เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 11 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- เชื้อไวรัสเอชไอวีคืออะไร?
- โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีต่างจากโรคเอดส์อย่างไร?
- ชะลอหรือป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอดส์ได้ไหม?
- เมื่อไรจึงสงสัยติดเชื้อเอชไอวี? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
- ป้องกันติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างไร?
- ปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
- รักษาอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
- เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อย่างไร?
- เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข?
- เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
- ถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งครรภ์จะปฏิบัติตัวอย่างไร?
- ถ้าสามีหรือภรรยาติดเชื้อจากคนอื่น คู่ครองควรทำอย่างไร?
- สาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ป่วยโรคเอชไอวีคืออะไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เอดส์ (AIDS)
- การติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)
- มะเร็งคาโปซิ คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
- แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)
- ฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
- แอสเปอร์จิลโลสิส (Aspergillosis)
- ท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
โรคติดเชื้อเอชไอวี(HIV infection) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี(Human immunodeficiency virus ย่อว่า HIV)ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (AIDS: Acquired Immuno Deficiency Syndrome หรือ Acquired Immune Deficiency Syndrome) ซึ่งทั่วโลกเริ่มรู้จักโรคเอดส์ประมาณปี ค.ศ. 1981
ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีพบทุกเพศ และทุกอายุตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ, ในปีค.ศ.2020 องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถิติโลกพบ โรคเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 37.7ล้านคน (เป็นเด็กประมาณ1.7ล้านคน), และเป็นโรคเอดส์ประมาณ 1.5ล้านคน(เป็นเด็กประมาณ 150,000คน)
เอชไอวี พบทั่วโลก เป็นโรคระบาด และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรง ซึ่งพบมากที่สุดในประเทศแถบอัฟริกัน
เชื้อไวรัสเอชไอวีคืออะไร?
ไวรัสเอชไอวี (HIV ย่อมาจากคำว่า Human Immunodeficiency Virus) เป็น ไวรัสชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม’รีโทรไวรัส (Retrovirus)’ และอยู่ในตระกูล ’เลนติไวรัส (Lentivirus family)’
ไวรัสเอชไอวีแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อยตามลักษณะทางพันธุกรรม ได้แก่ เอชไอวี-1 (HIV-1) และเอชไอวี-2 (HIV-2) ทั้งสองชนิดสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้, โดยเอชไอวี-1 พบมากกว่าและพบสูงในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และส่วนกลางของทวีปอัฟริกา, ในขณะที่ เอชไอวี-2 พบในผู้ป่วยประเทศอินเดียและอัฟริกาตะวันตกเป็นส่วนใหญ่, อาการ และการดำเนินโรค(ธรรมชาติของโรค)ของเชื้อทั้ง2ชนิดย่อยคล้ายคลึงกัน
รูปร่างของไวรัสเอชไอวี เป็นรูปกลม แกนกลางเป็นรูปกรวยล้อมรอบด้วยชั้นไขมันบางๆ, ภายในแกนกลางของเชื้อมีโปรตีนชื่อ p24 ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน หรือ สารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี(Antibody)ต่อไวรัสนี้, ซึ่งแอนติบอดีตัวนี้ แพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยว่าติดเชื้อนี้หรือไม่, นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเอ็นไซม์อีก 3 ชนิดที่ใช้ในการเจริญเติบโตของไวรัสนี้ คือ โปรตีเอส (Protease), รีเวิสทรานสคริปเตส (Reverse transcriptase), และอินตีเกรส (Integrase), โดยเปลือกนอกสุดของไวรัสนี้เป็นโมเลกุลของโปรตีนกับคาร์โบไฮเดรตรวมกัน(Glycoprotein) ชื่อ gp120 และ gp41 ซึ่งใช้ช่วยในการเข้าไปในเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของไวรัสชนิดนี้
