เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ ของเยื่อหุ้มหัวใจ(อีกชื่อคือ ถุงหุ้มหัวใจ (Pericardium) ซึ่งการอักเสบอาจจาก ติดเชื้อ, หรือ จากการอักเสบที่ไม่ใช่จากติดเชื้อ เช่น โรคออโตอิมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคลูปัส-โรค เอสแอลอี/ โรคพุ่มพวง)

ถุงหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจ) เป็นถุงที่หุ้มอยู่โดยรอบหัวใจ เป็นถุงที่ผนังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ 2 ชั้น ระหว่างผนังทั้งสองชั้นมีของเหลวอยู่เล็กน้อยประมาณ 20 - 50 มิลลิลิตรเพื่อช่วยหล่อลื่นไม่ให้ผนังทั้ง 2 ชั้นเสียดสีกัน โดยถุงหุ้มหัวใจมีหน้าที่ปกป้องหัวใจไม่ให้เสียดสีกับอวัยวะอื่นๆข้างเคียง และเพื่อป้องกันเชื้อโรคให้เข้าสู่หัวใจได้ยากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยคงรูปร่างและช่วยกระชับหัวใจให้อยู่กับที่จากการที่ต้องเคลื่อนไหวบีบตัวตลอดเวลา

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นโรคพบทุกอายุตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็ก ทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20 - 50 ปี และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบโรคในระยะเฉียบพลันแต่ละปีประมาณ 27รายต่อประชากร1แสนคน

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก การวินิจฉัยมักต้องใช้วิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเทคโนโลยีสูง ดังนั้นส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่วินิจฉัยได้ชัดเจนว่ามีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจึงมักเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ ทั่วไปเกิดได้ 3 ลักษณะคือ ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute pericarditis), ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ (Relapsing pericarditis หรือ Recurrent pericarditis), และถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง (Chronic pericarditis)

ก. ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute pericarditis): หมายถึง การอักเสบที่เกิดขึ้นกับถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอย่างเฉียบพลัน มีอาการรุนแรงกว่าอีกทั้ง 2 ลักษณะ แต่โดยทั่วไปมักรักษาให้หายได้ภายใน 3 เดือน (แพทย์บางท่านให้ระยะเวลานานได้ถึง 6 เดือน) ซึ่งโดยทั่วไปมักรักษาได้หายภายใน 2 - 3 สัปดาห์

โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคพบได้เรื่อยๆ พบได้ประมาณ 0.1% ของผู้ ป่วยในโรงพยาบาลทั้งหมด และประมาณ 5% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ฉุกเฉินจากมีอาการเจ็บหน้าอก

ข. ถุงหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ (Relapsing pericarditis หรือ Recurrent pericarditis): หมายถึง โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่ย้อนกลับมาเกิดซ้ำใหม่อีก พบได้ใน 2 ลักษณะคือ

  • เมื่อรักษาโรคเฉียบพลันจนอาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้ว แพทย์จำเป็นต้องค่อยๆลดปริมาณยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบให้น้อยลงเรื่อยๆจนสามารถหยุดยาได้ทั้งหมด ในช่วงที่กำลังลดปริมาณยานี้เอง จะมีผู้ป่วยบางรายที่โรคย้อนกลับมาเป็นใหม่อีกเรียก ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำลักษณะนี้ว่า Incessant relapsing pericarditis และ
  • อีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า Intermittent relapsing pericarditis คือ โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำอีกในภายหลังรักษาหายและหยุดยาต่างๆแล้วนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป

อนึ่ง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำพบได้ประมาณ 8 - 80% (ขึ้นกับแหล่งที่มาของการศึกษา)ของผู้ป่วยถุงหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด แต่โดยทั่วไปพบได้ประมาณ 25% โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากโรคภูมิต้านตนเอง, หรือจากโรคติดเชื้อไวรัส, หรือแพทย์อาจหาสาเหตุไม่พบ, หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์ล่าช้า

ค. ถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง (Chronic pericarditis): หมายถึง โรคที่การอักเสบ ของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป (แพทย์บางท่านให้เรื้อรังนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป) ซึ่งถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังมักพบเกิดต่อเนื่องมาจากถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่ดื้อต่อการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ครบถ้วนตั้งแต่แรก

ทั้งนี้ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังมีได้ 2 ลักษณะคือ

  • ถุงหุ้มหัวใจเกิดเป็นพังผืดร่วมกับการอักเสบ: ส่งผลให้ถุงหุ้มหัวใจตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดการบีบรัดหัวใจ หัวใจจึงบีบตัวเต้นไม่ได้ตามปกติ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น เรียกการอักเสบเรื้อรังในลักษณะนี้ว่า Constrictive pericarditis พบได้ประมาณ 10% ของโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันที่กลายมาเป็นเรื้อรัง มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิงประมาณ 3 เท่า (อธิบายไม่ได้ว่าทำไม)
  • มีปริมาณของเหลว/น้ำเพิ่มมากกว่าปกติในถุงหุ้มหัวใจ: เรียกการอักเสบเรื้อรังลักษณะนี้ว่า Chronic effusive pericarditis ซึ่งมีรายงานพบได้ประมาณ 20% ของโรคถุง/เยื่อหัวใจอักเสบทั้งหมด

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เกิดจากอะไร?

