ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้หวัดใหญ่ หรือ ฟลู (Influenza หรือ flu) คือ โรคติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza viruses)ซึ่งเป็นโรคติดต่อ และ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เป็นโรคเกิดตลอดปี แต่พบสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวโดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดูกาล อาการหลักคือ ไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อทั้งตัว ปวดหัวมาก ไอแห้งๆ เจ็บคอ

ไข้หวัดใหญ่พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) จนถึงผู้สูงอายุ  โอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งสองเพศ, ทั่วไปในทุกๆปีพบโรคนี้ได้ 5-15%ของประชากรโลก(อัตราเกิดมักต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จากหลายคนมากที่ไม่ได้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล), ในการนี้ 3-5ล้านคนมีอาการหนักจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เองและ/หรือจากปอดติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และมีอัตราเสียชีวิตประมาณ 3-7 ล้านคนต่อปี

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้อย่างไร?

 

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคเกิดจากระบบหายใจติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza viruses) จัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัดธรรมดาทั่วไป (Common cold) แต่จากไวรัสต่างชนิดกัน โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงสูงกว่าไวรัสโรคหวัดธรรมดามาก

ไวรัสอินฟลูเอนซา/ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคในคน มี 3 ชนิดย่อย (Type) โดยแบ่งตามลักษณะสารก่อภูมิต้านทานของไวรัสชนิดย่อยนั้นๆ ได้แก่ Influenza A virus, Influenza B virus, และ Influenza C virus, แต่อีก1ชนิด เป็นชนิดไม่ก่อโรคในคน โดยก่อโรคไข้หวัดใหญ่ใน วัว ควาย คือ Influenza D virus(มีรายงานพบเชื้อในคนได้แต่ไม่ก่ออาการ)

ก. Influenza A virus บางคนเรียกว่า Influenzavirus A : เป็นชนิดที่ก่อโรคบ่อยที่สุด และก่ออาการรุนแรงได้ ร่วมถึงมักก่อการระบาดได้เสมอและรวดเร็ว และยังสามารถกลายพันธ์เป็นพันธ์รุนแรงที่ก่อการระบาดในวงกว้างได้ง่าย ไวรัสชนิดนี้มีหลายชนิดย่อยๆ (Subtype) ที่แบ่งตามสารโปรตีน2ชนิดที่อยู่บนผิวของไวรัส คือสาร Hemagglutinin (ย่อว่า H บางคนย่อว่า HA) ซึ่งสาร H มีทั้งหมด 18 ชนิดย่อย(H1-H18), และสาร Neuraminidase (ย่อว่าN บางคนย่อว่า NA) ซึ่งสาร N มีทั้งหมด 11ชนิดย่อย (N1-N11)

ดังนั้น Influenza A virus จึงมีหลากหลายสายพันธ์ย่อยมาก แต่ละสายพันธ์ย่อยจะมีอาการโรคเหมือนกัน แต่มีความรุนแรงของอาการต่างกัน สายพันธ์ย่อยต่างๆ เช่น H1N1 ที่ระบาดในปี 2009, H5N1 คือไข้หวัดนกที่ระบาดในปี 2004 เป็นต้น

ข. Influenza B virus บางคนเรียกว่า Influenzavirus B : ชนิดนี้ไม่มีการแบ่งเป็นสายพันธ์ย่อยด้วยH และN, แต่แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ B/Yamagata และ B/Victoria เป็นโรคที่พบได้น้อยกว่า ชนิด A มาก ไม่ค่อยพบมีการกลายพันธ์ และพบก่อโรคได้ในแมวน้ำ

ค. Influenza C virus บางคนเรียกว่า Influenzavirus C : พบก่อโรคได้ใน คน สุนัข และหมู ความรุนแรงของโรคอาจมากจนเกิดเป็นการระบาด หรือ พบความรุนแรงน้อยก็ได้ ทั่วไปพบไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากไวรัสกลุ่มนี้ได้น้อย รวมถึงไม่ค่อยมีความรุนแรงเมื่อเกิดในเด็ก

อนึ่ง “ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูการ (Seasonal flu หรือ Flu season หรือ Seasonal influenza)” คือ ไข้หวัดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปในทุกๆปี ที่เกิดตามฤดูการ คือ ช่วงฤดูที่มีอากาศค่อนข้างเย็น เช่น ปลายฤดูฝน และตลอดฤดูหนาว ดังนั้น ไวรัสตามฤดูกาล ก็คือ ไวรัสไขหวัดใหญ่ที่เกิดได้จากทั้ง3 ชนิดดังได้กล่าวแล้วนั่นเอง แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดที่กว้างขวางทั่วประเทศ หรือ ระหว่างประเทศ

โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการอย่างไร?

