ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)

ยาแก้แพ้ หรือ ยาแอนติฮิสตามีน เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างคล้ายสารฮิสตามีน (Histamine) ที่เมื่อรับประทานยาเข้าไปแล้ว ยาจะเข้าไปจับกับตัวจับ/ตัวรับของสารฮิสตามีน (Histamine receptor) ที่อยู่บนผิวของเนื้อเยื่อตามระบบหายใจ เช่น ในโพรงจมูก หลอดลม ถุงลม และตามผิว หนังต่างๆ แทนตัวสารฮิสตามีน จึงทำให้ฮิสตามีนเข้าไปจับกับตัวรับของมันไม่ได้ จึงทำให้ไม่เกิดอาการที่เป็นผลจากกระบวนการแพ้ทั้งหลาย ดังนั้น ยากลุ่มนี้จึงนำมาใช้รักษาอาการที่เกิดจากกระ บวนการแพ้หรือโรคภูมิแพ้นั่นเอง

โรคภูมิแพ้ มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการแพ้ไปเกิดที่อวัยวะส่วนไหน เช่น

  • ถ้าเกิดที่จมูก จะทำให้มีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดแน่นจมูก เป็นหวัดภูมิแพ้
  • ถ้าเกิดที่เนื้อปอด ถุงลม หลอดลม จะทำให้หลอดลมหดเกร็ง มีอาการหอบ เป็นโรคหืด
  • ถ้าเกิดที่ผิวหนังจะมี ผื่นขึ้น คัน เป็นลมพิษ และ
  • ถ้าเกิดที่เยื่อบุตา จะทำให้มีอาการ คันตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง ที่เรียกว่า เยื่อบุตาอัก เสบจากการแพ้

จึงจะเห็นได้ว่า โรคภูมิแพ้ ดังกล่าวข้างต้น เกิดจากกระบวนการเดียวกัน คือ เป็นผลมาจากฮิสตามีนเข้าจับตัวรับฮิสตามีนตามเนื้อเยื่อต่างๆ

ทางการแพทย์ได้นำยาแอนติฮิสตามีนมาใช้ในโรคที่เกิดจากกระบวนการแพ้ต่างๆ เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคผิวหนังจากการแพ้ต่างๆ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบชนิดที่เรียกว่า เอ็กซี ม่า (Eczema) เป็นต้น ทั้งนี้เราเรียกยากลุ่มแอนติฮิสตามีนนี้อีกชื่อว่า “ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำ มูก” เพราะนอกจากช่วยลดอาการแพ้ต่างๆดังกล่าวแล้ว ยังใช้ช่วยลดน้ำมูกได้อีกด้วย

ประเภทของยาแก้แพ้ หรือ ยาแอนติฮิสตามีน เราแบ่งยาแก้แพ้ ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ยา แอนติฮิสตามีนกลุ่มง่วง คุณสมบัติของยากลุ่มนี้ คือ

  • ผ่านเข้าออกสมองได้ดี จึงสามารถจับกับตัวรับฮิสตามีนในสมองได้ มีผลกดระบบประสาท ทำให้เกิดอาการ ง่วง ง่วงซึม ไม่สดชื่น การตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆช้าลง
  • มีฤทธิ์เป็นแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drug, ยาต้านสารสื่อประสาทบางชนิด) ซึ่งฤทธิ์นี้ทำให้ปริมาณสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ (เช่น น้ำมูก เสมหะ) ลดลง โดยเฉพาะถ้าใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง โพรงจมูกแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ใจสั่น และถ้ากรณีผู้ป่วยเป็นต้อหินร่วมด้วย เมื่อใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานจะทำให้อาการต้อหินรุนแรงขึ้นได้
  • ส่วนใหญ่ยามีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังรับประทานยา
  • ยาออกฤทธิ์ภายในเวลา 15-30 นาที หลังจากรับประทานยา

กลุ่มที่ 2 ยาแอนติฮิสตามีนกลุ่มไม่ง่วง ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติ คือ

  • ยาไม่ผ่านเข้าสมอง จึงไม่กดระบบประสาท ทำให้ไม่ค่อยมีผลง่วงซึม
  • ยาออกฤทธิ์ยาวนานกว่า 12 ชั่วโมงจนถึงหลายวัน
  • การออกฤทธิ์จะช้ากว่ากลุ่มที่ 1 คือประมาณ 1 -2 วัน หลังจากรับประทานยา ยกเว้น ยา ฟีโซฟีนาดีน (Fexofenadine) ที่ออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังรับประทานยา
  • มีความเจาะจงต่อตัวรับฮิสตามีน สูง
  • ไม่มีฤทธิ์เป็นแอนติโคลิเนอร์จิก

อนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มแอนติฮิสตามีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากยา ซึ่งยาในกลุ่มที่ 1 จะพบอา การข้างเคียงมากกว่ากลุ่มที่ 2 ในกรณีที่ต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ลำดับความง่วงของแอนติฮิสตามีน

