โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?
- โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker) คือ กลุ่มยาที่นำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้หลายโรค เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยากันชัก ยาชาเฉพาะที่ โดยเป็นกลุ่มยา/สารที่คอยปิดกั้นการซึมผ่านของเกลือโซเดียมที่บริเวณผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อตามร่างกาย, กลไกการปิดกั้นเหล่านี้หากเกิดที่บริเวณอวัยวะใด ก็จะแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในอวัยวะ, ทั้งนี้รูปแบบยามีได้ทั้ง ยารับประทาน ยาฉีด และยาทาภายนอก
อาจแบ่งหมวดหมู่ หรือจำแนกประเภทยา/สารโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์โดยยึดจากโครงสร้างทางเคมี หรืออวัยวะในร่างกายที่ตัวยาออกฤทธิ์ เช่น
ก. กลุ่มสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids): โดยสารนี้ออกฤทธิ์ปิดกั้นการส่งผ่านเกลือโซเดียมระหว่างเซลล์กับเซลล์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มสารอัลคาลอยด์ดังกล่าวได้ดังนี้ เช่น
- Saxitoxin: จัดเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อระบบประสาท หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่า คือ พิษที่พบได้ในสัตว์น้ำที่มีเปลือกหุ้ม โดยการออกฤทธิ์จะทำให้ร่างกายของเหยื่อหรือผู้สัมผัสเกิดอัมพาต
- Neosaxitoxin: เป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับ Saxitoxin พบได้ตามธรรมชาติในสัตว์ทะเลที่มีพิษ การออกฤทธิ์จะทำให้เกิดอัมพาตคล้ายกับจาก Saxitoxin
- Tetrodotoxin: จัดเป็นสารอัลคาลอยด์ที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อระบบประสาทอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในสัตว์ทะเล หรือในแบคทีเรียประเภท Pseudoalteromonas tetraodonis ก็สามารถผลิตสารพิษแบบนี้ได้
ข. กลุ่มยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการนำเกลือโซเดียมมิให้ผ่านเข้า-ออกในผนังเซลล์ประสาท, ประโยชน์ทางการแพทย์ของยากลุ่มนี้มีอย่างมากมาย เช่น
- ช่วยระงับอาการปวดแบบเฉียบพลัน: เช่น จากบาดแผล หรือจากภาวะอักเสบ รวมถึงอาการปวด/เจ็บจากการคลอดบุตร
- ระงับอาการปวดแบบเรื้อรัง: ซึ่งแพทย์อาจนำมาใช้ร่วมกับยากลุ่ม Opioids, NSAIDs, และยาต้านชัก/ยากันชัก (Anticonvolsants), ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา
- ระงับอาการปวดระหว่างการผ่าตัดตามอวัยวะต่างๆ: เช่น ศัลยกรรม ตา หู คอ จมูก การผ่าตัดหัวใจ ปอด ช่องท้อง ระบบของอวัยวะสืบพันธุ์ กระดูก ข้อ ผิวหนัง หลอดเลือด รวมถึงการใช้ในคลินิกทันตกรรม, ซึ่งการใช้ผิดขนาดและผิดวิธีสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง และการทำงานของหัวใจ ซึ่งทั้งสองระบบนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้มีมากมาย เช่น
- ยาชากลุ่มเอสเทอร์/Ester group: เช่นยา Benzocaine, Chloroprocaine, Cocaine, Cyclomethycaine, Dimethocaine/Larocaine, Piperocaine, Propoxycaine, Procaine/Novocaine, Proparacaine, Tetracaine/Amethocaine)
- ยาชากลุ่มเอไมด์/Amide group: เช่น ยา Articaine, Bupivacaine, Cinchocaine/Dibucaine, Etidocaine, Levobupivacaine, Lidocaine/Lignocaine, Mepivacaine, Prilocaine, Ropivacaine, Trimecaine
- สารอนุพันธ์ทางธรรมชาติ: เช่น Menthol, Eugenol, Cocaine
ค. กลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Class I antiarrhythmic agent): ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งและรบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีทั้งออกฤทธิ์ได้เร็วและช้าโดยขึ้นกับชนิดของตัวยา, สรรพคุณทางการแพทย์ มีทั้งนำมาใช้รักษาและใช้เป็นยาป้องกันการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ, ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีก เช่น
- กลุ่มยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ia (Class Ia antiarrhythmic agent): เช่น ยา Quinidine, Ajmaline, Procainamide, Disopyramide, ยากลุ่มนี้ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias), ป้องกันหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Paroxysmal recurrent atrial fibrillation), บำบัดอาการ Wolff-parkinson-white syndrome(กลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่เกิดแต่กำเนิด พบได้น้อยมาก)
- กลุ่มรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ib (Class Ib antiarrhythmic agent): เช่น ยา Lidocaine, Phenytoin, Mexiletine, Tocainide, นำมาใช้บำบัดและป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction), และอาการหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular tachycardia)
- กลุ่มรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ic (Class Ic antiarrhythmic agent): เช่น ยา Encainide, Flecainide, Propafenone, Moricizine, นำมาใช้ป้องกันภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Paroxysmal atrial fibrillation), รักษาอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Recurrent tachyarrhythmias), และมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้อหัวใจตายประเภท Immediately post-myocardial infarction
