หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) คือกลุ่มของโรคที่หลอดเลือดมีการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งการอักเสบอาจเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง หรือหลอดเลือดฝอย และอาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดของอวัยวะในร่างกายเพียงอวัยวะเดียว หรือหลายอวัยวะก็ได้ โรคในกลุ่มนี้มีอยู่หลายโรค อาการค่อนข้างหลากหลาย สาเหตุการเกิดการอักเสบไม่ชัดเจน การดำเนินโรคหรือธรรมชาติของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของโรค การรักษาหลักคือการให้ยาต้านการอักเสบ

 

คำว่า Vasculitis หรือ Angiitis เป็นคำรวมไว้เรียกการอักเสบของหลอดเลือดทุกชนิด หากการอักเสบเกิดขึ้นเฉพาะหลอดเลือดดำจะเรียกว่า Venulitis ถ้าเป็นการอักเสบเฉพาะหลอดเลือดแดงจะเรียกว่า Arteritis

 

หลอดเลือดอักเสบ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย โดยแต่ละโรคของหลอดเลือดอักเสบ จะพบได้ใน อายุ เพศ และเชื้อชาติที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมทั้งหมดสามารถพบได้ทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกวัย

 

โรคหลอดเลือดอักเสบมีกี่ชนิด?

หลอดเลือดอักเสบ

โรคของหลอดเลือดอักเสบมีหลายชนิด/หลายโรค เช่น

  • Giant cell arteritis (หรือ Temporal arteritis คือ โรคหลอดเลือดอักเสบที่มักเกิดกับหลอดเลือดขนาดใหญ่และขนาดกลางในบริเวณศีรษะ)
  • Behcet’s disease (โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง)
  • Takayasu’s arteritis (โรคที่การอักเสบเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เช่น ท่อเลือดแดง หรือแขนงของท่อเลือดแดง)
  • Buerger’s disease (หรือ Thromboangiitis obliterans โรคหลอดเลือดอักเสบทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของแขน และขา)
  • Central nervous system vasculitis (หลอดเลือดอักเสบเกิดเฉพาะหลอดเลือดของสมอง) -Kawasaki disease (โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง)
  • Polyarteritis nodosa (PAN,โรคหลอดเลือดอักเสบที่เกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย)
  • Churg-Strauss syndrome (โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง)
  • Henoch-Schonlein purpura (โรคหลอดเลือดทั่วตัวอักเสบ ร่วมกับมีอาการเลือดออกที่ผิว หนัง มักพบในเด็ก)
  • Hypersensitivity vasculitis (โรคจากการอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็ก มักเกิดกับหลอดเลือดของผิวหนัง)
  • Microscopic polyangiitis (โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง)
  • Essential mixed cryoglobulinemia (โรคหลอดเลือดอักเสบที่เกิดร่วมกับมีความผิดปกติของโปรตีนบางชนิด)
  • Wegener’s granulomatosis (โรคหลอดเลือดอักเสบที่เกิดร่วมกับมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นด้วย) เป็นต้น

 

ได้มีความพยายามจัดแบ่งโรคเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและทำความเข้าใจการเกิดโรค โดยอาศัยเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป เช่น การนำเอาขนาดของเหลอดเลือดมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มโรค หรือการแบ่งกลุ่มโรคตามอวัยวะที่หลอดเลือดเกิดการอักเสบเป็นหลัก เป็นต้น แต่การแบ่งเช่นนี้ ยังไม่มีการนำมาใช้แพร่หลาย

 

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอักเสบ?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดหลอดเลือดอักเสบที่ชัดเจน แต่พบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มครองป้องกันโรคของร่างกายที่ทำงานผิดปกติ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของแต่ละบุคคลด้วย

 

การศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ พบความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มครองป้อง กันโรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละโรค เช่น