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

สาเหตุเกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบ ได้แก่

ก. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน: ที่พบบ่อยคือ

  • โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆในระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด (เช่น มะเร็ง ปอด มะเร็งเต้านม) หรือมะเร็งลุกลามโดยตรงจากมะเร็งบริเวณทรวงอก (เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร) เข้าสู่ถุงหุ้มหัวใจ พบได้ประมาณ 7 - 35% ของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบทั้งหมด (ขึ้นกับแต่ละรายงานหรือแต่ละการศึกษา)
  • โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเองพบได้ประมาณ 3 - 25%
  • จากโรคติดเชื้อไวรัสพบได้ประมาณ 1 - 20% เช่น จากไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดที่รุนแรง
  • จากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆที่ไม่ใช่วัณโรคประมาณ 1 - 6% ส่วนจากโรคเชื้อราหรือโรคติดเชื้อปรสิตพบได้น้อยมาก มีรายงานเพียงประปราย
  • ผลจากการคั่งของสารพิษตกค้างในร่างกายจากภาวะไตวายพบได้ประมาณ 6 -15%
  • จากการติดเชื้อวัณโรคประมาณ 5%
  • แพทย์หาสาเหตุไม่พบ (Idiopathic) พบประมาณ 4 - 90%ขึ้นกับแต่ละรายงาน
  • ที่เหลือคือ จากสาเหตุอื่นๆ เช่น
    • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดโรคในทรวงอก
    • การแพ้ยา
    • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • ผลข้างเคียงจาก
    • การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณหัวใจ
    • ยาเคมีบำบัดบางชนิด
    • อุบัติเหตุต่างๆต่อหัวใจหรือจากการถูกทำร้าย เช่น ถูกแทงที่หัวใจ

ข. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ: เช่นเดียวกับในการอักเสบเฉียบพลัน เพราะมักเป็นโรคที่เกิดต่อเนื่องกันมา

ค. สาเหตุของถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง: จะคล้ายคลึงกับในถุงหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบ พลันเช่นกัน ที่พบบ่อยคือ

  • แพทย์หาสาเหตุไม่พบ
  • เป็นผลสืบเนื่องจากร่างกายติดเชื้อรุนแรง ที่พบบ่อยเช่น จากโรคติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะวัณโรค โดยพบได้น้อยมากจากโรคเชื้อราหรือโรคติดเชื้อเชื้อปรสิต
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
  • โรคไต
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • โรคมะเร็งชนิดต่างๆระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด ที่พบบ่อยคือ จากมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • อื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดบางชนิด, การฉายรังสีรักษาบริเวณหัวใจ, การผ่าตัดหัวใจ, อุบัติเหตุต่อหัวใจ

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบได้แก่

ก.อาการของถุงหัวใจอักเสบเฉียบพลัน: ที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแปลบในช่องอกในบริเวณ ข้างใต้ต่อกระดูกอก (Sternum) โดยอาการมักเกิดอย่างเฉียบพลัน และมักร่วมกับการปวดไหล่อาจข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งอาการปวด/เจ็บจะดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวมาข้างหน้า แต่จะเลว ลงเมื่อนอนราบและ/หรือหายใจลึกๆ

นอกจากนั้น มักร่วมกับ

  • มีไข้
  • อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้
  • อ่อนเพลีย
  • ใจสั่น
  • หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเร็วหรือช้าหรือไม่เป็นจังหวะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • วิงเวียน
  • หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • ไอโดยไม่มีเสมหะ
  • ทั้งนี้เมื่อฟังเสียงหัวใจด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจ(หูฟัง) จะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเหมือนกำลังเสียดสีกับสิ่งหนึ่งใดอยู่ (Friction rub)

ข.อาการของถุงหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ: จะเช่นเดียวกับอาการของถุงหัวใจอักเสบเฉียบพลัน โดยเป็นอาการที่กลับมาอีกในช่วงกำลังค่อยๆหยุดยาหรือภายหลังเมื่อหายจากอาการเดิมแล้วนานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป

ค.อาการของถุงหัวใจอักเสบเรื้อรัง: ที่พบบ่อยคือ

  • บางครั้งไม่มีอาการถ้าการอักเสบเกิดเพียงเล็กน้อยหรือมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจเพียงเล็กน้อย
  • บางครั้งอาจมีเพียงอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง
  • แต่ในกรณีการอักเสบรุนแรงอาจมีอาการคล้ายในการอักเสบเฉียบพลัน กล่าวคือ เจ็บหน้าอก, ใจสั่น, ไอ, หายใจลำบาก, วิงเวียน, ความดันโลหิตต่ำ, เป็นลม, และมีภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบทุกชนิดได้ด้วยวิธีการเดียวกันคือ

  • จากซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา การกินยาต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจฟังเสียงการทำงานของหัวใจโดยใช้เครื่องตรวจหูฟัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
  • การตรวจภาพปอดและหัวใจด้วย เอกซเรย์, การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ(เอคโคหัวใจ)
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการสืบค้น ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • ตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
    • หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องเจาะ/ดูดน้ำจากถุงหุ้มหัวใจเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • หรือตัดชิ้นเนื้อถุงหุ้มหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหัวใจอักเสบคือ การรักษาสาเหตุ, และ การรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น รักษาวัณโรค รักษาโรคมะเร็ง รักษาการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น เช่น

  • ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้ยาต้านไวรัสเมื่อเป็นโรคติดเชื้อไวรัส (ถ้ามียา เพราะยาต้านไวรัสมีเฉพาะไวรัสบางชนิดเท่านั้น)
  • ใช้ยาต้านเชื้อราเมื่อสาเหตุจากโรคเชื้อรา
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ เมื่อเกิดจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง หรือเมื่อแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • การเจาะดูดน้ำ/ของเหลวออกจากถุงหุ้มหัวใจ
  • อาจร่วมกับการผ่าตัดเจาะรูที่ถุงหุ้มหัวใจเพื่อให้เป็นทางไหลออกของน้ำ/ของเหลวเมื่อมีน้ำในถุงหุ้มหัวใจที่ก่อให้เกิดการเบียดทับหัวใจจนทำงานไม่ได้
  • ผ่าตัดถุงหุ้มหัวใจเมื่อถุงหุ้มหัวใจเกิดพังพืดจนบีบรัดหัวใจ
  • การให้ออกซิเจนเมื่อหายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • การให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง (การพยากรณ์โรค) ของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, อายุ(ผู้สูงอายุ ความรุนแรงโรคสูง), การพบแพทย์ได้เร็ว (โอกาสรักษาหายสูงขึ้น), และสาเหตุ เช่น

  • เมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง ความรุนแรงจะสูงสุด ,มักเป็นสาเหตุถึงตาย
  • เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ ความรุนแรงจะขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ เช่น โรคเชื้อรา ความรุนแรงสูง และยังขึ้นกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย
  • เมื่อโรคเกิดโดยแพทย์หาสาเหตุไม่พบหรือจากโรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง ความรุนแรงขึ้นกับอายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ซึ่งมีได้ตั้งแต่ ไม่จำเป็นต้องรักษา, ใช้การเฝ้าติดตามอาการเพราะโรคจะหายได้เอง,หรือรักษาได้หายภายใน 2 - 3 สัปดาห์, หรือโรครุนแรงจนเป็นเหตุให้ตายได้

อย่างไรก็ตาม โรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังรักษาหายแล้ว สามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีกประมาณ 8 - 80% โดยมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, หรือโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส, หรือแพทย์หาสาเหตุไม่พบ, หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์ล่าช้า

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น

  • ภาวะเกิดน้ำให้ถุงหุ้มหัวใจ
  • ภาวะถุงหุ้มหัวใจเกิดเป็นพังผืด

ซึ่งทั้ง 2 ภาวะจะก่อให้เกิดการบีบรัดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจทำงานไม่ได้ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและอาจตายในที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่าเป็นโรคถุง/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การดูแลตนเองคือการปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกแรงหรือการออกกำลังกายเกินกำลัง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูกต่อเนื่อง
    • เมื่อมีความกังวลในอาการ

ป้องกันเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบอย่างไร?

การป้องกัน เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ/ถุงหุ้มหัวใจอักเสบคือ การป้องกันสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุ”) ที่ป้องกันได้ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ ซึ่งวิธีป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพก็คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Goyle,K., and Walling,A. (2002). Diagnosing pericarditis. Am Fam Physician. 66, 1695-1702.
  3. Khandaker, M. et al. (2010). Pericardiual disease: diagnosis and management. Mayo Clin Proc. 85, 572-593.
  4. Sagrista-Sauleda,J.et al. (2004). Effusive-constrictive pericarditis. N Engl J Med. 350, 469-475.
  5. Soler-Soler, J. et al. (2004). Relapsing pericarditis. Heart. 90, 1364-1368.
  6. Tingle, L. et al. (2007). Acute pericarditis. Am Fam Physician. 76, 1509-1514.
  7. https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/p/pericarditis.html [2021,June26]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Pericarditis [2021,June26]
  9. https://emedicine.medscape.com/article/157096-overview#a6 [2021,June26]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Acute_pericarditis [2021,June26]
  11. https://www.medscape.com/viewarticle/751203 [2021,June26]
  12. https://www.wikidoc.org/index.php/Pericarditis_epidemiology_and_demographics [2021,June26]