เซฟาโซลิน หรือเซฟาโซลีน (Cefazolin or Cefazoline or Cephazolin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

  เซฟาโซลิน หรือ เซฟาโซลีน (Cefazolin or Cefazoline or Cephazolin) คือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน(Cephalosporin) รุ่นที่1 ออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ  ยาเซฟาโซลินสามารถเกิดปฏิกิริยาข้ามกัน(Cross-reactivity)กับยาPenicillinได้  ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้เซฟาโซลินกับผู้ที่แพ้ยา Penicillin

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยาเซฟาโซลินจะเป็น ยาชนิดฉีด สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.8 - 2 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้จำนวน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทางคลินิก ได้นำเซฟาโซลินมาใช้บำบัดรักษาอาการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆของร่างกายไม่ว่าจะเป็น หลอดลม ปอด ท่อปัสสาวะ ท่อน้ำดี กระดูก ข้อ  หัวใจ หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) โดยต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคต้องตอบสนองกับฤทธิ์ของยาเซฟาโซลินด้วย

แต่อาการติดเชื้อที่สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรียนั้นไม่สามารถใช้ยาเซฟาโซลินในการรักษาได้ ด้วยยาเซฟาโซลินไม่สามารถซึมผ่านหลอดเลือดฝอยบริเวณสมองได้

นอกจากนี้การติดเชื้อที่ดื้อต่อยาMethicillin (Methicillin-resistant staphylococcus aureus) หรือเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Mycoplasma, Chlamydia และ Enterococcus ก็ไม่สามารถใช้ยาเซฟาโซลินในการรักษาได้

สำหรับแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาเซฟาโซลินและสามารถใช้ยานี้ในการรักษาอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • แบคทีเรียแกรมบวก (Gram-Positive Aerobes): เช่น Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis, Streptococcus pyogenes, Streptococcus agalactiae, Streptococci ชนิดต่างๆและ Streptococcus pneumoniae
  • แบคทีเรียแกรมลบ (Gram-Negative Aerobes): เช่น Escherichia coli และ Proteus mirabilis

 นอกจากนี้ยาเซฟาโซลินยังมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยกลุ่มพิเศษเช่นสตรีตั้งครรภ์อีกด้วย แต่การใช้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรต้องใช้ความระมัดระวังให้มากด้วยตัวยาเซฟาโซลินสามารถซึมผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้บ้างเล็กน้อย หรือการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตแพทย์จะต้องปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความสามารถในการกำจัดยาออกจากร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาเซฟาโซลินที่อาจเกิดกับผู้ป่วยหลังจากได้รับยานี้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และผื่นคัน หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาเซฟาโซลิน แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยเป็นอันขาดแต่จะเลี่ยงไปใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นแทน

ยังมีเงื่อนไขบางประการที่แพทย์มักจะนำมาประกอบก่อนการสั่งจ่ายเซฟาโซลินกับผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยที่เป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่ ด้วยยาเซฟาโซลินอาจถูกส่งผ่านไปยังทารกได้
  • ปัจจุบัน ผู้ป่วยมีการใช้ยาอื่นใดอยู่ด้วยหรือไม่โดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin, Heparin หรือยาในกลุ่ม Probenecid
  • ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร-ลำไส้ หรือมีปัญหาด้านระบบเลือด/โรคเลือด โดยเฉพาะเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด หรือป่วยด้วยโรคไต หรืออยู่ในภาวะขาดสารอาหาร
  • มีประวัติแพ้ยา Penicillin, Amoxicillin หรือยาปฏิชีวนะประเภทเบต้า-แลคแตม (Beta-lactam antibiotic) หรือไม่

 องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเซฟาโซลินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุเซฟาโซลินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด เราจะพบเห็นการใช้ยาเซฟาโซลินได้ทั้งในสถาน พยาบาลของรัฐและเอกชน

เซฟาโซลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เซฟาโซลิน

ยาเซฟาโซลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม
  • รักษาโรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • รักษาการติดเชื้อในบริเวณผิวหนัง
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อของท่อน้ำดี/ระบบทางเดินน้ำดี
  • รักษาการติดเชื้อในกระดูก (กระดูกอักเสบ) และในข้อต่อต่างๆ(ข้ออักเสบติดเชื้อ)
  • รักษาภาวติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • รักษาการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ)

เซฟาโซลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟาโซลินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยการรวมตัวกับโปรตีนของแบคทีเรีย (Penicillin-binding proteins) และก่อให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์สาร Peptidoglycan ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เซฟาโซลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟาโซลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: 

  • ยาฉีด ขนาด 1 กรัม/ขวด

เซฟาโซลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาเซฟาโซลินขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและการตอบสนองของแบคทีเรียแต่ละชนิดที่มีต่อยาเซฟาโซลิน บางอาการโรคจะไม่มีขนาดการใช้ยาของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาทางคลินิกว่ามีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ หรือมียาที่เป็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ดังนั้นการใช้ยานี้ และขนาดยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

 ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้เฉพาะที่ใช้ในผู้ใหญ่และเฉพาะในบางโรค เช่น

ก. สำหรับป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่:
    • ก่อนรับการผ่าตัด 30 - 60 นาทีฉีดยาขนาด 1 กรัมเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 กรัม
    • ระหว่างการผ่าตัด (เมื่อเวลาของการผ่าตัดเกิน 2 ชั่วโมง): ให้ฉีดยาอีก 500 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 กรัม
    • หลังการผ่าตัด: ฉีดยาขนาด 500 มิลลิกรัม - 1 กรัมเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ความถี่ของการให้ยาทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
    • กรณีที่มีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อสูงอาจต้องให้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 - 5 วัน