ง. กลุ่มยารักษาอาการโรคลมชัก /ยากันชัก: จัดเป็นยาหมวดใหญ่และมีมากมายหลายรายการที่สามารถแสดงฤทธิ์ของโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ยากันชัก”
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- กลุ่มยาชาเฉพาะที่: จะถูกนำมาใช้บรรเทาอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง และใช้ในกระบวนการผ่าตัดและหัตถการของทันตกรรม
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ใช้เป็นยากันชัก
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ คือตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งผ่านเกลือโซเดียมเข้า-ออกภายในเซลล์ของร่างกาย ตัวยาแต่ละชนิดสามารถออกฤทธิ์ ทั้งด้านในหรือด้านนอกของผนังเซลล์ ทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันออกไป, นอกจากนี้ การออกฤทธิ์เกิดกับบริเวณเนื้อเยื่อของอวัยวะใด ก็จะก่อฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้นๆ, และทำให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกายใหม่, จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาที่จะแตกต่างกันในแต่ละตัวยา: เช่น
- ยาฉีด
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาทาภายนอก
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีหลากหลายรายการ การใช้ยาแต่ละรายการจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยนำข้อมูล ประวัติทางการแพทย์, อาการ, อายุของผู้ป่วยมาประกอบกัน จึงขอไม่กล่าวในบทความนี้
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมแชนแนล บล็อกเกอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรลืมรับประทานบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจกล่าวในภาพรวมถึงผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่สามารถเกิดจากกลุ่มยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์: เช่น
ก. กลุ่มยาชาเฉพาะที่: อาจเกิดภาวะต่างๆ เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ความรู้สึกเหมือนผิวหนังมีเข็มทิ่มแทง อาจมีการทำลายการทำงานของเส้นประสาท ระบบการทำงานของหัวใจ/ภาวะหัวใจล้มเหลว ลมชัก โคม่า หยุดหายใจจนอาจถึงขั้นตายในที่สุด
ข. กลุ่มยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่น อาจเกิด ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตับอักเสบ เม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า มีไข้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หนังตากระตุก เห็นภาพซ้อน ง่วงนอน มีอาการตัวสั่น คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร การทรงตัวผิดปกติ กดไขกระดูก เกิดภาวะคล้ายโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หลอดลมเกิดหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก การรับรสชาติเปลี่ยนไป รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
ค. กลุ่มยากันชัก: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้ยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์
- ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- *หากมีอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
*นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมาระบุรายละเอียดได้ทั้งหมด ด้วยยาในกลุ่มนี้มีหลากหลายรายการ และมีข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ
ทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะกลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ร่วมกับยาลดความดัน, ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic), สามารถเสริมหรือเพิ่มฤทธิ์ของยากลุ่มดังกล่าว เพื่อความเหมาะสม และเป็นการหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?
ควรเก็บยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์: เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำหรือเงื่อนไขตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apo-Quinidine (เอโพ-ควินิดีน) | Apotex |
Procan (โปรแคน) | Parke-Davis |
Procapan (โปรคาแพน) | Panray Pharmaceutical |
Procanbid (โปรแคนบิด) | Monarch |
Pronestyl (โปรเนสติล) | E. R. Squibb & Sons Limited |
Norpace (นอร์เพส) | Searle |
Regubeat (เรกูบีท) | Glaxo SmithKline |
Xylocaine Topical viscous (ไซโลเคน ท็อปปิคัล วิสคัส) | AstraZeneca |
Dermacaine (เดอร์มาเคน) | SR Pharma |
EMLA (เอมลา) | AstraZeneca |
Liprikaine (ลิพริเคน) | T. Man Pharma |
Citanest Forte Dental (ซิทาเนส ฟอร์ท เดนทัล) | AstraZeneca LP |
COCAINE HYDROCHLORIDE Topical Solution (4%) (โคเคน ไฮโดรคลอไรด์ ทอปิคอล โซลูชั่น) | Cody Laboratories Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_channel_blocker [2022,Dec10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Saxitoxin [2022,Dec10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Neosaxitoxin [2022,Dec10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tetrodotoxin [2022,Dec10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antiarrhythmic_agent#Class_I_agents [2022,Dec10]
- http://howmed.net/pharmacology/sodium-channel-blockers/ [2022,Dec10]