เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทอร์เฟนาดีนอย่างไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทอร์เฟนาดีนอย่างไร?
- เทอร์เฟนาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ลมพิษ (Urticaria)
- หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)
บทนำ: คือยาอะไร?
เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine) คือ ยาแก้แพ้/ ยาต้านฮีสตามีน/Antihistamine ซึ่งนำมาใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆของร่างกาย เช่น ไข้ละอองฟาง จาม คัดจมูก ผื่นคัน ลมพิษ เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีผู้ป่วยมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้ยานี้โดยมีชื่อที่จัดจำหน่ายในอเมริกาว่า “Seldane” ในอังกฤษจะใช้ชื่อ “Triludan” และในออสเตรเลียใช้ชื่อ “Teldane”
หากจะพิจารณาด้านการกระจายตัวของยาเทอร์เฟนาดีนในร่างกายมนุษย์จะพบว่า หลังรับ ประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีความเข้มข้นถึงระดับสูงสุดในกระแสเลือดภายใน 2 ชั่วโมง ยาเทอร์เฟนาดีนจะเข้าจับกับพลาสมาโปร ตีนประมาณ 97% โดยยาจะไม่ผ่านเข้าในหลอดเลือดของสมอง จึงไม่ก่อให้เกิดฤทธิ์สงบประสาทหรือทำให้ง่วงนอน เมื่อยาในกระแสเลือดถูกลำเลียงไปที่ตับจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีเป็น “Fexofenadine” ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ (Active form) สำคัญ ยังไม่พบว่ายาเทอร์เฟนาดีนผ่านเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ทราบแต่เพียงว่าการกำจัดยาเทอร์เฟนาดีนออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 13 - 23 ชั่วโมงโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) หลายประเทศได้หยุดการใช้ยาเทอร์เฟนาดีนด้วยเหตุผลทางคลินิกที่ยานี้มีผลข้างเคียงอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเมื่อใช้ยาร่วมกับยา Ketoconazole, Itraconazole, รวมถึงยาปฏิชีวนะอย่างยา Erythromycin ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นทางการแพทย์จึงได้หันมาใช้ยา ‘Fexofenadine’ แทนด้วยไม่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ยาเทอร์เฟนาดีน มีจุดเด่นคือเป็นยาต้านฮีสตามีนที่ช่วยระงับอา การแพ้และไม่ทำให้ผู้ที่รับประทานง่วงนอนหรือง่วงนอนน้อย แต่ข้อด้อยจะเป็นด้านผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นผลให้ผู้ป่วยบางรายอาจตายได้ ดังนั้นก่อนการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยาเทอร์เฟนาดีน ประชาชน/ผู้ป่วยควรปรึกษาและใช้ยาตาม คำแนะนำของแพทย์/เภสัชกรโดยเคร่งครัด
เทอร์เฟนาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการแพ้จากไข้ละอองฟาง
- รักษาอาการจากโรคลมพิษ
- รักษาอาการจาม, คัดจมูก, ผื่นคัน, และอาการคันตาจากโรคภูมิแพ้
เทอร์เฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)สาร Histamine ของร่างกาย ที่เรียกว่า H1-receptor ซึ่งอยู่ในบริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้ มดลูก หลอดเลือดทั่วร่างกาย และที่ผนังกล้ามเนื้อหลอดลม จากนั้นจะทำให้สมดุลเคมีโดยเฉพาะการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ลดอาการบวมและอาการแพ้ผื่นคันต่างๆได้อย่างดี
เทอร์เฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 60 มิลลิกรัม/เม็ด
เทอร์เฟนาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานครั้งละ 60 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า -เย็นพร้อมอาหาร
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดการใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปียังมิได้มีการจัดทำอย่าง เป็นทางการ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเทอร์เฟนาดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทอร์เฟนาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเทอร์เฟนาดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เทอร์เฟนาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- หัวใจเต้นเร็ว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย
- ปวดเกร็ง/ปวดบีบในช่องท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- อยากอาหาร/หิวบ่อย
- ปากคอแห้ง
- จมูกแห้ง
- ไอ
- เจ็บคอ/คออักเสบ
- อาจมีผู้ป่วยบางราย หลังจากได้รับยาเทอร์เฟนาดีนจะมีอาการดีซ่านและมีอาการตับอักเสบตามมา
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกสับสน คลื่นไส้มาก หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะชักเกิดขึ้นด้วย หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้เทอร์เฟนาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอร์เฟนาดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเทอร์เฟนาดีน
- ห้ามใช้ยาเทอร์เฟนาดีนกับ ร่วมกับ ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Ketonazole, Itraconazole รวมถึงยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่นยา Erythromycin และ Troleandomycin
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตัวเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ, ผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือ เกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทอร์เฟนาดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เทอร์เฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทอร์เฟนาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเทอร์เฟนาดีน ร่วมกับ ยาหลายรายการอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Amiodarone, Erythromycin, Ketoconazole, Itraconazole, Haloperidol, Sodium biphosphate (ยาระบาย), Methadone เพื่อมิให้เกิดอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเทอร์เฟนาดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเทอร์เฟนาดีน: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เทอร์เฟนาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทอร์เฟนาดีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Triludan (ไทรลูดาน) | Premier Pharmaceutical |
Triludan Forte (ไทรลูดาน ฟอท)) | Premier Pharmaceutical |
Seldane (เซลเดน) | Aventis Pharmaceuticals |
Terfenor (เทอเฟนอ) | IVAX |
Teldane (เทลเดน) | Sanofi-Aventis |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Terfenadine [2021,Nov20]
2 https://www.mims.com/thailand/drug/info/terfenadine?mtype=generic [2021,Nov20]
3 https://www.drugs.com/seldane.html [2021,Nov20]
4 https://www.drugs.com/imprints/seldane-2695.html#related-documents [2021,Nov20]
5 https://www.medindia.net/drugs/how_to_take_when_to_take_drugs/terfenadine.htm [2021,Nov20]
6 https://www.drugs.com/drug-interactions/terfenadine-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Nov20]
7 https://drugs-about.com/drugs-t/terfenor.html [2021,Nov20]
8 https://www.catalog.md/drugs/teldane.html [2021,Nov20]