เซลล์ที่เป็นเป้าหมายหลักของเชื้อไวรัสเอชไอวี คือ เม็ดเลือดขาวชนิด’ลิมโฟซัยท์ (Lymphocyte)’ชนิดย่อย ชื่อ ‘ทีเซลล์ (T-cell)’ ที่มี ซีดี 4 เป็นบวกที่บริเวณผิวนอกของเซลล์ (CD 4 positive T-cell), ซึ่งเซลล์นี้มีบทบาทสำคัญมากในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย
โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีต่างจากโรคเอดส์อย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีอาการ และความผิดปกติแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะตั้งต้นเมื่อติดเชื้อไวรัสใหม่ๆ หรือ ระยะติดเชื้อปฐมภูมิ (Primary infection): เป็นระยะที่ไวรัสเข้าไปใน “ทีเซลล์” และทำให้ทีเซลล์เหล่านี้ตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ “ทีเซลล์” ในเลือดลดจำนวนลง, เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานที่สร้างแอนติบอดี ให้สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาภายใน 3 ถึง 7 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ซึ่งแอนติบอดีนี้สามารถตรวจพบได้จากเลือด และเป็นสิ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ชัดเจนมาก
อาการผิดปกติของผู้ป่วยเอชไอวีในระยะแรกนี้จะมีน้อย และสามารถหายไปเองได้ใน 2 ถึง 4 สัปดาห์ เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเล็กน้อย ถ่ายอุจจาระเหลว ต่อมน้ำเหลืองบวมโตได้ทั่วตัวแต่มักคลำพบที่ลำคอและขาหนีบ, ซึ่งอาการต่างๆมีความคล้ายคลึงกับอาการของ โรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยถูกต้องได้ยาก ซึ่งระยะแรกนี้ ‘ยังไม่เรียกว่า โรคเอดส์’
- ระยะติดเชื้อเรื้อรัง(Chronic infection) หรือระยะสงบทางคลินิก (Clinical latency): ระยะนี้ เชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และในม้าม, และจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณในอวัยวะทั้งสองนี้เป็นส่วนใหญ่, ปริมาณของ CD 4 positive T-cell ในเลือด จะค่อยๆลดจำนวนลงอย่างช้าๆ, ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้เพราะ CD 4 positive T-cell จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ, ระยะนี้ส่วนใหญ่จะกินเวลานาน 7-10 ปี โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน, นอกจากนั้นการได้รับ ’ยาต้านเอชไอวี’ อย่างสม่ำเสมอจะเป็นการทำให้ผู้ติดเชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในระยะนี้ได้ยาวนานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนสมัยที่ยังไม่มีการค้นพบยาต้านไวรัสนี้, ซึ่งในระยะนี้ เซลล์ CD 4 positive T-cell ยังไม่ต่ำมากจนเป็นสาเหตุการติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างรุนแรง, ผู้ติดเชื้ออาจจะมีโรคเชื้อราขึ้นที่ลิ้น, หรือมี วัณโรคปอดกำเริบ, โรคเริม, หรือโรคงูสวัด, เกิดขึ้นได้ แต่อาการมักไม่รุนแรงมาก, และมักจะรักษาโรคเหล่านี้ได้ผล, ระยะนี้ของโรคก็ ’ยังไม่เรียกโรคเอดส์’ เช่นกัน
- ระยะที่เป็น’โรคเอดส์’: ระยะนี้เป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายถูกทำลายเกือบทั้งหมดจากเชื้อไวรัสนี้, ปริมาณเชื้อไวรันี้ในเลือดจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรังนานเป็นเดือนๆ อ่อนเพลียมาก น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นประจำ, ปริมาณของ CD 4 positive T-cell จะต่ำมาก ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อไมโครลิตร, และจะมีการติดเชื้อฉวยโอกาสในอวัยวะสำคัญอย่างรุนแรง เช่น ปอด มีอาการทางสมอง และมีมะเร็งชนิดต่างๆเกิดขึ้นได้ ที่พบบ่อย คือ โรคมะเร็งคาโปซิ(Kaposi sarcoma) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สรุป: ก็คือระยะที่ 1 และ 2 ของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี’ยังไม่เรียกว่าเป็นโรคเอดส์’, เราจะเรียกเฉพาะ’ระยะที่ 3 ของโรคนี้ว่าเป็นโรคเอดส์’เท่านั้น
ชะลอหรือป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอดส์ได้ไหม?
