เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Endocarditis and Infective endocarditis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุภายในหัวใจ/เยื่อบุหัวใจ(Endocardium) โดยเฉพาะส่วนที่บุลิ้นหัวใจ ซึ่งการอักเสบนี้ เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ (เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis) และการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ (Non bacterial thrombotic endocarditis หรือ non infectious endocarditis)

ก. เยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ (Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis): เป็นโรคพบไม่บ่อยนัก มีรายงานพบประมาณ 5-12.7 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี เป็นโรคที่พบในทุกอายุ แต่พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยประมาณ 50% ของผู้ป่วยเกิดในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่าโดยยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไม

ข. เยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่มีการติดเชื้อ’ (Non bacterial thrombotic endocarditis หรือ Non infectious endocarditis): เป็นโรคพบน้อย เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก ดังนั้นการวินิจฉัยมักเป็นการตรวจพบจากการตรวจศพ(Autopsy)ภายหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ซึ่งพบได้ประ มาณ 0.3-9.3% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตและได้รับการตรวจศพ เป็นโรคพบในทุกอายุ แต่พบได้สูงกว่าในผู้ใหญ่ และจะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยพบในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

เยื่อบุหัวใจอักเสบเกิดได้อย่างไร?

เยื่อบุหัวใจอักเสบ

เยื่อบุหัวใจอักเสบ เกิดได้กับเยื่อบุหัวใจทุกส่วนของหัวใจ แต่เกือบทั้งหมดมักเกิดที่’ลิ้นหัวใจ’ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจที่มีโรคอื่นๆหรือมีการบาดเจ็บ เช่น จากโรคไข้รูมาติก, จากโรคลิ้นหัวใจแต่กำเนิด, จากการผ่าตัดหัวใจ, จากการผ่าตัดลิ้นหัวใจ, หรือการใส่ลิ้นหัวใจเทียม, โดยลิ้นหัวใจที่พบเกิดโรคนี้บ่อย คือลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย (Mitral valve), รองลงไป คือลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดง (Aortic valve) (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หัวใจ:กายวิภาคและสรีรวิทยา) ซึ่งในการอักเสบ อาจเกิดขึ้นเพียงจุดใดจุดหนึ่ง หรือลิ้นใดลิ้นหนึ่งของหัวใจ หรือเกิดหลายๆจุด หรือหลายๆลิ้นหัวใจพร้อมกันก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

กลไกการเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ เกิดจากการมีโรคหัวใจ จึงส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นหัวใจ ซึ่งการอักเสบต่างๆจะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตในห้องต่างๆของหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเลือด/ลิ่มเลือดเล็กๆ (Thrombus) ที่มักจะ

  • ไปจับเกาะอยู่ที่ลิ้นหัวใจ
  • รองลงไปคือที่ผนังห้องหัวใจ

ซึ่งก้อนเลือด/ลิ่มเลือดเล็กๆเหล่านี้จะจับตัวรวมกัน และอาจหลุดลอยเข้าไปในกระแสโลหิต ก่อให้เกิดการอุดตันหลอดเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะที่มีหลอดเลือดอุดตันเกิดการทำงานผิดปกติจากขาดเลือด ซึ่งถ้าเกิดกับอวัยวะสำคัญ จะเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการ และ/หรือ เสียชีวิตได้ เช่น ที่หลอดเลือดหัวใจเอง(โรคหลอดเลือดหัวใจ), หลอดเลือดสมอง( โรคหลอดเลือดสมอง), และหลอดเลือดปอด(ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)

ทั้งนี้ :

  • เมื่อก้อนเลือดที่เกิดขึ้น ไม่มีการติดเชื้อ เรียกโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจในลักษณะนี้ว่า “โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อ’ (Non bacterial thrombotic endocarditis)”
  • แต่ถ้าเกิดมีเชื้อโรคในกระแสโลหิตจากสาเหตุใดๆก็ตาม เช่น จากมีฟันผุ, เหงือกอักเสบ, หรือร่างกายมีการติดเชื้อต่างๆ, เชื้อนี้จะไปจับที่ก้อนเลือดเล็กๆเหล่านี้(เกิดเป็นก้อนเลือดติดเชื้อ) ที่จับอยู่ตามลิ้นหัวใจ หรือตามผนังหัวใจ เรียกว่า “ก้อนเชื้อ (Vegetation)” ซึ่งก้อนเลือดเล็กๆที่ติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อหลุดลอยเข้ากระแสโลหิต นอกจากจะก่อให้เกิดหลอดเลือดอุดตันแล้ว ยังก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ และเกิดฝี/หนองขึ้นกับอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง ปอด และตับ จึงส่งผลให้อวัยวะต่างๆทั้งขาดเลือด และทั้งติดเชื้ออย่างรุนแรง จัดเป็นโรคที่รุนแรง และเป็นสาเหตุของความพิการ หรือการเสียชีวิตได้สูง เรียกโรคของเยื่อบุหัวใจที่เกิดในลักษณะนี้ว่า “โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ (Infective endocarditis หรือ Infectious endocarditis)”