ทั่วไป อาการสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง บางครั้งสูงมาก 38 - 41 องศาเซลเซียส (Celsius) โดยไข้มักขึ้นสูงภายใน 1 วันหลังติดเชื้อ,  ร่วมกับอาการอื่นๆ ที่พบบ่อย เช่น

  • ปวดหัวมาก
  • ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว
  • มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง
  • ปวดกล้ามเนื้อ/ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • อ่อนเพลียมาก
  • ไอแห้งๆ มักไอมาก
  • เจ็บคอ
  • คัดจมูก
  • เบื่ออาหาร
  • อาจมีท้องเสีย แต่มักไม่รุนแรง

***อนึ่ง: ทั้งหมดดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาการที่อาจพบได้และเป็นอาการรุนแรงกว่า เช่น หายใจเหนื่อย หอบ  หายใจมเสียงหวีด  ไอรุนแรง  หนาวสั่น  คลื่นไส้ ท้องเสียมาก  มึนงง ซึม และ/หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงไหม? มีโรคแทรกซ้อนไหม?

โดยทั่วไป  โรคไข้หวัดใหญ่ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน/ภาวะแทรกซ้อน/อาการแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง), อาการไข้และอาการต่างๆจะดีขึ้นภายใน 5 - 7 วันนับจากวันแรกที่มีอาการ  ผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นตัวกลับเป็นปกติ  

แต่ในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก),  คนท้อง/หญิงตั้งครรภ์, ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ที่เรียกกันทั่วไปว่า “กลุ่มเสี่ยง” คือ ผู้ป่วยกลุ่มที่โรคมักมีอาการรุนแรง  และ/หรือมักมีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ภายหลังไข้ลง อาจยังมีอาการอ่อนเพลียมากต่อเนื่องได้อีกหลายสัปดาห์

อนึ่ง:โรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ มีทั้งชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง

ก. โรคแทรกซ้อนชนิดไม่รุนแรง: เช่น การอักเสบของหูชั้นกลาง(หูชั้นกลางอักเสบ) และของไซนัส (ไซนัสอักเสบ)

ข. แต่เมื่อมีโรคแทรกซ้อนชนิดรุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดสูงในบุคคลกลุ่มเสี่ยง อาจเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ เช่น

  • ปอดบวม
  • ผู้ป่วยโรคหืด จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นมาก
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • สมองอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดอัมพาต,  ชัก, แขน/ขาอ่อนแรง และโคม่า

โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?

โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้โดยวิธีเช่นเดียวกับโรคหวัด โดย

  • ติดต่อทางการหายใจ จากการ ไอ จามของผู้ป่วยจากเชื้อที่อยู่ในละอองอากาศเข้าสู่ระบบหายใจผ่านทาง จมูกจากการหายใจ หรือสัมผัสกับเยื่อตา หรือ เยื่อเมือกช่องปาก
  • และจากสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น จากมือสัมผัสเชื้อ (เช่น เชื้อติดอยู่ที่ของเล่น ราวบันได, ช้อน, แก้วน้ำ, ปุ่มกดลิฟต์) แล้วมือเช็ดปาก จมูก หรือขยี้ตา

ทั้งนี้  การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสฯ จะเกิดได้สูงในสัปดาห์แรกของอาการ

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ได้จาก

  • อาการผู้ป่วย และการตรวจร่างกายที่รวมถึงการตรวจดูในช่องคอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน จะโดยเป็นการตรวจคัดกรอง คือ การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานจากสารคัดหลั่งที่ป้ายมาจากโพรงจมูก/โพรงหลังจมูก (Swab) โดยเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า “Rapid influenza diagnostic test ย่อว่า RIDT ”ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 15-30นาที
  • และที่จะให้ได้ผลแน่ชัดว่าเป็นเชื้อไวรัสชนิดย่อยใดแน่ จะเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีสูง ตรวจได้เฉพาะในบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบผล เช่น โรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของแต่ละชนิดไวรัส, การตรวจเพาะเชื้อไวรัส, และ/หรือ การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์/PCR (Polymerase chain reaction

โรคไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร?

โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวทางดูแลรักษาเช่นเดียวกับในโรคหวัด ซึ่งทั่วไปที่สำคัญ เช่น  

  • พักผ่อนมากๆ/พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมากๆ จิบ/ดื่มที่ละน้อยๆตลอดทั้งวัน(ประมาณ 10 แก้ว/วัน) เพื่อป้องกัน ภาวะขาดน้ำ เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม  
  • ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล หรือ ตามแพทย์แนะนำ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน โดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจเกิดการแพ้ยาแอสไพริน/กลุ่มอาการราย)
  • ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ในรายที่อาการรุนแรงหรือในกลุ่มเสี่ยง แพทย์อาจรักษาโดยยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ เช่นยา Oseltamivir (ยาชื่อการค้าคือ Tamiflu), เบลอกซาเวียร์มาร์บอกซิล (Baloxavir marboxil) หรือเรียกสั้นๆว่า เบลอกซาร์เวียร์

มีวิธีดูแลตนเองอย่างไร? และควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์ เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ ทั่วไปที่สำคัญ เช่น

  • เมื่อมีไข้ ควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงาน แยกตัวและของใช้จากผู้อื่น เพื่อพักผ่อนและเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ ทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้กลับไปทำงานได้เมื่อผู้ป่วยไข้ลงปกติอย่างน้อย 24 ชั่วโมง(โดยไม่ต้องกินยาลดไข้) ร่วมกับ ร่างกายรู้สึกแข็งแรงแล้ว และอาการไอลดลงจนเกือบเป็นปกติ
  • พักผ่อนให้มากๆให้พอเพียง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคข้างเคียงแทรกซ้อนและลดการแพร่เชื้อ
  • พยายามกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอล หรือตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ ไม่ควรกินยาแอสไพรินเพราะอาจเกิดการแพ้ยาแอสไพริน/กลุ่มอาการราย
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ใช้ทิชชู่ในการสั่งน้ำมูกหรือเช็ดปาก, ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า, หลังจากนั้นทิ้งทิชชู่ให้ถูกสุขอนามัย
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำสม่ำเสมอ คือ กินร้อน, ช้อนกลาง, ล้างมือบ่อยๆ, รู้จักใช้หน้ากากอนามัย,  รู้จักเว้นระยะห่างทางสังคม, และไม่ควรอยู่ในที่มีคนแออัด
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
    • ไข้สูงเกิน 39 - 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ ภายใน 1 - 2 วันเมื่อเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง, ภายใน 3 วันเมื่อเป็นคนสุขภาพแข็งแรง
    • มีผื่นขึ้น
    • ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย
    • ไอมาก มีเสมหะ และ/หรือ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
    • อาการไม่ดีขึ้นหลังไข้ลง หรือ หลังไข้ลงแล้วกลับมีไข้อีก
    • เป็นโรคหืด เพราะโรคหืดมักกำเริบจนผู้ป่วยควบคุมเองไม่ได้
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • กังวลในอาการ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน เมื่อ
    • หอบเหนื่อยร่วมกับไอมาก อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้ เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากปอดบวม
    • เจ็บหน้าอกมากร่วมกับหายใจขัด เหนื่อย เพราะเป็นอาการจากอาการแทรกซ้อนอาจจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
    • ชัก   ซึม   สับสน แขน/ขาอ่อนแรง อาจร่วมกับปวดหัวรุนแรง และคอแข็ง เพราะเป็นอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ

โรคไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ไหม?

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคป้องกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้มากๆให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชนห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน โดยเพิ่มผัก/ผลไม้มากๆ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด
  • รักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น ไม่ใช้ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับบุคคลอื่น
  • ไม่ใช้มือไม่สะอาดขยี้ตา ล้างมือก่อนเมื่อจะสัมผัสตา
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือต้องดูแลผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์ขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ "ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลาง รู้จักใช้หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม"
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงตามคำแนะนำของแพทย์/กระทรวงสาธารณสุข

โรคไข้หวัดใหญ่ต่างจากโรคหวัดไหม?

โรคไข้หวัดใหญ่และโรคหวัด เป็นคนละโรค แต่มีวิธีติดต่อ อาการ วิธีวินิจฉัย และแนวทางการรักษาในระยะแรกเหมือนกัน, โดยที่แตกต่าง คือ

  • เกิดจากติดเชื้อไวรัสคนละชนิด
  • อาการจากไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่ามากและมีอาการรุนแรงทันที แต่อาการของไข้หวัดจะค่อยเป็นค่อยไป
  • ในไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยยาต้านไวรัสตั้งแต่แรก
  • โรคไข้หวัดใหญ่มีวัคซีนป้องกัน (ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง) แต่โรคหวัดไม่มี

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s:Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Influenza [2023,Jan7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Flu_season [2023,Jan7]
  4. https://www.nyc.gov/site/doh/health/health-topics/flu-seasonal-treatment.page [2023,Jan7]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/219557-overview#showall [2023,Jan7]
  6. https://www.cdc.gov/flu/about/index.html [2023,Jan7]
  7. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(seasonal)   [2023,Jan7]