กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ/เรื่องนำ

หลายคนคงเคยเห็นผู้ป่วยบางคนมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น แลบลิ้น เคี้ยวปาก ขยับแขนขาไปมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ แต่เวลาหลับอาการเหล่านี้ก็หายไป,  อาการเหล่านี้คืออะไร, เกิดจากอะไร, จะรักษาอย่างไร, หายหรือไม่ ,ลองติดตามจากบทความเรื่อง “กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia/ทาร์ดีฟ ดีสคิเนเชีย ย่อว่า กลุ่มอาการ หรือ โรคทีดี/ TD)”

อนึ่ง: ‘ยึกยือ’ ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ หยิกไปหยิกมา ไม่ตรง  ไม่เป็นระเบียบ

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาคืออะไร?

 

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา คือ กลุ่มอาการที่พบในผู้ป่วยที่รักษาโดยใช้ยาจิตเวชที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดพามีน/โดปามีน/Dopamine (เช่น ยา Haloperidol,  Pimozide)เป็นระยะเวลานาน โดยผู้ป่วยจะมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายที่ร่างกาย/สมองไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเหล่านั้นได้

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยามีอาการอย่างไร?

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติใน 'กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา' ประกอบด้วย 2 อาการหลัก คือ
ก. อาการเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณปาก-ใบหน้า-คอ: เช่น  อาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น กระพริบตา ขยับกล้ามเนื้อใบหน้า คอบิดไปมา
ข.  อาการเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณแขน-ขา:  เช่น  การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว  อยู่ไม่สุข บิดมือ-แขน-ขา สะบัดแขน-ขา

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาพบบ่อยหรือไม่?

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาพบได้บ่อยประมาณ 15 - 30%ในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านสารโดปามีนเป็นระยะเวลานาน  โดยมีรายงานพบได้ตั้งแต่ได้รับยากลุ่มนี้นานประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีขึ้นไป  ซึ่งยิ่งใช้ยานานขึ้น โอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้ก็ยิ่งสูงขึ้น นอกจากนั้นพบอาการนี้สูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะในผู้สูงอายุเพศหญิงที่พบบ่อยกว่าผู้สูงอายุเพศชาย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา ได้แก่ ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช ที่ออกฤทธิ์ต้านสารโดปามีน  ซึ่งอาการมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีลักษณะทั่วไปดังนี้ เช่น

  • เป็นผู้ป่วยเพศชาย
  • สูบบุหรี่
  • ใช้ยาต้านสารโดปามีนขนาดสูงและ/หรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยานี้เกิดจากอะไร?

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาเกิดจากผลข้างเคียงของยา (อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา)กลุ่มต้านสารโดปามีน ที่ส่งผลให้สารโดปามีนในสมองลดลง  ซึ่งสารโดปามีนนั้นเป็นสารสื่อประสาท  มีหน้าที่ด้านควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย, ดังนั้นเมื่อสารโดปามีนลดลงจึงส่งผลถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายของสมอง จึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของส่วนต่างๆของร่างกาย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผู้ที่มีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติตั้งแต่ที่เริ่มมีอาการ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้การวินิจฉัยว่าอาการผิดปกติดังกล่าวนั้นมีสาเหตุจากอะไร, ใช่กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาหรือไม่, และจะได้พิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องปรับยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยอยู่หรือไม่

แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้โดย

  • พิจารณาข้อมูลจากประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้ ร่วมกับการมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติดังกล่าวข้างต้น และร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย และ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท เป็นหลัก

จำเป็นต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือตรวจเลือดหรือไม่?

กรณีแพทย์มีข้อมูลการเจ็บป่วย เช่น โรคประจำตัว, ประวัติการใช้ยาต้านโดปามีน, ลักษณะการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นลักษณะจำเพาะ, ก็สามารถให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมอง หรือ ด้วยการตรวจเลือด

โรคอะไรที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา?