เยื่อบุหัวใจอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของเยื่อบุหัวใจอักเสบ ได้แก่

ก.สาเหตุของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย ‘ไม่ติดเชื้อ’ ที่พบบ่อย คือ

  • จากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในโรคระยะรุนแรง ลุกลาม แพร่กระจาย และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด Adenocarcinoma เช่น โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งปอดบางชนิด และโรคมะเร็งรังไข่
  • จากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง
  • โรคปอดเรื้อรังที่ส่งผลให้ร่างกายมีภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (Hypoxia)
  • และจากโรคเลือดชนิดที่เลือดมีการแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติมาก (Hypercoagulability)

ข. สาเหตุของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ เกือบทั้งหมดมักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยพบติดเชื้อราได้บ้าง(ซึ่งมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย คือ Staphylococcus aureus (พบได้บ่อยที่สุด) รองลงไปตามลำดับ คือ Varidans Streptococcus, Coagulase-negative staphylococcus, Enterococci, Streptococ cus bovis, และเชื้ออื่นๆที่พบได้บ้างประปราย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

ก. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย ‘ไม่มีการติดเชื้อ’ คือ

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม แพร่กระจาย และมีเซลล์มะเร็งเป็นชนิด Adenocarcinoma
  • ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเกล็ดเลือด เช่น มีปริมาณเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติมาก เพราะเป็นสาเหตุให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย ทั้งนี้เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย เช่น มีโรคปอดเรื้อรัง หรือสูบบุหรี่จัด
  • ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน ที่มีเกล็ดเลือดสูง

ข. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ คือ

  • ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ
  • ผู้ป่วยใส่ลิ้นหัวใจเทียม
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด
  • มีสุขภาพ เหงือก ฟัน และช่องปากไม่ดี เพราะเหงือก ฟัน และช่องปาก เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรคหลากหลายชนิดที่มีจำนวนมหาศาล
  • ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ผู้เสพติดโดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ป่วยที่ต้องใส่สายสวนต่างๆ เช่น สายสวนปัสสาวะ การให้อาหารทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมาก่อน

เยื่อบุหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของเยื่อบุหัวใจอักเสบ ได้แก่

ก. อาการของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อ’: โดยทั่วไปมักไม่มีอาการที่ชัดเจน เพราะจะถูกบดบังด้วยอาการจากตัวโรคที่เป็นสาเหตุ จึงเป็นสาเหตุให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัย โรคนี้ได้ โดยการวินิจฉัยมักได้จากการตรวจศพภายหลังผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว

ข. อาการของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’: จะเช่นเดียวกับอาการที่พบได้ในโรคติดเชื้อทั่วไป ร่วมกับมีอาการทางโรคหัวใจ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • มีไข้ มักมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซียลเซียส (Celsius) หนาวสั่น เหงื่อออก กลางคืน
  • อ่อนเพลีย
  • ซีด
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด/ผอมลง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • หายใจลำบาก, ไอ
  • เสียงเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • มีผื่นเลือดออกตามผิวหนัง ตามลำตัว แขน ขา คล้ายผื่นไข้เลือดออก
  • อาการอื่นๆ: จะขึ้นกับสาเหตุ และ อวัยวะที่มีหลอดเลือดอุดตัน หรือที่เกิดฝี/หนอง เช่น
    • เจ็บที่ม้าม/เจ็บในท้องตอนบนด้านซ้ายที่เป็นตำแหน่งของม้าม
    • ปวดหลัง (จากไตขาดเลือด และ/หรืออักเสบ)
    • ปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อเกิดไตอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยเยื่อบุหัวใจอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้จาก

ก. โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อ’: โดยทั่วไปแพทย์มักวินิจฉัยไม่ได้ การวินิจฉัยมักได้หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตและได้มีการตรวจศพ

ข. แพทย์วินิจฉัยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ได้จาก

  • องค์ประกอบ ที่เรียกว่า Modified Duke criteria ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้ ได้แก่
    • ลักษณะทางคลินิก: เช่น อาการผู้ป่วย, ประวัติการเจ็บป่วย, การใช้สารเสพติด,การมีโรค/ความผิดปกติของหัวใจ, และการตรวจร่างกาย
    • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือดซึ่งมักต้องตรวจซ้ำหลายครั้ง จึงจะวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น
    • และการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ/ เอคโคหัวใจ
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพปอด/หัวใจด้วย เอกซเรย์
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

รักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบ ได้แก่

ก. แนวทางรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อ’ คือ การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • โรคปอด
  • โรคออโตอิมมูน
  • โรคมะเร็ง

ข. แนวทางรักษาโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’ คือ

  • การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ ซึ่งขึ้นกับชนิดของการติดเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะ กรณีติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
  • นอกจากนั้น คือ
    • การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ: เช่น รักษาโรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็ง และ
    • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินได้น้อย หรือการให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการทางการหายใจ เป็นต้น
  • ในบางครั้ง เมื่อเป็นโรคลิ้นหัวใจ และ/หรือ เกิดภาวะเชื้อดื้อยา อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อผ่าตัดเอา’ก้อนเชื้อ’ออก

