โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส หรือ โรคติดเชื้อซีเอมวี (โรคซีเอมวี) (Cytomegalovirus infection ย่อว่า CMV) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะอาศัยอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิตของเรา ในคนปกติทั่วไป การติดเชื้อมักไม่ทำให้เกิดอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จะทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายอวัยวะ และมีอาการที่รุนแรงได้ สำหรับเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา มีโอกาสที่จะติดเชื้อผ่านทางรก และทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดตามมาได้

ทั้งนี้ พบการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส/เชื้อซีเอมวีได้ทั่วโลก เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้ใกล้เคียงกัน โดยพบในประเทศด้อยพัฒนามากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการดูแลสุขอนามัยที่แตกต่างกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีประชากรที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายประมาณ 60% สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน

การติดเชื้อซีเอมวีครั้งแรกมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก และจะพบอัตราการติดเชื้อมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่อายุมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม เช่น ชายรักร่วมเพศ โสเภณี พบว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้เกือบ 100% การติดเชื้อยังสามารถพบได้ในทารกที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งถ่ายทอดมาจากมารดา โดยพบว่าประมาณ 1% ทารกแรกคลอดทั้งหมด มีการติดเชื้อชนิดนี้เกิดขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อซีเอมวี?

โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส

เชื้อไซโตเมกาโลไวรัส/เชื้อซีเอมวี เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในวงศ์ (Family) Herpesvirus ซึ่งไวรัสที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิด โรคเริม, โรคอีสุกอีใส, โรคงูสวัด เชื้อในวงศ์นี้มีคุณสมบัติเฉพาะคือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนแล้ว ก็จะแอบแฝงอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

การติดเชื้อซีเอมวี เกิดจากการอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย ซึ่งเชื้อ ซีเอมวี อาจจะอยู่ใน น้ำลาย อุจจาระ หรือปัสสาวะ ก็ได้ ดังนั้นการติดเชื้อมักเกิดจากคนที่อยู่อาศัยในบ้านเดียวกัน หรือในสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีการสัมผัสกันใกล้ชิด เชื้อไวรัสนี้ยังพบได้ในน้ำอสุจิ และในน้ำจากช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อจึงสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้นในผู้ที่พฤติกรรมสำส่อนทางเพศ จึงมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้มาก

นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อซีเอมวีได้ในน้ำนมของมารดาที่มีเชื้อนี้อยู่ เชื้อจึงสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกที่กินนมแม่ได้อีกด้วย ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ก็เช่นเดียวกัน มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาได้

การได้รับเลือด หรือ ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากผู้ที่มีเชื้อนี้ ก็พบว่าสามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน

เชื้อซีเอมวี มีอยู่หลายชนิดย่อย ผู้ที่ติดเชื้อชนิดย่อยหนึ่งแล้ว มีโอกาสที่จะติดเชื้อชนิดย่อยอื่นๆได้อีก

โรคติดเชื้อซีเอมวีมีพยาธิสภาพการเกิดโรคอย่างไร?

โรคติดเชื้อซีเอมวี/ โรคซีเอมวี มีพยาธิสภาพการเกิดโรคดังนี้ คือ เมื่อเชื้อไวรัสซีเอมวีเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในเซลล์ของร่างกาย และนำเอาสารพันธุกรรมของมัน แทรกเข้าไปอยู่กับสารพันธุกรรมของเซลล์ร่างกายเรา เมื่อเซลล์ของร่างกายมีการแบ่งตัว เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายไป สารพันธุกรรมของไวรัสนี้ก็จะมีการแบ่งตัวตามไปด้วย ทำให้เชื้อไวรัสสามารถอยู่กับร่างกายเราได้ไปตลอดอายุขัยของเรา โดยไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เซลล์ของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใดที่เชื้อซีเอมวีอาศัยอยู่เป็นหลัก แต่คาดว่าสามารถอยู่ได้ในเซลล์ของอวัยวะและเนื้อเยื่อทุกชนิด เนื่องจากสามารถตรวจพบเชื้อได้แทบทุกอวัยวะ รวมทั้งการแพร่เชื้อสามารถเกิดขึ้นได้หลายทาง

