ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 5 มีนาคม 2560
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาโอทีซี (OTC Drugs) ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์ (Over-the-counter drugs)
- เอนไซม์อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitor drugs)
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
- เอนไซม์อินดิวเซอร์ (Enzyme inducer drugs)
- ยาถ่ายพระพยาธิคือยาอะไร?
- ยาถ่ายพยาธิแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- ยาถ่ายพยาธิมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาถ่ายพยาธิมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- ยาถ่ายพยาธิมีข้อห้ามใช้อย่างไร?
- มีข้อควรระวังอย่างไรในการใช้ยาถ่ายพยาธิ?
- การใช้ยาถ่ายพยาธิในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาถ่ายพยาธิในผู้สูงอายุในควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาถ่ายพยาธิในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาถ่ายพระพยาธิคือยาอะไร?
ยาถ่ายพยาธิ(Anthelmintic Drugs หรือ Anthelmintics หรือ Antiparasitic drugs) หมายถึง ยาที่ออกฤทธิ์ให้พยาธิขาดพลังงาน หรือเป็นอัมพาต ทำให้ร่างกายสามารถขับพยาธิออกมาได้ทางการถ่ายอุจจาระ ยาถ่ายพยาธิเป็นยาที่ใช้ถ่ายพยาธิได้ทั้งในคนและในสัตว์ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า แกะ และวัว
ยาถ่ายพยาธิแบ่งเป็นกี่ประเภท?
ยาถ่ายพยาธิ แบ่งประเภทต่างๆตามโครงสร้างทางเคมีได้ดังนี้
1. ยาพิเพอราซีน (Piperazine)
2. ยากลุ่มอนุพันธ์ของสารประกอบเตตระไฮโดรไพริมิดีน (Tetrahydropyrimidine derivatives) เช่นยา ไพแรนเทล (Pyrantel), อ๊อกแซนเทล (Oxantel)
3. ยากลุ่มสารประกอบอิมิดาโซลไทอะโซล (Imidazothiazole derivatives) เช่นยา เลวาไมโซล (Levamisole)
4. ยากลุ่มอนุพันธ์ของสารประกอบเบนซิมิดาโซล (Benzimidazole derivatives) เช่นยา มีเบนดาโซล (Mebendazole), อัลเบนดาโซล (Albendazole), ไธอะเบนดาโซล (Thiabendazole), ฟลูเบนดาโซล (Flubendazole), ไตรคลาเบนดาโซล (Triclabendazole)
5. ยากลุ่มอนุพันธ์ของสารประกอบซาลิซีลานิไลด์ (Salicylanilides derivatives) เช่นยา นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)
6. ยาไดเอทิลคาร์บามาซีน (Diethylcarbamazine)
7. ยาพราซิควอนเทล (Praziquantel)
8. ยาไพร์วิเนียม (Pyrvinium)
9. ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
ยาถ่ายพยาธิมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาถ่ายพยาธิมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
ยาถ่ายพยาธิมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ยาถ่ายพยาธิมีข้อบ่งใช้ เช่น
ก. กรณีใช้ยานี้ขนาดต่ำในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อกำจัดโรคพยาธิในลำไส้: เช่น โรคพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis), โรคพยาธิปากขอ (Ancylostomiasis, Necatoriasis), โรคพยาธิตัวตืด (Taeniasis), โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis), โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis), โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis), โรคพยาธิใบไม้ในตับ (Clornorchiasis, Opisthorchiasis), โรค Giadiasis ในเด็ก และกำจัดตัวอ่อนของพยาธิที่เคลื่อนที่อยู่ใต้ผิวหนัง (Cutaneous larva migrans)
ข. กรณ๊ใช้กำจัดโรคพยาธิที่อยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายโดยใช้ยาขนาดสูงขึ้น และเป็นระยะเวลานานขึ้น: เช่น โรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis), โรคเท้าช้าง (Filariasis), โรคพยาธิตาบอด (River blindness, Onchocerciasis), โรคพยาธิตืดหมูในระบบประสาท (Neurocysticercosis), โรคพยาธิตืดหมูในลูกตา (Ocular cysticercosis), โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)
ยาถ่ายพยาธิมีข้อห้ามใช้อย่างไร?
