ยาลดกรด (Antacids)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาลดกรดคือยาอะไร?

ยาลดกรด (Antacid) คือ ยาช่วยปรับความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารให้อยู่ในสมดุล โดยตัวยามีสภาวะเป็นด่าง ออกฤทธิ์ลดกรดโดยการสะเทิน (ทำให้เป็นกลาง) กับกรดในทางเดินอาหาร เมื่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลงจึงทำให้อาการปวดท้องหรือแสบท้องบรรเทาลงได้, เป็นยาที่มักใช้ร่วมกับยาระบบทางเดินอาหารในกลุ่มอื่นๆ เช่นกับยาRanitidine,  และยังเป็นยาที่ใช้กันมานาน ราคาถูก วางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปที่สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ที่เรียกว่า ยา Over-the-counter drug ย่อว่า OTC drug

ยาลดกรดมีกี่ชนิด?

ยาลดกรด-01

ยาลดกรดมีหลายชนิด ดังต่อไปนี้  เช่น

  1. อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide)
  2. แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า มิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia, MOM)
  3. โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) หรือโซดามิ้นท์ (Sodamint)
  4. บิสมัทซับซาลิซิเลต (Bismuth subsalicylate)
  5. แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate)

ยาลดกรดมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาลดกรดมีรูปแบบจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาเจล (Gel, Jelly)

ยาลดกรดมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาลดกรดมีข้อบ่งใช้ เช่น

  • บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากแผลที่ทางเดินอาหาร (Ulcer dyspepsia) เช่น แผลในกระเพาะอาหาร                                
  • บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลที่ทางเดินอาหาร (Functional or Non – ulcer dyspepsia)
  • บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากกรดไหลย้อน ชนิดไม่ก่อให้เกิดแผลที่หลอดอาหาร (Non–erosive gastro–esophageal reflux)
  • บรรเทาอาการปวดท้อง, อาการแสบร้อนกลางอก  และใช้เคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

อนึ่ง: ข้อบ่งใช้อื่นๆ เช่น

  • ยา Aluminium hydroxide: ใช้ลดฟอสเฟต(Phosphate)ในผู้ป่วยที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง
  • Magnesium hydroxide: ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หากต้องการใช้เป็นยาลดกรด จะต้องใช้เป็นยาสูตรผสมร่วมกับ Aluminium hydroxide หรืออาจใช้ลดกรดในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย
  • Sodium bicarbonate: ใช้รักษาภาวะกรดเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นกรด (Acidosis)

มีข้อห้ามใช้ยาลดกรดอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาลดกรด เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยา Aluminium hydroxide ในทารกแรกเกิด, ผู้มีภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำหรือในภาวะไตวาย
  • ห้ามใช้ยา Magnesium hydroxide ในผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้มีภาวะด่างเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นด่าง (Alkalosis), ภาวะโซเดียมในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดสูง   และภาวะปอดบวมน้ำอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยา Bismuth subsalicylate ในผู้เคยมีประวัติเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยา Calcium carbonate ในผู้เป็นโรคนิ่วในไต หรือเคยมีประวัติเป็นโรคนิ่วในไต, ผู้มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และฟอสเฟตในเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดกรด เช่น

  • ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง,  และระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้ที่ต้องจำกัดเกลือแกง (เกลือโซเดียม) ในอาหาร ภาวะหัวใจล้มเหลว  ไตวาย  ภาวะร่างกายบวมน้ำ
  • ระวังการใช้ยาลดกรดร่วมกับยาอื่นๆที่กรดมีผลต่อการดูดซึมยาเหล่านั้น เพราะอาจทำให้ตัวยาเหล่านั้นถูกดูดซึมได้น้อยลง เช่น ยาต้านเชื้อรา (เช่นยา  Itraconazole, Ketoconazole) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Norfloxacin, Ciprofloxacin) หากต้องการรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาดังกล่าว ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ยาลดกรดชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อให้ตัวยาที่ตกตะกอนอยู่ผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

การใช้ยาลดกรดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ยาลดกรด มีความปลอดภัยในทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น, ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว, ยกเว้นยา Bismuth subsalicylate ที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์7–9 เดือน) เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือเกิดความพิการที่ทำให้เสียชีวิตหลังคลอดได้

การใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น

  • ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้สูงอายุ: เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่กระดูกไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อกระดูกได้มากขึ้น เช่น กระดูกพรุน, โรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน (Osteomalacia)
  • ระวังการใช้ยา Aluminium hydroxide ในผู้สูงอายุที่ท้องผูกเป็นประจำ เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีอาการท้องผูกได้ง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากการทำงานของลำไส้ลดลงไปตามวัยและรับประทานอาหารได้น้อยลงกว่าวัยอื่นๆ
  • ระวังการใช้ Magnesium hydroxide ในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้เกิดพิษจาก Magnesium คือเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางได้

การใช้ยาลดกรดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาลดกรดในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ควรเป็น ดังนี้  คือ ไม่ควรใช้ยาลดกรดในเด็ก เพราะยังมีข้อมูลทางคลินิกด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาลดกรดในผู้ป่วยเด็กไม่มากเพียงพอ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดกรดอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาลดกรด เช่น   

  • ยา Aluminium hydroxide:
  • ทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด อาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน/ลำไส้อุดกั้นจากก้อนอุจจาระ หรือโรคริดสีดวงทวาร
  • หากใช้ยานี้นานเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิด โรคกระดูกพรุน  และโรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน
  • ยา Magnesium hydroxide: ทำให้คลื่นไส้อาเจียน เกิดภาวะขาดน้ำ
  • ยา Sodium bicarbonate: ทำให้เกิดภาวะด่างเกินในกระแสเลือด/เลือดเป็นด่าง อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยหอบ/หายใจลำบาก โซเดียมในเลือดสูง  แคลเซียมในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ยา Bismuth subsalicylate: ทำให้เกิดอาการท้องผูก เป็นพิษต่อระบบประสาท
  • ยา Calcium carbonate: ทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องอืด เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะด่างเกินในกระแสเลือด  ไตวาย

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลดกรด)  ยาแผนโบราญทุกชนิด  อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เสมอ  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ  ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามบัญชียาหลักแห่งชาติเล่ม 1 ยาระบบทางเดิน. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national [2022,Aug20]
  2. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
  3. https://www.drugs.com/cons/antacid.html  [2022,Aug20]