เมื่อเชื้อซีเอมวี เข้าร่างกายเป็นครั้งแรก ร่างกายของเราก็พยายามที่จะกำจัดเชื้อโดยการสร้างแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน: Antibody) และส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte มาทำลายเชื้อไวรัสนี้ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้ การติดเชื้อครั้งแรกในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติโดยเฉพาะในวัยเด็ก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการปรากฏ แต่หากการติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวต่อเชื้อไวรัสนี้อาจรุนแรงซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อในช่วงวัยนี้มีอาการได้

หากร่างกายของเราเกิดภาวะภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง เช่น ในกรณีเกิดการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯก่อนการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะทำให้เม็ดเลือดขาว T lymphocyte มีปริมาณหรือทำงานได้ลดลง การติดเชื้อซีเอมวีเป็นครั้งแรกก็จะทำให้เกิดอาการที่รุนแรง โดยเชื้อจะไปทำให้เกิดพยาธิสภาพที่อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ในกรณีที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว จึงเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องตามมาในภายหลัง เชื้อนี้ที่อยู่แบบแอบแฝงในร่างกายเราก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้อย่างมาก เรียกว่าเกิด “Reactivation (การปลุกฤทธิ์คืนมา)” เมื่อเชื้อนี้แบ่งตัวจนมีปริมาณมาก ก็จะไปทำให้เกิดพยาธิสภาพที่อวัยวะต่างๆ และเกิดอาการต่างๆตามมาได้ ในบางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อชนิดย่อยใหม่ซ้ำขึ้นมาอีกก็ได้

สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์ การติดเชื้อซีเอมวีมักเกิดจากมารดาที่เพิ่งมีการติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรกในระหว่างที่ตั้งครรภ์ โดยหากมารดาติดเชื้อในการตั้งครรภ์ช่วงแรก โอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อผ่านทางรกให้ทารกมีประมาณ 40%, แต่ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ช่วงหลัง โอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อมีมากถึง 75-80%, แต่การติดเชื้อในช่วงครรภ์ต้นๆจะมีโอกาสทำให้ทารกเกิดอาการที่รุนแรงกว่าการตั้งครรภ์ในช่วงหลังๆ มีส่วนน้อยที่ทารกอาจติดเชื้อจากมารดาที่เคยมีการติดเชื้อ CMV มา แล้ว แต่ได้รับเชื้อชนิดย่อยชนิดใหม่เข้าไปอีกขณะที่ตั้งครรภ์ และมีส่วนน้อยมากที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาที่เคยติดเชื้อ ซีเอมวี แล้วเชื้อเกิด Reactivation ขึ้นมา

โรคติดเชื้อซีเอมวีมีอาการอย่างไร?

แบ่งอาการและอาการแสดงจากโรคติดเชื้อซีเอมวี/โรคซีเอมวี ตามกลุ่มของผู้ติดเชื้อได้ดังนี้

ก. การติดเชื้อของทารกในครรภ์ (Congenital cytomegalovirus infection): ประ มาณ 10% ของทารกที่ติดเชื้อ เมื่อคลอดออกมาจะมีอาการ และอาการแสดงที่พบบ่อยได้แก่ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและม้ามโต ศีรษะมีขนาดเล็ก น้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็กเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ทารกในครรภ์เติบโตช้า)

ทารกส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง ซึ่งเรียกว่า Cytomegalic inclusion dis ease (CID) คือจะมีอาการ ตัวเหลือง ตับม้ามโต ศีรษะเล็ก น้ำหนักตัวน้อย, ตัวเล็ก, มีจุดและจ้ำเลือดออกตามผิวหนังจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, และมีจอตาอักเสบ หากเจาะเลือดตรวจ จะพบค่า น้ำดี และค่าเอนไซม์การทำงานของตับสูงกว่าปกติ, การเจาะหลังตรวจน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง จะพบค่าสารโปรตีนสูงกว่าปกติ, การตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)สมองจะพบสมองมีขนาดเล็ก ช่องโพรงน้ำในสมอง (Ventricle) กว้างกว่าปกติ และมีหินปูนเกาะอยู่รอบๆช่องโพรงน้ำในสมองนี้

