แอสเปอร์จิลโลสิส (Aspergillosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

แอสเปอร์จิลโลสิส(Aspergillosis)คือ โรคที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อราในสกุล(Genus)ชื่อ Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อรามีหลากหลายชนิดย่อย(Species)ที่สามารถก่อโรคแอสเปอร์จิลโลซิส แต่ที่พบบ่อย คือ จากเชื้อย่อยชนิด Aspergillus fumigates ซึ่งโดยทั่วไป โรคเชื้อราชนิดนี้มักจำกัดอยู่เฉพาะการติดเชื้อที่ปอดเท่านั้น ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำมากๆ เชื้ออาจกระจายทางกระแสโลหิต/กระแสเลือดไปก่อโรคได้กับอวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว ที่เรียกว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

เชื้อรา Aspergillus มีแหล่งรังโรคอยู่ในธรรมชาติรอบตัวเราที่เป็นอินทรีย์สารที่เน่าเปื่อย ผุพัง เช่น ในซากพืช ซากสัตว์ โกดังเก็บพืช ผลไม้ ธัญพืช ในดิน กองขยะอินทรีย์ และบางครั้งพบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในน้ำดื่ม น้ำใช้ หรือในอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ โดยมีสัตว์หลายชนิดเป็น โฮสต์(Host) เช่น คน วัว ควาย นก ม้า และวาฬ

โรคแอสเปอร์จิลโลสิส มีสถิติการเกิดที่ไม่แน่นอน แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นโรคพบน้อยมากในคนปกติทั่วไป, แต่พบบ่อยมากขึ้นในคนที่มีภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์, กินยากดภูมิคุ้มกันฯต่อเนื่อง (เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ, โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง) และใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง (เช่น โรคหืด)

ทั้งนี้ การเกิดโรคแอสเปอร์จิลโลสิส ไม่ขึ้น เชื้อชาติ เพศ และอายุ แต่ขึ้นกับโอกาสสัมผัสเชื้อราและการมีภูมิคุ้มกันฯที่บกพร่อง

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสเกิดได้อย่างไร?เป็นโรคติดต่อไหม?

แอสเปอร์จิลโลสิส

โรคแอสเปอร์จิลโลซิส ‘ไม่เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน’ แต่เกิดจากร่างกายติดเชื้อราในสกุล Aspergillus จากการสูดดมเชื้อรานี้เข้าสู่ปอด โรคส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจึงพบอาการที่ปอด

แต่ส่วนน้อย อาจเกิดจากติดเชื้อที่ผิวหนังกรณีผิวหนังบาดเจ็บหรือมีแผลที่สัมผัสเชื้อนี้ และ

ในคนที่มีภูมิคุ้มกันฯบกพร่องอย่างรุนแรง จะมีการติดเชื้อนี้ของอวัยวะต่างๆร่วมกันซึ่งมักเกิดจากติดเชื้อรานี้ทางกระแสเลือด

เชื้อรา Aspergillus ก่อโรคได้จากการหายใจเอาเชื้อราเข้าไปในปอด แต่โดยทั่วไปในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ เชื้อจะไม่ก่อการติดโรค จะก่อโรคเกือบทั้งหมดในคนที่มีภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง และเนื่องจากเป็นการติดเชื้อผ่านการหายใจจึงพบเชื้อนี้แพร่ระบาดในโรงพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเชื้อนี้ไม่ติดต่อทางการสัมผัส การใช้ของใช้ร่วมกัน หรือการกินอาหารร่วมกัน

ทั่วไป ระยะฟักตัวของโรคแอสเปอร์จิลโลสิสจะประมาณ 2 วันจนถึง 3 เดือนขึ้นกับ ภูมิคุ้มกันฯว่าบกพร่องหรือไม่และบกพร่องมากหรือน้อย, และปริมาณเชื้อที่ได้รับว่ามากหรือน้อย