เยื่อบุหัวใจอักเสบรุนแรงไหม?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค?โรคก่อ ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ได้แก่

ก. ความรุนแรงของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบโดย’ไม่ติดเชื้อ’ ขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุ และดังกล่าวแล้วว่า แพทย์มักวินิจฉัยโรคได้ยาก ดังนั้นจึงไม่มีรายงานที่แน่นอนเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคนี้ ซึ่งรวมทั้งผลข้างเคียงจากโรคด้วย

ข. ส่วนโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ’ติดเชื้อ’: จัดเป็นโรครุนแรง แต่ก็ยังสามารถรักษาหายได้ *ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับหลายปัจจัย โดยปัจจัยเสี่ยง/ความรุนแรงโรคจะสูงขึ้นเมื่อ

  • โรคเกิดในผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม โดยทั่วไป อัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ ไม่ได้ใส่ลิ้นหัวใจเทียมอยู่ที่ประมาณ 16-27%, ส่วนผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม อัตราเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 25-40%
  • ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
  • มีผลข้างเคียงที่เกิดกับสมอง
  • และขึ้นกับชนิดของการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุเสียชีวิตสูงสุด คือ ติดเชื้อรา (เสียชีวิตประมาณ 50%), และติดเชื้อ Staphylococcus aureus (เสียชีวิตประมาณประมาณ 30-40%)

ผลข้างเคียง:

  • การอุดตันของหลอดเลือดสมอง (โรคหลอดเลือดสมอง)
  • การอุดตันของหลอดเลือดปอด(ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)
  • การอุดตันหลอดเลือดหัวใจ(โรคหลอดเลือดหัวใจ)
  • การอุดตันหลอดเลือดของตับ(ภาวะตับวาย)
  • การอุดตันหลอดเลือดไต(ไตวาย)
  • และรวมทั้งการเกิดฝี/หนองในอวัยวะเหล่านี้ จากการอุดตัน/การจับ/การเกาะของก้อนเลือดเล็กๆที่ติดเชื้อ ส่งผลให้อวัยวะเหล่านี้เกิดฝี/หนองจนไม่สามารถไม่ทำงานปกติได้ เกิดการทำงานล้มเหลว จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเสมอ

และเมื่อแพทย์วินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ พยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน การดูแลตนเองที่บ้าน คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • เลิกสารเสพติด ถ้าเสพอยู่
  • รักษาสุขภาพ ฟัน เหงือก และช่องปาก โดย
    • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
    • รู้จักใช้ไหมขัดฟัน
    • หลีกเลี่ยงอาหารหวานที่เหนียวติดฟัน และ
    • พบทันตแพทย์เสมอ ทุก 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ เช่น โรค เบาหวาน โรคลิ้นหัวใจ โรคเลือดต่างๆ เป็นต้น
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง เช่น เหนื่อมากขึ้น บวมเนื้อตัว แขน ขา มกากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ
    • มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และ/หรือ
    • โรคหลอดเลือดสมอง

ป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบอย่างไร?

การป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยเฉพาะโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ เช่นเดียวกับดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อการมีสุขภาพแข็งแรง ลดโอ กาสติดเชื้อ
  • รักษาสุขภาพ ฟัน เหงือก และช่องปาก และพบทันตแพทย์เสมอ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • เลิกใช้สารเสพติด เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกชนิด
  • ระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ในการสักผิวหนัง หรือการเจาะผิวหนังต่างๆ
  • เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ อย่างเคร่งครัด และถ้าแพทย์แนะนำให้กินยา (อาจจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อเกิดแผล เช่น กรณีถอนฟัน เป็นต้น) ต้องกินให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • เมื่อมีการติดเชื้อต่างๆ เช่น มีบาดแผล หรือมีไข้สูง และไข้ไม่ลงหลังการดูแลตน เองภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปโรงพยาบาล

บรรณานุกรม

  1. Aryana,A. et al. (2006). Non bacterial thrombotic endocarditis with recurrent embolic events as manifestation of ovarian neoplasm. J Gen Intern Med. 2006 December; 21(12): C12–C15.
  2. Asopa, S. et al (2007). Non bacterial thrombotic endocarditis. Eur J Caediothorac Sur. 32, 696-701.
  3. Baddour, L. et al. (2005). Infective endocarditis. Circulation. 111,2394-e434.
  4. Pierce, D. et al. (2012). Infectious endocarditis: diagnosis and treatment. Am Fam Physician. 85, 981-986.
  5. https://emedicine.medscape.com/article/216650-overview#showall [2019,April27]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/216650-differential [2019,April27]
  7. http://misc.medscape.com/pi/android/medscapeapp/html/A216650-business.html [2019,April27]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Endocarditis [2019,April27]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Infective_endocarditis [2019,April27]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Nonbacterial_thrombotic_endocarditis [2019,April27]