กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis หรือ Lower urinary tract infection) คือ โรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ  ทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20-50 ปี,  พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชายมาก  อธิบายจาก ท่อปัสสาวะเพศหญิงสั้นกว่าของเพศชายมาก เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า, นอกจากนั้น ปากท่อปัสสาวะเพศหญิง   ยังเปิดสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับ ช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากทั้งช่องคลอดและทวารหนัก สูงกว่าในเพศชาย

อนึ่ง:  เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีหลายชนิด แต่ประมาณ 75-95% เกิดจากเชื้อ อีโคไล (E. coli, Escherichia coli)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบเกิดได้ทั้งจาก ‘กระพะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน’ ที่อาการเกิดทันที และรักษาหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์, หรือจาก ‘กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง’ ซึ่งมีการอักเสบเป็นๆ หายๆ เรื้อรังแต่มักมีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน

ทั่วโลก กระเพาะปัสสาวะอักเสบพบบ่อยโดยเฉพาะเพศหญิง ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดเฉพาะของกระเพาะปัสสาวะ มักรายงานรวมอยู่ในโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (กรวยไตอักเสบ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ,และท่อปัสสาวะอักเสบ),  มีรายงานจากประเทศสวีเดนพบสตรีสวีเดน1ใน5รายจะเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย1ครั้งในชีวิต

กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น

  • เพศหญิง:  ด้วยเหตุผลทางสรีรวิทยาดังกล่าวแล้วใน ‘บทนำฯ’
  • เพศหญิงวัยหมดประจำเดือน: จากร่างกาย/อวัยวะเพศขาดฮอร์โมนเพศหญิงจึงแห้งและติดเชื้อได้ง่ายที่รวมไปถึงการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ/ปัสสาวะอักเสบที่เรียกว่า ’โรคจีเอสเอ็ม (GSM: Genitourinary syndrome of menopause: กลุ่มอาการทางอวัยวะเพศและปัสสาวะในวัยหมดประจำเดือน, อ่านรายละเอียด บทความนี้ได้จากเว็บ haamor.com)
  • ผู้สูงอายุ:  เพราะสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดีโดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล นอกจากนั้นมักไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว มักนั่งๆนอนๆ  และดื่มน้ำน้อย, ปัสสาวะจึงแช่ค้าง หรือกักคั่งในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลเชื้อโรค/แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ดี
  •  กลั้นปัสสาวะนาน: ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี
  • ดื่มน้ำน้อย: จึงส่งผลให้ไม่ค่อยปวดปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะที่ส่งผลให้เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี
  • โรคเบาหวาน: เพราะเป็นโรคก่อการอักเสบติดเชื้อของเนื้อเยื่อต่างๆได้ง่ายรวมทั้งของกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคที่ต้องนั่งๆนอนๆตลอดเวลา: เช่น โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต ฯลฯ จะส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นานในกระเพาะปัสสาวะ
  •  ใช้สายสวนปัสสาวะ: โดยเฉพาะต้องคาสายสวนปัสสาวะนานๆ หรือตลอดเวลา เช่น หลังผ่าตัด หรือ ในโรคอัมพฤกษ์/อัมพาต เพราะกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะจะบาดเจ็บจากสายสวนนั้น จึงติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งอาจติดเชื้อจากเชื้อที่ตัวสายสวนปัสสาวะเองที่ดูแลไม่สะอาดพอ
  • มีโรคเรื้อรังของท่อปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะตีบ: จากสาเหตุต่างๆ  เช่น จากการใช้สายสวนปัสสาวะต่อเนื่อง, จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น โรคหนองใน  โรคหนองในเทียม), จึงส่งผลให้ปัสสาวะลำบาก จึงมีปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะ แบคทีเรียในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี     
  • โรคนิ่วระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งนิ่วในไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ที่จะส่งผลให้ปัสสาวะไหลออกยาก ปัสสาวะจึงกักคั่งในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: ที่จะส่งผลให้แบคทีเรียลุกลามเข้าระบบปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงได้ง่าย
  • หญิงตั้งครรภ์:  เพราะการกดเบียดทับของครรภ์ต่อกระเพาะปัสสาวะ มักก่อปัญหาปัสสาวะไม่หมด เกิดปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ: เพราะจะก่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะ และปากช่องคลอด (ในเพศหญิง)  เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและ ติดเชื้อของเนื้อเยื่อเหล่านั้น และลามเป็นการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย
  • ผู้หญิงซึ่งใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ), หรือการใช้ฝา/หมวกครอบปากมดลูก (Cervical diaphragm), เพราะเป็นสาเหตุก่อการระคายเคืองและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • ในเพศชาย: มักสัมพันธ์กับต่อมลูกหมากโต และ/หรือ ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ ส่งผลให้ปัสสาวะไม่หมดเพราะท่อปัสสาวะจะถูกกดทับหรือระคายอักเสบจากโรคดังกล่าว ปัสสาวะจึงแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แบคทีเรียเจริญได้ดี กระเพาะปัสสาวะจึงอักเสบได้ง่าย

กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น

  • ปัสสาวะบ่อย  ปัสสาวะครั้งละน้อยๆ  ปวด เบ่ง  แสบ โดยเฉพาะตอนสุดปัสสาวะ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด  อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า คือ ปัสสาวะสีชมพู หรือเป็นเลือด หรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ตรวจพบเม็ดเลือดแดงได้จากการตรวจปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น (ปัสสาวะปกติต้องใส)  หรือ อาจเป็นหนองขึ้นกับความรุนแรงของโรค และ/หรือ มีกลิ่นผิดกติ
  • ปวดท้องน้อย
  • มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ(พบได้บ่อยกว่า) แต่มักไม่มีไข้เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
  • บางครั้งอาจมีสารคัดหลังบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย เมื่อเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ เมื่อเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน
  • อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับ นิ่วในไต หรือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แพทย์วินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้จาก

  • ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ  และ
  • อาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น       
    • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
    • ตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือ
    • ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ

รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ:   

  • ให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งชนิด ขนาดยา ขึ้นกับแพทย์ที่รักษา
  • รักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง  เช่น  รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ , ให้ฮอร์โมนชดเชยกรณีมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะขาดฮอร์โมนเพศ
  • และการรักษาประคับประคองตามอาการ/รักษาตามอาการ: เช่น ยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์คลายการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ,  และดื่มน้ำมากๆ เช่น วันละอย่างน้อย 1.5-2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม (เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีผลข้างเคียงไหม?

ผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การลุกลามเป็นการอักเสบของกรวยไต (กรวยไตอักเสบ) และของไต (ไตอักเสบติดเชื้อ) ซึ่งเมื่อกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้, หรือเมื่อการอักเสบติดเชื้อที่รุนแรงอาจลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), ซึ่งทั้ง2กรณีหลัง เป็นสาเหตุให้ถึงตายได้

กระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรงไหม?

โดยทั่วไป  กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคไม่รุนแรง, แพทย์รักษาได้หายเสมอ, แต่ถ้ามีอาการมากและไม่พบแพทย์เพื่อให้ได้การรักษาที่ถูกต้อง อาจกลายเป็นการติดเชื้อรุนแรงจนเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวใน หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ

ดูแลตัวเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ก. ควรพบแพทย์เมื่อ:

  • มีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการครั้งแรก เพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีสาเหตุที่หลากหลายที่ต้องวินิจฉัยให้ถูกต้อง และควรต้องได้ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งการซื้อยากินเองอาจทำให้ได้ยาไม่ตรงกับสาเหตุ หรือกับชนิดของเชื้อโรค, ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง, จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง หรือ เกิดเชื้อดื้อยาได้
  • มีปัสสาวะเป็นเลือด เพราะอาจเกิดจาก
    • โรคไต
    • นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต, นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
    • มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • โรคเลือด ที่ทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ
    • กินยา/ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา แอสไพริน, วาร์ฟาริน (Warfarin)

ข. การดูแลตนเองก่อนพบแพทย์: ที่สำคัญคือ

  • ดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อยวันละ5-2ลิตรเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่กลั้นปัสสาวะ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รีบพบแพทย์เมื่อ อาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง, หรืออาการแย่ลง, หรืออาการแย่ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนจากโรคจีเอสเอ็ม

ค. การดูแลตนเองหลังพบแพทย์แล้ว: ที่สำคัญ เช่น

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อย 1.5-2 ลิตรต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
  • ไม่ควรใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะจะก่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
  • ในผู้หญิงเมื่อทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หรือในการขับถ่าย ต้องทำจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนแบคทีเรียจากปากทวารหนัก เข้าสู่ปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ
  • ในผู้หญิง ไม่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ หรือ การใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเป็นสาเหตุก่อการระคายเคืองและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากท่อช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และลดเชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่น
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ เป็นเลือดมากขึ้น
    • อาการต่างๆแย่ลง 
    • กังวลในอาการ

ป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่สำคัญ เช่น

  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน   
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ, ไม่นั่งนานๆ
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี
  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและในการขับถ่าย, และควรล้าง/เช็ด เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะจากด้านหน้าไปด้านหลัง (ในเพศหญิง)   
  • ไม่ควรใช้สเปรย์ หรือ ยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ  
  • ในเพศหญิง: ไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก  
  • การอาบน้ำในอ่าง อาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ, และฝ่ายชายควรใช้ถุงยางอนามัยชายในเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ  รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001).  Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Mehnert-Kay, S. (2005). Diagnosis and management of uncomplicated urinary tract infections. Am Fam Physician. 72, 451-456.
  3. https://emedicine.medscape.com/article/233101-overview#showall   [2022,Dec17]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_tract_infection  [2022,Dec17]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6502976/  [2022,Dec17]