เชื้อรา Aspergillus เป็นเชื้อทนน้ำยาฆ่าเชื้อ ทนความร้อน โดยพบว่าเชื้อนี้ตายได้ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป นานอย่างน้อย 45 นาที และมีรายงานว่า เชื้อตายได้จากไมโครเวฟ 800 วัตต์ นานประมาณ 2 นาที

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแอสเปอร์จิลโลสิส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคแอสเปอร์จิลโลสิส คือ ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่บกพร่อง เช่น

  • ผู้ป่วย เอชไอวี, โรคเอดส์
  • ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • ผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง เช่น โรคหืด โรคภูมิต้านตนเอง

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสมีอาการอย่างไร?

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสแบ่งตามหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา/ซีดีซี (CDC, Centers of Disease Control and Prevention)เป็น 7 แบบ/กลุ่ม ซึ่งแต่ละแบบจะมีอาการแตกต่างกัน ได้แก่

ก. Allergic bronchopulmonary aspergillosis (ABPA)หรือ ภูมิแพ้เชื้อรานี้ที่ปอด: คือ เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ปอด เชื้อจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้จนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด(โดยไม่มีการติดเชื้อ) มักพบอาการแบบนี้ในผู้ป่วยโรคหืดที่ดื้อยารักษาโรคหืดจึงตองใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่อง ที่รวมไปถึงผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ปอดสร้างเมือกที่เหนียวข้น ที่เรียกว่าโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis ย่อว่า CF แต่ยังไม่เคยพบโรคนี้ในคนไทย) และมักพบร่วมกับการอักเสบของไซนัส(ไซนัสอักเสบ)จากเชื้อรานี้(Allergic aspergillus sinusitis)ร่วมด้วย

อาการที่พบได้ เช่น มีไข้, ไอ, เสมหะข้นเหนียว, อาจมีเลือดปน, หายใจเสียงหวีด(Wheezing), อาจมีหายใจหอบเหนื่อย/ หายใจลำบาก, เอกซเรย์ปอดจะเห็นภาพปอดคล้ายมีปอดอักเสบ/ปอดบวม

ข. Allergic aspergillus sinusitis หรือภูมิแพ้ไซนัสจากเชื้อรานี้: เป็นปฎิกิริยาภูมิแพ้เช่นเดียวกับภูมิแพ้ฯที่ปอดและที่มักเกิดร่วมกัน คือ มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสโดยไม่มีการติดเชื้อ อาการคือ คัดจมูก, มีน้ำมูกข้น, จมูกได้กลิ่นลดลง, และปวดหัวเรื้อรัง

ค. Aspergilloma หรือ Fungal ball: คือ เชื้อรานี้จะก่อให้เกิดเป็นก้อนเนื้อลักษณะค่อนข้างกลมในปอด และ/หรือในไซนัส ซึ่งก้อนเนื้อนี้จะเห็นได้จากเอกซเรย์ภาพปอดหรือไซนัส ซึ่งก้อนเนื้อที่กลมนี้อาจมีโพรงเกิดขึ้นในก้อนได้ เรียกว่า “Cavity” อาการที่พบได้ คือ อาจไม่มีอาการ แต่ตรวจพบโรคโดยบังเอิญจากเอกซเรย์ภาพปอดหรือไซนัสจากสาเหตุอื่นๆ, ส่วนเมื่อมีอาการ อาการที่พบได้ เช่น ไข้ ไอ มักไอเป็นเลือด ซึ่งอาจมีเลือดออกๆได้มากจากก้อนเนื้อนี้จนอาจถึงตายได้โดยเฉพาะกรณีมีโพรงในก้อน ซึ่งกรณีมีโพรงในก้อน พบเป็นสาเหตุของไอเป็นเลือดได้ประมาณ 40-60%ของผู้ป่วย