ทารกที่ติดเชื้อซีเอมวีอีกประมาณ 90% จะไม่ปรากฏอาการเมื่อแรกคลอด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทารกที่ติดเชื้อจากมารดาที่เคยมีการติดเชื้อมาแล้ว แต่ติดเชื้อชนิดย่อยใหม่เข้ามาอีก หรือติดเชื้อจากเชื้อที่เกิด Reactivation ขึ้นมาในระหว่างที่ตั้งครรภ์

ข. การติดเชื้อซีเอมวีในวัยแรกคลอด (Perinatal cytomegalovirus infection): ทารกที่คลอดออกมาอาจติดเชื้อจากมารดาจากการคลอดผ่านทางช่องคลอด, จากการดูดนมมารดา, หรือติดมาจากน้ำลายของมารดา, โดยที่ทารกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ และสามารถเติบโตได้เป็นปกติ

ทารกบางรายโดยเฉพาะที่คลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักแรกคลอดน้อย อาจเกิดอา การของ ปอดอักเสบ/ปอดบวม ตับอักเสบ และมีต่อมน้ำเหลืองโตได้

ค. การติดเชื้อซีเอมวีในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันฯปกติ: การติดเชื้อครั้งแรกในคนปกติส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ผู้ที่มีอาการมักอยู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นๆ (อายุ 20-30 ปี) โดยระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อครั้งแรกจนกระทั่งแสดงอาการ (ระยะฟักตัวของโรค) คือ ประมาณ 20-60 วัน อาการได้แก่ ไข้สูง, อ่อนเพลียมาก, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ปวดหัว, บางรายอาจมีตับโต, ม้ามโต, และผื่นขึ้นตามผิวหนัง, มีส่วนน้อยที่อาจมีอาการเจ็บคอจากคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ และมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งทำให้อาการคล้ายกับโรค Infectious mononucleosis ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอบสไตบาร์(โรคติดเชื้อไวรัสอีบีวี) ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการจากเชื้อซีเอมวี จึงเรียกได้อีกชื่อว่าเป็น โรค ‘CMV mononucleosis’

ในผู้ป่วยที่ไม่มีผื่น หากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะกลุ่ม Beta-lactamase เช่นยา Amoxicillin จะเกิดผื่นทั่วร่างกายได้ โดยที่ไม่ใช่จากการแพ้ยา เช่นเดียวกับในผู้ป่วยโรคโรคติดเชื้อไวรัสอีบีวี

มีผู้ป่วยน้อยรายที่อาจเกิดอาการรุนแรง เช่น อาการที่เกิดจากปอดอักเสบ/ปอดบวม, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, สมองอักเสบ

ง. การติดเชื้อซีเอมวีนี้ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: ในผู้ที่ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ หรือเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก, ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันฯจะถูกกดจากยาที่ให้ หากมีการติดเชื้อซีเอมวีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือติดเชื้อซีเอมวี ชนิดย่อยใหม่ ซึ่งเชื้อมักจะมาจากอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการขึ้น หรือในผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเชื้อจะไปทำลายภาวะภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย หากได้รับการติดเชื้อซีเอมวี เป็นครั้งแรก หรือติดเชื้อซีเอมวีย่อยชนิดใหม่ ก็จะทำให้เกิดอาการเช่นกัน นอกจากนี้ มีส่วนน้อยที่ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ อาจจะเกิดอาการจากเชื้อซีเอมวีที่มีอยู่ในร่างกายเดิม เกิดการแบ่งตัวมี Reactivation ขึ้นมาได้

ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเหล่านี้ เชื้อซีเอมวีจะไปทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายๆอวัยวะ และทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการได้หลากหลาย อาการทั่วๆไป เช่น มีไข้เรื้อรัง, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ปวดตามข้อ , ส่วนอาการอื่นๆจะขึ้นกับอวัยวะที่เกิดพยาธิสภาพ เช่น