  • การพบแอนติบอดี (Antibody/สารภูมิต้านทาน) เกาะตัวอยู่กับแอนติเจน (Antigen/สารก่อภูมิต้านทาน) แล้วไปเกาะตัวอยู่ที่ผนังของหลอดเลือด ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณเรียกให้เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ เข้ามาที่ผนังหลอดเลือดและหลั่งสารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดตามมา
  • การพบแอนติบอดีต่อเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) ซึ่งเรียกแอนติบอดีชนิดนี้ว่า Antineutrophil cytoplasmic antibody (ANCA) ซึ่งแอนติบอดีนี้ จะไปเกาะที่เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ และเม็ดเลือดขาวก็จะหลั่งเอนไซม์และอนุมูลอิสระออกมา ทำให้หลอดเลือดถูกทำลาย เกิดการอักเสบของหลอดเลือดขึ้น
  • การพบเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ (Lymphocyte) และแมคโครฟาจ (Macrophage) เกาะกลุ่มรวมตัวกันเรียกว่า แกรนูโลมา (Granuloma) ซึ่งก็จะมีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้น

 

อนึ่ง มีปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดอักเสบขึ้นมาได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดอักเสบขึ้นในทุกคน และโรคหลอดเลือดอักเสบแต่ละชนิดในแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค Polyarteritis nodosa แต่ไม่ใช่ทุกรายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดนี้ รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรค Polyarteritis nodosa ก็ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ทุกราย ตัวอย่างปัจจัยอื่นๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี (เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค Essential mixed cryoglobulinemia) การได้รับยารักษาโรคบางชนิด การได้รับสาร แอมเฟตตามีน หรือยาเสพติดโคเคน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ นอกจากโรคหลอดเลือดอักเสบที่กล่าวไปแล้ว การเกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรคอื่นๆได้ เช่น โรคออโตอิมมูน/ภูมิแพ้ตนเอง เช่น โรคเอส แอลอี/SLE โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสบางชนิด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอื่นๆอีกหลายโรค รวมทั้งอาจเป็นปฏิกิริยาจากการได้รับเลือดหรือได้รับสารองค์ประกอบของเลือด (เช่น เกล็ดเลือด) และเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น

 

ไม่ว่าหลอดเลือดอักเสบ จะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เมื่อหลอดเลือดเกิดการอักเสบแล้ว ช่องทางเดินของหลอดเลือดก็จะแคบลง ทำให้เลือดไหลมาเลี้ยงเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆไม่สะ ดวก โดยเมื่อการอักเสบเกิดนานเข้า ก็จะเกิดเป็นพังผืดในหลอดเลือด ก่อการอุดตันการไหลของเลือดได้ในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆขาดเลือดเกิดเป็นโรคต่างๆขึ้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อมีหลอดเลือดหัวใจอักเสบเรื้อรัง และโรคไตเรื้อรัง เมื่อมีหลอดเลือดไตอัก เสบเรื้อรัง เป็นต้น

 

โรคหลอดเลือดอักเสบมีอาการอย่างไร?

ในแต่ละชนิดของโรคหลอดเลือดอักเสบ อาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับว่า

  • แต่ละโรคมีหลอดเลือดอักเสบที่อวัยวะใดเป็นหลัก
  • ชนิดของหลอดเลือดที่มีการอักเสบ (รวมถึงตำแหน่งภายในอวัยวะที่มีการอักแสบ)
  • และจำนวนอวัยวะที่มีหลอดเลือดอักเสบ ดังนั้นโรคในกลุ่มนี้แต่ละโรค จึงมักมีอาการที่คล้ายคลึงกันและคาบเกี่ยวกันอยู่ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกัน อาจมีอาการแตกต่างกันได้ตามความรุนแรงของโรค อาการของการอัก เสบที่เกิดขึ้นในแต่ละอวัยวะ เช่น

    1. ผิวหนัง หากการอักเสบของหลอดเลือดเกิดที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลาย ตั้ง แต่ผื่นชนิดแบนเรียบ ผื่นนูนขนาดเล็ก ผื่นนูนขนาดใหญ่ ผื่นที่เป็นจ้ำเลือดนูน ปื้นนูนแดงเหมือนลมพิษ ผื่นชนิดเรียบสีม่วงแดงรูปร่างเป็นร่างแห คล้ายตาข่าย หรืออาจปรากฏเป็นตุ่มน้ำใส เป็นแผลถลอก หรือผิวหนังเกิดเนื้อตายก็ได้ โรค Hypersensitivity vasculitis จะพบอาการนี้เป็นหลัก แต่โรคอื่นๆ ก็อาจจะพบอาการทางผิวหนังนี้ได้