ข. สำหรับการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ/เยื่อบุหัวใจอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 -5 กรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง หากจำเป็นแพทย์อาจให้ยาได้ถึง 12 กรัม/วัน

ค. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียกรณีทั่วไป:

  • ผู้ใหญ่:
    • การติดเชื้อระดับความรุนแรงน้อยเช่น เชื้อแกรมบวกกลุ่มคอคไค (Gram-positive cocci) ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 250 - 500 มิลลิกรัมทุกๆ 8 ชั่วโมง
    • การติดเชื้อความรุนแรงระดับปานกลาง - มากฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ 500 มิลลิกรัม - 1 กรัมทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง

ง. สำหรับ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1 -5 กรัมเข้าหลอดเลือดดำ ทุกๆ 6 ชั่วโมง กรณีที่จำเป็นแพทย์อาจให้ยาได้ถึง 12 กรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซฟาโซลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาโซลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซฟาโซลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาเซฟาโซลินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • ผื่นคัน รวมถึงอาการคันในบริเวณอวัยวะเพศและที่ทวารหนัก
  • อาจมีอาการท้องเสีย
  • เกิดการติดโรคเชื้อราชนิดแคนดิดา(โรคแคนดิไดอะซิส)   
  • เกิดแผลร้อนในที่ปาก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เป็นตะคริวที่ท้อง
  • แสบร้อนกลางอก
  • เบื่ออาหาร
  • ลำไส้อักเสบ
  • เกิดความผิดปกติต่อระบบเลือดของร่างกาย เช่น โรคซีด,  Neutropenia (ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ), Leukopenia (เม็ดขาวต่ำ), Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ),  หรือ Thrombocythemia (เกล็ดเลือดสูง) รวมถึงทำให้เกล็ดเลือดรวมตัวได้ช้าลง

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจพบเกิดอาการ วิงเวียน เป็นลม รู้สึกสับสน ปวดหัว ง่วงนอน ความดันโลหิตต่ำ บางรายถึงกับเกิดอาการ ลมชัก,  การทำงานของไตผิดปกติ, ตับทำงานผิดปกติ, และมีอาการบวมแดงในบริเวณที่มีการฉีดยา

มีข้อควรระวังการใช้เซฟาโซลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาโซลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเซฟาโซลิน แพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) แพ้ยากลุ่ม Penicillin รวมถึงแพ้ยากลุ่มเบต้า-แลคแตม (Beta lactam)
  • การใช้ยานี้แล้วอาการผู้ป่วยดีขึ้นแพทย์จะยังให้ยานี้ต่อเนื่องจนครบเกณฑ์มาตรฐานทั้งนี้เพื่อป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรียติดตามมา
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตควรปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลงอย่างเหมาะสมและสัมพันธ์กับความสามารถของไตผู้ป่วยในการกำจัดของเสีย
  • ยาเซฟาโซลินเป็นยาต่อต้านแบคทีเรีย ไม่สามารถใช้รักษาอาการป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสได้
  • การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานๆอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน เช่น มีการติดเชื้อราตามมา แพทย์ จะพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นมาทดแทนการใช้ยาเซฟาโซลินในลักษณะที่ใช้ยานี้ซ้ำๆ
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจทำให้ผลการทดสอบน้ำตาลในปัสสาวะผิดพลาด เพื่อป้องกันการแปลผลที่คลาดเคลื่อน หน่วยงานในสถานพยาบาลต้องมีการสื่อสารเรื่องการใช้ยาและผลทดสอบปัสสาวะอย่างถูกต้องชัดเจน
  • ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วตามขนาดและเวลาที่เหมาะสมแต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะมีการทบทวนเพื่อปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเซฟาโซลินด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซฟาโซลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟาโซลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟาโซลิน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งมีส่วนผสมของยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดด้อยลงไป ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดประจำเดือนมาผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซฟาโซลิน ร่วมกับยา Gentamicin อาจทำให้ไตได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซฟาโซลิน ร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเซฟาโซลิน ร่วมกับยา Furosemide อาจทำให้ไตทำงานบกพร่อง ผู้ป่วยอาจพบอา การคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะลดลงหรืออาจมากขึ้นก็ได้ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลง มีอาการบวมน้ำ วิงเวียน รู้สึกสับสน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเซฟาโซลินอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟาโซลิน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา(ฉลากยา)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟาโซลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟาโซลิน  มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cefamezin (เซฟาเมซิน) Astellas Pharma
Cefazillin (เซฟาซิลลิน) T P Drug
Cefazol (เซฟาซอล) General Drugs House
Cefazolin Meiji (เซฟาโซลิน เมจิ) Meiji
Cefzolin (เซฟโซลิน) Utopian
Fazolin (ฟาโซลิน) Siam Bheasach
Zefa M H (เซฟา เอ็ม เฮช) M & H Manufacturing

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefazolin  [2022,March12]
  2. https://www.drugs.com/cdi/cefazolin.html  [2022,March12]
  3. https://www.drugs.com/dosage/cefazolin.html  [2022,March12]
  4. http://www.antimicrobe.org/drugpopup/cefazolin.htm   [2022,March12]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefazolin-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,March12]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=cefazolin  [2022,March12]