ง. Chronic pulmonary aspergillosis หรือ ภาวะติดเชื้อเรื้อรังในปอด: ภาวะนี้ มักพบมีก้อนเนื้อในปอด(Aspergilloma)นานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป ก้อนเนื้ออาจเกิดเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายก้อนได้ ซึ่งโรคกลุ่มนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่เดิม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง(โรคซีโอพีดี) และในผู้ป่วยติดสุรา อาการที่พบ เช่น มีไข้ ไอเรื้อรัง หายใจหอบเหนื่อย อาจเกิดภาวะปอดอักเสบ/ปอดบวมได้ เบื่ออาหาร และอาจมีอาการ เหงื่อออกกลางคืน

จ. Cutaneous aspergillosis หรือ โรคติดเชื้อรานี้ที่ผิวหนัง: โดยพบเกิดได้จาก 2 ช่องทาง คือ จากการแพร่กระจายของเชื้อนี้เข้าสู่ผิวหนังผ่านทางจากกระแสเลือด, และ/หรือจาก แผลที่ผิวหนังสัมผัสเชื้อรานี้โดยตรง(Primary cutaneous aspergillosis) โดยเชื้อรานี้อาจปนเปื้อนมากับ ผ้าผันแผล หรือเครื่องนุ่งห่ม หรือติดเชื้อในตำแหน่งที่มีการใส่ท่อต่างๆ (เช่น การสวนปัสสาวะ, การใส่ท่อให้อาหารทางหลอดเลือด, การใส่ท่อช่วยหายใจ/การเจาะคอ) และมีรายงานเกิดในตำแหน่งเจาะเลือดได้, ลักษณะของรอยโรคที่ผิวหนัง อาจพบเป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นผื่น สีออกแดง-ม่วง และอาจลุกลามเกิดหนองจากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน จนในที่สุดเกิดเป็นแผลเนื้อตายได้

ฉ. Invasive aspergillosis หรือ ระยะโรครุนแรง ลุกลาม: เป็นการติดเชื้อที่มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำมาก ร่วมกับการมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมากต่อเนื่อง

(โดยเฉพาะชนิด Neutrophil) โรคกลุ่มนี้มักพบใน ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ มะเร็งในระบบโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง), และในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคซีโอพีดีชนิดรุนแรงที่ต้องรักษาต่อเนื่องด้วยยาสเตียรอยด์

ผู้ป่วยด้วยโรคกลุ่มรุนแรงนี้ เชื้อรานี้จะลุกลาม รุนแรง ก่อภาวะปอดอักเสบ/ปอดบวมรุนแรง และมักลุกลามเข้ากระแสโลหิต/กระแสเลือด ก่อการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะทั่วร่างกาย อาการที่พบได้ เช่น มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ไอมาก เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้าออก อาจมีไอเป็นเลือด และในที่สุดอาจถึงขั้นภาวะหายใจล้มเหลว และตายในที่สุด

นอกจากนั้น คือ อาการจากอวัยวะต่างๆที่มีเชื้อแพร่กระจายเข้าถึง เช่น อาการทางสมองเมื่อโรคแพร่ไปที่สมอง(เช่น แขน-ขาอ่อนแรง ชัก), อาการทางหัวใจ/ภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อโรคแพร่ไปหัวใจ(เช่น หอบเหนื่อย บวมทั้งตัว)

ช. Azole-Resistant Aspergillus fumigatus หรือ ผู้ป่วยกลุ่มที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อรากลุ่มยาเอโซล (Azole Antifungals): ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ตอบสนองต่อยาต้านเชื้อรา การรักษาจึงไม่ได้ผล ผู้ป่วยจึงมักเสียชีวิต

