เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 8
- โดย รศ.ดร.นพ.บัณฑิต ชุมวรฐายี
- 2 ตุลาคม 2556
- Tweet
การให้รังสีรักษา
เช่นเดียวกับในกรณีมะเร็งเต้านม การให้รังสีรักษา สามารถนำมาใช้รักษามะเร็งปากมดลูกได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศกำหนดมาตรฐานใหม่ของวิธีการให้รังสีรักษาแก่ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ในปีพ.ศ. 2542 กล่าวคือ การให้รังสีรักษาแก่ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น จะให้พร้อมกันไปกับการให้ยาเคมีบำบัดที่มียาซิสพลาติน (Cisplatin) ร่วมอยู่ด้วยเสมอ หากไม่พบว่ามีข้อห้ามของการให้ยานี้ในผู้ป่วยแต่ละราย
การให้ยาเคมีบำบัด
เช่นเดียวกับในกรณีมะเร็งเต้านมในบทที่แล้ว การให้ยาเคมีบำบัด สามารถนำมาใช้รักษามะเร็งปากมดลูกได้ แต่จะให้พร้อมกันไปกับการให้รังสีรักษาด้วยเสมอ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการรักษาในกรณีที่โรคเกิดซ้ำและไม่สามารถทำการผ่าตัด หรือให้รังสีรักษาเพิ่มเติมได้อีกแล้วล่ะก็ อาจใช้เพียงยาเคมีบำบัดแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยมักหวังผลเพียงช่วยลดอาการทุกข์ทรมาน หรือช่วยยืดอายุของผู้ป่วยออกไปอีกเล็กน้อย
ทางเลือกในการรักษาแยกตามระยะของโรค มีอะไรบ้าง?
วิธีการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก ความต้องการในการที่จะมีบุตรอีก และโรคทางนรีเวชอื่นๆที่พบร่วมด้วย โดยทั่วไปสามารถแบ่งวิธีการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกออกได้ตามระยะของโรคดังนี้
- ระยะที่ 0 (ความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม)
รักษาได้หลายวิธี ได้แก่
- การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจภายใน ทำแพปสเมียร์ (Pap smear) ป้ายน้ำส้มสายชูที่ปากมดลูกแล้วดูด้วยตาเปล่า และการตรวจปากมดลูกด้วยกล้องส่องขยาย ทุก 4-6 เดือน รอยโรคที่จัดเป็นความผิดปกติขั้นต่ำ (รุนแรงน้อย) บางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1-2 ปี ภายหลังการตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจ
- การตัดปากมดลูกด้วยขดลวดไฟฟ้า
- การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
- การจี้ด้วยเลเซอร์
- การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยใบมีด
- การให้รังสีรักษา ในรายที่ไม่สามารถใช้วิธีในข้อ 1.1-1.5 ได้ และมีรอยโรครุนแรง
รอยโรคที่จัดเป็นความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้น (ข้อ 1.1-1.5) โดยไม่จำเป็นต้องตัดมดลูกออก เพราะมีผลการรักษาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
- ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 บางราย
รักษาได้โดยการตัดมดลูกออกแบบกว้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกทั้งหมด หรือโดยการให้รังสีรักษาร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การที่จะเลือกวิธีการรักษาใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย ลักษณะที่นำมาใช้จัดระยะของก้อนมะเร็ง และความพร้อมของโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลรักษา
- ระยะที่ 2 ถึงระยะที่ 4
รักษาได้โดยการให้รังสีรักษาร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือเข้าร่วมในการศึกษาวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับยาต้านมะเร็งชนิดใหม่ หรือสูตรยาเคมีบำบัดร่วมกันหลายชนิดสูตรใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ป่วย ญาติและทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา
แหล่งข้อมูล:
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.