โรคที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา เช่น โรคพาร์กินสัน, ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติเหตุจากจิตใจ (Psychogenic causes), โรค Wilson (โรคที่มีการเผาผลาญสารทองแดงผิดปกติส่งผลให้สารทองแดงสะสมในเนื้อสมอง), ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการวินิจฉัยแยกโรคได้จากข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย, สาเหตุของความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย, การตรวจร่างกาย, การตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา, และที่สำคัญคือประวัติการใช้ยาต้านสารโดปามีน (เช่น  กลุ่มยา โดพามีน-แอนตาโกนิสต์) ที่ต้องพบทุกรายในกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา

รักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาที่สำคัญ คือ หยุดยาต้านสารโดปามีนเป็นอันดับแรก และให้ยาแก้ ได้แก่ ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (ยากลุ่มต้านโคลิเนอจิก (Anticholinergic agents), ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีบีน (Benzodiazepines) เป็นต้น

แต่ในบางกรณีที่อาการไม่มาก และผู้ป่วยก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาต้านสารโดปามีนจึงไม่สามารถหยุดยานี้ได้  แพทย์อาจต้องปรับขนาดยาต้านสารโดปามีนให้เหมาะสม,  ร่วมกับให้ยาในกลุ่มต้านโคลิเนอจิกร่วมด้วย, หรือปรับเพิ่มยารักษาโรคที่เป็นกลุ่มยาใหม่ๆที่มีผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาต่ำกว่ายาเดิมที่ใช้อยู่

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยามีการพยากรณ์โรคที่ดี ผลการรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่อาจไม่หายเป็นปกติในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยามาเป็นเวลานานมาก, และ/หรือยังมีอาการทางจิตที่ต้องใช้ยากลุ่มต้านสารโดปามีน (Dopamine) รักษาอยู่โดยหยุดยานี้ไม่ได้

ต้องรักษานานเท่าไร?

ระยะเวลาการรักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาขึ้นกับการตอบสนองและความจำเป็น ต้องใช้ยารักษาโรคทางจิตกลุ่มต้านสารโดปามีน (Dopamine) ต่ออีกหรือไม่, ส่วนใหญ่แล้วถ้าหยุดยา อาการก็มักดีขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องรักษาเป็นระยะเวลานาน,  กรณีที่ยังมีอาการหายได้ไม่ดี ก็จำเป็นต้องให้การรักษาต่ออีก

ครอบครัวมีส่วนร่วมในการรักษาได้อย่างไร?

ครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมในการรักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา ซึ่งการดูแลผู้ป่วยจากครอบครัว ที่สำคัญ เช่น

  • ดูแลการทานยาที่แพทย์สั่งให้สม่ำเสมอ
  • สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วย
  • ให้การประคับประคองด้านจิตใจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
  • ดูแลให้ผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของผู้ป่วยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา ทั่วไปที่สำคัญ เช่น

  • การทำความเข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้นว่า มีสาเหตุจากผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาโรคของตนเอง ดังนั้นต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการดูแลรักษาโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านสารโดปามีน, พยายามปรับตัวเพื่อให้อาการดีขึ้นตามคำแนะ นำของแพทย์ พยาบาลเพื่อที่จะได้ใช้ยารักษาอาการทางจิตใจให้น้อยที่สุด จะได้ลดโอกาสเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา
  • ผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาต่างๆตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา, ไม่หยุดยาเอง และ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ทั่วไปผู้ป่วยกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการทางจิตเวชรุนแรงมากขึ้นหลังหยุดยาหรือเปลี่ยนยารักษาทางด้านโรคทางจิตเวช
  • เกิดอาการผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้จากยาที่ใช้แก้ฤทธิ์ของยารักษากลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา ช่น มึนงงอย่างรุนแรง, วิงเวียนศีรษะ, อาเจียน, หรือ เกิดอาการแพ้ยา

ป้องกันกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยาได้อย่างไร?

การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา คือ การรักษาสุขภาพจิตให้ดีจะได้ไม่ต้องใช้ยาสารต้านโดปามีน,  แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ก็ควรต้อง

  • พบแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ควรพยายามปรับตัวให้อาการทางจิตนั้นไม่รุนแรงจะได้ใช้ยานี้ในขนาดไม่สูง และใช้ไม่นาน
  • รวมถึง ไม่ซื้อยานี้ทานเอง
  • ไม่ปรับขนาดรับประทานยานี้เองโดยไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์

สรุป

กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยานั้น เป็นผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาต้านสารโดปามีนที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช  มิใช่อาการทางจิต  ผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำ  ทุกคนควรเข้าใจเห็นใจและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tardive_dyskinesia   [2023,Feb11]