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่แพทย์นัดตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอาการผิดปกติที่ผิดไปจากเดิม หรืออาการเดิมเป็นมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคแอสเปอร์จิลโลสิสได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคแอสเปอร์จิลโลสิส เป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้เทคโนโลยีสูง และใช้เวลานานกว่าจะวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์วินิจฉัยโรคแอสเปอร์จิลโลสิสได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติโรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจหาเชื้อราและการเพาะเชื้อนี้จาก เลือด, เสมหะ, รอยโรคที่ผิวหนัง
  • การถ่ายภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
  • การตรวจเลือดด้วยวิธีเฉพาะเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้จากเชื้อนี้ (เช่น Galactomannan antigen test)
  • การตรวจหาเชื้อนี้จากสารคัดหลั่งหรือจากเนื้อเยื่อจากรอยโรคด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction assay)

รักษาโรคแอสเปอร์จิลโลสิสได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคแอสเปอร์จิลโลสิส ได้แก่ การรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, การเฝ้าติดตามโรค, การใช้ยาต้านเชื้อรา, การผ่าตัด, และการรักษาตามอาการ

ก. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ: ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่โรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี, การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, การรักษาโรคหืด, หรือ การปรับลดขนาดยากดภูมิคุ้มกัน (แนะนำอ่านรายละเอียดโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุฯรวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข. การเฝ้าติดตามโรค: ใช้เป็นวิธีรักษาในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไม่ต่ำมาก, ปริมาณเม็ดเลือดขาวยังปกติ, มีสุขภาพโดยทั่วไปที่แข็งแรง, ได้รับเชื้อรานี้ในปริมาณไม่มาก, และเชื้อราเป็นชนิดไม่รุนแรง, ซึ่งผู้ป่วยมักไม่มีอาการและการติดเชื้อมักจำกัดอยู่ในวงจำกัดของเนื้อเยื่อปอด ทั้งนี้เพราะยาต้านเชื้อราชนิดนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แพทย์จึงต้องประเมินถึงผลการรักษาและอัตราเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาต้านเชื้อราร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

ค. การใช้ยาต้านเชื้อรา: ยาต้านเชื้อราชนิดนี้ เป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง ซึ่งมีทั้ง ยาทา, ยากิน, และยาฉีด, ซึ่งชนิดของยา ขนาดยา และระยะเวลาในการรักษา อาจนานประมาณ 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือน หรือโรคบางรูปแบบอาจต้องได้รับยาต่อเนื่องนานเป็นปี

ดังนั้น การจะเลือกใช้ยาอย่างไร จึงขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ, รูปแบบของอาการว่าเป็นรูปแบบใด, การได้รับปริมาณเชื้อรามากหรือน้อย, การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ภูมิคุ้มกันฯผู้ป่วยต่ำมากหรือน้อย, พยาธิสภาพเดิมของปอด, อายุ, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ตลอดจนการตอบสนองของเชื้อราต่อยาที่ใช้รักษา

ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาเชื้อรานี้ เช่นยา Voriconazole, Itraconazole, Posaconazole, และ Amphotericin B

ง. การผ่าตัด: จะใช้รักษาในกรณีเกิดมีก้อนเนื้อในปอด โดยเฉพาะก้อนเนื้อที่ก่ออาการกดเบียดหลอดลม หรือที่เป็นสาเหตุให้ไอเป็นเลือดเฉพาะอย่างยิ่งกับการไอเป็นเลือดที่รุนแรง

จ. การรักษาตามอาการ: คือ การรักษาตามอาการของโรค เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ไอ, ยาละลายเสมหะ/ ยาขับเสมหะ, ยาแก้อักเสบ, รวมถึงยาปฏิชีวนะกรณีเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน, การทำแผล, การให้ออกซิเจน, และการให้สารน้ำหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีดื่ม/กินอาหารได้น้อย

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคแอสเปอร์จิลโลสิส ที่อาจพบได้ เช่น

  • การเกิดโรคหลอดลมพอง
  • ไอเป็นเลือดที่อาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียเลือดมากจนตายได้
  • การอุดตันทางเดินหายใจจากก้อนเนื้อกดหรือจากการมีเสมหะมาก และ
  • ภาวะหายใจล้มเหลวที่เป็นสาเหตุให้ตายได้