ปัจจุบัน วิธีที่จะชะลอให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในระยะที่ 2, สามารถทำได้โดยให้’ยาต้านรีโทไวรัส’(Antiretroviral therapy)อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยาที่ใช้ มักเป็นยาหลายตัวร่วมกันในอัตราส่วนต่างๆ, ผู้ติดเชื้อต้องรับประทานยาตลอดไปไม่สามารถหยุดได้, ถ้าหยุดยาโรคจะกำเริบได้ และจะทำให้เชื้อดื้อยา, และผู้ติดเชื้อต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อนับปริมาณเซลล์ CD 4 positive T-cell เป็นระยะๆ
การปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อฯก็มีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปเป็นโรคเอดส์ เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ส่ำส่อนทางเพศ (เพราะอาจไปรับเชื้อไวรัสเพิ่มเข้าร่างกายเพิ่มมาอีก ซึ่งอาจเป็นคนละสายพันธุ์กับที่มีอยู่แล้วในร่างกาย), ระมัดระวังไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค เพราะจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย, พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายให้เหมาะสม, หาวิธีการต่างๆในการลดความเครียดและวิตกกังวล, ไม่กินยาพวกสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็นเพราะจะทำให้ติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
เมื่อไรจึงสงสัยติดเชื้อเอชไอวี? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ใช้’ถุงยางอนามัยชาย’กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก ไม่ใช่สามี ภรรยา การเที่ยวสถานบริการทางเพศโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย ถุงยางฯฉีกขาดขณะร่วมเพศ, ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้, ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการตรวจได้เลย, ซึ่งแพทย์อาจจะนัดตรวจมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะในระยะ 3-7 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ อาจยังตรวจไม่พบแอนติบอดีโรคนี้ เพราะร่างกายยังสร้างไม่ทัน อาจต้องตรวจเลือดซ้ำอีกหลังจากนั้น
*****ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงฯ, เมื่อ
- มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ท้องเสีย ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลดมากและรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีไข้ต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเรื้อรังเป็นสัปดาห์
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือขาหนีบ มีขนาดบวมโตกว่าปกติ
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี วิธีที่ดีที่สุด คือ การตรวจเลือดว่ามีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในเลือดหรือไม่, หรือตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อไวรัสเอชไอวี (แอนติบอดี) เกิดขึ้นหรือไม่
- ถ้ามี เรียกว่า ‘เลือดบวกต่อการตรวจไวรัสเอชไอวี (HIV – POSITIVE)’ แสดงว่าติดเชื้อแล้ว, เราไม่ควรเรียกว่าเลือดบวกเฉยๆ อย่างเดียว เพราะการตรวจเลือดว่า มีผลบวก หรือลบในทางการแพทย์นั้นสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ซึ่งถ้ากล่าวเพียงสั้นๆว่า เลือดบวก จะไม่ทราบว่าเลือดบวกต่อโรคอะไร อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้
- ถ้าตรวจแล้วไม่พบเชื้อเอชไอวี เราเรียกว่า’ผลเลือดเป็นลบต่อการตรวจไวรัสเอชไอวี (HIV – NEGATIVE)’
- ในผู้ที่ตรวจเลือดครั้งแรกได้ผลบวกฯ: โดยมากแพทย์จะให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งโดยใช้วิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR-polymerase chain reaction) เพื่อให้มั่นใจแน่นอนว่า’เลือดให้ผลบวกแน่นอน’
- ในผู้มีปัจจัยเสี่ยง: เมื่อผลตรวจเลือดครั้งแรกได้ผลลบฯ แพทย์ก็มักนัดมาตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า เป็นผลลบฯแน่นอน มักประมาณ 3เดือน
- การเจาะเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด “ทีลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวก” จะพบว่าจำนวนลดลงมากเพราะเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ชนิดนี้ และจะทำลายเซลล์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ
- การตรวจวิธีอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ภาพอวัยวะต่างๆ, ตรวจชิ้นเนื้อ (การตรวจทางพยาธิวิทยา), จะไม่สามารถให้การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีได้
*****หมายเหตุ: ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก จะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อโรคเป็นมากขึ้นจึงจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโตทั่วตัว, น้ำหนักจะลดลงเรื่อยๆ, ดังนั้น อาการต่างๆ เช่น อาการไข้ น้ำหนักลด ลิ้นเป็นฝ้าขาวจากเชื้อรา ซึ่งเป็นอาการของโรคที่อยู่ในระยะเป็นโรคเอดส์แล้ว, หรือมีการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว, จะไม่ช่วยการวินิจฉัยว่าติดเชื้อนี้ในระยะเริ่มต้นได้
ป้องกันติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างไร?
การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี มีหลายวิธี เช่น
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่สามี หรือภรรยาของตัวเอง ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอ
- ฝ่ายชายจะมีเพศสัมพันธ์กับใครต้องใช้ถุงยางอนามัยชายให้เป็นนิสัยโดยไม่มีข้อยกเว้น
- ฝ่ายหญิงจะมีเพศสัมพันธ์กับชายใด ต้องให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งโดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน, ถ้าฝ่ายชายไม่ยอมใช้ ต้องปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด
- รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปากและทางทวารหนักด้วย ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเช่นกัน
- ฝ่ายชายไม่ควรใช้ปากกับอวัยวะเพศหญิงที่ไม่ใช่ภรรยา เพราะอาจมีเชื้อไวรัสในน้ำเมือกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้ ถ้าเข้าปากฝ่ายชายแล้วอาจทำให้ฝ่ายชายติดเชื้อได้, เคยมีรายงานการติดเชื้อโดยวิธีนี้แล้วถึงแม้จะไม่มากเท่าการติดเชื้อจากน้ำอสุจิของฝ่ายชายก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการจูบปากกับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่ทราบว่าเป็นพาหะนำเชื้อหรือไม่ ถึงแม้ว่าในน้ำลายจะมีโอกาสน้อยที่จะมีเชื้อไวรัสเอชไอวี แต่ก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าบังเอิญมีแผลภายในช่องปากก็อาจเป็นทางเข้าของเชื้อไวรัสได้
- อย่าใช้การฉีดยาเสพติดชนิดเข้าเส้น/เข้าหลอดเลือด, และอย่าใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับคนอื่น
- หลีกเลี่ยง’การสัก’ผิวหนัง/การสัก’ส่วนต่างๆของร่างกาย, การเจาะส่วนต่างๆของร่างกาย, เพราะสถานบริการบางแห่งอาจรักษาความสะอาดของเครื่องมือไม่ดีพอ
- บุคคลากรทางการแพทย์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเข็มตำต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่ดูแลด้านการติดเชื้อ เพื่อรับยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างทันท่วงที, วิธีนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อนี้ได้มาก
- ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคเอดส์/เอชไอวี ยังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย ยังไม่มีการผลิตออกมาใช้ในวงกว้าง
- ต้องเตือนตนเองไว้เสมอว่า เราไม่สามารถรู้ว่าใครติดเชื้อเอชไอวีจากการดูลักษณะภายนอก คนที่ดูภายนอกสวยงาม หรือหล่อเหลาสะอาดสะอ้านเพียงใด ก็ไม่สามารถไว้ใจได้ว่า เขาหรือเธอจะไม่ใช่พาหะนำโรคไวรัสเอชไอวีมาสู่เรา จึงต้องป้องกันไว้ก่อนเสมอ
- ก่อนแต่งงานกับใคร ต้องตรวจเลือดของผู้ที่จะมาแต่งงานกับเราก่อนเสมอทั้งหญิงและชายว่า มีเชื้อโรคอะไร หรือเป็นพาหะของโรคใด, ทั้งนี้ไม่เฉพาะโรคเอชไอวี, แต่รวมถึง โรคซิฟิลิส, โรคไวรัสตับอักเสบ, และโรคธาลัสซีเมีย ด้วย
ปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
การปฏิบัติตนเมื่อติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว ที่สำคัญ เช่น
- หาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุด
- ศึกษาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อนี้ไปสู่คนอื่น
- รับ’ยาต้านไวรัสเอชไอวี’เป็นประจำ, อย่าให้ขาดยา
- รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการรุนแรง หรือไม่มีอาการอยู่เป็นเวลานาน บางคนไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลาหลายๆปี, ในช่วงเวลาเหล่านี้ควร
- ออกกำลังกาย
- ทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ทุกมื้ออาหาร อย่างน้อยทุกวัน ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
- เลิกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
- หาวิธีลดความเคร่งเครียดทางจิตใจด้วยวิธีต่างๆที่ไม่ใช้สารเสพติด,เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,สูบบุหรี่, อบายมุขทั้งหลาย
รักษาอย่างไรเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว?
