ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ที่ออกฤทธิ์ได้ดีต่อเชื้อแบคทีเรียชนิด Gram - Positive bacteria เช่น Staphylococcus aureus วงการ แพทย์มักนำยานี้มาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน คณะกรรมการอาหารและยาโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้บรรจุไดคลอกซาซิลลินลงในบัญชียาหลักแห่ง ชาติ ทำให้ยานี้ถูกนำไปใช้ในหลายสถานพยาบาลทั่วประเทศ

สำหรับการกระจายตัวของไดคลอกซาซิลลิน เมื่ออยู่ในกระแสเลือดพบว่า ปริมาณยาประ มาณ 98% จะจับกับโปรตีนในกระแสเลือดและถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 42 นาทีในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและ อุจจาระ

ไดคลอกซาซิลลินถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางรายได้ ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาไดคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไดคลอกซาซิลลิน

ยาไดคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ หู คอ จมูก ปอด ผิว หนัง กระดูก ข้อต่อ หรือกระเพาะปัสสาวะ

ยาไดคลอกซาซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดคลอกซาซิลลินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างโปรตีนที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการทำลายของผนังเซลล์ จึงหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ /แบคทีเรียในที่สุด

ยาไดคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้ เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูลขนาดความแรง 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนขนาดความแรง 62.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาไดคลอกซาซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดคลอกซาซิลลินมีขนาดรับประทานดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง
  • เด็ก: ให้คำนวณตามน้ำหนักตัวของเด็ก โดยรับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 4 ครั้ง

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ รับประทานหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
  • การรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา โดยรับประทานอย่างต่อ เนื่องถึงแม้อาการจะดีขึ้นก็ยังต้องรับประทานต่อจนครบตามขนาดการรักษา ทั้งนี้เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
  • ขนาดยานี้ และระยะเวลาในการใช้ยา ที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดคลอกซาซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไดคลอกซาซิล ลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดคลอกซาซิลลินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไดคลอกซาซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดคลอกซาซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • รู้สึกปั่นป่วนและมีแก๊สในช่องท้อง
  • ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้นหลังหยุดใช้ยา
  • หากผู้ป่วย
    • มีอาการท้องเสีย แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยน้ำให้กับร่างกาย
    • แต่ถ้าพบว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระและ/หรือปวดท้อง ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาโดยทันที

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดคลอกซาซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดคลอกซาซิลลินดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาไดคลอกซาซิลลิน โดยสังเกตอาการหลังรับประทานยาแล้วมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หายใจลำบาก และ/หรือ ปากบวม หรือ ตาบวม
  • ควรแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Cephalosporin เช่น Cefaclor, Cefalexin, หรือ Cefuroxime
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ
    • ผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
    • ผู้ป่วยที่มีไขกระดูกทำงานต่ำ
    • ผู้ที่มีภาวะเกลือโซเดียมเกินในร่างกาย
    • ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีสารคัดหลั่งข้นผิดปกติที่เรียกว่า โรคCystic fibrosis
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • การใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดคลอกซาซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไดคลอกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดคลอกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การรับประทานยาไดคลอกซาซิลลินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเช่น Warfarin สามารถ ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ดังกล่าวด้อยประสิทธิ ภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาทั้งคู่ให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาไดคลอกซาซิลลินพร้อมอาหาร จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยานี้ลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมอาหาร
  • การรับประทานยาไดคลอกซาซิลลินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้ป่วยหญิงบางราย อาจทำให้ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยลงไปและอาจเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงควรต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษายาไดคลอกซาซิลลินอย่างไร

สามารถเก็บยาไดคลอกซาซิลลิน เช่น

  • เก็บยานี้ในที่มีอุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
    • แต่ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้ว ให้เก็บภายในตู้เย็นภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส ห้ามแช่ในช่องแช่แข็ง
    • และหากใช้ยาน้ำดังกล่าวไม่หมดภายใน 14 วัน ให้ทิ้งยานั้น และห้ามนำมารับประทานต่อ
  • ควรเก็บยาทุกรูปแบบให้พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาไดคลอกซาซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดคลอกซาซิลลินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dicillin (ไดซิลลิน) Inpac Pharma
Diclex (ไดเคลก) Meiji
Diclocillin (ไดโคลซิลลิน) T.O. Chemicals
Diclohof (ไดโคลฮอฟ) Pharmahof
Diclonox (ไดโคลน็อก) Charoen Bhaesaj Lab
Diclox (ไดคลอก) P P Lab
Dicloxa Osoth (ไดคลอกซา โอสถ) Osoth Interlab
Dicloxa RX (ไดคลอกซา อาร์เอ็กซ์) R.X.
Dicloxacillin Community Pharm (ไดคลอกซาซิลลิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Dicloxacillin Lam Thong (ไดคลอกซาซิลลิน แหลมทอง) Lam Thong
Dicloxacillin Medicpharma (ไดคลอกซาซิลลิน เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Dicloxane (ไดคลอกแซน) Suphong Bhaesaj
Dicloxcin (ไดคลอกซิน) Suphong Bhaesaj
Dicloxgen 500 (ไดคลอกเจน 500) General Drugs House
Dicloxia (ไดคลอกเซีย) Asian Pharm
Dicloxilin (ไดคลอกซิลิน) Siam Medicare
Dicloxman (ไดคลอกแมน) T. Man Pharma
Dicloxno (ไดคลอกโน) Milano
Dicloxpac (ไดคลอกแพ็ก) Inpac Pharma
Di-K-Cil (ได-เค-ซิล) T P Drug
Diloxin (ไดโลซิน) Pond’s Chemical
Dixocillin (ไดโซซิลลิน) Siam Bheasach
Dorox (โดร็อก) M & H Manufacturing
GPO Diclox (จีพีโอ ไดคลอก) GPO
U-Diclox (ยู-ไดคลอก) Utopian

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dicloxacillin [2019,Dec14]
  2. https://www.drugs.com/pro/dicloxacillin.html [2019,Dec14]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00485 [2019,Dec14]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/dicloxacillin-index.html?filter=3&generic_only= [2019,Dec14]