เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 2

สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง?

สาเหตุที่สำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาวิจัยจนทราบแล้วในปัจจุบันก็คือ การติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่หรือเอชพีวี (Human papillomavirus: HPV) บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก การมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ (ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายที่มีเชื้อจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นจะเจริญก้าวหน้าต่อไป จนกระทั่งกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า และปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ หรือเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้นก็ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย หรือการที่สามีมีคู่นอนหลายคน (แม้ได้ใส่ถุงยางอนามัยแล้วก็ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อจากคู่นอนรายอื่นได้ 100% อย่างในโรคเอดส์) เป็นต้น ปัจจัยอื่นๆนอกจากนี้ล้วนเป็นเพียงปัจจัยส่งเสริมหรือปัจจัยร่วม ที่จะทำให้โรคการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่คืบหน้ารุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ปัจจัยร่วมเหล่านี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ก็ได้แก่

  1. การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูป/กลายพันธ์ของเซลล์ปากมดลูกมาก เซลล์ของปากมดลูกในระยะนี้จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูง โดยเฉพาะเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่
  2. การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร จำนวนครั้งของการคลอดบุตรหากมากกว่า 4 ครั้ง จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น 2-3 เท่า
  3. มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น เริมอวัยวะเพศ ซิฟิลิส และหนองใน ร่วมด้วย
  4. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ เช่น ถ้านานกว่า5 ปี และ 10 ปี ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 และ 2.5 เท่า ตามลำดับ
  5. ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใดๆ มาก่อนเลย
  6. การสูบบุหรี่
  7. ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น การเป็นโรคเอดส์ และการได้รับยาที่มีผลในการกดภูมิคุ้มกัน
  8. สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ

แหล่งข้อมูล:

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.