แนวทางการรักษาเมื่อติดเชื้อเอชไอวี คือ
ก. ใช้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หรือ’ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี/ยาต้านรีโทรไวรัส’ ซึ่งต้องรับประทานตลอดชีวิตเรียกว่า Antiretroviral therapy, เราสามารถติดตามผลการรักษาได้จากการเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว CD 4 positive T cell ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่, และนับปริมาณไวรัสในเลือดได้โดยตรง (Viral load), ซึ่งเป้าหมายในการให้ยานี้ก็เพื่อให้โรคอยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะสงบต่อไปนานๆโดยไม่เป็นโรคเอดส์
ข. ใช้ยารักษาโรคติดเชื้ออื่นๆที่เกิดจากการมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด เช่น วัณโรคก็ให้ยาวัณโรค, ติดเชื้อราก็ให้ยาต้านเชื้อรา, หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งก็รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อย่างไร?
คนที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆได้ตลอดไป ถึงแม้จะกินยาควบคุมการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสนี้อยู่ ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆได้, ดังนั้นคนที่ติดเชื้อฯแล้ว ควรมีวิธีการปฏิบัติตัว เช่น
- ถ้าเป็นเพศชายที่ติดเชื้อฯ:
- ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนเอง กับหญิง หรือชายอื่น แม้แต่ผู้ที่ติดเชื้อเหมือนกันก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน, เพราะเชื้อที่แต่ละคนมี อาจมีความแตกต่างในสายพันธุ์ย่อย ทำให้การตอบสนองต่อยา ความรุนแรงของเชื้อ หรือการดื้อยาแพร่กระจายไปได้
- แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก หรือทางทวารหนัก ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยชาย, และห้ามปล่อยน้ำอสุจิเข้าปากให้อีกฝ่ายกลืนเข้าไปโดยเด็ดขาด
- การจูบปากกับผู้อื่น ควรหลีกเลี่ยง ถึงแม้จะมีโอกาสแพร่เชื้อได้ยากกว่าทางอื่นแต่ก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเคยมีรายงานการพบเชื้อไวรัสเอชไอวีในน้ำลายได้ ถึงแม้ปริมาณจะน้อยก็ตาม
- ถ้าเป็นเพศหญิงที่ติดเชื้อฯ:
- ต้องให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นสามีหรือชายอื่น
- อย่าให้คู่ที่มีเพศสัมพันธ์ใช้ปากกับอวัยวะเพศของฝ่ายหญิงที่ติดเชื้อ เพราะในน้ำเมือกหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอด สามารถมีเชื้อไวรัสนี้ออกมาได้
- การมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายเช่นกัน
- ควรหลีกเลี่ยงการจูบปากกับผู้อื่น
- ห้ามฝ่ายชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย นำถุงยางอนามัยที่ร่วมเพศกับหญิงที่ติดเชื้อไปใช้ร่วมเพศกับหญิงอีกคนหนึ่งในกรณีที่เป็นการมีเพศสัมพันธ์หมู่เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อได้ทางหนึ่ง
- ผู้ติดเชื้อห้ามบริจาคโลหิตให้ผู้อื่น เพราะในเลือดจะมีเชื้อไวรัสเป็นจำนวนมาก แต่สามารถรับโลหิตจากผู้อื่นได้
- ผู้ติดเชื้อเพศหญิง: ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงการตั้งครรภ์ร่างกายจะอ่อนแอลง โรคนี้อาจกำเริบ และบุตรที่เกิดมาอาจติดเชื้อจากมารดาได้, แต่ในเรื่องการตั้งครรภ์นี้ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่บ้างเพราะบางรายงานบอกว่าผู้ติดเชื้อฯที่ยังไม่แสดงอาการของโรคสามารถตั้งครรภ์และคลอดได้ตามปกติ, ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเมื่อประสงค์จะตั้งครรภ์เสมอ
- เมื่อผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล หรือผ่าตัด หรือคลอดบุตร: ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบว่าตนเองติดเชื้อฯ เพราะบุคลากรทางการแพทย์อาจติดเชื้อจากเลือดของท่านได้, ถ้าทราบก่อนจะได้ป้องกันอย่างถูกต้อง
