อาการเป็นลมหมดสติเหตุโรคหัวใจ หรืออาการสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams Attacks)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการเป็นลม หมดสติ เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อย ทำให้ผู้มีอาการและผู้พบเห็นตกใจ บางรายมีอาการเกร็งกระตุกคล้ายอาการลมชักร่วมด้วย เราจะมีวิธีการแยกโรคว่าอาการดังกล่าวนั้นเป็นอาการเป็นลมทั่วๆไป หรือเป็นอาการผิดปกติอื่นที่มีอาการคล้ายกันแต่สาเหตุนั้นเกิดจากความผิด ปกติของหัวใจที่เรียกว่า “อาการเป็นลมหมดสติเหตุโรคหัวใจ หรือ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks หรือ Stokes Adams syndrome)” ได้อย่างไร ติดตามอ่านบทความนี้ครับ

อนึ่งอาการ Stokes Adams attacks/ โรคสโตคส์ อาดัมส์ ได้ชื่อมาจากแพทย์ชาวไอริช 2 ท่านที่ร่วมกันรายงานอาการนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1717 (พ.ศ. 2260) คือศัลยแพทย์ นพ. Robert Adams และอายุรแพทย์ นพ. William Stokes ดังนั้นอาการนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า Adams Stokes attacks หรือ Adams Stokes syndrome

Stokes Adams attacks คืออะไร?

อาการเป็นลมหมดสติเหตุโรคหัวใจ

โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attack) คือ โรค/อาการเป็นลมที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการหมดสติร่วมด้วยเสมอ

Stokes Adams attacks มีอาการอย่างไร?

โรคสโตคส์ อาดัมส์(Stokes Adams attacks) มีอาการดังนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการล้มลงทันที ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ไม่สัมพันธ์กับท่าทางของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหมดสติไปประมาณ 10 - 30 วินาที มีอาการหน้าซีด บางรายมีอาการชักเกร็งกระตุกในระยะเวลาสั้นๆโดยไม่เป็นรูปแบบที่ชัด เจนของอาการชัก ถ้าตรวจคลำชีพจรขณะมีอาการ อาจพบเต้นช้าลงต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที และผู้ป่วยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการดังกล่าวได้วันละหลายครั้ง

Stokes Adams attacks พบได้บ่อยหรือไม่?

 ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาว่าภาวะ/อาการ/โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) นี้พบบ่อยเท่าไหร่ แต่เป็นอาการพบบ่อยในผู้มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ (กล้ามเนื้อหัวใจตาย), ผู้ที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ), ผู้สูงอายุพบได้บ่อยกว่า แต่อาจพบได้ในผู้มีอายุน้อยกรณีเป็นโรคหัวใจตั้งแต่เด็กหรือที่มีประวัติโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ใกล้เคียงกัน

อะไรเป็นสาเหตุของ Stokes Adams attacks?

 สาเหตุของ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) ได้แก่                                                         

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ)
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease, โรคหัวใจเรื้อรังที่เกิดจากโรคไข้รูมาติก)
  • ภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ
  • ผลข้างเคียงจากยาที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยาลดความดันเลือดสูงบางชนิด
  • ผลข้างเคียงจากสารเสพติดที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น โคเคน

แพทย์วินิจฉัยอาการ Stokes Adams attacks ได้อย่างไร?

 แพทย์วินิจฉัยอาการโรคสโตคส์ อาดัมส์(Stokes Adams attacks)  จาก

  • การพิจารณาจากลักษณะอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
  • ประวัติ  โรคประจำตัว,  โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจฟังการเต้นของหัวใจพบการเต้นที่ผิดปกติ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี พบการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • และแพทย์ไม่พบมีสาเหตุอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดอาการที่คล้ายกับอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attack) เช่น ภาวะขาดน้ำ

อาการที่คล้ายกับ Stokes Adams attacks มีอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติที่คล้ายกับอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) ได้แก่                          

  • ภาวะเป็นลมจากร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ)  
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
  • ภาวะซีด
  • ภาวะชัก

การรักษาอาการ Stokes Adams attacks ทำอย่างไร?

การรักษาอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น

  • การหยุดยาที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ  
  • การแก้ไขภาวะเกลือแร่ผิดปกติ  
  • การใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ       
  • การรักษาโรคต่างๆที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหัวใจ

Stokes Adams attacks มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) จะขึ้นกับโรคและความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุ ดังนั้นจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคกับผู้ ป่วยได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

 การดูแลตนเองเมื่อมีอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) คือ

  • การพบแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงยาที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ
  • ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์พยาบาลเภสัชกร และต้องแจ้งแพทย์พยาบาลเภสัชกรถึงโรคและยาต่างๆที่ตัวเองใช้อยู่เมื่อมีการสั่งยา/ซื้อยา
  • ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ก็ต้องดูแลตนเองตามข้อปฏิบัติของผู้ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • ถ้าอาการเป็นบ่อยๆก็ไม่ควรขับรถและ/หรือทำงานที่เสี่ยง เมื่อมีอาการแล้วจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่น ทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น
  • ถ้ามีอาการบ่อย ควรเขียนชื่อนาสกุลตนเอง และชื่อผู้ทีจะติดต่อ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ ยาต่างๆที่กินอยู่ ติดตัวไว้เสมอเพื่อกรณีฉุกเฉินจะได้มีข้อมูลที่จะรักษาดูแลได้รวดเร็ว
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่ออาการนี้เกิดบ่อยขึ้นหรือมีอาการผิดปกติใหม่ๆเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่เคยมีมาก่อนหรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันอาการ Stokes Adams Attacks อย่างไร?

การป้องกันอาการ โรคสโตคส์ อาดัมส์ (Stokes Adams attacks) คือ การป้องกันรักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ) ให้เกิดอาการนี้ให้ได้เป็นอย่างดี เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, เป็นต้น