ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางชนิดจนอวัยวะต่างๆไม่สามารถทำงานตามปกติได้จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งเกลือแร่ที่สำคัญ เช่น โซเดียม (Sodium), โพแทสเซียม (Potassium), คลอไรด์ (Chloride), ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate), และแมกนีเซียม (Magnesium)

ภาวะขาดน้ำ เป็นภาวะพบบ่อย โดยมากมักเกิดจากอาการท้องเสีย (ท้องเดิน)รุนแรง หรือที่เรียกว่า ‘ท้องร่วง’ ภาวะขาดน้ำพบทุกเพศและทุกวัย โดยเมื่อมีท้องเสีย โอกาสเกิดภาวะขาดน้ำจะพบได้สูงในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)โดยเฉพาะเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ

ภาวะขาดน้ำเกิดได้อย่างไร?

ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำ มีกลไกเกิดได้จาก การดื่มน้ำน้อย, การเสียน้ำจากทั้งดื่มน้ำน้อยและเสียน้ำพร้อมๆกัน, และ/หรือ จากภาวะผิดปกติบางอย่างหรือจากบางโรค

ก. จากดื่มน้ำน้อย:

  • เมื่อร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติ เช่น จากเหงื่อออกมากแต่เราดื่มน้ำชดเชยได้น้อย ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำได้ เช่น ในหน้าร้อนที่อาจเกิดโรคลมแดดได้
  • หรือในภาวะร่างกายปกติ แต่เราดื่มน้ำน้อยจนปริมาณน้ำในเลือดไม่พอต่อการคงความดันโลหิต ดังนั้นเมื่อเราเปลี่ยนท่าทางจาก นอน หรือ จากนั่ง เป็นการลุกขึ้นยืนทันที จะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำชั่วคราวทันที (วิงเวียน หน้ามืด จะเป็นลม จนเกิดการล้มได้)จากการลดลงของปริมาณการไหลเวียนเลือด เพราะเลือดส่วนหนึ่งไปขังอยู่ที่ขาตามแรงโน้มถ่วงของโลก กลไกนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือจากการดื่มน้ำน้อยเมื่อมีอาการไข้สูง เป็นต้น

ข. จากร่างกายเสียน้ำ: เป็นกลไกที่เป็นสาเหตุบ่อยที่สุดของภาวะขาดน้ำ การที่ร่างกายเสียน้ำซึ่งมักเกิดร่วมกับการเสียเกลือแร่ โดยสาเหตุที่พบบ่อย คือ

  • จากท้องเสียรุนแรง
  • นอกจากนั้น เช่น
    • อาเจียนมาก
    • เหงื่อออกมาก เช่น ในฤดูร้อน ในที่แออัด ในสถานที่อบอ้าว
    • หรือโรคที่เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะมากผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรังบางชนิด โรคเนื้องอกสมองบางชนิด โรคเบาหวาน โรคเบาจืด

ค. จากทั้งดื่มน้ำน้อยและเสียน้ำพร้อมๆกัน: เช่น ในฤดูร้อน, เมื่อมีไข้สูง,

ง. ภาวะผิดปกติบางอย่างหรือบางโรคที่ทำให้น้ำและเกลือแร่ในร่างกายซึมออกจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อหรือในช่องต่างๆของร่างกาย: ส่งผลให้น้ำและเกลือแร่ในหลอดเลือดลดปริมาณลง จนส่งผลต่อเนื่องให้ความดันโลหิตต่ำลง จนก่ออาการจากการขาดน้ำได้ เช่น ในโรคไข้เลือดออกระยะรุนแรง, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) โรคตับแข็งในระยะมีน้ำในช่องท้อง, และภาวะผิวหนังถูกไฟไหม้รุนแรง

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ได้แก่

  • ท้องเสียรุนแรง
  • อาเจียนต่อเนื่อง
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ เช่น ฤดูร้อน หรือ สถานที่อบอ้าว
  • ปัสสาวะมากผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรังบางโรค โรคเบาหวาน โรคเบาจืด
  • มีไข้สูง เพราะเป็นสาเหตุให้เหงื่อออกมาก และหลอดเลือดขยายตัว จึงเสียน้ำทางผิวหนัง และทางการหายใจเพิ่มขึ้น
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และ/หรือความรู้สึกรับรสอาหารเปลี่ยน จึงไม่อยากดื่มน้ำ
  • เจ็บคอ และ/หรือ มีแผลในช่องปาก จึงไม่อยากกิน หรือ ดื่มน้ำ
  • ภาวะผิวหนังถูกไฟไหม้รุนแรง
  • โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และ/หรือ ในช่องท้อง เช่น โรคไข้เลือดออกระยะรุนแรง
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • คนที่เสียเหงื่อมาก เช่น ทำงานในสถานที่อบอ้าว กลางแดดจัด หรือในฤดูร้อน หรือ นักกีฬา
 

ภาวะขาดน้ำมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะขาดน้ำ แบ่งความรุนแรงของอาการเป็น 2 ระดับ คือ ความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง, และความรุนแรงมาก

ก. อาการขาดน้ำที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง ได้แก่

  • กระหายน้ำ
  • ผิวแห้ง
  • ริมฝีปาก ช่องปากแห้ง
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ค่อนข้างซึม
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • ท้องผูก
  • เด็กอ่อน เด็กเล็ก เมื่อร้องไห้จะมีน้ำตาน้อย
  • ปวดหัว มึนหัว วิงเวียน

ข. อาการจากขาดน้ำรุนแรง ซึ่งควรต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน/ทันที เช่น

