เส้นผมตำเท้า หรือ เส้นผมตำผิวหนัง (Hair splinter)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คืออะไร? เกิดได้อย่างไร? เกิดบ่อยไหม?
- ผมตำเท้าก่ออาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดผมตำเท้า?
- เอาออกเองได้ไหม?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์รักษาอย่างไร?
- ผมตำเท้ารุนแรงไหม?เกิดซ้ำๆได้ไหม?
- ป้องกันผมตำเท้าอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ผิวหนัง (Human skin)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
บทนำ: คืออะไร? เกิดได้อย่างไร? เกิดบ่อยไหม?
เส้นผมตำเท้า(Hair splinter) คือ ภาวะเส้นผม’ตำ/แทง’เข้าผิวหนังชั้นนอกของฝ่าเท้า แต่ก็พบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน ซึ่งสามารถเห็นเส้นผมที่ตำแหน่งถูกตำได้ด้วยตาเปล่า มักเห็นเป็นเส้น/สายยาวประมาณ2-3ซม.ฝังอยู่ในหนังกำพร้าชั้นบน ความยาวของเส้นผมขึ้นกับเส้นผมที่ตำ อาการเช่นเดียวกับถูกเสี้ยนชนิดต่างๆตำ คือ เจ็บผิวส่วนที่ถูกตำโดยเฉพาะเมื่อถูกกดทับ
เส้นผม จัดเป็นเสี้ยนชนิดหนึ่ง การถูกเส้นผมตำมักเกิดที่’ฝ่าเท้า’จากการเหยียบเส้นผม มักเป็นผมของคน หรือ ผมปลอม/วิกผม/เส้นผมสังเคราะห์ แต่เกิดจากขนสัตว์ได้บ้าง หลักการรักษาคือ ถอนเสี้ยนผมออกด้วยวิธีเหมือนวิธีถอนเสี้ยนทั่วไป คือ เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังถอนเสี้ยนด้วยคีมหรือแหนบที่สะอาด หรือ พบแพทย์เมื่อไม่แน่ใจ
ผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง เกิดได้กับ’ผิวหนังทุกส่วนของร่างกายที่รวมถึงหนังศีรษะ’ แต่ประมาณ80-90%พบที่’ฝ่าเท้า’จากเดินด้วยเท้าเปล่าหรือแม้แต่เป็นเส้นผมติดอยู่ในถุงเท้า รองลงมาคือที่ นิ้วมือ ฝ่ามือ จมูกเล็บ โคนเล็บ โดยมักเกิดจากเส้นผมสั้นๆ, มักเกิดตามหลังมีการตัดผมใหม่ๆ, และมักพบในคนเอเชียสูงกว่าชาติอื่นเพราะผมคนเอเชีย/ผมสีดำ จะแข็งกว่า หนากว่า และมักเป็นเส้นตรง จึงตำผิวฯได้ง่ายกว่า ซึ่งเมื่อผมถูกตัด ปลายผมมัก เฉียง และ/หรือ แหลมคมกว่าจึงตำได้ง่ายกว่า
ผิวหนังส่วนที่ถูกเส้นผมตำได้ง่ายมักเป็นส่วนที่อ่อนนุ่ม,ชื้นง่าย,และมีแรงกด/เสียดสีให้ผมทิ่มตำเข้าผิวตรงส่วนนั้นได้ง่าย ซึ่งการทิ่มตำจะเช่นเดียวกับจากเสี้ยนต่างๆทุกชนิด เช่น เศษของ ไม้ แก้ว พลาสติก โลหะ กระดูกสัตว์
ผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนังพบได้ทุกเพศ ทุกวัย พบทั่วโลก แต่มักพบในคนเอเชียดังกล่าวแล้ว ภาวะนี้พบน้อย จึงยังไม่มีรายงานสถิติเกิด เป็นเพียงรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งคราว
อนึ่ง:ชื่ออื่นของภาวะนี้ คือ Hair silver และศัพท์แพทย์ คือ Cutaneous pili migrans
ผมตำเท้าก่ออาการอย่างไร?
ผมตำเท้าก่ออาการอย่างไร?
อาการจากผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง จะเช่นเดียวกับถูกหนามจากวัสดุอื่นๆทิ่มตำ และเกิดได้ทั้งจากผมคน,เส้นผมเทียม,และ/หรือ ขนสัตว์(มักเป็นชนิดขนค่อนข้างแข็ง) ซึ่งจากที่เส้นผมนุ่มกว่าเสี้ยนชนิดอื่น จึงมักทิ่มตำได้ลึกแค่ผิวหนังชั้นตื้นๆ อาการต่างๆจึงน้อยกว่าจากถูกวัสดุอื่นตำ
อาการจากผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนังเป็นอาการเกิดเฉพาะที่ ผิวหนังส่วนถูกตำ มักเป็นอาการเฉียบพลัน เช่น
- เจ็บแปลบๆตรงปากทางผมแทงเข้าและ/หรือตามแนวเส้นผม โดยเฉพาะเมื่อผิวส่วนนั้นถูกกด/เสียดสี เช่น เมื่อเดินในกรณีตำที่ฝ่าเท้า
- ‘ไม่มีอาการคัน’ที่ผิวฯส่วนถูกตำ(แพทย์ใช้แยกจากกรณีของพยาธิไชเท้า/ไชผิวหนัง ที่มักมีอาการคันบริเวณถูกตำร่วมด้วย)
- ผิวฯส่วนนั้นหรือตามแนวเส้นผมที่ตำอาจออกสีชมพูหรือแดงจากการบาดเจ็บ/อักเสบของผิวฯส่วนนั้น และเห็นเป็นเส้นเล็กยาว,ตรง, มีสีตามสีผมซึ่งดังกล่าวแล้วว่ามักเป็นสีดำ เสี้ยนผมมักอยู่กับที่ อาจเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย(เป็นอีกอาการที่แพทย์ใช้แยกจากกรณีของพยาธิไชเท้า/ไชผิวหนังที่มักจะขยุกขยิกและ เคลื่อนที่/เปลี่ยนที่ได้)
- ถ้าอักเสบติดเชื้อ ส่วนถูกตำมัก บวม เจ็บมากขึ้น อาจคลำได้เป็นก้อนเจ็บ
- ถ้าติดเชื้อ มักมีสารคัดหลั่ง อาจเป็นน้ำเหลืองหรือหนองไหลจากปากแผลถูกตำ อาจร่วมกับมีไข้ต่ำๆ
อนึ่ง: แพทย์มักแยกจากโรค/ภาวะจากการไชของตัวอ่อนพยาธิปากขอที่
ไชเข้าผิวหนัง ที่เรียกว่า ‘Cutaneous larva migrans’ ซึ่งความแตกต่างคือ
- เส้นของเสี้ยนพยาธิมักมีสีออกแดงหรือชมพูหรือขาวตามสีของพยาธิ และเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตจึงมักดิ้น/เคลื่อนที่ได้ ขยุกขยิก ไม่เป็นเส้นตรง ที่สำคัญคือ มักก่ออาการคันที่ผิวส่วนนั้น อาจร่วมกับเจ็บเล็กน้อย
- การรักษาหลักคือ กินยาถ่ายพยาธิ และ
- ตัวอ่อนพยาธิฯไช มักพบในคนที่ชอบเดินเท้าเปล่าบน ดิน ทราย และ/หรือ มีอาชีพ ทำสวน ทำนา ทำไร่ จากการเหยียบย่ำดิน/น้ำที่มีพยาธิฯปนเปื้อนอยู่
- มักไม่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเส้นผมตำ(กล่าวในหัวข้อถัดไป)
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดผมตำเท้า?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง ได้แก่
- ช่างตัดผม, ช่างทำผม, ที่รวมถึงการต่อผม, ทำวิกผม
- ช่างตัดขนสัตว์ อาบน้ำสัตว์
- คนที่ชอบ ตัด/เล็มผม, แต่งผม, มีผมร่วง
- ไว้ผมสั้น เพราะสภาพผมมักแข็งกว่า
- หลังตัดผมใหม่ๆ เพราะอาจมีผมที่ถูกตัดที่ปลายผมมักคมตกค้างบนเนื้อตัว/หนังศีรษะ และตกบนพื้นได้ง่าย
- คนที่ทำงานเกี่ยวกับผม ทั้งผมคนและขนสัตว์
เอาออกเองได้ไหม?เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง ที่แน่ใจว่าเป็นเส้นผมตำเท้า, ไม่มีอาการของการอักเสบ บวม แดง เจ็บมาก, แผลไม่มีน้ำเหลืองหรือหนอง, และมองเห็นเส้นผมชัดเจน, การดูแลตนเอง คือ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำประปาและสบู่ ซับผิวหนังส่วนนั้นให้แห้งด้วยผ้าสะอาด เช็ดผิวหนังส่วนนั้นรวมถึงปากทางเข้าของเส้นผมด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์หรือน้ำยาเบตาดีน(Povidone iodine) ใช้เทปกาวสะอาดปิดตรงปากแผลให้เส้นผมติดเทปฯแล้วดึงออก เช็ดปากแผลด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์หรือเบตาดีน(Povidone iodine)ปิดทับด้วยเทปปิดแผล
ควรรีบพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ/ไม่ควรดูแลตนเอง เมื่อ
- เป็นผู้ป่วยเด็ก เพราะจะดูแลเด็กที่บ้านได้อยากโดยเฉพาะในการบ่งเอาเส้นผมออก
- มีอาการมากที่แผล หรือ แผลติดเชื้อตั้งแต่แรกพบ เช่น
- ปวด/เจ็บแผลมาก
- แผลติดเชื้อ (บวมแดง มีน้ำเหลืองหรือมีหนอง)
- แผลตำลึก
- ถูกตำในตำแหน่งที่เอาเส้นผมออกเองได้ยาก
- ตำแหน่งเส้นผมตำอยู่ใกล้ตา
- ไม่แน่ใจว่าเป็นแผลจากถูกอะไรตำ
- ไม่แน่ใจว่าจะเอาเส้นผมออกเองได้
- หลังนำเส้นผมออกได้แล้วด้วยตนเอง แต่ยังเจ็บแผลมากและ/หรือมีอาการผิวส่วนนั้นติดเชื้อ
แพทย์รักษาอย่างไร?
ผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง เป็นโรค/ภาวะที่ไม่รุนแรง รักษาได้หายเสมอ การรักษาจะเป็นแบบผู้ป่วยนอก(โอพีดี/OPD: Outpatient department)ซึ่งการรักษาหลักที่จำเป็น คือ
- เอาเส้นผมออกจากผิวหนังที่ถูกตำถึงแม้ไม่มีอาการ เพราะการทิ้งเส้นผมไว้ในผิวหนังเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่ผิวหนังส่วนนั้น นอกจากนั้นการทิ้งเส้นผมค้างไว้นาน ร่างกายจะมีปฏิกิริยาซ่อมแซมผิวหนังส่วนนั้น เช่น บวมและก่อให้เกิดเป็นเนื้อเยื่อพังผืดซึ่งจะส่งผลให้หัตถการทางการแพทย์ในการสะกิดผิวหนังนำเส้นผมออกจะยุ่งยากและผิวหนังส่วนนั้นจะบอบช้ำมากขึ้น จึงมีโอกาสติดเชื้อสูงและรุนแรงได้
อนึ่ง: ทั่วไป การรักษาจากแพทย์ ได้แก่
- ใช้หัตถการทางการแพทย์สะกิดเอาเส้นผมออกซึ่งทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก มักใช้เวลาประมาณ 10-15นาที
- หลังจากนั้น ทาแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และครีมยาปฏิชีวนะ ปิดแผล และให้คำแนะนำในการดูแลแผลจนกว่าแผลจะหายซึ่งทั่วไปประมาณ 2-3 วัน
- อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน(เช่น ยาไดคลอกซาซิลลิน) และ/หรือแนะนำการฉีดวัคซีนวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์เพื่อการป้องกัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และความรุนแรงของอาการ
- แพทย์อาจนัดหรือไม่นัดตรวจซ้ำก็ได้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และความรุนแรงของอาการ
ผมตำเท้ารุนแรงไหม?เกิดซ้ำๆได้ไหม?
ผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง ทั่วไปเป็นโรค/ภาวะไม่รุนแรง หายได้ด้วยวิธีรักษาเหมือนดูแลรักษาหนามตำในส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่ออาการไม่รุนแรงและอยู่ในตำแหน่งที่ดูแลได้ง่ายก็สามารถถอนหนาม/เสี้ยนเส้นผมออกและดูแลได้ด้วยตนเอง
*ผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนังสามารถถูกตำซ้ำๆได้เสมอเช่นเดียวกับหนาม/เสี้ยนจากวัสดุอื่นๆโดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ
ป้องกันผมตำเท้าอย่างไร?
วิธีที่อาจช่วยลดโอกาสเกิดผมตำเท้า/เส้นผมตำเท้า/เส้นผมตำผิวหนัง เช่น
- สวมรองเท้าเดินในบ้านเสมอ โดยรองเท้าหัวปิดจะป้องกันได้ดีกว่าแบบหัวเปิด
- สวมถุงเท้า/รองเท้าเสมอขณะทำงานเกี่ยวกับผม
- มีเสื้อคลุมเมื่อทำงานเกี่ยวกับผม/ขนสัตว์
- หลังทำงานเกี่ยวกับเส้นผม ควรทำความสะอาด มือ เท้า ร่างกาย
- สำรวจมือ/เท้า/ผิวหนังที่รู้สึกผิดปกติเพื่อช่วยให้พบภาวะนี้ได้เร็วขึ้นในขณะยังไม่เกิดการติดเชื้อ
- ทำความสะอาดพื้นบ้าน/ที่ทำงานโดยเฉพาะหลังกิจกรรมเกี่ยวกับผม
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Splinter [2022,May7]
- https://www.healthline.com/health/hair-splinter [2022,May7]
- https://www.karger.com/Article/Abstract/520573 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4135118/ [2022,May7]
- https://speciality.medicaldialogues.in/rare-case-of-cutaneous-pili-migrans-a-report [2022,May7]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4135118/ [2022,May7]