เราสามารถเรียงลำดับความง่วงของชนิดยาแอนติฮิสตามีนทั้งหมด จากฤทธิ์ที่ทำให้ง่วงมาก จนถึงง่วงน้อยที่สุด หรือแทบไม่ง่วงเลย ได้ดังนี้

  • ง่วงมากที่สุด เช่น ยา ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไดเมนไฮดริเนต (Dimen hydrinate) ไฮครอกไซซีน (Hydroxyzine) ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) ไตรโพลิดีน (Triprolidine) คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) บรอมเฟนามีน (Brompheniramine)
  • ง่วงน้อยที่สุด ถึงไม่ง่วง เช่น ยา ลอราทาดีน (Loratadine) เซติไรซีน (Cetirizine) ฟีโซฟีนาดีน (Fexofenadine)

แนวแนวทางการเลือกใช้ยากลุ่มแอนติฮิสตามีน

แนวทางการเลือกใช้ยากลุ่มแอนติฮิสตามีน ได้แก่

  • ในกรณี หวัดภูมิแพ้ หรือใช้เพื่อลดน้ำมูก หรือรักษาผื่นคันทั่วไป อาจใช้กลุ่มง่วง เช่น คลอร์เฟนิรามีน บรอมเฟนิรามีน หรือไฮดรอกไซซีน ซึ่งจะให้ผลเร็วภายใน 15-30 นาที หลังรับ ประทานยา

    แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการง่วงมากอาจให้กลุ่มไม่ง่วงในตอนเช้า และกลุ่มง่วงก่อนนอน

  • ยาแอนติฮิสตามีนสำหรับเด็กเล็ก อายุ 1-5 ปี ที่ไม่ได้มีโรคหืดเป็นโรคประจำตัว สามารถใช้ คลอร์เฟนิรามีน บรอมเฟนิรามีน หรือไฮดรอกไซซีน หรือกลุ่มง่วงอื่นๆได้

    แต่กรณีเด็กเป็นโรคหืดร่วมด้วย ให้ใช้ยาแอนิตฮิสตามีนกลุ่มไม่ง่วง เนื่องจากไม่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก จึงไม่ทำให้เสมหะหรือน้ำมูกข้นเหนียว แห้ง เกาะตามผนังทางเดินหายใจ

  • ในเด็กและผู้สูงอายุทั่วไป ควรใช้ยากลุ่มที่ไม่ง่วงจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากไม่กดสมองจนทำให้ง่วงซึม ไม่สดชื่น ไม่ทำให้เสมหะแห้ง ข้นและเหนียว
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงระยะให้นมบุตร ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้แอนติฮีสตามีน ควรเลือกใช้ “คลอร์เฟนิรามีน” ซึ่งจัดว่าปลอดภัยที่สุด แต่อาจทำให้ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ได้บ้าง

    นอกจากแอนติฮิสตามีนในรูปแบบรับประทานแล้ว ยังมีแอนติฮิสตามีนที่เป็นรูปแบบใช้ภาย นอกด้วย เช่น แอนทาโซลีน (Antazoline) นำมาใช้ผสมเป็นยาหยอดตา ในชื่อการค้าหลายชนิด เช่น ฮีสตาออฟ (Hista-oph) และ สเปอร์ซาเลอร์ก (Spersallerg) โดยใช้ในกรณีเยื่อบุตาขาวอัก เสบจากการแพ้

ข้อบ่งใช้ยาแอนติฮิสตามีน

ข้อบ่งใช้ยาแอนติฮิสตามีน ได้แก่

  • ใช้รักษาอาการที่เกิดจากกระบวนการแพ้ต่างๆ แอนติฮิสตามีนเป็นยาที่ใช้สำหรับป้อง กัน หรือรักษาอาการแพ้ที่เกิดเนื่องจากฮิสตามีนเข้าจับตัวรับยาของมัน เช่น ผื่นคัน ลมพิษ และการแพ้ที่ตา คัน เคืองตา อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นต้น
  • ใช้ป้องกันหรือบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการเมารถ เมาเรือ ยาแอนติฮิส ตามีนที่ใช้ในกรณีนี้ เช่น ไดเมนไฮคริเนต ไซคลิซีน (Cyclizine) มีไคลซีน (Meclizine) และโปรมี ธาซีน (Promethazine) ซึ่งแอนติฮิสตามีน เหล่านี้นิยมนำมาใช้ป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ โดยรับประทานล่วงหน้าก่อนเดินทางประมาณ 30 นาที
  • ใช้เป็นยานอนหลับ ยาแอนติฮิสตามีนบางตัวมีฤทธิ์ทำให้ง่วงมาก จึงมีการนำมาใช้ช่วยให้นอนหลับ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ไดเมนไฮดริเนต ไซโปรเฮปตาดีน และไฮดรอกไซซีน
  • ใช้เป็นยาทำให้เจริญอาหารและรับประทานอาหารได้ดีขึ้น แอนติฮิสตามีนบางตัว เช่น ไซโปรเฮปตาดีน มีฤทธิ์อื่นอีก นั่นคือกระตุ้นศูนย์ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้อยากรับประทานอาหารมากขึ้น จึงนำมาใช้กับผู้ที่มีภาวะเบื่ออาหาร