- เมื่อผู้ติดเชื้อฯจะแต่งงาน: ควรแจ้งให้คู่แต่งงานทราบก่อนว่า เป็นผู้ติดเชื้อฯเพื่อจะได้ปฏิบัติตนในการป้องกันให้ถูกต้องต่อไป
- ผู้ติดเชื้อฯไม่ควรบ้วนน้ำลายหรือขากเสมหะในที่สาธารณะทั่วไป ถึงแม้จะไม่ใช่ทางแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวี แต่ในน้ำลายหรือเสมหะนั้นอาจมีเชื้อโรคชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อวัณโรคซึ่งผู้ติดเชื้อมีโอกาสเป็นได้มาก และสามารถแพร่กระจายทางเสมหะได้
เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข?
การทำให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุขเมื่อติดเชื้อเอชไอวี:
- สิ่งแรกในการดำเนินชีวิตเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้ว คือ ผู้ติดเชื้อฯต้องหาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้จากบุคคลากรทางการแพทย์ จากหนังสือ จากอินเตอร์เนท จากผู้ที่เคยติดเชื้อฯมาแล้วและเต็มใจมาให้คำแนะนำ หรือรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน, การมีความรู้ที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ติดเชื้อฯไม่ตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลจนเกินควร และสามารถปฏิบัติตนในการป้องกันการแพร่เชื้อฯ และป้องกันการติดเชื้อโรคอื่นๆที่จะเข้ามาแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้อง
- กินยาที่ใช้ควบคุมการเพิ่มปริมาณของเชื้อไวรัสนี้จากสถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
- อย่าปล่อยให้ขาดยาต้านไวรัสฯ เพราะการขาดยาฯจะทำให้เชื้อฯเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเกิดการดื้อยาฯได้ ทำให้ยาฯที่เคยใช้ได้ผล กลับเป็นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
- ผู้ที่ติดเชื้อฯแล้วไปรับยาฯอย่างสม่ำเสมอสามารถมีชีวิตยืนยาวอย่างคนปกติได้ก็มีเป็นจำนวนมาก
- อย่าทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วยอบายมุขต่างๆ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืนทั้งๆที่ควรจะพักผ่อนนอนหลับให้พอเพียง ใช้ยาเสพติด การที่ร่างกายอ่อนแอลงจะทำให้โรคกำเริบได้
- ควรศึกษาวิธีการต่างๆทั้งทางจิตวิทยา ศาสนาที่ผู้ติดเชื้อนับถือ มีเพื่อน หรือญาติพี่น้องที่คอยเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจ เพื่อให้ลดความเครียดของจิตใจลงได้ ความเครียดที่มากเกินไปนั้น จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอ่อนแอลงและเชื้อไวรัสนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้
- อย่าซื้อยาต่างๆกินเองโดยเฉพาะยาชุด หรือยาลูกกลอน ที่ไม่รู้ที่มาหรือผู้ผลิตที่ชัดเจน เพราะอาจจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้นทานโรคจำพวกสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว, ยาพวกนี้จะยิ่งกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อฉวยโอกาสต่างๆได้ง่ายขึ้น และอาจรุนแรงถึงตายได้
- ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ติดเชื้อฯและองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯด้วยกันหลายกลุ่ม การเข้ากลุ่มเหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้ติดเชื้อฯได้รับการช่วยเหลือแล้ว การช่วยเหลือผู้อื่นในกลุ่ม ยังทำให้เกิดความสุขที่เกิดจากการให้ ซึ่งมีผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจในทางที่ดีเป็นอย่างยิ่ง, สามารถหาชื่อองค์กรเหล่านี้ได้ทางอินเตอร์เนท
- หลีกเลี่ยงความคิดแก้แค้น ผูกพยาบาท อยากแก้แค้นสังคม หรือผู้อื่นที่คิดว่าเป็นต้นเหตุการติดเชื้อฯ, การพยายามแพร่เชื้อฯให้ผู้อื่นโดยตั้งใจ ความคิดด้านลบเหล่านี้ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจโดยรวม
- หลีกเลี่ยงความคิดว่าตนเองต้องตายแน่ ตายในเวลาไม่นาน ตายโดยไม่มีคนดูแล, ความคิดทางลบแบบนี้ ทำให้ซึมเศร้าและหดหู่ ไม่เป็นผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายแต่อย่างใด
เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
โรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากติดเชื้อเอชไอวีที่พบได้บ่อย เช่น
- การติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อราแอสเปอจิลลัส/แอสเปอร์จิลโลสิส (Aspergillosis), เชื้อราแคนดิดา/แคนดิไดอะซิส(Candidiasis), เชื้อรา ฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis), เชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicillosis), เชื้อ ท็อกโซพลาสโมสิส(Toxoplasmosis), เชื้อนิวโมซิสตีส (Pneumocystis jiroveci), เชื้อวัณโร, โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส(Cytomegalovirus หรือ CMV), เชื้อไวรัสเริม (Herpes simplex), เชื้อไวรัสงูสวัด (Herpes zoster), เป็นต้น
- ซึ่งเชื้อฉวยโอกาสดังกล่าวเหล่านี้ มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ ไต ต่อมน้ำเหลือง และมักจะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าปกติ, รักษายากกว่าปกติ, เพราะร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่จะมาต่อสู้กับเชื้อโรคฉวยโอกาสเหล่านี้, ยาที่จะใช้รักษาก็มักมีผลข้างเคียงได้หลายอย่าง และมีโอกาสเชื้อดื้อยาสูง
- โดยมากโรคแทรกซ้อนเหล่านี้จะเกิดภายในเวลา 7-10 ปีนับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อไวรัสเอชไอวี, แต่ผู้ป่วยบางคนก็มีอาการเร็วกว่านั้น เช่น เกิดอาการน้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ติดเชื้อฉวยโอกาสภายในเวลา 2-3 ปีนับจากได้รับเชื้อฯได้ แต่เป็นส่วนน้อย
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ โรคมะเร็งคาโปซิ รวมทั้งมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย เช่น โรคมะเร็งไต โรคมะเร็งปากมดลูก และ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น มีสมมุติฐานว่าระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะคอยทำลายเซลล์มะเร็งที่เกิดในร่างกายตลอดเวลา, เมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เซลล์มะเร็งก็มีโอกาสเจริญแบ่งตัวมากขึ้น จนกลายเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ลุกลามได้ง่าย
โรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ทำลายเนื้อสมองจากการที่เชื้อฯเข้าไปอยู่ในเซลล์สมองชนิด’ไมโครเกลีย (Microglia)’ ไวรัสจะทำให้เซลล์ไมโครเกลียนี้ ปล่อยสารเคมีออกมาหลายชนิด เช่น อินเตอลูคิน 1 และ 6 (Interleukin 1,6) สารทีเอ็นเอฟ (TNF-Tumor Necrotic Factor) ซึ่งสารเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมองส่วนอื่นๆด้วย, ผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมองได้หลายอย่าง เช่น ซึม โวยวาย ความจำเสื่อม หมดสติ ชัก อาการคล้ายโรคจิต เป็นต้น
ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
การปฏิบัติตัวของผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่สำคัญ เช่น
- ปฏิบัติตัวต่อผู้ติดเชื้อควรทำเหมือนปกติ, ให้กำลังใจสม่ำเสมอ, อย่าแสดงท่าทีรังเกียจ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ติดเชื้อจากผู้ป่วยได้
- รับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ควรใช้ช้อนกลาง, รักษาอนามัยส่วนบุคคลให้ดี, ล้างมือบ่อยๆ, ซึ่งคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) นั่นเอง
- ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านเอชไอวี/ยาต้านรีโทรไวรัสอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่จำเป็นต้องแยก ห้องน้ำ ห้องส้วม
- หาความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวี และ โรคเอดส์ เช่น ควรรู้ว่าโรคนี้ ไม่สามารถติดต่อทางยุง หรือการสัมผัสเนื้อตัวภายนอก เป็นต้น
ถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีตั้งครรภ์จะปฏิบัติตัวอย่างไร?
ทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้ โอกาสของการติดเชื้อของลูกมีรายงานว่าอยู่ระหว่าง 7-49 %, แสดงว่าเด็กทารกส่วนใหญ่ไม่ติดเชื้อจากแม่, ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อตั้งครรภ์ ที่สำคัญ เช่น
- ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และบางครั้งแพทย์อาจให้ยาต้านเอชไอวีในระหว่างการตั้ง ครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทารกด้วย
- เมื่อคลอดบุตรแล้ว ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมของมารดาที่ติดเชื้อ เพราะเชื้ออาจอยู่ในน้ำนมได้ถึงแม้จะไม่มากก็ตาม เพราะบุตรที่รอดจากการติดเชื้อในครรภ์ และจากในระหว่างการคลอด อาจจะมาติดเชื้อจากนมแม่ได้อีกทางหนึ่ง
ถ้าสามีหรือภรรยาติดเชื้อจากคนอื่น คู่ครองควรทำอย่างไร?
ถ้าสามีหรือภรรยาติดเชื้อจากคนอื่น คู่ครองควรปฏิบัติดังนี้ เช่น
- ที่สำคัญคืออย่าปิดบังความจริงจากคู่ครอง และทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้คู่ครองติดเชื้อได้ ในความเป็นจริงกรณีนี้มักเกิดจากฝ่ายชายที่ไปเที่ยวสำส่อนนอกบ้านจนติดโรคแล้วนำมาแพร่เชื้อให้ภรรยาที่บ้านโดยภรรยาไม่รู้ตัวและไม่เคยคิดป้องกันการติดเชื้อที่มาทางสามีเลย เพราะไม่ทราบว่าสามีไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นนอกบ้าน กว่าจะทราบก็ติดเชื้อไปแล้ว
- ถ้าสามีเป็นฝ่ายติดเชื้อ: การมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาทุกครั้งต้องใช้ถุงยางอนามัยชายตลอดไป, และปรับพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ภรรยาได้
- ถ้าภรรยาติดเชื้อจากสามีแล้ว: สามีก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายเช่นกันเพื่อไม่ให้ภรรยารับเชื้อไวรัสฯเพิ่มเข้าไปอีก, และต้องไปรับการรักษาทั้งสามีและภรรยาตลอดไป
- *ควรต้องพบแพทย์ทั้งสามีและภรรยา ไม่ว่าใครติดเชื้อ
สาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ป่วยโรคเอชไอวีคืออะไร?
สาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น
- ตายจากโรคนี้ หรือ จากการติดเชื้อฉวยโอกาสในอวัยวะสำคัญต่างๆซึ่งเป็นสาเหตุตายที่สูงที่สุด เช่น โรคปอดบวมจากโรคเชื้อราชนิดต่างๆ, วัณโรคที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย, โรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆในเกือบทุกอวัยวะของร่างกาย, เป็นต้น
- ตายจากโรคเอดส์เอง: คนที่เป็นโรคเอดส์เรื้อรังนานๆ ร่างกายจะผอมลงเรื่อยๆ การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง, ทางเดินอาหาร, จะค่อยๆเสียไป, มีอาการทางสมอง, ช่วยตัวเองไม่ได้
- ตายจากโรคมะเร็งที่เกิดขึ้น
บรรณานุกรม
- Robbins and Cotran Pathologic Basis of Diseases, Eighth edition 2010.
- https://en.wikipedia.org/wiki/HIV [2022,June11]
- https://www.who.int/data/gho/data/themes/hiv-aids [2022,June11]