โซลิเฟนาซิน (Solifenacin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 โซลิเฟนาซิน (Solifenacin) คือ ยาประเภทแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic) ถูกพัฒนา ขึ้นเพื่อใช้รักษาอาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Over active urinary bladder) จนมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือต้องปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า M3 Muscarinic receptors ซึ่งมีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่พบในหลอดลม ลำไส้เล็ก (Ileum) รูม่านตา และที่กระเพาะปัสสาวะ

 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโซลิเฟนาซินจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ถึงประมาณ 90% จากนั้นตัวยาโซลิเฟนา ซินในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 98% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 45 - 68 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ในทางคลินิก การที่จะเลือกใช้ยาโซลิเฟนาซินเพื่อรักษาอาการโรคหรือไม่นั้น ย่อมต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์เท่านั้น โดยจะมีการนำข้อควรระวังต่างๆมาพิจารณาประกอบร่วมด้วยดังนี้เช่น

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาโซลิเฟนาซินมาก่อน
  • ต้องไม่ป่วยด้วยโรคต้อกระจก และโรคตับขั้นรุนแรง หรือป่วยเป็นโรคปัสสาวะไม่ออก/ ปัสสาวะขัด หรือมีอาการท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น
  • ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ในช่วงที่มีการรับประทานยาเม็ดโพแทสเซียม (Potassium chloride)
  • หากเป็นสตรีต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยมียาอื่นใดที่รับประทานอยู่ในปัจจุบันซึ่งอาจก่อปฏิกิริยาระหว่างยาร่วมกับโซลิเฟนาซินหรื่อไม่ (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ ปฏิกิริยาระหว่างยา)

 ทั้งนี้หลังจากแพทย์สั่งจ่ายยาโซลิเฟนาซินให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์    

นอกจากนี้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ ยาโซลิเฟนาซินได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ หากเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการคล้ายกับแพ้ยานี้จะต้องรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

ยาโซลิเฟนาซินถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย ไม่ควรไปซื้อหามารับประทานเอง ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลโดยทั่วไป และการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

โซลิเฟนาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โซลิเฟนาซิน

ยาโซลิเฟนาซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • บำบัดรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน

โซลิเฟนาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซลิเฟนาซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับประเภท M3 Muscarinic receptor ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะลดการบีบตัวลงพร้อมกับทำให้กระเพาะปัสสาวะสามารถรองรับและกักเก็บปัสสาวะได้มากและนานขึ้น ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาโซลิเฟนาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซลิเฟนาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิ กรัม/เม็ด

โซลิเฟนาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโซลิเฟนาซินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ: รับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทางคลินิกในการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป                          

 *อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยด้วยโรคไตระดับรุนแรง แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานได้สูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิ กรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซลิเฟนาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซลิเฟนาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโซลิเฟนาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโซลิเฟนาซินให้ตรงเวลา

โซลิเฟนาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซลิเฟนาซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ปากคอแห้ง
  • ท้องผูก
  • ท้องอืด
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • รู้สึกสับสน
  • รูม่านตาขยาย
  • ตาแห้ง
  • มีอาการประสาทหลอน
  • ปวดหัว
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขัด
  • ผิวแห้ง
  • อาจเกิดผิวหนังอักเสบ

*สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาด: จะแสดงอาการที่เรียกว่า Anticholinergic effect อย่างรุนแรงออกมา (เช่น ปัสสาวะไม่ออก ลำไส้อุดตัน   หัวใจเต้นเร็ว  ตาพร่า เหงื่อออกมาก สับสน ประสาทหลอน) ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการรักษาเบื้องต้นแพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องร่วมกับการใช้ยาถ่านกัมมันต์ และการรักษาตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้โซลิเฟนาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โซลิเฟนาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโซลิเฟนาซิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาการปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อน แรง ผู้ที่มีอาการป่วยของระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • หากพบอาการแพ้ยา เช่น ใบหน้า-แขน-ขาบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หรือมีลมพิษผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องรีบหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซลิเฟนาซินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซลิเฟนาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซลิเฟนาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซลิเฟนาซิน ร่วมกับยา Erythromycin, Ketoconazole ด้วยอาจทำให้ระดับยาโซลิเฟนาซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาโซลิเฟนาซินติดตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซลิเฟนาซิน ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทานด้วยจะก่อ ให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารจนอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
  • การใช้ยาโซลิเฟนาซิน ร่วมกับยา Clozapine อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโซลิเฟนาซิน ร่วมกับยา Chlorpheniramine อาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยาโซลิ เฟนาซิน เช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากคอแห้ง ใบหน้าแดง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง  ท้องผูก  หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโซลิเฟนาซินอย่างไร?

 ควรเก็บยาโซลิเฟนาซิน:

  • ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิด ชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โซลิเฟนาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซลิเฟนาซิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Vesicare (เวสซิแคร์) Astellas Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Solifenacin   [2022,Feb5]
  2. https://www.drugs.com/mtm/solifenacin.html   [2022,Feb5]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/solifenacin?mtype=generic    [2022,Feb5]
  4. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/solifenacin-oral-route/proper-use/drg-20066064   [2022,Feb5]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vesicare/?type=full#Dosage   [2022,Feb5]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/solifenacin-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,Feb5]