วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ (Thyphoid vaccine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 8 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีกลไกการทำงานอย่างไร?
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีกี่รูปแบบ? และมีชื่อการค้ามีอะไรบ้าง?
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ มีข้อบ่งใช้อย่างไร? มีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไร?
- กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ?
- มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ?
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ก่ออาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?
- วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร?
- ติดต่อขอเข้ารับวัคซีนไทฟอยด์ได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัคซีน (Vaccine)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคไทฟอยด์ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
บทนำ
โรคไทฟอยด์หรือไข้ไทฟอยด์ (Typhoid Fever) หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ แซลโมเนลลาไทฟี (Salmonella typhi) ซึ่งสามารถก่อโรคที่มีความรุนแรงได้ภายหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 6 ถึง 30 วัน โดยติดเชื้อผ่านการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้ไทฟอยด์ในภาวะรุนแรงมีอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 30(30%)
เริ่มแรกผู้ป่วยจะมี ไข้สูง ปวดท้อง ท้องผูก อ่อนเพลีย น้อยรายจะเกิดอาการท้องเสีย/ถ่ายเหลว หรือเกิดจุดแดงๆขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดภาวะสับสน ลำไส้อักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในปอด(ปอดอักเสบ) สมองอักเสบจากการติดเชื้อนี้ เป็นต้น
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไทฟอยด์น้อยลง เนื่องจากการสาธารณสุขมูลฐานทั่วไปดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้ อาจพิจารณาเพื่อขอเข้ารับ “วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไทฟอยด์/วัคซีนไทฟอยด์(Typhoid vaccine)”ได้
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ 2 ชนิดคือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งให้วัคซีนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และวัคซีนเชื้อเป็นที่ให้ทางปาก โดยนิยมให้ในผู้ที่
- มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือ ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
- ผู้ที่ติดต่อสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคไทฟอยด์อย่างใกล้ชิด หรือ
- ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคชนิดนี้
ในประเทศไทย วัคซีนไทฟอยด์ที่ใช้จะเป็นรูปแบบฉีด อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ควรตระหนักว่า ไม่มีวัคซีนใดสามารถป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การรักษาสุขลักษณะที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ ผลไม้และผักควรล้างให้สะอาดก่อนการรับประทาน ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ และรวมถึงหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่กำลังติดเชื้อนี้ เป็นต้น
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีกลไกการทำงานอย่างไร?
กลไกการทำงานของวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ปัจจุบันพบว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ชนิดฉีด จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรคที่ก่อโรคไทฟอยด์ ส่วนวัคซีนในรูปแบบที่ให้ทางปากพบว่า วัคซีนนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารภูมิต้านทานโรคนี้ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ที่เยื่อบุทางเดินอาหารในลำไส้เล็ก เป็นต้น
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีกี่รูปแบบ? และมีชื่อการค้ามีอะไรบ้าง?
วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบตามวิธีการบริหาร/การให้วัคซีน ได้แก่
1. วัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Typhoid Vi Polysaccharide Vaccine) มีชื่อการค้าว่า Typhim Vi® ผลิตโดยบริษัทซาโรฟีพาสเตอร์ (Sanofi Pasteur) และ Typherix ผลิตโดยบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของเหลวพร้อมฉีด ภายในบรรจุผิวของเซลล์ในรูปแบบแคปซูลโพลีแซกคาไรด์ (Capsular polysaccharide) ซึ่งได้จากการสกัดจากเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลา
2. วัคซีนชนิดให้ทางปาก (Ty21a) เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ที่ทำให้เชื้อแซลโมเนลลาอ่อนแรงแล้ว (Live attenuated vaccine) มีชื่อการค้าว่า Vivotif ผลิตโดยบริษัทแพ็กซ์แว็กซ์ (PaxVax) มี 2 รูปแบบเภสัชภัณฑ์คือ ชนิดแคปซูลรับประทาน (Enteric coated capsule) และชนิดยาน้ำแขวนตะกอน (Liquid Suspension)
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ มีข้อบ่งใช้อย่างไร? มีขนาดและวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไร?
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ มีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการติดเชื้อที่ก่อโรคไทฟอยด์เท่านั้น (เชื้อแซลโมเนลลาไทฟี Salmonella typhi) ไม่ได้มีคุณสมบัติในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อโปรโตซัว ชนิดอื่นๆ
วัคซีนไทฟอยด์มีวิธีการบริหารวัคซีนดังต่อไปนี้
1. วัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผู้รับวัคซีนควรรับวัคซีนนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้าสู่บริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำได้โดยกาฉีดยาขนาด 0.5 มิลลิลิตรเข้าสู่กล้ามเนื้อ ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ หากต้องการรับการกระตุ้นภูมิต้านทาน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)โรคนี้ ให้ฉีดวัคซีนนี้ทุกๆ 2 ปี
วัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ควรให้แก่เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี, ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนชนิดนี้มาก่อน, และผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคหรือติดเชื้อต่างๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้ว, ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์
2. วัคซีนชนิดรับประทาน (ไม่มีในประเทศไทย) รับประทานทั้งสิ้น 3 แคปซูล โดยแบ่งรับประทานครั้งละ 1 แคปซูล แคปซูลแรกในวันที่ 1 แคปซูลที่สองในวันที่ 3 และแคปซูลที่สามวันที่ 5 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคไทฟอยด์ภายใน 7-10 วันภายหลังการได้รับแคปซูลที่สาม ทั้งนี้ไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี รับวัคซีนด้วยวิธีการรับประทานเพราะเด็กอาจติดเชื้อไทฟอยด์จากวัคซีนได้ ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนรูปแบบนี้ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคไทฟอยด์ได้ประมาณ 3 ปี
กลุ่มบุคคลใดที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ?
กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ได้แก่
1. ผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคไทฟอยด์ ซึ่งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้สูง ได้แก่ ประเทศในแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ เนปาล และประเทศในแถบแอฟริกา และโรคนี้ยังมีการแพร่กระจายโดยทั่วไปในแถบทวีปเอเชียและละตินอเมริกาอีกด้วย
2. ผู้ที่ต้องทำงานหรือมีความจำเป็นต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่ติดเชื้อไทฟอยด์ เช่น ญาติผู้ป่วย หรือบุคลากรทางการแพทย์
3. ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงการสัมผัสหรือติดเชื้อไทฟอยด์
มีข้อห้ามอะไรบ้างในการใช้วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ?
ข้อห้ามในการใช้วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- ห้ามใช้วัคซีนนี้ในผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีนนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนนี้
- ห้ามใช้วัคซีนนี้ในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือผู้ป่วยที่มีโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังป่วย มีไข้ มีโรคระบบทางเดินอาหารฉับพลันจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนนี้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร เว้นแต่ว่า แพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นในการให้วัคซีนนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์
- ไม่ควรให้วัคซีนนี้ในรูปแบบฉีดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในเด็กวัยนี้อย่างชัดเจน และไม่ควรให้วัคซีนในรูปแบบรับประทานในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
- วัคซีนรูปแบบรับประทาน ไม่สามารถทานร่วมกับยาปฏิชีวนะได้ เพราะยาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อนี้ที่ใช้เป็นวัคซีน จนทำให้วัคซีนนี้ขาดประสิทธิภาพ แต่สามารถเริ่มรับประทานวัคซีนนี้ได้ภายหลังทานยาปฏิชีวนะครบไปแล้ว 3 วัน
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ก่ออาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง?
วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา/จากวัคซีน(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)บางประการ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน เกิดผื่นคัน มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และวัคซีนในรูปแบบฉีดอาจก่อให้เกิดอาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการเหล่านี้ควรจะหายไปเอง หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมีความรุนแรงมากขึ้น หรือไม่สามารถทนต่ออาการได้ ควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
หากผู้รับวัคซีนนี้เกิดการแพ้วัคซีน เช่น เกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว เปลือกตา/หนังตา ริมฝีปาก ใบหน้า บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ ให้รีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม อาการแพ้วัคซีนนี้แม้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วัคซีนป้องกันไทฟอยด์มีวิธีการเก็บรักษาอย่างไร?
วัคซีนไทฟอยด์ทั้งรูปแบบฉีดและรูปแบบรับประทาน ควรเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) หลีกเลี่ยงการเก็บในบริเวณที่มีแสงสว่าง/แสงแดด ส่องถึงได้โดยตรง อย่างไรก็ดี ควรสอบถามนโยบายการเก็บรักษายา/วัคซีนนี้จากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลด้วย
ติดต่อขอเข้ารับวัคซีนไทฟอยด์ได้อย่างไร?
ในประเทศไทย มีสถานพยาบาลหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ อาทิ เช่น
- คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
- คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา
- ศูนย์การแพทย์สำหรับผู้เดินทาง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ผู้ที่มีความประสงค์ในการเข้ารับวัคซีนไทฟอยด์ ควรติดต่อสถานพยาบาลที่ให้บริการวัคซีนนี้ล่วงหน้า เพื่อเข้าพบและปรึกษากับแพทย์ก่อนการรับวัคซีน ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงระยะเวลาที่วัคซีนต้องใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อไทฟอยด์ด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
บรรณานุกรม
- Typhoid Fever. Centers for Disease Control and Prevention (CDC) https://wwwnc.cdc.gov/travel/diseases/typhoid[2017,June17]
- Typhoid VIS. Centers for Disease Control and Prevention (CDC) https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/typhoid.html[2017,June17]
- Typhoid vaccine. MedlinePlus https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a607028.html[2017,June17]
- TYPHOID VI POLYSACCHARIDE VACCINE. US FDA. https://www.fda.gov/downloads/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/ApprovedProducts/UCM142811.pdf[2017,June17]
- Typhoid vaccine live oral Ty21a - Drug Summary. Prescribers’ Digital Reference. http://www.pdr.net/drug-summary/Vivotif-typhoid-vaccine-live-oral-Ty21a-2502[2017,June17]
- Product Monograph. TYPHERIX®. https://ca.gsk.com/media/592159/typherix.pdf[2017,June17]
- Vivotif Package Insert USA. US FDA. https://www.fda.gov/downloads/biologicsbloodvaccines/vaccines/approvedproducts/ucm142807.pdf[2017,June17]
- รายการวัคซีน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย http://www.saovabha.com/th/clinictravel.asp?nTopic=3[2017,June17]
- ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx [2017,June17]