  • ปอดอักเสบ/ปอดบวมเมื่อเกิดติดเชื้อนี้ที่ปอด มักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนปอด โดยจะเกิดขึ้นภายใน 1-3 เดือนหลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ อาการคือ ไอแบบไม่มีเสมหะ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • ตับอักเสบเมื่อเกิดติดเชื้อนี้ที่ตับ ผู้ป่วยจะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง หากเจาะเลือดตรวจจะพบค่าเอนไซม์ตับสูงกว่าปกติ มักเกิดในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดถุงน้ำดีอักเสบจากติดเชื้อที่ถุงน้ำดีได้
  • เยื่อบุผิวทางเดินอาหารอักเสบและมีแผล: จากติดเชื้ออวัยวะระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่การติดเชื้อที่เยื่อบุภายในช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และ/หรือลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนอาหารลำบาก กลืนแล้วเจ็บ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว/ท้องเสีย อุจจาระเป็นมูก หรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น
  • จอตาอักเสบ (Retinitis) มักพบติดเชื้อซีเอมวีที่จอตาในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำมากๆ ซึ่งทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยลดลง จนกระทั่งตาบอดได้ อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง 2 ตาก็ได้
  • สมองอักเสบ และช่องโพรงน้ำในสมองอักเสบ (Ventriculoencephalitis) มักพบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้ว โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อซีเอมวีที่ระบบประส่าทนี้ จะมีอาการสับสน ตากระตุก เส้นประสาทสมองอักเสบ บางรายที่มีการสมองอักเสบอย่างเดียว (Encephalitis) จะมีอาการ ขี้ลืม/ หลงลืม ความจำเสื่อม ที่เหมือนโรคความจำเสื่อมที่เกิดจากตัวเชื้อเอชไอวี เองได้
  • อวัยวะอื่นๆที่อาจพบมีการติดเชื้อซีเอมวีได้: เช่น ไตอักเสบ (Nephritis), ต่อมหมวกไตอักเสบ (Adrenalitis) และ/หรือ ตับอ่อนอักเสบ

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อซีเอมวีอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อซีเอมวี/โรคซีเอมวี ได้โดย

ก. ในเด็กแรกคลอดที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ ศีรษะเล็ก ตัวเหลือง ตับและม้ามโต มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง: แพทย์จะนึกถึงสาเหตุที่มาจากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งมีเชื้อหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการคล้ายๆกันได้ เช่น โรคติดเชื้อปรสิต ชนิด Toxoplasma, โรคซิฟิลิส, เชื้อไวรัสชนิดก่อโรคเริม (Herpes simplex)

โดยการจะพิสูจน์ว่าเป็นผลจากเชื้อซีเอมวี ต้องอาศัย

  • การเพาะเชื้อจากเลือดหรือจากปัสสาวะ
  • หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)
  • หรือ ตรวจเลือด หาสาร แอนติบอดี/สารภูมิต้านทานของเชื้อซีเอมวี ชนิดที่เรียกว่า IgM (Immunoglobulin M) ซึ่งจะต้องตรวจภายในเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังคลอด

ทารกที่ติดเชื้อในวัยแรกคลอด ส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏอาการ การวินิจฉัยจึงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจคัดกรอง เพราะทารกจะสามารถเติบโตได้เป็นปกติ

ข. ในเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ: ก็เช่นกัน การวินิจฉัยว่าเคยมีการติดเชื้อซีเอมวีหรือไม่นั้นคงไม่จำเป็น ยกเว้นในบางกรณี เช่น

  • ต้องการจะบริจาคอวัยวะ โดยการตรวจจะใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานของเชื้อซีเอมวี ชนิด IgG (Immunoglobulin G)

ค. ในคนที่มีภูมิคุ้มกันฯปกติที่ติดเชื้อซีเอมวีแล้วมีอาการและอาการแสดง: ซึ่งอาการมักจะคล้ายกับในโรคอีบีวี อีกทั้งการเจาะเลือดตรวจดู ซีบีซี (CBC) จะพบเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีรูปร่างผิดปกติ (Atypical lymphocyte) เหมือนกันทั้ง 2 โรค ดังนั้นการจะพิสูจน์ว่าเกิดจากเชื้อซีเอมวี ต้องอาศัยการเพาะเชื้อจากเลือด หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธี PCR หรือเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อซีเอมวี ชนิด IgM หรือตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgG 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งค่าต้องเพิ่มมากกว่า 4 เท่า

ง. ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: อาการจะมีหลากหลาย และอาจแยกไม่ได้จากโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดการติดเชื้อได้หลายชนิดและพร้อมๆกัน การวินิจฉัยจึงมักเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อหลายๆชนิดไปพร้อมๆกัน ซึ่งการพิสูจน์ว่าเกิดจากเชื้อซีเอมวี จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ

จ. ยังไม่มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อซีเอมวีในระหว่างที่ตั้งครรภ์ แต่หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการและอาการที่น่าสงสัยว่า กำลังมีการติดเชื้อซีเอมวี หรือการตรวจ อัลตราซาวด์ในระหว่างการตั้งครรภ์พบทารกมีความผิดปกติ เช่น น้ำหนักน้อย ศีรษะเล็ก แพทย์จะตรวจเพื่อการสืบค้นทั้งในหญิงตั้งครรภ์และในเด็กทารกในครรภ์ เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าติดเชื้อซีเอมวี หรือไม่

  • โดยเด็กทารกในครรภ์จะใช้การเพาะเชื้อ
  • หรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยเทคนิควิธี PCR จากน้ำคร่ำ
  • ส่วนมารดาจะใช้วิธีตรวจเช่นเดียวกับคนที่ภูมิคุ้มกันฯปกติ

ฉ. ในบางกรณี หากมีการตัดชิ้นเนื้อจากอวัยวะที่มีพยาธิสภาพมาตรวจด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา จะพบเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสซีเอมวีอยู่จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ นิวเคลียสมีจุดสีแดงขนาดใหญ่ และรอบๆนิวเคลียสจะใส ดูคล้ายๆกับตาของนกฮูก (Owl’s eye appearance) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้วินิจฉัยการติดเชื้อซีเอมวีได้

ผลข้างเคียงจากโรค/ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรคในโรคติดเชื้อซีเอมวีเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรค, ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค, ของโรคติดเชื้อซีเอมวี/โรคซีเอมวี ได้แก่

ก. เด็กทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์และมีอาการแสดงเมื่อคลอดออกมา: ประมาณ 80-90% เมื่อเติบโตขึ้นจะเกิดความผิดปกติต่างๆ เช่น หูหนวก สมองพิการ การเคลื่อนไหวผิดปกติ การมองเห็นผิดปกติ ระดับสติปัญญาต่ำ เป็นโรคลมชัก, หากตอนแรกคลอดทารกมีอาการที่รุนแรง อาจมีโอกาสตายได้แต่ค่อนข้างน้อย

ข. สำหรับทารกที่คลอดออกมาแล้วไม่มีอาการ: เมื่อเด็กโตขึ้น ประมาณ 5-25% จะปรากฏความผิดปกติ เช่น หูหนวก พฤติกรรมทางด้านการเคลื่อนไหวผิดปกติ ความผิดปกติของการมองเห็น และความผิดปกติของฟัน

ค. ในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันฯปกติที่มีอาการและอาการแสดงของโรค: โดยส่วนใหญ่อาการต่างๆจะหายไปภายในประมาณ 2-6 สัปดาห์ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลียหมดแรงไปนานหลายเดือน มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนคือ เกิดกลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทของเส้นประสาทหลายเส้นอย่างเฉียบพลัน (โรคจีบีเอส)

ช. สำหรับในผู้ป่วยโรคซีเอมวี ที่มีอาการรุนแรง: เมื่อหายแล้ว มักมีอาการไข้และอ่อนเพลีย กำเริบเป็นระยะๆ และอาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกผิดปกติ ร่วมด้วย เป็นๆหาย

ซ. ผู้ที่เพิ่งติดเชื้อซัเอมวี สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายๆปี

ช. ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: อาการจากเชื้อซีเอมวี มักรุนแรง และการพยากรณ์โรคไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไขกระดูก หากเกิดปอดบวมจากเชื้อซีเอมวี จะมีอัตราตายถึง 84-88%

ฌ. ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือไขกระดูก: การติดเชื้อซีเอมวี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกไม่ประสบผลสำเร็จ

มีแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อซีเอมวีอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อซีเอมวี ได้แก่

