เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 5
- โดย รศ.ดร.นพ.บัณฑิต ชุมวรฐายี
- 11 กันยายน 2556
- Tweet
วิธีจัดระยะของโรคมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร?
ก่อนที่จะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสหูดหงอนไก่จะทำให้มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ปากมดลูกก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม (Carcinoma in situ) ในระยะก่อนมะเร็งนี้มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นแล้วก็จริง แต่เซลล์มะเร็งจะยังคงอยู่ภายในชั้นของเยื่อบุผิวปากมดลูก ไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อปากมดลูก จึงยังไม่ถือว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการผิดปกติเลย แต่สามารถตรวจพบความผิดปกตินี้ได้จากการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าหากผลจากการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดออกมา (หรือการตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งจะทำต่อไปจากการตรวจคัดกรองที่ผิดปกติ หรือในกรณีที่ตรวจพบรอยโรคที่ปากมดลูกด้วยตาเปล่า) พบว่ามีการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าไปในเนื้อของปากมดลูก ซึ่งอยู่ถัดเข้าไปจากชั้นเยื่อบุผิวแล้วละก็ หมายความว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งแล้ว ต้องดำเนินการจัดแบ่งระยะของโรคในผู้ป่วยรายนั้นๆ ต่อไป เพื่อวางแผนในการรักษา
หลังจากที่สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว (จากผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาดังกล่าว) แพทย์ก็จะสั่งทำการสืบค้น/ตรวจ ทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อตรวจหาดูว่าเซลล์มะเร็งได้ลุกลามเข้าไปในเนื้อของปากมดลูก หรือลุกลามแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายมากเพียงใดแล้ว
กระบวนการที่ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นนี้ เรียกว่า การจัดระยะโรคมะเร็ง (Staging) ข้อมูลต่างๆที่ได้มาจากกระบวนการจัดระยะนี้ จะถูกนำมาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อตัดสินว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะใด ทั้งนี้ มีความสำคัญที่จะต้องทราบระยะของโรคเสียก่อน เพื่อจะได้ใช้วางแผนในการรักษาต่อไป การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการและหัตถการต่างๆต่อไปนี้ อาจถูกนำมาใช้เพื่อการจัดระยะโรค เช่น
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ของปอด
- การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ของหลอดน้ำเหลืองของขาและอุ้งเชิงกราน
- การผ่าตัดเพื่อการจัดระยะก่อนการรักษา (โดยปกติแล้วใช้เพื่อการศึกษาวิจัย)
- การตรวจอุ้งเชิงกรานและช่องท้องด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์)
- การถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กคอมพิวเตอร์ (เอมอาร์ไอ)ของอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
- การส่องกล้องตรวจดูกระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก
- การตรวจภายในร่วมกันระหว่างนรีแพทย์มะเร็งและรังสีแพทย์
ทั้งนี้ ผลการตรวจเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลใช้ร่วมกัน กับผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาของก้อนมะเร็ง เพื่อตัดสินระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก
แหล่งข้อมูล:
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.