil) คือ ยาใช้ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น ชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ “Paludrine” และวางจำหน่ายโดยบริษัทยา Astra Zeneca
ในอดีตโปรกัวนิลถูกนำไปใช้กับเด็กที่ป่วยเป็นโรคเลือดชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease)ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียชุกชุมเป็นเวลาหลายปี ปัจจุบันมักมีการใช้ยาโปรกัวนิลก่อนการเดินป่าเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อมาลาเรีย
ทางคลินิก อาจใช้โปรกัวนิลร่วมกับยาอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อมาลาเรีย โดยปกติการใช้ยานี้เพื่อป้องกันจะต้องรับประทานยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ เพื่อให้ปริมาณยาในร่างกายมีความเข้มข้นมากพอที่จะป้องกันเชื้อไข้มาลาเรีย บางกรณีที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ครบ 1 สัปดาห์ แนะนำให้รับประทานยาอย่างน้อย 1 - 2 วันก่อนเดินทาง เข้าพื้นที่ที่มีมาลาเรียและต้องรับประทานยาต่อเนื่องในขณะที่อยู่ในป่า เมื่อกลับออกมาจากพื้นที่มาลาเรียแล้วให้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 4 - 6 สัปดาห์ ทั้งนี้การใช้ยานี้ต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาโปรกัวนิลในร่างกายพบว่า ยานี้สามารถถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหารและสามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมของมารดาได้ ตัวยาในกระแสเลือดส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ตับ และได้สารที่มีชื่อว่า Cycloguanil ซึ่งไม่มีฤทธิ์ในการต้านทานมาลาเรีย ร่างกายจะกำจัดยาโปรกัวนิลปริมาณ 40 - 60% ออกมากับน้ำปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาโปรกัวนิลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน สำหรับประเทศไทยได้ระบุสูตรตำรับที่มียาโปรกัวนิลเป็นส่วนประกอบให้เป็นยาควบคุมพิเศษโดยต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ก่อนจะนำยาไปใช้
โปรกัวนิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโปรกัวนิลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่นที่เกิดจากเชื้อ Falciparum malaria
โปรกัวนิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรกัวนิล คือ ตัวยาจะเข้าไปจับกับเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรียหรือที่เรียกว่า DHFR enzyme (Dihydrofolate reductase enzyme) อีกทั้งยังยับยั้งกระบวนการเผาผลาญกรดโฟลิก (Folic acid) ในตัวเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้เสียสมดุลทางชีวภาพในการดำรงชีวิต และทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
โปรกัวนิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโปรกัวนิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Atovaquone 250 มิลลิกรัม + Proguanil HCl 100 มิลลิ กรัม
โปรกัวนิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโปรกัวนิลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 100 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
- เด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 1 ปี : รับประทาน 25 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 1 - 4 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 5 - 8 ปี: รับประทาน 75 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 9 - 12 ปี: รับประทานได้ถึง 100 มิลลิกรัม/วัน
*อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร
- สำหรับการใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)สามารถใช้วิธีบดยาให้เป็นผงแล้วผสมนม น้ำผึ้งหรือแยม เพื่อกลบรสของยาและทำให้รับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโปรกัวนิล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรกัวนิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนเกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปรกัวนิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โปรกัวนิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปรกัวนิลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกระคายเคืองในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ผื่นคัน
*อนึ่ง: หากได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการ ปวดท้อง, ปัสสาวะมีสีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะแล้วแสบร้อน, ปวดหลัง, อาเจียน, หากพบอาการดังกล่าวควรต้องรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ปรับแนวทางการใช้ยาที่เหมาะสม
มีข้อควรระวังการใช้โปรกัวนิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรกัวนิล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่นเป็นชนิดดื้อต่อยานี้ เช่น ชนิด Plasmodium
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับดื่มสุรา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้กับสตรีที่ตั้งครรภ์ควรต้องเป็นไปตามความเห็นหรือมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวันควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรกัวนิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โปรกัวนิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปรกัวนิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโปรกัวนิล ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของโปรกัวนิลด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรปรับการรับประทานยาให้มีระยะเวลาห่างกัน 2 - 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- การใช้ยาโปรกัวนิล ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่ยา Warfarin จะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายและอาจพบอาการอื่นร่วมด้วยเช่น อาเจียน มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาโปรกัวนิลขณะฉีดวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ด้วยจะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงไป เพื่อป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องเว้นระยะเวลาหลังฉีดวัคซีนป้องกันไทฟอยด์เข็มสุดท้ายเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วันเป็นอย่างต่ำ จึงสามารถรับประทานโปรกัวนิลได้
- การใช้ยาโปรกัวนิล ร่วมกับยา Quinaril (ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง)จะเกิดการรวมตัวกันในกระเพาะอาหารทำให้ประสิทธิภาพการรักษาและการดูดซึมของยาโปรกัวนิลด้อยลงไป หากจำ เป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาให้ห่างกัน 2 - 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ควรเก็บรักษาโปรกัวนิลอย่างไร?
ควรเก็บยาโปรกัวนิล: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โปรกัวนิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรกัวนิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Malanil (มาลานิล) | GlaxoSmithKline |
Malaron (มาลารอน) | GlaxoSmithKline |
Progunal (โปรกูนอล) | Lexica |
Paludrine (ปาลูดรีน) | Alliance Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Proguanil [2021,Nov6]
- https://patient.info/medicine/proguanil-for-malaria-prevention [2021,Nov6]
- https://www.drugs.com/cons/proguanil.html [2021,Nov6]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/proguanil?mtype=generic [2021,Nov6]
- https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Malarone/?type=brief [2021,Nov6]
- http://www.antimicrobe.org/drugpopup/Proguanil.pdf [2021,Nov6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/proguanil-index.html?filter=2 [2021,Nov6]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/10663/XPIL/Paludrine+Tablets/ [2021,Nov6]