ยาถ่ายพยาธิมีข้อห้ามใช้ เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ยา Praziquantel รักษาโรคพยาธิตืดหมูในลูกตา (Ocular cysticercosis) เพราะอาจทำให้ลูกตาได้รับบาดเจ็บจากพยาธิที่ตายแล้ว
3. ห้ามใช้ยา Ivermectin ในผู้ป่วยที่มี Blood-brain barrier (กลไกที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมในหลอดเลือดของสมองไม่ให้เข้าสู่เนื้อเยื่อสมอง)ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะอาจทำให้ยาผ่านเข้าสู่สมองได้มากขึ้นจนทำให้เกิดพิษต่อสมองจนเป็นอันตรายได้
มีข้อควรระวังอย่างไรในการใช้ยาถ่ายพยาธิ?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาถ่ายพยาธิ เช่น
1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Piperazine ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของโรคลมชักแย่ลง
2. ระวังการใช้ยา Piperazine ร่วมกับยา Chlorpromazine เพราะยา Piperazine ในขนาดสูงจะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาChlorpromazine ทำให้เพิ่มโอกาสเกิดการชักได้มากขึ้น
3. ระวังการใช้ยา Piperazine ร่วมกับยา Pyrantel เพราะยา Pyrantel จะต้านการออกฤทธิ์ของยา Piperazine
4. ระวังการใช้ยากลุ่ม Tetrahydropyrimidine derivatives, Benzimidazole derivatives ในผู้ที่มีการทำงานของตับบกพร่อง เพราะยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ส่งผลให้ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้อาการของโรคตับแย่ลง
5. ยาNiclosamide มีผลทำลายทั้งส่วนหัวและส่วนปล้องของพยาธิ แต่ไม่มีผลต่อไข่ของพยาธิ จึงต้องให้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกร่วมด้วย เช่นยา Bisacodyl เพื่อเร่งการบีบตัวของลำไส้/เร่งการระบายอุจจาระเพื่อป้องกันไม่ให้มีไข่ตกค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหาร
6. ยา Niclosamide เป็นยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นควรรับประทานยาต้านอาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้ เช่น Domperidone หรือ Meclopramide ร่วมด้วย
7. ยาที่มีผลรบกวนการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ได้แก่ ยากลุ่ม Enzyme inhibitor เช่นยา Cimetidine จะทำให้ระดับของยา Praziquantel ในเลือดเพิ่มขึ้น, หรือยากลุ่ม Enzyme inducer เช่น ยากลุ่ม Corticosteroids, Phenytoin และ Carbamazepine จะทำให้ระดับของยา Praziquantel ในเลือดลดลง ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนยาที่ใช้รักษา โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์โดยจะประเมินจากประโยชน์ของยาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ
8. ระวังการใช้ยา Praziquantel ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
9. ยา Pyrvinium เป็นยาที่ทำให้อุจจาระและอาเจียนมีสีแดง ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ และอาการนี้จะหายไปได้เองภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังจากหยุดยานี้
การใช้ยาถ่ายพยาธิในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาถ่ายพยาธิในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1. หากหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคพยาธิ ควรเข้ารับการรักษาและใช้ยาถ่ายพยาธิตามดุลพินิจของแพทย์ เพราะอาการของโรคพยาธิขั้นรุนแรงทำให้เกิดโรคโลหิตจางในมารดาและอาจรวมถึงทารกในครรภ์ น้ำหนักตัวของทารกแรกคลอดลดลง และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์
2. ยาถ่ายพยาธิที่สามารถใช้ได้ขณะตั้งครรภ์ เช่น Mebendazole, Albendazole, Niclosamide, และ Ivermectin แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์หลังจากนั้น สามารถเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ได้ เพื่อแพทย์ตรวจติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์
3. ไม่ควรใช้ยา Pyrantel, Praziquantel และ Diethylcarbamazine ในขณะที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แพทย์จะพิจารณาใช้เมื่อจำเป็นและมารดามีอาการรุนแรงจริงๆจากพยาธิเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ใช้ยา Praziquantel เพื่อรักษาโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)
การใช้ยาถ่ายพยาธิในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ยังไม่มีรายงาน พบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาถ่ายพยาธิในผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ
การใช้ยาถ่ายพยาธิในเด็กควรเป็นอย่างไร?
เด็กที่ป่วยเป็นโรคพยาธิสามารถใช้ยาถ่ายพยาธิเพื่อรักษาโรคได้ โดยปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและยังมีโรคพยาธิอยู่ อาจส่งผลให้เด็กเกิดภาวะทุพโภชนาการ โรค/ภาวะโลหิตจาง และ/หรือมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญาด้อยกว่าปกติ
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นอย่างไร?
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาถ่ายพยาธิได้ดังนี้ เช่น
1. ยา Piperazine: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม มึนงง ปวดท้อง ท้องเสีย มองภาพไม่ชัด มีไข้ ปวดข้อ
2. ยากลุ่ม Tetrahydropyrimidine derivatives: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม มึนงง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
3. ยากลุ่ม Benzimidazole derivatives: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
4. ยา Levamisole: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง การรับรสและกลิ่นผิดปกติ เหนื่อยล้า มึนงง ปวดศีรษะ
5. ยา Niclosamide: ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง มึนงง ง่วงซึม การรับรสผิดปกติ
6. ยา Diethylcarbamazine: ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงซึม
7. ยา Praziquantel: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ปวดท้อง วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงซึม ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ชัก
8. ยา Pyrvinium: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ผิวหนังไวต่อแสงแดด
9. ยา Ivermectin: ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ ผื่นคัน หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ ท้องเสีย มึนงง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy Review. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นานนะภงค์, 2555.
- ณัฐวุธ สิบหมู่. เภสัชวิทยา เนื้อหาสำคัญและแบบฝึกหัด. กรุงเทพมหานคร : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2552.
- Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.