ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นปัจจัยในการสมานแผล?
- ควรทำความสะอาดและดูแลรักษาบาดแผลอย่างไร?
- ตัวยาใช้บ่อยในการดูแลแผล
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก(External Use drug)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย(Bacterial infection)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
บทนำ
แผล (wound) คือ การบาดเจ็บของผิวหนังหรือของอวัยวะภายในของร่างกายมนุษย์ อาจจำแนกอย่างกว้างๆเป็น 2 กลุ่มคือ
- แผลเปิด (Open wound) และ
- แผลปิด (Closed wound)
ก. แผลเปิด (Open wound): คือ แผลชนิดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา โดยมีร่องรอยบาดแผลตามสาเหตุของการเกิด เช่น แผลมีดบาดหรือถูกของมีคม แผลถลอก แผลฉีกขาดจากการถูกกัด แผลจากวัตถุปลายแหลมทิ่มแทง แผลจากกระสุน เป็นต้น
ข. แผลปิด (Closed wound): คือ แผลชนิดที่ไม่สามารถมองเห็นจากผิวหนังด้านนอก แผล จำพวกนี้มักเกิดใต้ผิวหนังเช่น แผลที่เกิดจากการกระแทกและมีรอยฟกช้ำ ซึ่งอาการเขียวช้ำเกิดจากหลอดเลือดฝอยภายใต้ผิวหนังฉีกขาดและเกิดภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ แผลปิดยังอาจรวมไปถึงแผลที่เรื้อรังด้วยขบวนการฟื้นสภาพการรักษาแผลเป็นไปได้ช้า เช่น แผลจากผู้ป่วยเบาหวาน หรือแผลฝีหนองที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจต้องใช้การผ่าออกหรือใช้ยาปฏิชีวนะร่วมในการรักษาด้วย
อะไรเป็นปัจจัยในการสมานแผล?
การสมานแผลหรือการประสานและฟื้นฟูสภาพของบาดแผล มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง อาทิเช่น
1. การดูแลทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้บาดแผลสกปรกหรือมีการติดเชื้อ
2. การพักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมบาดแผลด้วยตัวเอง
3. อายุเช่น ผู้สูงอายุ เมื่อเกิดบาดแผลมักจะหายช้าด้วยผิวหนังบางและขาดความยืดหยุ่น รวมไปถึงระบบหลอดเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงผิวหนังมีความสามารถน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว สำหรับ ทารกที่อายุไม่เกิน 1 ปี หากเกิดบาดแผลต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่แข็งแรงพอ จึงอาจเกิดภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อในบริเวณแผลและเป็นเหตุให้แผลหายช้าได้
4. สารอาหารที่รับประทานเข้าไปเพื่อช่วยซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอของร่างกายเช่น โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่/แร่ธาตุ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในการสมานและการฟื้นสภาพของบาดแผลทั้งสิ้น
5. สภาวะการเจ็บป่วยเช่น แผลตามปลายนิ้วมือ นิ้วเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักมีความ เสี่ยงการติดเชื้อบริเวณแผลร่วมด้วย เป็นสาเหตุให้แผลหายช้าและบางครั้งเกิดการลุกลามทำลาย อวัยวะที่เป็นแผลจนเกิดการพิการของอวัยวะที่เกิดแผลได้
6. การได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันก็เป็นสาเหตุให้การสมานแผลเป็นไปได้ช้าเช่นกัน
อนึ่ง: โดยทั่วไปร่างกายมนุษย์จะมีกลไกพิเศษในการรักษาบาดแผลได้เอง หากแต่ขาด ปัจจัยจำเป็นดังกล่าวมาแล้วก็อาจทำให้การสมานแผลเป็นไปได้ยาก หรือความเข้าใจผิดที่บอกต่อๆ กันมาโดยเฉพาะเรื่องการห้ามรับประทานอาหารบางกลุ่มจะทำให้แผลหายช้า เป็นอาหารแสลง เหล่านี้ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันและถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
ควรทำความสะอาดและดูแลรักษาบาดแผลอย่างไร?