นอกจากนี้ คือ ผลข้างเคียงจากยาต้านเชื้อรา ที่อันตราย คือ

  • กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome และ
  • ภาวะไตวายเฉียบพลันที่อาจเป็นสาเหตุให้ตายได้

โรคแอสเปอร์จิลโลสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคแอสเปอร์จิลโลสิส มีการพยากรณ์โรคที่หลากหลาย ตั้งแต่ที่มีโอกาสรักษาควบคุมโรคได้ เช่น กรณีเกิดอาการแบบภูมิแพ้ที่ปอดและ/หรือที่ไซนัส ไปจนถึงอาการรุนแรงจนเป็นเหตุการตายได้สูง เมื่อเป็นการติดเชื้อแบบลุกลามแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด

ซึ่งการพยากรณ์โรคของโรคนี้จะแตกต่างในแต่ละบุคคล เป็นกรณีๆไป ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญนอกเหนือจากรูปแบบการเกิดอาการ คือ ความรุนแรงของอาการ, การได้รับปริมาณเชื้อรานี้มากหรือน้อย, การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำได้ดีหรือไม่, ภูมิคุ้มกันฯผู้ป่วยต่ำมากหรือน้อย, พยาธิสภาพเดิมของปอด, อายุ, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ตลอดถึงการตอบสนองของเชื้อราต่อยาต้านเชื้อรา , ซึ่งโอกาสตายจากโรคนี้มีได้ตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 95%

อนึ่ง โรคนี้เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วรักษาควบคุมโรคได้แล้ว สามารถเกิดการติดเชื้อซ้ำอีกได้เสมอเมื่อร่างกายได้รับเชื้อกลับเข้ามาอีก

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อแพทย์ให้ผู้ป่วยโรคแอสเปอร์จิลโลสิสกลับมาดูแลรักษาตัวต่อที่บ้าน การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • จัดห้องนอน ที่อยู่อาศัยให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี กำจัดแหล่งรังโรครอบบ้าน
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อผู้ป่วยโรคแอสเปอร์จิลโลสิส และดูแลรักษาตัวที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น มีไข้สูง ไอเป็นเลือดมากขึ้น อ่อนเพลียมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ชัก แขน-ขาอ่อนแรง
  • อาการที่เคยหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น กลับมาไอเป็นเลือดอีก
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง เป็นต้น
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคแอสเปอร์จิลโลสิสได้อย่างไร?

วิธีป้องกันโรคแอสเปอร์จิลโลสิสที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่บกพร่องจากโรค/ภาวะที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ คือ การติดเชื้อเอชไอวีโดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • รู้จักใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ดื่มสุราที่มักเป็นสาเหตุให้ขาดสติจนเกิดมีเพศสัมพันธ์แบบไม่มีการป้องกัน

นอกจากนั้น คือ การป้องกันไม่ให้มีแหล่งรังโรคของเชื้อรานี้ เช่น กองขยะอินทรีย์, และการรู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ที่เป็นแหล่งรังโรค เช่น กองขยะ หรือโกดังเก็บพืชผลต่างๆ

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำมาก ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อรานี้แบบแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด แพทย์อาจแนะนำการกินยาต้านเชื้อราในขนาดยาที่ใช้ป้องกัน ซึ่งทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะจะต้องพิจารณาจากประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับกับผลข้างเคียงของยา

บรรณานุกรม

  1. Segal, B. (2009). N Engl J Med. 360, 1870-1884
  2. Sherif,R., and Segal, H. (2010). Curr Oin Pulm Med. 16, 242-250
  3. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/aspergillus.html [2020,Aug22]
  4. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/aspergillosis/index.html?s_cid=cs_748 [2020,Aug22]
  5. https://www.cdc.gov/fungal/diseases/aspergillosis/definition.html [2020,Aug22]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/296052-overview#showall [2020,Aug22]
  7. https://www.dermnetnz.org/topics/aspergillosis/ [2020,Aug22]