    2. ปอด หากมีอาการอักเสบของหลอดเลือดในปอด ผู้ป่วยอาจมีอาการ เหนื่อย หอบ ไอ หรือมี ไอเป็นเลือด เจ็บ/ แน่นหน้าอก โรค Wegener’s granulomatosis และ Churg-Strauss syn drome จะพบอาการนี้เป็นหลัก

    3. ไต การอักเสบของหลอดเลือดที่ไต หากไม่รุนแรงผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่เมื่อนำปัสสาวะไปตรวจจะพบโปรตีนและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ หากเป็นรุนแรงจะทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง จนกระทั่งเกิดโรคไตเรื้อรัง หรือไตวาย ผู้ป่วยก็จะมีอาการของไตวาย เช่น มีความดันโลหิตสูง หนังตาและขาบวม คลื่นไส้ อาเจียน โลหิตจาง (ภาวะซีด) อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งมักจะพบในโรค Polyarteritis nodosa, Microscopic polyangiitis, และWegener’s granulomatosis

    4. ทางเดินอาหาร หากหลอดเลือดของกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก อาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และทำให้มีเลือดออก จนถ่ายเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นเลือดได้ หากการอักเสบรุนแรง จะทำให้ลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดลำไส้เน่าและทะลุในที่สุด นอกจากนี้ตับและตับอ่อนอาจเกิดเนื้อตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงด้วยได้ ทั้งนี้ โรค Polyarteritis nodosa, Microscopic polyangiitis, และ Henoch-Schonlein purpura (ในเด็ก) มักจะพบอาการเหล่านี้

    5. หัวใจ หากหลอดเลือดหัวใจอักเสบ จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปคอหรือแขนซ้าย โดยจะเป็นเวลาที่ออกแรงทำ งาน มีอาการหน้ามืดเป็นลม และอาจเกิดภาวะหัวใจวาย ผู้ป่วยก็จะมีน้ำท่วมปอด หอบเหนื่อย แต่หากเกิดการอักเสบของหลอดเลือดที่เลี้ยงเยื่อหุ้มหัวใจ จะมีอาการเจ็บหน้าอกตลอด เวลา โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ เวลากลืนอาหาร และเวลาอยู่ในท่านอน มีไข้ต่ำๆ ไอและเหนื่อยได้

     

    โรคที่จะพบอาการของหัวใจได้ ได้แก่ Churg-Strauss syndrome, Polyarteritis nodo sa และ Microscopic polyangiitis

     

    สำหรับโรค Kawasaki disease จะเกิดการอักเสบขึ้นที่หลอดเลือดใหญ่ที่มาเลี้ยงกล้าม เนื้อหัวใจ (Coronary artery) และตามมาด้วยการโป่งพองออกของหลอดเลือดด้วย เรียกว่า Aneurysm ซึ่งอาจเกิดโป่งพองเป็นระยะตลอดทั้งหลอดเลือด และภายในหลอดเลือดที่โป่งพองนี้ จะถูกอุดตันด้วยลิ่มเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยงและตายได้

     

    6. สมอง หากหลอดเลือดในสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง การคิด การเรียนรู้ การจดจำแย่ลง หรือมีอาการเหมือนเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เป็นต้น โดยโรค Central nervous system vasculitis จะพบหลอดเลือดอักเสบเฉพาะในสมองอย่างเดียว ในขณะที่โรคหลอดเลือดอักเสบชนิดอื่นๆ อาจพบการอักเสบของหลอดเลือดในสมองร่วมกับการอักเสบของหลอดเลือดในอวัยวะอื่นๆได้

    7. เส้นประสาท หากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทมีการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณที่เส้นประสาทเส้นที่ไปเลี้ยง เช่น ถ้าเกิดกับหลอดเลือดของเส้น ประสาทขาซ้าย ก็จะเกิดอาการชาและอ่อนแรงของขาซ้าย เป็นต้น

