โคลเซเวแลม (Colesevelam)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โคลเซเวแลม (Colesevelam) คือ ยาลดไขมัน ชนิดที่เป็นสารประกอบประเภทไบล์แอซิดซีเควสแตรต์ (Bile acid sequestrant), โดยรูปแบบยาจะเป็นยารับประทาน, ทางคลินิก ใช้ลดไขมันในเลือดชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL cholesterol), เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคไขมันในเลือดสูงในระยะเริ่มต้น, โดยใช้เป็นยาเดี่ยว และบางกรณีก็ใช้ร่วมกับยา Statin,  นอกจากนี้แพทย์ยังนำยาโคลเซเวแลมมาช่วยรักษาอาการในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2, แต่ห้ามใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่1, ทั้งนี้จะต้องมีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายควบคู่กันไปกับการใช้ยานี้ด้วยเสมอ   

หลังการรับประทาน, ยาโคลเซเวแลมจะไม่มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะทำการรวมตัวกับกรดน้ำดีในลำไส้เล็ก และเกิดเป็นสารประกอบชนิดที่ระบบทางเดินอาหารไม่สามารถดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายได้, ซึ่งจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ, ส่งผลทำให้ร่างกายขาดกรดน้ำดี และเพื่อเป็นการรักษาสมดุลน้ำดีในร่างกายจึงเกิดการนำคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดมาผลิตเป็นกรดน้ำดีทดแทน, ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง, ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นที่ตับ

การรับประทานยานี้ ต้องร่วมกับการรับประทานอาหาร, หากตัวยานี้ที่บริโภคเป็นรูปแบบยาผงแขวนตะกอน ผู้บริโภคจะต้องกระจายผงยานี้กับน้ำแล้วจึงดื่ม, และห้ามรับประทานในลักษณะผงแห้ง, แต่หากเป็นยาชนิดเม็ดให้กลืนพร้อมน้ำดื่มที่เพียงพอ

ข้อจำกัดบางประการที่ถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยาโคลเซเวแลม หรือที่ต้องใช้ยาโคลเซเวแลมด้วยความระมัดระวัง: เช่น

  • เป็นผู้ที่แพ้ยาโคลเซเวแลม หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน หรือมีกล้ามเนื้อลำไส้เป็นอัมพาต จัดเป็นข้อห้ามที่ไม่ควรใช้ยานี้
  • เป็นผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride/ไขมันในเลือดชนิดหนึ่ง) ในเลือดสูง หรือผู้ที่มีประวัติตับอ่อนอักเสบที่มีสาเหตุจากไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ก็อยู่ในขอบข่ายที่ห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความประสงค์ต้องการใช้ยานี้ แต่อาจสุ่มเสี่ยงเกิดความผิดปกติหลังการใช้ยานี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร, ผู้ป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวาร, ผู้ที่มีภาวะร่างกายขาด วิตามินเอ วิตามินดี  วิตามินอี  และ/หรือ วิตามินเค, รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องใช้ความระมัดระวังต่อการใช้ ยาทุกประเภท ซึ่งรวมถึงยาโคลเซเวแลมด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางประเภทอยู่ก่อน อาจสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโคลเซเวแลม โดยอาจเพิ่มหรือลดฤทธิ์การรักษา หรือมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆตามมา เช่น
    • ผู้ที่ใช้ยา Metformin ร่วมกับตัวยาโคลเซเวแลม อาจจะได้รับผลข้างเคียงจากยา Metformin เพิ่มมากขึ้น
    • หรือการใช้ยา Cyclosporine, ยากลุ่ม Hydantions (เช่นยา Phenytio), ยาโรคไทรอยด์(เช่นยา Levothyroxone), ยาWarfarin, ก็จะมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลงหากใช้ร่วมกับยาโคลเซเวแลม
  • ผู้ที่ใช้ยาอินซูลินหรือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เช่น ยา Glipizide อาจทำให้เกิดภาวะไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงขึ้น
  • ยาโคลเซเวแลม อาจต้องใช้เวลารับประทานอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ซึ่งควรระวังการเกิดอาการท้องผูกติดตามมา, ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีกากใย/ใยอาหารตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลเพื่อลดภาวะท้องผูกดังกล่าว
  • กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีลงมา หรือเด็กผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อน จัด เป็นกลุ่มบุคคลที่ต้องใช้ความระมัดระวังหากจะใช้ยาโคลเซเวแลม ด้วยยังขาดข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกมาสนับสนุน

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยาโคลเซเวแลม ยังอาจพบอาการข้างเคียงบางประการหลังจากเริ่มใช้ยา เช่น ปวดหลัง ท้องผูก ปวดหัว และอาหารไม่ย่อย   

จะเห็นได้ว่ายาโคลเซเวแลม มีข้อห้าม/ข้อควรระวังมากมาย, การใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โคลเซเวแลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโคลเซเวแลมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูง
  • ใช้ร่วมกับยา Metformin เพื่อช่วยบำบัดอาการเบาหวานประเภทที่ 2

โคลเซเวแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลเซเวแลม คือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับกรดน้ำดีในลำไส้เล็กจนได้สารประกอบเชิงซ้อนที่ระบบทางเดินอาหารไม่สามารถถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ, ร่างกายจะต้องสร้างกรดน้ำดีขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนกรดน้ำดีที่สูญเสียไป โดยตับจะทำหน้าที่ดึงไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดมาสร้างกรดน้ำดี, จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลในเลือดดังสรรพคุณ

โคลเซเวแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลเซเวแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาผงที่ต้องกระจายตัวในน้ำก่อนรับประทาน ขนาด 1.875 และ 3.75 กรัม/ซอง
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 625 มิลลิกรัม/เม็ด

โคลเซเวแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคลเซเวแลมมีขนาดรับประทาน: เช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 10 - 17 ปี: เช่น

  • กรณีเป็นยาเม็ด: รับประทานยาเม็ดขนาด 875 กรัม (3 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร, หรือรับประทาน 3.75 กรัม (6 เม็ด) วันละ 1 ครั้งพร้อมอาหาร, ทั้งนี้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์
  • กรณีเป็นยาผง: ให้กระจายยาขนาด 3.75 กรัมในน้ำดื่ม แล้วรับประทานวันละ 1 ครั้ง, หรือ กระจายยาขนาด 1.875 กรัมในน้ำดื่ม แล้วรับประทานวันละ 2 ครั้งพร้อมอาหารเช่นกัน

ข. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีลงมา: ทางคลินิกยังไม่มีการยืนยันขนาดรับประทานยานี้ที่ปลอดภัยและเหมาะสม การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป              

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลเซเวแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น        

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลเซเวแลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลเซเวแลม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโคลเซเวแลมตรงเวลา

โคลเซเวแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลเซเวแลม สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องอืด ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย  เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ลำไส้อุดตัน  ตับอ่อนอักเสบ  เกิดอาการริดสีดวงทวารกำเริบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ  ไซนัสอักเสบ ไอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว   ปวดหลัง
  • ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ: เช่น  ปวดกล้ามเนื้อ

มีข้อควรระวังการใช้โคลเซเวแลมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลเซเวแลม: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามรับประทานยานี้ในลักษณะยังเป็นผงแห้ง, ต้องกระจายตัวยาลงในน้ำดื่มอย่างเพียงพอก่อนรับประทานเสมอ
  • มีการออกกำลังกาย รับประทานอาหาร พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
  • *ควรพบแพทย์ หากเกิดอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ผู้ป่วยต้องมาตรวจระดับคอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, และระดับน้ำตาลในเลือด, ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลเซเวแลมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคลเซเวแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลเซเวแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาโคลเซเวแลมร่วมกับยา Bexarotene  อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโคลเซเวแลม วมกับยา Anisindione อาจทำให้ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ของยา Anisindione ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลเซเวแลม ร่วมกับยา Glimepiride เพราะอาจทำให้การดูดซึมยา Glimepiride จากระบบทางเดินอาหารลดน้อยลง จนส่งผลให้ยาดังกล่าวออกฤทธิ์ได้ต่ำ

ควรเก็บรักษาโคลเซเวแลมอย่างไร?

ควรเก็บยาโคลเซเวแลม: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โคลเซเวแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลเซเวแลม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต  เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Welchol (เวลโคล) Sankyo Pharma

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยาโคลเซเวแลมในประเทศตะวันตก เช่น Cholestagel, Lodalis

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/colesevelam.html  [2022,Oct29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Colesevelam  [2022,Oct29]
  3. https://welchol.com/how-welchol-works  [2022,Oct29]
  4. https://www.drugs.com/pro/welchol.html  [2022,Oct29]
  5. https://www.empr.com/drug/welchol-for-oral-suspension/  [2022,Oct29]