ยูโรไคเนส (Urokinase)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยูโรไคเนสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยูโรไคเนสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยูโรไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยูโรไคเนสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยูโรไคเนสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยูโรไคเนสอย่างไร?
- ยูโรไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายูโรไคเนสอย่างไร?
- ยูโรไคเนสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยูโรไคเนส (Urokinase) คือ ยาละลายลิ่มเลือดที่เป็นโปรตีนสังเคราะห์ได้จากอวัยวะไตของมนุษย์ สามารถแยกได้จากปัสสาวะ ทางคลินิกจึงนำมาใช้บำบัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอด รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับอย่างรวดเร็วและถูกกำจัดออกจากร่างกายภายในประมาณ 20 นาที
ก่อนการใช้ยายูโรไคเนสแพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยพร้อมกับตรวจสภาพร่างกายว่าเหมาะสมที่จะได้รับยานี้หรือไม่ มีเงื่อนไขและสภาพของร่างกายบางอย่างที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยายูโรไคเนสได้หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก อาทิเช่น
- ผู้ป่วยมีภาวะตกเลือดภายใน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)
- มีเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง
- มีภาวะหลอดเลือดในสมองขยายตัวมากกว่าปกติหรือโป่งพอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง)
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยเพิ่งได้รับการทำ CPR (Cardiopulmonaryresuscitation) หรือการกู้ชีพโดยกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นใหม่หลังหัวใจหยุดทำงาน
- ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ (Stroke) หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดสมอง หรือผ่า ตัดไขสันหลังภายใน 2 เดือนที่ผ่านมา หรือได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะภายใน 10 วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลทางสุขภาพอื่นที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้ทางแพทย์ทราบเพื่อทำให้การใช้ยายูโรไคเนสเป็นไปได้อย่างปลอดภัยเช่น เคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ มีภาวะโรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง มีภาวะเบาหวานขึ้นตา มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ) หรือมีภาวะลิ่มเลือดเกิดที่หัวใจ
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาการใช้ยายูโรไคเนสกับสตรีตั้งครรภ์พบว่ามีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ แต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ยายูโรไคเนสเป็นยาที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยต้องอาศัยความรวดเร็วและความแม่นยำในการรักษา มีใช้แต่ในสถานพยาบาลเช่น ห้องฉุกเฉิน/ห้องไอซียูเท่านั้น
ยูโรไคเนสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยายูโรไคเนสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้ละลายลิ่มเลือดที่เกิดการจับตัวในปอด
- บำบัดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
- รักษาอาการหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (ส่วนแขน ขา มือ เท้า) อุดตัน
ยูโรไคเนสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยายูโรไคเนสเป็นเอนไซม์ที่สกัดแยกมาจากปัสสาวะของมนุษย์ ทำหน้าที่/มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนสารที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด Plasminogen ไปเป็นสาร Plasmin ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่คอยทำลายลิ่มเลือดจึงช่วยลดการอุดตันจากลิ่มเลือดจนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ยูโรไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยายูโรไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีดชนิดผงที่ต้องผสมเป็นสารละลาย โดยมีขนาดความแรง 60,000; 100,000 และ 250,000 ยูนิตสากล/ขวด
ยูโรไคเนสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/ใช้ยายูโรไคเนสจะต้องหยดเข้าทางหลอดเลือดดำเท่านั้น ห้ามใช้ยาโดยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังเด็ดขาด ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาดังนี้ เช่น
ก. รักษาการอุดตันของหลอดเลือดดำ: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 4,400 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาให้ยานาน 10 - 20 นาที จากนั้นคงระดับการรักษาโดยหยดยาขนาด 100,000 ยูนิตสากล/ชั่วโมงเป็นเวลา 2 - 3 วัน
ข. รักษาอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 4,400 ยูนิตสากล/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาให้ยานาน 10 - 20 นาที จากนั้นคงระดับการรักษาโดยหยดยาขนาด 4,400 ยูนิตสากล/ชั่วโมงเป็นเวลา 12 ชั่วโมง
อนึ่ง: ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การศึกษาด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กยังไม่ทราบแน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยายูโรไคเนส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยายูโรไคเนสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหารเสริมและ/หรือกับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยูโรไคเนสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยายูโรไคเนสสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีเลือดออกที่บริเวณเหงือก
- ไอเป็นเลือด
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- มี เลือดกำเดา
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ประจำเดือนมามาก
- หากผู้ป่วยมีบาดแผลขณะได้รับยานี้ เลือดมักจะไม่หยุดไหลอยู่เป็นเวลานาน
- อุจจาระเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
มีข้อควรระวังการใช้ยูโรไคเนสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยายูโรไคเนส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด หลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ เช่น หลอดเลือดโป่งพอง ผู้ที่มีเนื้องอกสมอง/ มะเร็งสมอง ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงซึ่งยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ) ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดในสมองไม่เกิน 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดต่างๆมาเร็วๆนี้
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลและมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เลือดออก ทางเดินอาหาร)
- ระวังการใช้ยายูโรไคเนสเพื่อละลายลิ่มเลือดในบริเวณหัวใจ ด้วยอาจเกิดความเสี่ยงก้อนเลือดหลุดไปอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง
- บุคลากรทางการแพทย์ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องรวมถึงวิเคราะห์อาการหลอดเลือดอุดตันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
- ไม่ใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- เฝ้าระวังสัญญาณชีพและอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยาได้บ้างเล็กน้อยเช่น เกิดผื่นคันระหว่างที่ได้รับยานี้แต่ไม่มากเท่าใดนัก
- ระหว่างการหยดยายูโรไคเนสเข้าหลอดเลือดดำอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาพยาบาลตามอาการ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายูโรไคเนสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยูโรไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยายูโรไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยายูโรไคเนส ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานรวมถึงยา Heparin ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตกเลือดได้อย่างมาก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยายูโรไคเนส ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ชนิดรับประทานและชนิดทาเฉพาะที่ภายนอกด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกง่าย
- การใช้ยายูโรไคเนส ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor อาจทำให้เกิดอาการบวมใต้ผิวหนังติด ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายูโรไคเนสอย่างไร
ควรเก็บยายูโรไคเนส:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยูโรไคเนสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยายูโรไคเนส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Kinlytic (คินไลติก) | Microbix Biosystems Inc |
ABBOKINASE (แอบโบไคเนส) | Abbott Laboratories Ireland Ltd |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Urokinase [2022,May28]
- https://www.drugs.com/mtm/urokinase.html [2022,May28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/urokinase?mtype=generic [2022,May28]
- https://imedi.co.uk/urokinase-medac-100-000-i-u-powder-for-solution-for-injection-or-infusion [2022,May28]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/urokinase-index.html?filter=3&generic_only= [2022,May28]
- https://www.drugs.com/cons/abbokinase.html [2022,May28]