    8. กล้ามเนื้อและข้อต่อ จะมีอาการปวด และบวมของข้อต่อที่มีหลอดเลือดอักเสบเกิดขึ้น หรือมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มักพบในโรค Essential mixed cryoglobulinemia, Polyarteritis nodosa และ Microscopic polyangiitis

    9. ดวงตา จะมีอาการ เช่น มีเยื่อบุตาแดง คันตา ปวดตา ตากลัวแสง มองเห็นภาพไม่ชัด หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นตาบอด มักจะพบในโรค Behcet’s disease

    10. หู คอ จมูก มีอาการได้หลากหลาย เช่น เกิดโพรงอากาศข้างจมูก/ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยก็จะมีไข้ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ เป็นต้น หากเกิดที่หูชั้นกลางอักเสบ ก็จะมีอาการปวดหู มีน้ำไหลจากหู การได้ยินลดลง อาจรุนแรงถึงขั้นหูหนวก หรืออาจพบแผลตื้นๆตามเยื่อบุช่องปาก เยื่อบุจมูก อาการเหล่านี้มักพบในโรค Wegener’s granulomatosis

    11. อื่นๆ โรคหลอดเลือดอักเสบบางโรคอาจมีการอักเสบเฉพาะหลอดเลือดบางเส้นทำให้มีลักษณะที่เฉพาะได้ เช่น

  • โรค Giant cell arteritis ผู้ป่วยมักจะมีหลอดเลือดแดงชื่อ Temporal artery อักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ เจ็บหนังศีรษะ คลำหลอดเลือดบริเวณขมับได้แข็งเป็นลำ เป็นต้น
  • หรือในโรค Takayasu’s arteritis มักจะเกิดการอักเสบที่หลอดเลือดแดงชื่อ Subclavian artery ซึ่งทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงที่แขน ผู้ป่วยก็จะมีการปวดแขน โดยเฉพาะเมื่อออกแรงใช้แขนทำงาน หากจับชีพจรจะคลำได้เบากว่าเมื่อเทียบกับแขนอีกข้าง หรือหากวัดความดันโลหิตที่แขนทั้ง 2 ข้าง ค่าที่ได้จะไม่เท่ากัน เป็นต้น

    แต่นอกจากนี้หลอดเลือดส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็สามารถเกิดการอักเสบได้

 

อนึ่ง นอกจากจะมีอาการที่เกิดขึ้นตามแต่ละอวัยวะดังกล่าวแล้ว ทุกโรคของหลอดเลือดอักเสบจะพบอาการโดยรวมที่เป็นผลจากการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย โดยอาการจะคล้ายกับโรคอื่นๆที่มีการอักเสบเกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดอักเสบได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคหลอดเลือดอักเสบพบได้ค่อนข้างน้อย และอาการอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หลอดเลือดอักเสบ ในการวินิจฉัยจึงต้องแยกจากโรคอื่นๆ โดยต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมกับอาการต่างๆของผู้ป่วย โดยที่ไม่มีการตรวจพิ เศษชนิดใดเพียงชนิดหนึ่งที่จะชี้เฉพาะว่าเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบชนิดใดได้ จึงมักต้องใช้การตรวจหลายๆวิธีร่วมกัน การตรวจต่างๆ เช่น

  • การตรวจเลือด พบมีภาวะโลหิตจาง ค่าการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) สูงกว่าปกติ ค่าโปรตีนชนิด C-reactive protein สูงกว่าปกติ ค่าการทำงานของไตเสื่อมลง ตรวจพบแอนติ บอดีชื่อ Antineutrophilic cytoplasmic antibody เป็นต้น
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูโปรตีนในปัสสาวะ เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอัลตราซาวด์หัวใจ
  • การเอกซเรย์ภาพปอด
  • การฉีดสีเข้าหลอดเลือดและถ่ายภาพหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์ (Angiography)
  • การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยอาจจะตัดจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดอาการ เช่น ผิวหนัง ปอด ไต เป็นต้น

 

รักษาโรคหลอดเลือดอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาหลักของโรคหลอดเลือดอักเสบ คือ การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ การเลือกชนิดยา ปริมาณยาและวิธีบริหารยาขึ้นกับความรุนแรงของโรค ยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่ม สเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น Cyclophosphamide , Azathioprine, และ Methotrexate เป็นต้น ยาเหล่านี้จะช่วยควบคุมอาการของโรค แต่ไม่สามารถรัก ษาโรคให้หายได้

