เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?
- ยาเบนโซไดอะซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- โรคตับ (Liver disease)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodizepine ย่อว่า BZD หรือ BZs หรือ Benzos) คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และเริ่มใช้ในวงการแพทย์มากขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ยานอนหลับ ยาต้านชัก ยารักษาอาการอารมณ์แปรปรวน
เบนโซไดอะซีปีน ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ยากลุ่มนี้มีผลต่อสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า ‘กาบา’ Neurotransmitter gamma-aminobutyric acid (GABA) ในสมอง
ด้วยอิทธิพลและฤทธิ์ของยาเบนโซไดอะซีปีน จะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับยามีอาการง่วงนอน คลายความวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยยับยั้งอาการของโรคลมชัก, ใช้รักษาอาการพิษสุราเรื้อรัง, รวมไปถึงใช้เป็นยาเตรียมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับหัตถการทางทันตกรรม
ในทางคลีนิก กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนที่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นไปจนถึงระยะเวลาปานกลางจะถูกนำไปบำบัดรักษาผู้ป่วยที่นอนไม่หลับ สำหรับตัวที่ออกฤทธิ์ได้เป็นเวลานานๆจะถูกนำไป ใช้บำบัดอาการวิตกกังวล และผู้ป่วยที่มีการใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานๆอาจได้รับผลข้างเคียงของยาติดตามมาได้เช่นกัน
ในทางปฏิบัติ อาจแบ่งยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
1. ออกฤทธิ์ระยะสั้น (Short acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่นยา Triazolam, Midazolam
2. ออกฤทธิ์ระยะเวลาปานกลาง (Intermediate acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่นยา Lorazepam, Alprazolam, Oxazepam, Temazepam, Estazolam
3. ออกฤทธิ์ระยะเวลานาน (Long acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่นยา Flurazepam, Quazepam, Clonazepam, Chlordiazepoxide, Clobazam, Clorazepate, Diazepam,
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาในกลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติหลายรายการ เช่น Chlordiazepoxide, Diazepam, Lorazepam, Clonazepam, Alprazolam โดยจัดกลุ่มยาเหล่านี้ลงในหมวดวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 4 และจากหมวดของยาและฤทธิ์ที่มีผลต่อระบบประสาท น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่สนับสนุนให้ประชาชนเชื่อและเลือกที่จะใช้ยาตามใบสั่งและคำยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร/ข้อบ่งใช้ :
- รักษาอาการนอนไม่หลับ โดยมีระยะเวลาของการใช้ 2 - 4 สัปดาห์ ยาที่มักนำมาใช้รักษา เช่น Nitrazepam และ Diazepam
- รักษาโรคลมชัก มักใช้เวลานานในการรักษา ยาที่นำมาใช้รักษาเช่น Clobazam และ Clonazepam
- รักษาอาการสุราเรื้อรัง/โรคพิษสุรา ตัวยาที่ใช้ในกรณีนี้เช่น Chlordiazepoxide
- รักษาอาการวิตกกังวลชนิดเฉียบพลัน การใช้ยามีระยะเวลารักษา 2 - 4 สัปดาห์ ยาที่นำมาใช้รักษาเช่น Alprazolam, Bromazepam, Lorazepam และ Diazepam
- ช่วยสงบประสาทของคนไข้ก่อนทำหัตถการทางการแพทย์ หรือก่อนทำหัตถการทางทันต กรรม ยาที่นำมาใช้บ่อย เช่น Midazolam
- ใช้รักษาโรคอารมณ์แปรปรวน ยาที่นำมารักษา เช่น Lorazepam และ Clonazepam
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง ทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล ช่วยสงบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย จะเป็นไปตามธรรมชาติของยาแต่ละตัวว่าอยู่ในร่างกายได้นานมากน้อยเพียงใดมาเป็นเหตุผลประกอบกัน
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดขนาด 0.25, 0.5, 1, 2, 5, 10 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลนิ่มขนาด 5,10 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาแคปซูลขนาด 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีดขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 15 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ให้รับประทานยาเบนโซไดอะซีปีนตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยยากลุ่มนี้มีข้อห้ามข้อควรระวังและผลข้างเคียงมากมาย ผู้ป่วยไม่สมควรซื้อรับประทานหรือปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยา เบนโซไดอะซีปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนโซไดอะซีปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบนโซไดอะซีปีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนโซไดอะซิปีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ซึมเศร้า
- ความดันโลหิตต่ำ
- กดการหายใจ (หายใจตื้น จนถึงหยุดหายใจ)
- คลื่นไส้
- สับสน
- ฝันร้าย
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- เป็นพิษกับตับ /ตับอักเสบ
- ความรู้สึกทางเพศเสื่อม
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซไดอะซิปีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซิปีน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ต้องแพทย์สั่งการใช้เท่านั้น
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยากลุ่มนี้สามารถส่ง ผลต่อทารกได้ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกหรือโคม่า ผู้ป่วยภาวะพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจติดขัด/หายใจลำบากระยะรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะซึมเศร้า และมีอาการวิตกกังวลตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันการถอนยา/ ลงแดง หรือติดยา
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากยาจะก่อให้เกิดอาการง่วงนอน จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน ร่วมกับ ยาบางกลุ่มเช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะบางตัว (เช่นยาClarithromycin, Erythromycin, Tetracycline) ยาต้านเศร้า ยาต้านเชื้อรา สามารถส่งผลให้ระดับของยาเบนโซไดอะซิปีนอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้นจึงอาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับยาบางตัวเช่นยา Rifampicin, Carbamazepine, และ Phenytoin จะไปเร่งให้ร่างกายกำจัดยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจของร่างกายและเป็นอันตรายอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามการรับประทานยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับยาลดกรด สามารถทำให้การดูดซึมของยาเบนโซไดอะซิปีนน้อยลงและลดฤทธิ์ของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษายาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเบนโซไดอะซีปีน เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเบนโซไดอะซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนโซไดอะซีปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dormicum (ดอร์มิคุม) | Roche |
Midazol (มิดาโซล) | Hameln |
Diazepam General Drugs House (ไดอะซิแพม เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Diazepam GPO (ไดอะซิแพม จีพีโอ) | GPO |
Sipam (ซิแพม) | Siam Bheasach |
Anta (แอนตา) | Central Poly Trading |
Lonza (ลอนซา) | Medicine Products |
Lora (ลอรา) | Atlantic Lab |
Loramed (ลอราเมด) | Medifive |
Lorazep (ลอราเซพ) | Asian Pharm |
Zora (ซอรา) | General Drugs House |
Marzolam (มาร์โซแลม) | March Pharma |
Xanax/Xanax XR (ซาแน็กซ์/ซาแน็กซ์ เอ็กซ์อาร์) | Pfizer |
Halcion (ฮอลเซียน) | Pfizer |
Trialam (ไตรอะแลม) | Alphapharm |
Euhypnos 20 (ยูฮิบโนส 20) | Pfizer |
Benpine (เบนปีน) | Atlantic Lab |
Zepoxin (เซโพซิน) | Chew Brothers |
Clonaril (โคลนาริล) | Medifive |
Povanil (โพวานิล) | Central Poly Trading |
Rivotril (ริโวทริล) | Roche |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzodiazepine [2021,Aug28]
- https://www.drugs.com/article/benzodiazepines.html [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/flurazepam?mtype=generic [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=temazepam [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diazepam [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=chlordiazepoxide [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=clonazepam [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/diazepam%20gpo?type=full [2021,Aug28]