  • กระหายน้ำรุนแรง
  • สับสน
  • กระสับกระส่าย หรือ ซึมมาก
  • ผิวหนังแห้งมาก ยกจับตั้งได้
  • ปากคอแห้งมาก
  • ตาลึกโหล
  • ไม่มีเหงื่อ
  • ปัสสาวะน้อยมาก สีเหลืองเข็มมาก หรือ ไม่มีปัสสาวะเลยใน 4-6 ชั่วโมง
  • ในเด็กอ่อน: กระหม่อมจะบุ๋มลึก ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • หายใจ ถี่ เร็ว
  • มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ แต่บางคนไข้สูงได้
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • เมื่อเป็นรุนแรงอาจ เพ้อ มีอาการชัก และโคม่า ในที่สุด
 

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดน้ำได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดน้ำได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ
  • การตรวจร่างกาย และ การตรวจสัญญาณชีพ (ชีพจร, อัตราการหายใจ, ความดันโลหิต, และอุณหภูมิของร่างกาย)
  • ตรวจเลือดเพื่อดูค่าเกลือแร่
  • อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน
    • ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ตรวจเลือดดูการทำงานของ ไต ตับ

รักษาภาวะขาดน้ำอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดน้ำ ได้แก่

ก. การแก้ไขให้ร่างกายมีน้ำเพียงพอและให้เกลือแร่สำคัญต่างๆกลับมามีสมดุลตามปกติ: ซึ่งได้แก่ การดื่มน้ำมากๆเพิ่มกว่าปกติ และ/หรือการดื่มน้ำเกลือแร่ (โออาร์เอส)ในกรณี เสียเหงื่อ ท้องเสีย หรือ อาเจียน เมื่อมีอาการไม่มาก และยังกิน ดื่มได้, แต่กรณีอาการรุนแรง การรักษาคือ การให้น้ำและเกลือแร่ผ่านทางหลอดเลือดดำ

ข. การรักษาสาเหตุ: เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

ค. การรักษาตามอาการ เช่น การพักผ่อน, ให้ยาลดไข้กรณีมีไข้, ให้ยาแก้คลื่นไส้-อาเจียนกรณีมีคลื่นไส้-อาเจียน

ภาวะขาดน้ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป เมื่อได้รับการรักษาทันเวลา ภาวะขาดน้ำมักไม่รุนแรง รักษาแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปล่อยให้อาการรุนแรงมาก ความรุนแรงจะสูงจนอาจถึงตายได้

ทั้งนี้ ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำยังขึ้นกับ:

  • สาเหตุ: เช่น ถ้าเกิดจากดื่มน้ำน้อย ความรุนแรงก็จะน้อย
  • อายุ: เช่น ความรุนแรงจะสูงขึ้นในผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)โดยเฉพาะเด็กอ่อนและเด็กเล็ก, รวมทั้งผู้สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่ดูแลตนเองไม่ได้ หรือ ได้น้อย และร่างกายอ่อนแอจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

*ในส่วน ผลข้างเคียงจากภาวะขาดน้ำ

ก. เมื่อขาดน้ำไม่มาก: คือ ภาวะความดันต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน ดังได้กล่าวแล้ว

ข.เมื่อขาดน้ำมาก: อาจเกิด

    • การล้มจากวิงเวียนจากความดันโลหิตต่ำซึ่งอาจก่อให้เกิดกระดูกหัก และ/หรือ อุบัติเหตุต่อศีรษะ/สมอง
    • เมื่อความดันโลหิตต่ำมากๆอาจส่งผลให้เกิดไตวายเฉียบพลัน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีภาวะขาดน้ำ ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และดื่มให้มากขึ้นเมื่อมีภาวะที่ต้องเสียน้ำเพิ่มขึ้น เช่น เล่นกีฬา หรือ มีไข้
  • เมื่อมีท้องเสีย และอุจจาระเป็นน้ำหลายครั้ง หรือ อาเจียนมาก จนรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากดื่มน้ำแล้ว ยังควรดื่มน้ำผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส)ด้วย
  • *รีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อ
    • ซึม, จะเป็นลม, วิงเวียน, หน้ามืด, ใจสั่น, สับสน
    • มีไข้สูง
    • กิน ดื่ม ได้น้อย
    • ท้องเสียมาก
    • อาเจียนมาก หรือ อาเจียนนานเกิน 2-3 วัน
    • ปัสสาวะน้อยทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว
  • *พบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อ
    • มีอาการขาดน้ำรุนแรง ดังกล่าวแล้ว ใน’หัวข้อ อาการฯ’
    • กิน ดื่ม ไม่ได้เลย
    • อาเจียนเป็นเลือด หรือ อุจจาระเป็นเลือด
 

ป้องกันภาวะขาดน้ำได้อย่างไร?

ป้องกันภาวะขาดน้ำได้โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เพื่อลดโอกาสเกิดอาการ ไข้ ท้องเสีย และคลื่นไส้-อาเจียน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในทุกๆวัน อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (หรือให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่สูญเสียไป) เมื่อต้องเสียเหงื่อ หรือ เสียน้ำเพิ่มขึ้น เช่น เล่นกีฬา มีไข้ ท้องเสีย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อบอ้าว หรือ แสงแดดจัด อาจร่วมกับการดื่มน้ำผงละลายเกลือแร่(โออาร์เอส) ตามปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่ทำให้มีปัสสาวะมาก เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเบาจืด
 

บรรณานุกรม

  1. Goh, K. (2004). Management of hyponatremia. Am Fam Physician. 69, 2387-2394.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dehydrationv [2020,June13]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/906999-overview#showall [2020,June13]