 

สำหรับ โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) การรักษาโดยการให้ยาแอสไพรินในปริมาณสูง และให้สารภูมิคุ้มกัน อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในระยะแรกๆของโรค ก่อนที่หลอดเลือดจะเกิดการโป่งพอง จะช่วยลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดโป่งพอง และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

 

ในโรคหลอดเลือดอักเสบที่เกิดมีหลอดเลือดโป่งพองขึ้น การรักษาอาจต้องอาศัยการผ่าตัดหลอดเลือด

 

โรคหลอดเลือดอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ธรรมชาติและความรุนแรงของอาการของโรคหลอดเลือดอักเสบ/การพยากรณ์โรค จะแตกต่างกันไปในแต่ละโรคของหลอดเลือดอักเสบ รวมทั้งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลด้วย โดยส่วนใหญ่โรคหลอดเลือดอักเสบเป็นโรคเรื้อรัง ในบางโรคและในผู้ป่วยบางคน อาจมีช่วงที่โรคสงบ (เรียกว่า Remission) คือผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ และสามารถหยุดใช้ยารักษาได้ แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีระยะที่โรคสงบนี้ และต้องใช้ยารักษาเพื่อควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง ในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยารักษา ทำให้อาการของโรครุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

 

ผลข้างเคียงที่สำคัญของหลอดเลือดอักเสบ คือ หลอดเลือดที่อักเสบจะตีบแคบลง จึงส่งผลให้อวัยวะที่มีหลอดเลือดอักเสบขาดเลือด ซึ่งถ้าเป็นอวัยวะสำคัญ จะส่งผลให้มีอาการจากอวัยวะนั้นๆรุนแรง และเสียชีวิต ได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว เมื่อมีหลอดเลือดหัวใจอักเสบ หรือโรคไตเรื้อรัง/ไตวาย เมื่อมีหลอดเลือดไตอักเสบ เป็นต้น

 

ดูแลตนเองและป้องกันโรคหลอดเลือดอักเสบอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดอักเสบที่ชัดเจน จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค

 

แต่เนื่องจากการเกิดโรคบางโรคมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอัก เสบ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เป็นต้น

 

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอักเสบ ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อติดตามอา การต่างๆจากโรค เพื่อประเมินชนิดยาและขนาดยาที่ใช้รักษา และเพื่อติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยา หรือซื้อยากินเอง เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคเหล่านี้มักมีผล ข้างเคียงที่รุนแรง (เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและรุนแรง) และที่สำคัญ ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ยาหม้อต่างๆ เนื่องจากยาเหล่านี้มักมีสารสเตียรอยด์ผสม ซึ่งอาจทำให้ได้รับปริมาณสเตียรอยด์เกิน และเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอา หาร และโรคกระดูกพรุน

 

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เนื่องจากโรคหลอดเลือดอักเสบเป็นโรคที่มีอาการหลากหลาย ส่วนใหญ่อาการไม่จำ เพาะ และมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ จึงไม่มีคำแนะนำเฉพาะสำหรับโรคนี้

 

แต่โดยรวมแล้ว หากมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อใช้ยาสามัญประจำบ้านดูแลตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น (เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล/Paracetamol เมื่อมีอาการปวดข้อต่างๆ) ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

 

ทั้งนี้ บ่อยครั้งในโรคกลุ่มนี้ การให้การวินิจฉัยในครั้งแรกของแพทย์อาจไม่ตรงโรคได้ เนื่องจากความหลากหลายของอาการเช่นที่กล่าวมา อีกทั้งไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดที่จะชี้เฉพาะว่า เป็นโรคหลอดเลือดอักเสบแต่ละชนิด จึงมักต้องพบแพทย์หลายครั้ง เพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ได้ถูกต้อง

 

บรรณานุกรม

  1. Anthony S. Fauci, the vasculitis syndromes, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/vasculitis [2018,Dec8]
  3. https://www.emedicinehealth.com/vasculitis/article_em.htm [2018,Dec8]