  • เด็กทารกในครรภ์ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อซีเอมวี: อาจเลือกการรักษาโดยการทำแท้งเพื่อยุติการตั้งครรภ์ หรือให้ยาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสกับมารดา ซึ่งผลในการป้องกันและรักษาทารกในครรภ์ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งมีผลข้างเคียงจากการรักษามาก มีการศึกษาว่าการให้สารภูมิต้านทานที่เรียกว่า CMV hyperimmune globulin กับมารดา และฉีดให้กับทารกผ่านทางน้ำคร่ำ จะช่วยลดโอกาสของทารกในครรภ์ที่จะติดเชื้อจากมารดาที่เพิ่งมีการติดเชื้อซีเอมวีลงได้ แต่ผลการรักษาก็ยังไม่แน่นอน
  • ในเด็กทารกที่คลอดออกมาแล้ว มีอาการของโรคติดเชื้อซีเอมวีแต่กำเนิด: การรักษาหลักคือการรักษาตามอาการ และดูแลตามความพิการที่ปรากฏ การให้ยาต้านไวรัสฆ่าเชื้อไวรัส ยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจน
  • ในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันฯปกติที่มีอาการและอาการแสดงของโรค:
    • การรักษาหลักคือ การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากหรือกินไม่ได้,
    • การให้ยาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสนั้นไม่แนะนำ เพราะประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อฯยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงจากยาที่อาจได้รับ อีกทั้งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เป็นปกติ ยกเว้นในบางรายที่มีอาการรุนแรง จึงอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ
  • ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: ถึงแม้ว่ายาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสยังไม่มี ประสิทธิภาพดีพอ แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์ก็แนะนำที่จะให้ยาต้านไวรัสควบคู่กับการรักษาตามอาการที่เป็นอยู่
  • นอกจากนี้การศึกษาพบว่า การให้ CMV hyperimmune globulin ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ จะช่วยลดการเกิดพยาธิสภาพต่างๆจากเชื้อซีเอมวีได้

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคติดเชื้อซีเอมวีอย่างไร?

การดูแลตนเอง และ การป้องกันโรคติดเชื้อซีเอมวี/โรคซีเอมวี ได้แก่

  • ถึงแม้ว่าทารกมีโอกาสติดเชื้อจากการกินนมแม่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอาการ และการกินนมแม่ก็มีประโยชน์มากกว่าการที่จะงดให้นม เพียงเพื่อต้องการป้องกันการติดเชื้อซีเอมวีสู่ทารก จึงไม่มีคำแนะนำให้งดนมแม่ แม้จะทราบว่า แม่เคยมีการติดเชื้อซีเอมวี มาก่อนก็ตาม
  • หญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการรับเชื้อซีเอมวี โดยการป้องกันการสัมผัส น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระของผู้อื่น ที่สำคัญ เช่น
    • การล้างมือก่อนการปรุงและกินอาหาร
    • การไม่ใช้แก้วน้ำ จาน ชาม และของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่อาจมาจากการได้รับเลือด ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะต้องใช้เลือดจากผู้บริจาคที่ไม่เคยติดเชื้อ ซึ่งทราบจากการนำเลือดไปตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อซีเอมวี หรือใช้เลือดที่ผ่านการแช่แข็ง และถูกทำให้ปลอดภัยจากเชื้อนี้ด้วยวิธีที่เฉพาะที่เรียกว่า Deglycerolized
  • ในผู้ที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะแต่ไม่เคยติดเชื้อซีเอมวี: การป้องกันการติดเชื้อซีเอมวี จากอวัยวะที่ปลูกถ่าย คือ ต้องเลือกอวัยวะจากผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจเลือดของทั้งผู้รับบริจาคและผู้ที่เป็นผู้ให้อวัยวะ หากไม่ได้ตรวจหรือจำเป็นต้องได้รับอวัยวะนั้น การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันพบว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้
  • มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อซีเอมวี แต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ จึงยังไม่ได้แนะนำให้ใช้ในบุคคลทั่วไป มีการทดลองให้วัคซีนในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ พบว่าช่วยลดอัตราของการติดเชื้อของทารกในครรภ์ลงได้บ้าง และมีการศึกษาให้วัคซีนในผู้ที่ต้องเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและผู้ติดเชื้อ HIV แต่ผลคือ ยังต้องรอการพัฒนาต่อไป

บรรณานุกรม

  1. Martin S. Hirsch, cytomegalovirus and human herpesvirus type 6, 7, and 8, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. http://www.perinatology.com/exposures/Infection/CMV/Cytomegalovirus.html
  3. http://www.cdc.gov/cmv/overview.html[2020,March28]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/215702-clinical#showall [2020,March28]