ในสถานพยาบาลจะมีการดูแลรักษาบาดแผลที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ง่ายกับความเข้าใจจึงขอแยกรายละเอียดการรักษาตามชนิดของบาดแผลดังนี้
จากขั้นตอนการทำความสะอาดบาดแผลเป็นขั้นตอนที่ทางสถานพยาบาลเป็นผู้ทำการรัก ษา ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าที่กล่าวไว้
อนึ่ง: สำหรับชุดและยาทำแผลที่ควรมีไว้ประจำบ้าน มีดังนี้ เช่น
- น้ำเกลือล้างแผล
- น้ำยาโพวิโดนไอโอดีนโซลูชั่น /เบตาดีน
- แอลกอฮอล์ 70%
- น้ำยาไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์
- ผ้าก๊อส
- สำลี
- เทปติดแผล เช่น ไมโครพอร์(Micropore)
ตัวยาใช้บ่อยในการดูแลแผล
ตัวยาใช้บ่อยในการดูแลแผล คือ น้ำเกลือล้างแผล, โพวิโดนไอโอดีน, แอลกอฮอล์ 70%, ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์, และซิงค์ ไฮอะลูโรเนท
Saline 0.9% For Irrigation (น้ำเกลือล้างแผล)
เป็นสารละลายน้ำเกลือที่ใช้ชำระล้างทำความสะอาดแผลมีความเข้มข้น 0.90% ขณะใช้ล้างแผลจะไม่รู้สึกแสบแผลมากนัก นอกจากนี้น้ำเกลือล้างแผลบางตำรับยังถูกนำไปใช้ล้างคอนแทคเลนส์จัดเป็นประโยชน์ที่ได้เพิ่มเติม ด้วยน้ำเกลือล้างแผลไม่มีสารกันบูดผสมอยู่ในสูตรตำรับ หากใช้ไม่หมดสามารถเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงเพราะอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียได้
สรรพคุณ: ใช้ชะล้างทำความสะอาดแผลโดยเฉพาะกลุ่มแผลเปิด ช่วยชะล้างเอาสิ่งสกปรกที่มีขนาดเล็กๆออกได้ง่าย และก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลน้อย
รูปแบบการจัดจำหน่าย: ขนาดบรรจุขวด 100, 1000 มิลลิลิตร
ขนาด/วิธีการใช้: ชะล้างบาดแผลได้เท่าที่ต้องการหรือพิจารณาเห็นว่าบาดแผลสะอาดจนเป็นที่พอใจแล้ว
ข้อควรระวัง: ทุกครั้งที่เปิดใช้น้ำเกลือล้างแผลต้องปิดขวดให้สนิท ไม่ปล่อยให้สัมผัสอา กาศนานเกินไปเพื่อลดการปนเปื้อนจากแบคทีเรีย
การเก็บรักษา:
- สามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บให้พ้นมือเด็ก
- หากเปิดใช้เกิน 24 ชั่วโมง ให้เททิ้งไม่สมควรเก็บไว้
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Saline for Irrigation (ซาไลน์ ฟอร์ เออริเกชั่น) | General Hospital Product |
Klean & Kare (คลีนแอนด์แคร์) | A.N.B. |
Povidone Iodine (โพวิโดน ไอโอดีน)
เป็นยาใส่แผลที่ใช้ทาป้องกันและรักษาบาดแผลบริเวณผิวหนังที่มีใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมไปถึงยังมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ (Yeast/เชื้อราที่เป็นเซลล์เดียว), โรคติดเชื้อไวรัส, และ โปรโตซัว (Protozoa เชื้อโรคที่เป็นสัตว์เซลล์เดียว/ โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว)
สรรพคุณ: ใช้ทาป้องกันและรักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
รูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ขนาดความเข้มข้น 10% บรรจุขวด 15, 30, 500 มิลลิลิตร
- ขนาดความเข้มข้น 10% บรรจุแกลลอน 4,500 มิลลิลิตร
ขนาด/วิธีการใช้: ทาบริเวณแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ข้อควรระวัง:
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ในเด็กแรกเกิด เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม เพราะอาจถูกดูดซึมและเป็นสาเหตุลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้
- ระวังการกระเด็นเข้าตา
การเก็บรักษา
- สามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bacteden (แบคทีดีน) | Macropha |
Betadine (เบตาดีน) | Mundipharma |
Betamed Solution (เบตาเมด โซลูชั่น) | Medicpharma |
Ipodine (ไอโพดีน) | GPO |
Isodine (ไอโซดีน) | Mejii |
P-Vidine (พี-วิดีน) | P P Lab |
Pactadine (แพคทาดีน) | Inpac Pharma |
Pharmadine (ฟาร์มาดีน) | T P Drug |
Alcohol 70% (แอลกอฮอล์ 70%)
ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำไปรับประทานได้ ในท้องตลาดมักจะผสมสีฟ้า และเพิ่มสารที่มีรสขมเพื่อป้องกันการนำไปดื่มแทนสุรา
สรรพคุณ: ใช้ทาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนัง
รูปแบบการจัดจำหน่าย: ขนาดความเข้มข้น 70% บรรจุขวด 15, 24, 30, 60, 450 มิลลิ ลิตร
ขนาด/วิธีการใช้: ทาฆ่าเชื้อที่ผิวหนังโดยทารอบบาดแผล ห้ามทาหรือเทราดบาดแผลโดยตรง เพราะจะระคายเคืองอีกทั้งรู้สึกแสบบริเวณแผลอย่างมากและทำให้แผลหายช้า
ข้อควรระวัง: ห้ามนำไปดื่มแทนสุราจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่น ตาบอด เป็นแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
การเก็บรักษา:
- เก็บในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- สามารถเก็บในอุณหภูมิห้อง
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หลังใช้ทำแผลต้องปิดขวดให้มิดชิด
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Denatured Ethanol 70% (ดีเนเจอร์เอทานอล 70%) | Mazo |
Alcohol Sahakarn (แอลกอฮอล์ สหการ) | The United Drug |
Alcohol UD (แอลกอฮอล์ ยูดี) | The United Drug |
Hydrogen Peroxide (ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์)
เป็นยาที่ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในแผลที่มีคราบหนองหรือคราบเลือด สามารถเจือจางและใช้อมบ้วนปากได้ ในทางทันตกรรมสามารถใช้ฟอกสีฟันเพื่อทำให้ฟันขาว
สรรพคุณ: ใช้ฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแผลที่มีคราบหนองหรือเลือดติดอยู่ที่บาดแผล ขณะใช้มักเกิดปฏิกิริยาเป็นฟองอากาศและทำให้คราบเลือด หนอง หรือเศษผิวหนังที่เปื่อยหลุดออกมา
รูปแบบการจัดจำหน่าย: ขนาดความเข้มข้น 6% บรรจุขวด 15, 24, 30, 60, 400 และ 450 มิลลิลิตร
ขนาด/วิธีการใช้: ทาบริเวณแผลที่มีคราบหนองหรือคราบเลือดตามปริมาณที่เหมาะสม หากใช้น้อยเกินไป พวกคราบหนอง เลือด จะหลุดออกมาได้ยากและแผลอาจจะติดเชื้อต่อได้ หรือถ้าใช้มากเกินไป จะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ดีถูกทำลายไปด้วย
ข้อควรระวัง:
- หากใช้อมบ้วนปากให้ระวังการกลืนลงท้อง ด้วยเป็นยาที่ให้ปริมาณแก๊สมากและกัดเนื้อ เยื่อของร่างกาย
- ไม่ควรใช้กับแผลสด แผลมีดบาด เพราะจะทำให้ระคายเคืองและแผลหายช้า
การเก็บรักษา
- เก็บในที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hydrogen Peroxide Sahakarn (ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ สหการณ์) | The United Drug |
Zinc Hyaluronate (ซิงค์ ไฮอะลูโรเนท)
จัดเป็นยาที่ใช้กับแผลเรื้อรัง โดยใช้กลไกการรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังและเป็นตัวกรองแบคทีเรียไม่ให้ไปสัมผัสกับบาดแผล จึงทำให้การสมานแผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรรพคุณ: รักษาบาดแผลเรื้อรังเช่น แผลกดทับ แผลจากโรคเบาหวาน แผลเปื่อยตามผิว หนัง
รูปแบบการจัดจำหน่าย: เจลบรรจุหลอด ขนาด 15 กรัม
ขนาด/วิธีการใช้: ทาบริเวณที่เป็นแผลเปื่อย แผลกดทับ แผลเบาหวาน เพื่อให้มีประสิทธิ ภาพในการรักษาควรปรึกษาแพทย์เภสัชกรเพื่อได้รับคำแนะนำการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง
ข้อควรระวัง: ระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
การเก็บรักษา:
- สามารถเก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้
- เก็บให้พ้นมือเด็ก
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Curiosin (คูริโอซิน) | Gedeon Richter |
บรรณานุกรม
1. Rippincott Williams & Wilkins Wound Care 2nd edition http://books.google.co.th/books[2020,Aug1]
2. http://mims.com/thailand/drug/search?q=skin%20antiseptics%20%26%20disinfectants&page=4[2020,Aug1]
3. http://www.curiosin.com [2020,Aug1]