เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล (Baloxavir marboxil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล (Baloxavir marboxil) เป็นยาสำหรับรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด เอ และ บี (Influenza A and Influenza B) ยานี้ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Shionogi เบลอกซาเวียร์ได้ขึ้นทะเบียนสูตรตำรับจนได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 โดยเริ่มใช้ ยานี้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันยาเบลอกซาเวียร์ ถูกนำมาใช้รักษาอาการป่วยของเด็กอายุ 12 ปีในประเทศอเมริกา

อนึ่ง ในบทความนี้ขอเรียกยานี้อย่างย่อว่า ‘ยาเบลอกซาเวียร์’

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล เป็นแบบรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในร่างกายจะถูกทำลายโดยเอนไซม์จากตับ ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลสามารถกระจายตัวอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานประมาณ 79.1 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ธรรมชาติของยาเบลอกซาเวียร์ จะอยู่ในรูปที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ เมื่อผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส(Hydrolysis, ขบวนการที่ร่างกายใช้น้ำเป็นหลักในการเปลียนแปลงโมเลกุลของสารเคมี)จึงจะเปลี่ยนไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์

ยาชนิดนี้มีกลไกยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสส่งผลให้หยุดการ แพร่พันธุ์จึงทำให้อาการป่วยดีขึ้น

สิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากเมื่อต้องสั่งจ่ายเบลอกซาเวียร์ ให้กับผู้ป่วยมีดังนี้

  • ยานี้ไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัย ทางคลินิกมาสนับสนุน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับ
    • นม
    • รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆที่มี
      • เกลือแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ
      • ตลอดจนกระทั่ง ยาลดกรด
      • หรืออาหารเสริมที่มี ธาตุเหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และแมกนีเซียม
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • หากมีข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาด จะรีบต้องนำตัวผู้ป่วยส่ง โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

ทั้งนี้ ยาเบลอกซาเวียร์ เป็นยาต่อต้านเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบีเท่านั้น ห้ามนำไปใช้รักษาอาการป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา อะมีบา หรือปรสิตต่างๆ

การใช้ยาเบลอกซาเวียร์ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดผู้ป่วยจะต้องได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการเมื่อทราบว่าตนเองมีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอหรือบีเข้าแล้ว

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล จัดว่าเป็นยาใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะสามารถนำมาจำหน่ายในประเทศไทย และในปัจจุบันเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Xofluza

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบลอกซาเวียร์มาร์บอกซิล

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบี และเหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่12 ปีขึ้นไป

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลคือ หลังการรับประทานยานี้ ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) เพื่อเกดเป็นโครงสร้างที่สามารถออกฤทธิ์ได้ สารออกฤทธิ์ของเบลอกซาเวียร์ จะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่ชื่อ Endonuclease ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถจำลองสารพันธุกรรมที่ใช้ในกระบวนการเพิ่มจำนวน จึงเป็นเหตุผลทำให้อาการของผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดเอและบี ดีขึ้นเป็นลำดับ

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Baloxavir marboxil ขนาด 40 และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล *ใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป* โดย มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 80 กิโลกรัม แต่ไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ให้รับประทานยานี้ 40 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยา 80 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ควรใช้ยานี้ภายใน 48 ชั่วโมงเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอหรือบี
  • ระยะเวลาในการรับประทานยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจากการใช้ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์

  • กรณีลืมรับประทานยานี้ สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้
  • อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาเกินเวลาที่แพทย์กำหนดอาจทำให้ จำนวนไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ฤทธิ์ของยาไม่เพียงพอและเหมาะสมต่อการรักษา
  • ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ล่วงหน้าในการปฏิบัติในตัวกรณีเมื่อเกิดกลืมรับประทานยา

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบลอกซาเวียร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ

*อนึ่ง กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ด้วยยังไม่มียาต้านพิษของยาเบลอกซาเวียร์ แพทย์จะรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น

มีข้อควรระวังการใช้เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการติดเชื้อจาก แบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงการติดเชื้อจากปรสิตต่างๆ
  • การรับประทานยาเบลอกซาเวียร์ ร่วมกับยาใดๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันหลังใช้ยานี้ เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง ปวดศีรษะมาก ให้กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์/เภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามปพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล ร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของเกลือแร่บางชนิด(ดังจะกล่าวต่อไป) ด้วยเกลือที่มีประจุไฟฟ้าดังกล่าวจะทำให้ความเข้มข้นของยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลในกระแสเลือดลดลง จนเป็นเหตุทำให้ประสิทธิผลในการต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอและบีต่ำลงเช่นกัน เกลื่อแร่เหล่านั้น เช่น
    • แคลเซียม
    • เหล็ก
    • แมกนีเซียม
    • ซีลีเนียม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แบบมีชีวิต ด้วยยาเบลอกซาเวียร์ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิต้านทานไวรัส จากวัคซีนลดน้อยลง

ควรเก็บรักษาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลอย่างไร?

สามารถเก็บยาเบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล ดังนี้ เช่น

  • เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Xofluza (โซฟลูซา)Shionogi & Co., Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Baloxavir_marboxil [2018,dec8]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/210854s000lbl.pdf [2018,dec8]
  3. https://www.drugs.com/xofluza.html[2018,dec8]
  4. https://www.roche.com/media/releases/med-cor-2018-10-24.htm[2018,dec8]