    ข้อควรระวังสำหรับยานี้ คือ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

  • แก้อาการวิงเวียนศีรษะหรืออาการบ้านหมุน เช่น ในกลุ่มวิงเวียนศีรษะเวอร์ทิโก (Vertigo) และอาการบ้านหมุนจากน้ำในช่องหูไม่เท่ากันที่เรียกว่า โรคเมเนียร์ (Meniere's disease) ซึ่งแอนติฮิสตามีนที่นำมาใช้ในกรณีนี้ ได้แก่ ไดเมนไฮดริเนต และซินนาไรซีน เป็นต้น

อาการข้างเคียงของแอนติฮิสตามีน

ยากลุ่มแอนติฮิสตามีน เป็นยาที่จัดว่าค่อนข้างปลอดภัย ไม่ค่อยพบอาการข้างเคียง/ผล ข้างเคียง และอาการที่พบก็ไม่ค่อยรุนแรง ที่พบบ่อยได้แก่

  • ทำให้ง่วงซึม แอนติฮิสตามีนโดยส่วนใหญ่มักมีฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงซึมจนถึงหลับได้ โดยเฉพาะยารุ่นเก่าๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ยารุ่นใหม่จะผ่านเข้าสู่สมองน้อยและไม่ค่อยพบฤทธิ์ง่วงซึม แต่ก็ยังพบว่า ผู้ใช้ยาหลายรายรับประทานแล้วก็ยังมีอาการง่วงซึมอยู่โดยเฉพาะ “ยาเซติไรซีน” ซึ่งพัฒนาโครงสร้างมาจากไฮดรอกไซซีนที่เป็นแอนติฮิสตามีนที่มีฤทธิ์ง่วงมาก
  • ดังนั้น ผู้ป่วยที่ใช้ยาแอนติฮิสตามีนทุกคน ถึงแม้จะใช้ยากลุ่มไม่ง่วง ให้ระมัดระวังในขณะ ที่ใช้ยา ถ้าต้องขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือทำงานกับสิ่งที่ต้องใช้สมาธิสูง เพราะดังกล่าวแล้วว่า บางคนกินยากลุ่มไม่ง่วง แต่ก็มีอาการง่วงได้

    นอกจากนั้นยาแอนติฮิสตามีนทุกกลุ่ม จะเสริมฤทธิ์กับแอลกอฮอลล์ และกับยาที่กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาคลายเครียด และยานอนหลับ จึงไม่ควรใช้ร่วมกัน

    อีกประการที่ควรทราบ คือ แอนติฮิสตามีนทุกกลุ่ม จะออกฤทธิ์ตรงข้ามในเด็กเล็ก คือ แทนที่จะกดระบบประสาท กลับกระตุ้นระบบประสาทแทน ทำให้เด็กเกิดอาการตื่นเต้น กระวนกระ วาย และถ้าใช้ยามากเกินขนาดอาจทำให้เด็กชักได้

  • เนื่องจากแอนติฮิสตามีนกลุ่มง่วง มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก ซึ่งยาที่มีฤทธิ์เช่นนี้ จะทำให้สารคัดหลั่งต่างๆลดปริมาณลง และมีความเหนียวมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา นาน จึงอาจทำให้โพรงจมูกแห้ง ปากแห้ง เยื่อบุผิวตามทางเดินหายใจแห้ง เกิดอาการระคายคอและไอ ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาน้อยลง จนทำให้ตาแห้งและคันตา ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะคั่ง (ถ่ายปัสสาวะไม่ออก) และต้อหินกำเริบ
  • การทนต่อยาและการดื้อยา เมื่อใช้แอนติฮิสตามีนติดต่อกันเป็นเวลานาน มักได้ผลน้อย ลง จนถึงไม่ได้ผลเลย ทำให้ต้องเพิ่มขนาดรับประทานมากขึ้นหรือเปลี่ยนยา การแก้ไขคือ หยุดยาเดิมและเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ สักระยะหนึ่ง แล้วจึงย้อนมาใช้ยาตัวเดิม

ข้อแนะนำ

  • พยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ แล้วหลีกเลี่ยง การใช้แอนติฮิสตามีนเป็นเพียงบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรักษา ดังนั้น อาการแพ้จึงไม่หายขาด ถ้ายังกำจัดสาเหตุไม่ได้
  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. http://www.school.net.th/library/snet4/july8/medicine.htm [2013,Nov30].
  2. คู่มือร้านยา “โรคและยาระบบหายใจ”, เล่มที่ 5, จิรัชฌา อุดมชัยสกุล, ภญ., กรกฎาคม , 2552